ทั้งเหนื่อยและทั้งเสียสุขภาพไปกับเรียกร้องเพื่อให้กรมควบคุมมลพิษและรัฐบาลแก้ไขปัญหาวิกฤตมลพิษทางอากาศ PM2.5 แต่ผ่านมาเป็นเวลากว่าสองปีก็ยังคงไร้การดำเนินการ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันพิษมาราวสิบปี แต่ในวันนี้เชียงใหม่รอไม่ไหวแล้ว และเลือกที่จะทำระบบแจ้งเตือนคุณภาพอากาศภาคประชาชน “People AQI” โดยไม่ง้อภาครัฐอีกต่อไป ถือว่าเป็นครั้งแรก และเมืองแรกของโลก ภาคประชาชนร่วมมือกันสร้างระบบเฝ้าระวัง วัดและเตือนภัยคุณภาพอากาศด้วยตัวเองโดยใช้ค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)

“ผมคิดว่าทุกคนต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาช่วยกันด้วยตนเอง จะไปรอหน่วยงานรัฐให้แก้คงยากมาก” — รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อำนาจ อยู่สุข รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันนี้ (29 มีนาคม 2561) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาในภาคเหนือ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันเปิดโครงการ People AQI หรือการใช้ดัชนีคุณภาพอากาศภาคประชาชน ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษทางอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ ของเชียงใหม่ โดยมีไฮไลท์คือ Dust Boy อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ และรายงานผลด้วย PM2.5 AQI แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเตรียมตัวรับมือกับมลพิษทางอากาศได้อย่างถูกต้องปัจจุบันนั้นสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษที่เชียงใหม่มีเพียงแค่ 2 สถานทีเท่านั้น อีกทั้งยังไม่รายงานดัชนีคุณภาพอากาศ AQI ที่รวมเอา PM2.5 เข้าไปด้วย แต่คำนวณแค่เพียง PM10 จึงทำให้ไม่สามารถแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ ประชาชนจึงไม่มีข้อมูลที่บอกว่าควรป้องกันสุขภาพของตนเองอย่างไร อีกทั้งยังไม่ทั่วถึงอีกด้วยเพราะข้อมูล AQI ของกรมควบคุมมลพิษจากสถานีช้างเผือก สถานียุพราช เชียงใหม่ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าอากาศที่อำเภอเชียงดาวปลอดภัย

ดอยสุเทพที่หายไป หมอกควันพิษที่ปกคลุมท้องฟ้าจนกระทั่งไม่เห็นแสงแดดในยาม 13.00 นาฬิกา ของวันที่ 29 มีนาคม 2561

“การที่มีเครื่องตรวจวัดที่สามารถรู้ค่ามลพิษฝุ่นละออง และมีช่องทางรับข้อมูลข่าวสาร เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น” — รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การเผยแพร่ข้อมูลเรื่องมลพิษทางอากาศ คือสิ่งที่สร้างการตระหนักรู้ของประชาชน ที่จะนำไปสู่การป้องกันสุขภาพ และการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ตรงจุด รศ.ดร.เศรษฐ์ เผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาหมอกควันมานานเป็น 10 ปี ก่อนหน้านี้มีการใช้ทั้ง “ดอยสุเทพ index” หรือการวัดด้วยตาว่าดอยสุเทพอันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่นั้นจางหายไปในม่านหมอกควันมากน้อยเพียงใด และในภาคส่วนของสาธารณสุขเองก็มีการประเมินคุณภาพอากาศด้วยสายตาเช่นกัน แต่นั่นไม่เพียงพอ ประชาชนต้องการข้อมูลที่ชัดเจนในการวัดคุณภาพอากาศ

นั่นคือที่มาของ Dust Boy ซึ่งเกิดจากการพัฒนาร่วมกันของ รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.อาทิตย์ ยะวุฑฒิ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา อาจารย์ลริศรา สาตะรักษ์ สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ณัฐ วีระวรรณ์ Chiang Mai Maker Club เพื่อวัดและเก็บข้อมูลฝุ่นขนาดเล็กทั้ง PM10 และ PM2.5 มีการรายงานผลบนเว็บไซต์ และไลน์แอพพลิเคชันแบบเรียลไทม์ ต่างจากของกรมควบคุมมลพิษที่รายงานแค่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง

“เราไม่ตระหนกและวิตกได้อย่างไร นี่คือชีวิตของเรา และชีวิตของคนที่เรารัก” รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าว

การรายงานผลคุณภาพอากาศที่รวมการคำนวน PM2.5 บนเว็บไซต์ www.cmuccdc.org แบบเรียลไทม์ ต่างจากของกรมควบคุมมลพิษที่รายงานแค่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และไม่รวม PM2.5

ขณะนี้ Dust Boy ติดตั้งแล้ว 6 สถานีที่เชียงใหม่ (และกำลังจะติดตั้งเพิ่มอีก 5 สถานี) ที่น่านและแม่ฟ้าหลวงจุดละ 1 สถานี และที่กรุงเทพฯอีก 2 สถานี รวมทั้งสิ้น 10 จุด ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นอีกเร็ว ๆ นี้ และในอนาคตอันใกล้จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมอนามัยเพื่อบ่งชี้ว่ามีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศในช่วงนี้มากเท่าไร

ถ้าใครอยากเช็คคุณภาพอากาศที่เชียงใหม่ก็แค่แอดไลน์ @Dustboy 

“ผมเลือกมาอยู่เชียงใหม่เพราะรักธรรมชาติ มาอยู่ที่นี่ 34 ปี ผมได้สัมผัสธรรมชาติ แต่วันนี้ตื่นเช้ามาผมไม่รู้สึกแบบนั้น ผมเห็นมลพิษแบบนี้มาสิบกว่าปี ตั้งแต่เริ่มเห็นไร่ข้าวโพดก็เริ่มเห็นปัญหาหมอกควัน” — นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล
 สาธารณสุขนิเทศก์ จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน

หลายเสียงจากนักวิชาการในวันนี้ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สาเหตุของปัญหาหมอกควันพิษในภาคเหนือนั้นเกิดจากการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อเลี้ยงอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และต้องอาศัยการแก้ไขด้วยการร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศนั้นไม่ใช่ปัญหาเฉพาะพื้นที่ แต่เป็นปัญหาข้ามพรมแดน

“ประชาชนต้องรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอันตรายกับเขาแล้ว ถ้าทุกตำบลสามารถประเมินได้ ก็จะเกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะตอบสนองว่าตอนนี้มีปัญหาแล้วนะ สุขภาพคนในพื้นที่เป็นแบบนี้แล้วนะ การแก้ปัญหาในชุมชนเองก็จะเกิดขึ้น” นพ.ไพศาล กล่าวเสริม

การรายงานผลคุณภาพอากาศผ่านไลน์ Dustboy

ประชาชนไม่สมควรที่จะสูดอากาศที่มีฝุ่นพิษอีกต่อไป นี่คือการขับเคลื่อนของภาคประชาชนโดยที่ไม่รีรอให้ภาครัฐลงมือ เพราะสุขภาพเป็นปัญหาเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางอากาศนั้นเป็นภัยที่คุกคามลมหายใจของเราในทุกวินาที

แล้วเมื่อไหร่จะถึงคิวที่รัฐจะลงมือแก้ปัญหาบ้าง..?

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม