“อ่าวปัตตานีมันเคยอุดมสมบูรณ์ สมัยผมเรียนประถม เวลาจะกินปูก็ลงทะเลหน้าปากอ่าวไปจับปูกับมือ เวลาจะกินปลากระบอกก็แค่ออกไปหน้าบ้านแล้วหว่านแหหรือวางอวนก็ได้ปลามากิน” อัลอามีน มะแต ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เล่าย้อนถึงอ่าวปัตตานีในวันวาน 

ผ่านมานับสิบปี อ่าวปัตตานีที่เขาคุ้นเคยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะผลกระทบจากประมงทำลายล้าง สารเคมีจากโรงงาน การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน และล่าสุดการขุดลอกอ่าวที่ทำให้เกิดสันดอนทรายขนาดใหญ่ ไม่เพียงกระทบระบบนิเวศ แต่รวมถึงวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของคนในชุมชนรอบอ่าวด้วย

ภัยคุกคามจากมนุษย์

โรงงานตั้งอยู่ริมอ่าวปัตตานี © Songwut Jullanan / Greenpeace

อ่าวปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดปัตตานี อ่าวน้ำตื้นที่กินพื้นที่ราว 70 ตารางกิโลเมตรนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งชุกชุมของทั้งปลากระบอก ปู และกุ้ง อัลอามีนเริ่มเท้าความ 

แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา อ่าวเผชิญกับภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อมโดยตลอด ทั้งจากทำประมงทำลายล้าง เรืออวนลากอวนรุน การใช้ไอ้โง่ การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ยังไม่ทันได้สืบพันธุ์ การปล่อยสารเคมีลงทะเลจากโรงงานและฟาร์มกุ้ง ไปจนถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนดั้งเดิม จนปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก

และเมื่อปี 62 มีการขุดลอกอ่าวเพื่อแก้ไขปัญหาการตื้นเขิน แต่การทิ้งวัสดุขุดลอกผิดแบบ ทำให้เกิดเป็นสันดอนทรายขนาดใหญ่กลางอ่าว 

สันดอนทรายที่ผุดขึ้นกลางอ่าวปัตตานีหลังการขุดลอก ©Songwut Jullanan / Greenpeace

โครงการขุดลอกดังกล่าวเป็นโครงการของกรมเจ้าท่า เริ่มดำเนินการปี 60 เสร็จปี 62 ด้วยงบประมาณ 664 ล้านบาท  โดยจากข้อกำหนดงานจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลอ่าวปัตตานี  วัสดุขุดลอกทั้งหมดต้องถูกนำไปทิ้งกลางทะเลห่างออกไป 9 กิโลเมตรจากปากร่องน้ำปัตตานี

“แต่เวลาขุดจริงๆ ทิ้งไว้กลางน้ำเฉยเลย” อัลอามีนกล่าว 

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านเพียงต้องการให้แก้ไขร่องน้ำชุมชนเพื่อให้ชาวประมงออกเรือได้สะดวกเท่านั้น แต่กลับมีการขุดลอกกลางอ่าว และขุดสันดอนเก่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ การฟุ้งกระจายของตะกอนที่เกิดจากการขุดลอกก็คร่าชีวิตสัตว์น้ำจำนวนมากไปด้วย นอกจากนั้นยังเป็นอุปสรรคในการสัญจรทางทะเลเวลาน้ำลง

อัลอามีน มะแต อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาเล่าปัญหาสันดอนทรายและสิ่งแวดล้อมขณะล่องเรือในอ่าวปัตตานี  ©Songwut Jullanan / Greenpeace

มะกะตา สะแม ประธานประมงพื้นบ้านอำเภอเมืองปัตตานี เป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสันดอนทราย เขาทำประมงและผูกพันกับอ่าวตั้งแต่เด็ก ได้เห็นหลายการเปลี่ยนแปลงของอ่าวจากน้ำมือของมนุษย์ แต่สำหรับมะกะตา “การขุดรอกคือการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่สุด” 

มะกะตา สะแม (คนขวา) ประธานประมงพื้นบ้านอำเภอเมืองปัตตานี  ©Songwut Jullanan / Greenpeace

“มันเปลี่ยนโฉมหน้าอ่าว เกิดเป็นอ่าวที่มีเกาะที่มนุษย์สร้าง เปลี่ยนแปลงทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกระแสน้ำ ปกติมันมีปากอ่าวและก้นอ่าว ตะกอนก็จะไปที่ก้นอ่าว ทีนี้พอมีสันดอนมากั้นตะกอนก็ไปไม่ถึง มาเกาะอยู่ที่กลางอ่าว ทำให้สัตว์น้ำลดน้อยถอยลง 

“การขุดลอกนี่มันไม่ทำตามกระแสน้ำวิ่งขึ้นลง มันไปขวางทางน้ำ ตอนนี้สัตว์น้ำมันหายไป 80% แล้ว เมื่อก่อน 20-30 ปีที่แล้วสัตว์น้ำเยอะมาก ออกเรือทีนึงได้กุ้งทีละสิบกิโล ตอนนี้โลสองโลก็หายาก” 

ชีวิตที่เปลี่ยนไป

เมื่อระบบนิเวศของอ่าวเปลี่ยนไป แน่นอนว่ามันกระทบชาวบ้านรอบอ่าวที่ทำประมงเป็นอาชีพหลัก คนแปรรูปอาหารทะเล เศรษฐกิจขนาดเล็กในพื้นที่ ต่อเนื่องไปถึงคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน

เรือประมงพื้นบ้านขณะกำลังหาปลาในอ่าวปัตตานี ©Songwut Jullanan / Greenpeace

“มันกระทบเป็นห่วงโซ่หมด ถ้าเรามองหลักๆ ชาวประมงที่อยู่รอบอ่าว แหล่งทำมาหากินของเขามันผูกติดกับอ่าวเป็นหลัก  แต่อ่าวถูกทำลาย ชาวบ้านจับปลาไม่ได้เลย บางคนออกไปวันนี้ได้กุ้งมา 4-5 ตัว กลับมาบ้านต้นทุนหมดไปแล้วสองร้อยบาทที่ออกเรือไป พรุ่งนี้ออกต่อได้อีก 7-8 ตัว รวมๆกันได้หนึ่งกิโล ขายได้ร้อยหกสิบบาท แต่ต้นทุน 4-5 ร้อยบาท” อัลอามีนแจง 

รายได้จากการทำประมงไม่สามารถจุนเจือครอบครัวได้ สมาชิกในครอบครัวบางคนจึงต้องหันไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียแทน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพวกเขาไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้เพราะการระบาดของโควิด-19 ครั้นจะทำประมงที่คุ้นเคยก็ขาดทุน

เมื่อรายได้หาย เศรษฐกิจชุมชนก็แย่ตามไปด้วย ของที่เคยขายได้ในตลาดชุมชนก็ขายไม่ได้เพราะไม่มีกำลังซื้อ 

“ชาวบ้านบอกว่าโชคดีอย่างเดียวคือมีบัตรประชารัฐที่เขาสามารถไปซื้อข้าวสารได้ แค่นั้นแหละที่เขามี ที่เขาสามารถประทังชีวิตได้” 

ภาพอ่าวปัตตานีจาก Google Earth ภาพแรกถ่ายปี 2564 จุดสีแดงทั้งหมดเป็นสันดอนทรายที่เกิดจากการขุดลอก จากภาพจะเห็นได้ว่ามีบางจุดที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำและสามารถเห็นได้ชัดเจนแม้กระทั่งจากภาพถ่ายดาวเทียม  เปรียบเทียบกับภาพที่สองซึ่งถ่ายเมื่อปี 2562

ตั้งแต่ต้นปีที่แล้วมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นของชาวบ้านหลายครั้ง โดยชาวบ้านรอบอ่าวที่ได้รับความเดือดร้อนเรียกร้องให้สะสางปัญหาสันดอนดังกล่าว ข้อเสนอของคนในชุมชนเบื้องต้นคือให้แก้ไขปัญหาสันดอนทรายที่ทิ้งไว้กลางอ่าวปัตตานีอย่างเร่งด่วน ปราบปรามการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย  พร้อมตั้งกองทุนฟื้นฟูอ่าวปัตตานีเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 

“ความต้องการของชาวบ้านคือ ต้องการให้เอาสันดอนที่เอาไปทิ้งกลางอ่าว เอาออกไปให้หมด ให้มันคืนสภาพเดิม อ่าวไม่ต้องลึกมากก็ได้ แค่ให้มันเหมือนเดิม เหมือนเดิมเป็นแบบไหนให้ทำเป็นแบบนั้น” 

แต่กระทั่งในวันนี้ สันดอนทรายยังคงตั้งตระหง่านอยู่กลางอ่าวแม้ผ่านมากว่า 2 ปี หลังการขุดลอก

และยังคงไม่มีวี่แววแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม อัลอามีนชี้ว่า หากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศ ทำให้สภาพอ่าวมีความตื้นเขินกว้างขึ้น ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ สัตว์ทะเลจะย้ายที่อยู่อาศัย ชาวบ้านก็จะจับสัตว์น้ำได้น้อยลงอีก 

เมื่อจับปลาได้น้อยลง รายได้ของแต่ละบ้านก็ลดลง บางครอบครัวไม่มีเงินส่งลูกไปเรียน ก็จะมีผลกระทบต่อการศึกษาของเด็ก เด็กกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะมั่วสุมและเป็นปัญหาของสังคมตามมา 

“ทุกวันนี้บางคนยอมไม่ให้ลูกไปเรียน ไม่ก็สลับกันไป วันนี้คนนี้ไป คนนี้หยุด การขุดลอกอ่าวมันเลยไม่ได้กระทบแค่สิ่งแวดล้อม แต่กระทบเศรษฐกิจของชุมชน ชีวิต และความเป็นอยู่ของชุมชน คุณภาพชีวิตของคนมันลดลง” อัลอามีนกล่าวปิดท้าย