นอกจากลำปางจะเป็นจังหวัดทางภาคเหนือที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์อันเป็นเสน่ห์ไม่แพ้ใครแล้ว ลำปางยังเป็นเมืองที่มีประชาชนเริ่มขยับและมีแนวคิดในการเปลี่ยนผ่านมาสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น โดยมีวิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกับกองทุนแสงอาทิตย์ นอกจากนั้นก็ยังมีการเคลื่อนไหวของภาคเอกชนซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กันในธุรกิจเซรามิก ซึ่งเป็นหนึ่งในของดีเมืองลำปางที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี

เราเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงาน จี เจ เซรามิก ซึ่งเป็นโรงงานเซรามิกไม่กี่แห่งในจังหวัดลำปางที่ริเริ่มใช้พลังงานหมุนเวียนจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมาใช้ในธุรกิจเป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว ในโอกาสนี้เรายังได้ร่วมพูดคุยกับคุณณกานต์ จันธิราชนารา ที่หลายคนอาจรู้จักเขาในชื่อ “ดินแดนไทย” ถึงจุดเริ่มต้นและแนวคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนั้นเขายังมีบทบาทในการเคลื่อนไหวกับภาคประชาชนในประเด็นความเป็นธรรมทางพลังงาน และเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญของกลุ่ม “ผีเสื้อขยับปีก” อีกด้วย

จากสจ๊วตรักอิสระ สู่การทำธุรกิจเซรามิกที่บ้านเกิด

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ดินแดนไทยเล่าว่าเขาเป็นคนลำปางโดยกำเนิด โดยเขาห่างจากบ้านตั้งแต่จบมัธยมปลายและได้ไปใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ และต่างประเทศจากการทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเป็นเวลา 25 ปี แต่ด้วยความที่เขามีความฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากมีอิสระและอยากเป็นศิลปินร็อค เขาจึงตั้งเป้าหมายว่าจะทำงานและเก็บเงินมาลงทุนทำธุรกิจของตนเอง 

นอกจากนั้นเขายังมีความสนใจในพลังงานแสงอาทิตย์มาตั้งแต่ยังเด็ก โดยได้ติดตามเรื่องรถไฟฟ้าและนวัตกรรมใหม่ ๆ อีกทั้งยังได้รับแรงบันดาลใจจากการเห็นตัวอย่างการใช้โซลาร์รูฟท็อปในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเยอรมนีหรือสวิตเซอร์แลนด์ ที่แม้ว่าบ้านจะอยู่ในหุบเขาห่างไกลก็ยังมีการใช้พลังงานจากโซลาร์รูฟท็อปได้ เขาจึงศึกษาและติดตามมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งตัดสินใจลาออกจากงานมาเริ่มธุรกิจเซรามิกของตนเองที่บ้านในจังหวัดลำปาง

“ในช่วงเริ่มต้น เราทำธุรกิจเซรามิกแบบเริ่มจากศูนย์ ต่อมาจึงพบปัญหาค่าใช้จ่าย เรื่องค่าน้ำและไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก จึงคิดหาทางออกจนกระทั่งได้เจอบทความของอาจารย์นันท์ ภักดี ซึ่งขณะนั้นเป็นนักวิชาการและเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ จึงได้รับคำแนะนำจากอาจารย์และตกลงว่าอยากจะเปิดให้โรงงานแห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับโซลาร์รูฟท็อป จนได้เริ่มทำจริง ปฏิบัติจริง และได้ทดลองการติดตั้งหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้มอเตอร์ซึ่งต่อมาพบว่าส่งเสียงดังรบกวนจึงตัดออกไป สุดท้ายจึงเหลือเพียงอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ดี ไม่มีเสียงรบกวน และยังสามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันเพื่อคำนวนต้นทุนค่าไฟฟ้าได้อีกด้วย”

การลงทุนทางธุรกิจที่คุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดินแดนไทยเล่าต่อไปว่า นับตั้งแต่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปโรงงานของเขาสามารถค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 18,000 บาทต่อเดือน โดยที่เครื่องจักรทำงานปกติทุกอย่าง ที่ต่างออกไปคือจ่ายเงินน้อยลง และเขากำลังจะคืนทุนจากที่ลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในปีที่ 5 ซึ่งกำลังจะถึงนี้ โดยเขาเริ่มต้นด้วยการซื้อแผ่นโซลาร์เซลล์มือสองและติดตั้งในรูปแบบที่แผงโซลาร์เซลล์สามารถปรับองศาหมุนได้ตามแสงอาทิตย์ ทำให้สามารถรับแสงแดดอย่างเต็มที่ได้ตลอดทั้งวัน

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“เมื่อก่อนเราเคยเห็นต่างประเทศติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แต่ยังทำเองไม่ได้เพราะราคาสูง แต่เมื่อเวลาผ่านไปราคาก็เริ่มลดลงจนสามารถจับต้องได้มากขึ้นจึงตัดสินใจทำนำร่อง ตอนนั้นเราคิดว่าหากเรามีศักยภาพก็เริ่มก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามาดูเป็นตัวอย่าง จนมาถึงปัจจุบันราคาของการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปก็ลดลงมากแล้ว จนพี่น้องคนไทยน่าจะเริ่มจับต้องกันได้มากขึ้น รวมถึงแอปพลิเคชันก็ได้พัฒนาไปมากแล้วเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะจะได้เป็นทางเลือกจากการใช้พลังงานฟอสซิล”

“ในแง่ของธุรกิจ ถ้าเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้งหลังจากการระบาดของโควิด-19 และต้องการกำลังผลิตที่สูงขึ้น ก็อาจจะมีแผนขยับขยายติดตั้งเพิ่มขึ้น เพราะมองว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ในระระยาว และยังได้ช่วยเรื่องมลภาวะจากการใช้พลังงานถ่านหินซึ่งก่อให้เกิดคาร์บอนจำนวนมาก เราคิดว่าในเมื่อเรามีโอกาสพอที่จะทำได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อโลกและสาธารณะไม่มากก็น้อย”

การต่อสู้เพื่อพลังงานที่เป็นธรรมของกลุ่ม “ผีเสื้อขยับปีก”

นอกจากการทำธุรกิจแล้ว ดินแดนไทยยังเป็นที่รู้จักในอีกหนึ่งบทบาทซึ่งคือประชาชนที่ร่วมขับเคลื่อนและต่อสู้เพื่อพลังงานที่เป็นธรรม เขาเล่าว่าได้เห็นการเคลื่อนไหวด้านพลังงานจากรุ่นพี่อย่าง คุณรสนา โตสิตระกูล หรือ อาจารย์สมรักษ์ หุตานุวัตร และได้ซึมซับแนวคิดจากเวทีสาธารณะต่าง ๆ  เคยไปช่วยงานกับกลุ่มที่เคลื่อนไหว ได้เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลของประชาชนว่าได้รับผลกระทบจากการที่ไฟฟ้าแพงอย่างไรบ้าง 

จนกระทั่งในปี 2562 ก็เริ่มมีความคิดว่าจะทำให้ภาครัฐมาคุยกับประชาชนได้อย่างไร โดยได้เข้าร่วมกับประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ. เรื่องการเสนอกฎหมายเพื่อให้คนไทยได้เข้าไปร่วมเป็นเจ้าของทรัพยากร โดยเดินทางไปยื่นเรื่องที่หน้ารัฐสภาเพื่อคัดค้านการแก้ไขพระราชบัญญัติปิตรเลียม ซึ่งจากกรณีนั้นก็มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะด้วย

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“หลังจากนั้นกลับไม่รู้สึกฝ่อไม่เลย ในฐานะประชาชนที่ใช้สิทธิทางกฎหมายในการเรียกร้องความเป็นธรรม กลับรู้สึกว่าเรายิ่งต้องต่อสู้มากขึ้นไปอีกในเรื่องพลังงานสะอาด”

นอกจากนั้น ดินแดนไทยยังเป็นผู้ริเริ่มคนสำคัญของกลุ่ม “ผีเสื้อกระพือปีก” ที่ได้ทำกิจกรรมเดินวิ่งปั่นจักรยานจากเชียงรายเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อรณรงค์เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลให้หันมาสนใจเรื่องราคาน้ำมันภายในประเทศ ที่มีราคาสูงกว่าราคาของประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเป็นการส่งเสริมการรณรงค์ทางด้านพลังงาน และการออกกำลังกาย โดยเดินทางผ่าน 15 จังหวัดและในระหว่างนั้นก็ได้เก็บข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนที่พบเจอระหว่างทาง

“ตอนนั้นคิดว่าทำอย่างไม่หวังผลอะไร ทำเพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ขอให้เราได้ทำ ทำแล้วก็วาง สิ่งที่ได้กลับมาคือการได้ซื่อสัตย์ต่อหัวใจของตัวเอง เหมือนกับผีเสื้อกระพือปีกซึ่งก็คือชาวบ้านที่เคลื่อนไหวจากการกระทำเล็ก ๆ ของตนเอง และจะส่งผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ”

ความท้าทายของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ดินแดนไทยได้กล่าวสรุปความเห็นของเขาว่า ความท้าทายที่สุดของประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านพลังงานคือ ความตระหนักตื่นรู้ของประชาชน ดังนั้นสิ่งที่กองทุนแสงอาทิตย์หรือเครือข่ายอื่นๆ กำลังทำอยู่จะเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญมาก เมื่อประชาชนได้รู้ข้อมูลและได้เห็นว่ามีตัวอย่างที่ริเริ่มทำแล้ว ก็จะมีความกล้าลงทุนมากขึ้น นอกจากนั้นหากมีการสนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ประชาชนก็อาจจะตัดสินใจได้มากขึ้นด้วย

#พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทุกคน คือข้อความที่กรีนพีซพยายามจะสื่อสารในงานรณรงค์การเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียน เพราะอะไรเราจึงใช้คำว่า “เพื่อทุกคน” นั่นก็เพราะนอกจากช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ถ้าหากเรามีระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืน ลดการผูกขาดและกระจายการผลิตพลังงานให้กับคนทุกคนอย่างเป็นธรรมแล้ว จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริง จะช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มการจ้างงานจากระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพมากขึ้น มาร่วมกันผลักดันกับภาครัฐให้ การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นสิทธิ์ที่เราทุกคนก็ทำได้ ไม่ถูกผูกขาดกับใครหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม