มหาสมุทรทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ทั้งวิกฤตภูมิอากาศ มลภาวะพลาสติก ไปจนถึงประมงทำลายล้าง แต่แค่นี้ยังไม่พอ เพราะล่าสุดบริษัทอุตสาหกรรมเตรียมส่งเครื่องจักรลงสู่ก้นมหาสมุทรเพื่อทำเหมืองใต้ทะเลลึก 

ใต้ทะเลลึกยังหลงเหลือสิ่งมหัศจรรย์ให้มนุษย์ศึกษาและเรียนรู้อีกมาก ทั้งระบบนิเวศขนาดมหึมา เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิดที่เรายังไม่ทันได้รู้จัก แต่การส่งเครื่องจักรขนาดใหญ่ลงไปไม่เพียงกระทบต่อสัตว์เหล่านี้ เพราะนั่นรวมไปถึงระบบกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของโลก ซึ่งอาจทำให้วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญอยู่แย่ลงไปอีก 

มหัศจรรย์ใต้ทะเลลึก 

ลึกลงไปหลายร้อยเมตรใต้ท้องทะเลมีปล่องภูเขาไฟที่ร้อนถึง 400 องศาเซลเซียส บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของ ลิ่นทะเล (sea pangolin) สัตว์ทะเลน้ำลึกที่มีสมญานามว่า “ไอรอนแมนแห่งมหาสมุทร”

มันถูกเรียกแบบนั้นเพราะเปลือกอันแข็งเกร่งที่ห่อหุ้มตัวปกป้องมันจากอันตราย ด้านบนสุดของเปลืองประกอบด้วยไอรอนซัลไฟด์ และสิ่งมหัศจรรย์ของลิ่นทะเลอีกอย่างคือ มันไม่กินอาหารเลย ลิ่นทะเลอาศัยแบคทีเรียที่อาศัยในเปลือกผลิตพลังงานหล่อเลี้ยงชีวิตของมัน 

ลิ่นทะเล ⓒKNakamura/CC by 2.5

สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ใต้น้ำลึกอีกอย่างคือปูเยติ (Yeti Crab) ปูเยติได้ชื่อมาจากมนุษย์หิมะในตำนานที่มีแขนยาวขนหนา ปูเยติดำรงชีวิตโดยการสร้างจุลินทรีย์ขึ้นมาบนขนแขนโดยโบกมือไปมาตามจังหวะใต้น้ำ  และเพราะสภาพแวดล้อมที่สุดขั้ว สัตว์เหล่านี้แทบจะต้องปรับตัวรายวันเพื่อให้อยู่รอด 

ปูเยติ ⓒDavid Shale/naturepl.com

ปูเยติที่ยังเด็กต้องอาศัยน้ำที่เย็นถึงจะรอด แม่ของพวกมันเลยต้องออกจาก “พื้นที่ปลอดภัย” ของตัวเองเพื่อไปสืบพันธุ์ แต่ความหนาวเหน็บก็ค่อยๆกัดกินชีวิตของแม่ปูเยติ ด้วยเหตุนี้ทำให้การสืบพันธุ์ “เป็นครั้งแรกและครั้งเดียว” ของมัน 

หมึกผี ⓒNOAA Public Domain

พูดเลยมาถึงเรื่องการสืบพันธุ์แล้ว เลยขอเล่าเรื่องสืบพันธุ์ที่น่าสนใจอีกหน่อย หมึกผี (Ghost Octopus) อีกสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึก มักวางไข่บนฟองน้ำที่ตายแล้ว หลังจากวางไข่แล้ว มันจะใช้ทั้งตัวทั้งตัวคลุมไข่เอาไว้ และต้องรออีกหลายปีกว่าลูกๆของมันจะฟักไข่ โดยระหว่างนั้นมันไม่ได้กินอาหารเลย ทำให้ระหว่างฟักไข่มันจึงค่อยๆอ่อนแอและตายไป 

สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกกำลังเผชิญกับอันตราย

ในขณะที่มนุษย์ควรสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนแทนการล้างผลาญแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ แต่บริษัทอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งกลับเตรียมทำเหมืองใต้ทะเลลึก สิ่งที่พวกเขาต้องการคือก้อนโพลีเมทัลลิก (polymetaalic  nodules) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำใช้ผลิตโทรศัพท์ โน๊ตบุ๊ค หรือแบตเตอรี่ ทั้งที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในกลุ่มขยะที่กำลังเพิ่มจำนวนมากที่สุด 

กรีนพีซจัดแสดงคุณค่าของขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำโทรศัพท์มือถือมาวางเรียงกันในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง จีน  © Greenpeace / Yan Tu

ตอนนี้บริษัทพวกนี้เตรียมส่งจักรกลลงสู่บ้านของสัตว์ใต้ทะเลลึก  แน่นอนว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศใต้ทะเลที่บอบบาง ระบบนิเวศที่ทุกวันนี้เรายังเข้าใจเพียงผิวเผินเท่านั้น เหมืองใต้ทะเลลึกจะเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศนี้ไปอย่างสิ้นเชิง คุกคามสายพันธุ์สัตว์น้ำนับไม่ถ้วนที่ยังไม่มีการค้นพบ นอกจากนั้นการทำเหมืองใต้ทะเลลึกยังมีโอกาสทำลายระบบกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเล ส่งผลให้วิกฤติสภาวะอากาศในปัจจุบันแย่ลงไปอีก 

ตอนนี้หลายๆรัฐบาลกำลังอยู่ในขั้นตอนตัดสินใจ ผลลัพธ์จากการตัดสินใจนี้จะชี้ชะตาทรัพยากรในอนาคต โชคดีของเราคือ ตอนนี้เหมืองใต้ทะเลลึก “ยัง” ไม่เกิด และเราปล่อยให้มันเกิด “ไม่ได้” 

สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือร่วมผลักดันให้เกิด “เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล” โดยมีเป้าหมายคือการปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนให้ได้ภายในปี พ.ศ.2573 เขตคุ้มครองระบบนิเวศนี้จะเกิดขึ้นได้ผ่าน สนธิสัญญาทะเลหลวง 

มาร่วมกันปกป้องมหาสมุทรจากอุตสาหกรรมเหมืองใต้ทะเลลึกกับกรีนพีซ 

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม