เมื่อเหมืองถ่านหินใกล้มาถึง พื้นที่ซึ่งเป็นบ้านของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ในประเทศไทยและเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับคนพื้นราบ และพื้นที่นี้มีอะไร ? 

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่ชาวบ้านในหมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ร่วมคัดค้านการมาของ “โครงการเหมืองถ่านหิน” เมื่อพื้นที่ส่วนหนึ่งใกล้กับหมู่บ้านของพวกเขามีถ่านหินซับบิทูมินัสอยู่มากพอที่จะให้บริษัทอุตสาหกรรมเข้ามาขุดทำเหมือง โดยโครงการจะมีเนื้อที่กว่า 284 ไร่ 30 ตารางวา มีเพียง 2 ชุมชน ที่ถูกระบุว่าจะได้รับผลกระทบจากจุดพื้นที่เหมือง คือ หมู่บ้านกะเบอะดินและบ้านขุน ซึ่งเป็นการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมถึงหมู่บ้านอื่นที่จะได้รับผลกระทบ จากรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระบุว่า ถ่านหินที่ขุดได้จากเหมืองที่อมก๋อยจะใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซีเมนต์ที่จังหวัดลำปาง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่ได้มีเพียงแค่มลพิษทางเสียงและฝุ่นละออง (ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มากพอที่จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย) แต่วิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติในที่แห่งนี้อาจหายไปพร้อม ๆ กับถ่านหินที่ถูกขุดออกไป ก่อนที่ทุกสิ่งจะหายไป เราขอแบ่งปันภาพวิถีชีวิตบางส่วนของชาวกะเบอะดินเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมหาคำตอบว่าทำไมหมู่บ้านแห่งนี้จึงไม่ควรต้องหายไปเพราะโครงการเหมืองถ่านหิน

1.ไร่มะเขือเทศในอมก๋อยอาจหายไป แทนที่ด้วยโครงการเหมืองถ่านหิน

ไร่มะเขือเทศ หรือที่ผู้คนภาคเหนือเรียกว่า “มะเขือส้ม” มีให้เห็นรอบ ๆ หมู่บ้าน ที่บ้านกะเบอะดิน ชาวบ้านทำอาชีพเกษตรกร ปลูกมะเขือเทศ ฟักทอง ข้าว พริก รวมทั้งผักสมุนไพรนานาชนิดจากไร่หมุนเวียน ทั้งบริโภคเองและปลูกเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจค้าขายกับตลาดในพื้นราบและกระจายไปตามจังหวัดเชียงใหม่ ตาก ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร 

มะเขือเทศเรียงรายในตะกร้าเป็นชั้น ๆ จะถูกลำเลียงขึ้นรถกระบะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ เดินทางลงไปเพื่อส่งขาย เช่น ตลาดค้าส่งในจังหวัดตากบ้าง ส่งขายต่อตามตลาดในเชียงใหม่ บางส่วนถูกส่งไปโรงงานปลากระป๋อง และยังมีมะเขือเทศอีกมากที่ถูกส่งขายในภาคกลาง เช่น จังหวัดปทุมธานี ปากคลองตลาดในกรุงเทพฯ เป็นต้น 

ชาวบ้านที่นี่ใช้ประโยชน์จากน้ำหลายแหล่ง และ “แหล่งน้ำ” คือหัวใจของหมู่บ้านกะเบอะดิน นอกจากน้ำฝนที่เป็นที่ต้องการใช้เพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่นี่ยังมีต้นน้ำที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติจาก 3 ห้วยสายสำคัญที่ไหลผ่านเขตหมู่บ้าน คือ ห้วยผาขาว ห้วยมะขาม และ ห้วยแม่อ่างขางใช้ทั้งอุปโภคบริโภคและช่วยเพาะเลี้ยงพืชผลเกษตรกรรมร่วมกับน้ำฝน แน่นอนว่าการปลูกมะเขือเทศของที่นี่จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำเป็นอย่างมาก แต่เส้นทางน้ำธรรมชาติที่สำคัญของชาวบ้านกะเบอะดินอาจจะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยคลองผันน้ำ และอาจได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนหากเกิดเหมืองถ่านหิน

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

2.ไร่ฟักทอง ไร่นา และการเกษตรกรรมของชาวกะเบอะดิน

เช่นเดียวกับมะเขือเทศ ฟักทองก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์นิยมปลูกเพื่อขาย ไร่ฟักทองซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขา ผลของมันทิ้งตัวอยู่ใต้ใบ บางลูกเมื่อสุกได้ที่แล้วก็จะถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบในท้ายรถบรรทุกลงไปขายเช่นเดียวกับมะเขือเทศ นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงโปว์ยังปลูกพริก ทำนาปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ตามวิถีเกษตรกร นาข้าวที่นี่ใช้น้ำที่ลำเลียงผ่านท่อ พีวีซี ที่ต่อมาจากลำน้ำสายหลักจากห้วยผาขาว ชาวกะเบอะดินทำนาปลูกข้าวเพียงปีละครั้งเพื่อเก็บข้าวไว้บริโภคภายในครัวเรือน

เช่นเดียวกับมะเขือเทศ ‘น้ำ’ คือสิ่งสำคัญของชาวบ้านกะเบอะดิน ชาวบ้านใช้ท่อพีวีซีลำเลียงน้ำมาจากลำห้วย โดยจะเห็นท่อพีวีซีเรียงตัวยาวอยู่ขนานไปกับลำห้วย 

3. ไปป์โบราณ หลักฐานของการตั้งถิ่นฐานก่อนมีหมู่บ้านกะเบอะดิน

กล้องมูยา หรือในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า ‘โม๊ะ’ เป็นกล้องยาสูบดินเผาโบราณที่ถูกค้นพบในบริเวณแปลงเพาะปลูกหลายแปลง  ที่จะมีการขอสัมปทานเหมืองแร่ สามารถพบวัตถุโบราณประเภทนี้ในกิจกรรมการทำการเกษตรในช่วงที่มีการกลบปุ๋ยในแปลงปลูก กล้องยาสูงลักษณะนี้ชาวกะเหรี่ยงไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่คาดว่าเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ลั๊วะที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่อมก๋อยปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันพบการตั้งถิ่นฐานชาวลั๊วะในอำเภอใกล้เคียง

โม๊ะโบราณที่พบมีลวดลายสวยงาม ค้นพบในพื้นที่ที่หลากหลายทั้งที่ราบ ที่นา ที่สวน และบนดอยสูง สามารถขุดพบได้ง่ายในชั้นดินลึกประมาณ 1 เมตร โม๊ะเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยกันมาเนิ่นนาน อาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในการใช้ชีวิตที่อุดมสมบูรณ์

4. ผู้หญิงถักทอ ผู้ชายจักสาน รู้จักด้ายฝ้ายเข็นมือ วัตถุดิบเพื่อทอผ้าลายเอกลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยง และเครื่องจักสานของใช้ในบ้านจากวัสดุธรรมชาติ

แม้ว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านกะเบอะดินจะซื้อด้ายจากข้างนอกมาทอผ้า แต่ก็ยังมีกลุ่มคุณยายที่ยังคงวิถีการทอผ้าแบบเดิมคือทำตั้งแต่ต้นจนจบด้วยมือสองข้าง โดยปกติคุณยายจะรับจ้างเก็บพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่ในเวลาว่างก็จะมานั่งทอผ้า ในบ้านบ้าง นอกบ้านบ้าง 

ฝ้ายที่ปลูกในไร่หมุนเวียนมีทั้งฝ้ายขาวและฝ้ายตุ่น หรือฝ้ายสีน้ำตาล สามารถเก็บฝ้ายขาวได้ประมาณ 3 กระสอบและฝ้ายตุ่น 1 กระสอบ จากนั้นนำมา ‘อีด’ เอาเมล็ดออก แล้ว ‘ปั่น’ ให้เป็นหลอดแล้ว ‘เข็น’ให้เป็นด้ายเพื่อนำไปทอ ส่วนการย้อมนั้นบางครั้งก็ใช้สีเคมีเพราะยายว่าสะดวกและง่ายกว่า แต่ถ้าหากไม่ใช้สีย้อมเคมีก็จะใช้ ‘คุ’ และ ‘คึ่ย’ ในการย้อมให้ได้สีแดงเข้มค่อนไปทางสีเลือดหมู

ไผ่ที่ขึ้นตามหมู่บ้านและในป่าจะถูกนำมาจักสานเป็นตั้งแต่เครื่องมือที่ใช้ในพิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่อย่าง “ตะเลเต” โดยมีความเชื่อว่าจะช่วยกันสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้ามาในบ้านและจะต้องเปลี่ยนทุก ๆ วันถึงปีใหม่ ไปจนถึงเครื่องมือใช้สอยในชีวิตประจำวันอย่าง ภาชนะใส่สิ่งของ เล้าไก่ การจักสานนั้นสำหรับชาวกะเหรี่ยงโปว์ถือเป็นบทบาทของผู้ชายและจะทำในเวลาที่ว่างจากงานไร่งานสวน นอกจากจะทำเพื่อใช้เองในครัวเรือนแล้วแล้วยังเป็นรายได้เสริมด้วยอีกทางหนึ่ง

วิถีชีวิตแบบนี้ดำรงอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้มาช้านาน และจะต้องละทิ้งวิถีชีวิตที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติหากต้องอพยพออกจากพื้นที่เพราะไม่สามารถอยู่อาศัยร่วมกับเหมืองบริเวณใกล้ ๆ ได้

5. พื้นที่ป่าอนุรักษ์ สถานที่ที่เป็น ‘พื้นที่ทางจิตวิญญาณ’ ของชาวบ้านกะเบอะดิน

พื้นที่นี้อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านกะเบอะดิน ตั้งอยู่ในบริเวณป่าอุดมสมบูรณ์และเป็นพื้นที่สำหรับการประกอบพิธีกรรมสำคัญของชาวบ้าน เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติพึ่งพาอาศัยกันและกัน 

ป่าเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต โดยพิธีกรรมในการปกป้องรักษาผืนป่า คือ การเลี้ยงผีป่าผีเขา (ในพื้นที่ป่าจิตวิญญาณ) ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เคารพนับถือของคนในชุมชน 

เป็นการรักษาสืบต่อให้รุ่นลูกให้หลานในอนาคต และอีกทั้งเป็นการให้ผู้คนในชุมชนได้เรียนและรู้จักการเคารพรักษาป่าให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์คงเดิม พิธีกรรมการเลี้ยงผีป่าผีเขา จึงถือได้ว่าเป็นพิธีที่สำคัญและเป็นพิธีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและสืบทอดต่อ ๆ ไปจากรุ่นสู่รุ่น

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

ในปี 2561 ที่ผ่านมา ชาวบ้านกะเบอะดินทำพิธีกรรมบวชป่านั้นเพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ต่อสาธารณะ ปกป้องพื้นที่สำคัญของชุมชนกะเบอะดินจากโครงการเหมืองถ่านหิน ป่าชุมชนและน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักสำคัญของการดำรงชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 

จะเห็นได้ว่าต้นไม้ในป่าจิตวิญญาณผูกทั้งผ้าเหลือง และยังมีการติดสัญลักษณ์ไม้กางเขน นั่นเป็นเพราะในหมู่บ้านมีการนับถือศาสนาที่หลากหลาย ทั้งพุทธ และคริสต์ พวกเขามาทำพิธีกรรมบวชป่าเพื่อที่จะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าคนในหมู่บ้านทั้งสองศาสนาอยู่ร่วมกันและจะช่วยกันปกป้องพื้นที่ส่วนรวมของหมู่บ้านนี้จากโครงการเหมืองถ่านหิน

นอกจากนี้ยังมีความรู้ใหม่จากการทำพิธีกรรมอีกด้วยนั่นคือ การอนุรักษ์พื้นที่ส่วนรวมอย่างแหล่งต้นน้ำ และผืนป่าจิตวิญญาณของชุมชน เป็นการสถาปนาพื้นที่ป่าจิตวิญญาณในฐานะ ‘เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชุมชนบ้านกะเบอะดิน’ ตามมติ คณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะมาถึง ทั้งวิถีชีวิตและการเกษตรกรรมหากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยเกิดขึ้น เพราะตัวหมู่บ้านกะเบอะดินจะกลายเป็นเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างจากเหมืองถ่านหินในรัศมีเพียงแค่ 2 กิโลเมตรเท่านั้น 

ตัวโครงการอาจทำให้ลำห้วยที่เป็นแหล่งน้ำได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจทำให้ชุมชนไม่สามารถใช้ทรัพยากรเพื่อปลูกพืชผลทางการเกษตรรวมถึงใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันได้อีกต่อไปและอาจหมายถึงการอพยพย้ายถิ่นฐานจากบ้านเดิมที่ตั้งรกรากมานาน 

นับตั้งแต่ทราบเรื่องจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่ชาวกะเบอะดินคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินนี้ เหตุผลสำคัญของการต่อสู้มาตลอดนั่นคือชาวบ้านต้องการชี้ให้เห็นว่าถ่านหินจะทำให้เกิดผลกระทบในดินแดนอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้

การต่อสู้ของชุมชนบ้านกะเบอะดิน พวกเขาไม่ได้ต่อสู้เรียกร้องในสิทธิ์การคัดค้านสัมปทานเหมืองถ่านหินเพียงลำพัง แต่เราทุกคนต่างได้ร่วมใช้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม ในขณะที่ชาวบ้านคัดค้านไม่ต้องการให้สัมปทานเหมืองถ่านหินแห่งนี้เอาวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และทรัพยากรชุมชนของพวกเขาไป เราก็ต้องร่วมกันปกป้องแหล่งอาหารและต้นน้ำที่ช่วยให้พวกเรายังดำเนินชีวิตต่อไปเช่นกัน