เราต้องใช้อากาศหายใจเหมือนกัน แต่อากาศที่เรา “เลือก” ที่จะหายใจ อาจจะไม่เหมือนกัน

Citizens Wear Masks against Air Pollution in Bangkok.

ประชาชนสวมใส่หน้ากากป้องกันมลพิษในช่วงคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ เกินระดับความปลอดภัย © Arnaud Vittet / Greenpeace

ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ปกคลุมเมืองใหญ่ของประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานคร ทำให้ผู้คนตื่นตัวขึ้นมาปกป้องสุขภาพของตนอย่างเห็นได้ชัด แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนขึ้นมาไม่แพ้กันคือ คุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันของคนเมืองที่สะท้อนความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอันสืบเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศในเมืองที่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้ออากาศสะอาดสำหรับลมหายใจ

Toxic Smog in Bangkok. © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ภาพในวันที่หมอกควันพิษปกคลุมกรุงเทพฯ © Chanklang Kanthong / Greenpeace

เพียงช่วงเวลาเดือนเดียวชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ด้วยความตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้น ประชาชนต่างซื้อหน้ากาก N95 ที่สามารถกรองฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า PM2.5 ได้ ซื้อเครื่องวัดคุณภาพอากาศ PM2.5 แบบพกพา และแม้กระทั่งเริ่มหันมาซื้อเครื่องฟอกอากาศสำหรับในอาคารหลังจากที่วัดคุณภาพอากาศดูแล้วพบว่าอากาศแย่ไม่แพ้ข้างนอกอาคาร

นี่คือทางแก้ไขของประชาชนเพื่อปกป้องสุขภาพของตนเองและครอบครัว แต่นั่นไม่ใช่ทางออกที่ทุกชีวิตในเมืองสามารถครอบครอง

มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อคนทุกฐานะอย่างเท่าเทียมกัน.. จริงหรือ?

เราทราบกันดีแล้วถึงผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM2.5 ต่อสุขภาพของเรา และสถานีวัดคุณภาพอากาศสามารถช่วยให้ประชาชนรับทราบข้อมูลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความตระหนักรู้ของประชาชนที่มากขึ้นนั้นตามมาด้วยการขวนขวายหาอุปกรณ์ที่ช่วยในการดูแลสุขภาพ

มีงานวิจัยระดับโลกหลายชิ้นได้กล่าวถึงความแตกต่างกันทางรายได้และความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศในสิ่งแวดล้อม แม้ว่าคนกลุ่มที่รายได้น้อยจะไม่ใช่ผู้ก่อมลพิษหลัก เช่น ไม่ได้ขับรถยนต์ส่วนตัว หรือเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม แต่มีคนบางกลุ่มมีความจำเป็นต้องเผชิญมลพิษทางอากาศจากลักษณะของการทำงานกลางแจ้งเวลานาน และลักษณะสถานที่พักอาศัยที่ไม่ได้เป็นตัวอาคารปิด และไม่มีรายได้มากพอที่จะย้ายถิ่นฐานไปยังเมืองอื่น

การรับทราบถึงข้อมูลมลพิษทางอากาศในแต่ละวัน จำเป็นต้องมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศรายชั่วโมงของสถานที่ที่ตนเองอยู่ แม้มลพิษทางอากาศจะคุกคามทุกคนในเมือง แต่การป้องกันมลพิษทางอากาศ คือการใส่หน้ากากป้องกัน และการใช้เครื่องกรองอากาศ แต่สำหรับผู้คนบางกลุ่มนั้น การหาหน้ากาก N95 หรือ N99 ที่เหมาะสมมาใส่เพื่อป้องกันตัวเองไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องด้วยข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่ายและในช่วงนี้ที่ความต้องการสูง ของขาดตลาด ทำให้การหาซื้อนั้นจำเป็นต้องผ่านทางช่องทางออนไลน์ที่ต้องใช้อย่างน้อยก็คือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตอีกเช่นกัน การเข้าถึงทรัพยากรจึงเป็นข้อจำกัดของคนบางกลุ่ม ทั้งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หน้ากากกันฝุ่น ยังมิต้องกล่าวถึงเครื่องกรองอากาศราคาสูง

ลองหันมาเปรียบเทียบราคาอุปกรณ์เพื่อป้องกันสุขภาพในเมืองมลพิษ

– ราคาหน้ากากทั่วไป ชิ้นละ 10-20 บาท (ไม่สามารถกัน PM2.5 ได้)
– ราคาหน้ากาก N95 ชิ้นละ 30-35 บาท (คำแนะนำระบุไว้ให้เปลี่ยนทุกวัน)
– ราคาเครื่องกรองอากาศ เครื่องละ 3,000 บาท ขึ้นไป
– ราคาเครื่องตรวจวัดค่า PM2.5 เครื่องละ 2,000 – 10,000 บาท

งานวิจัยที่วิเคราะห์การใช้จ่ายในช่วงมลพิษสูงของประเทศจีน โดยมหาวิทยาลัย Tsinghua พบว่า กลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงจะใช้เวลาอยู่ในอาคารมากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง สามารถเข้าถึงและยอมลงทุนเพื่ออุปกรณ์ป้องกันมลพิษได้มากกว่าอย่างชัดเจน ในขณะที่กลุ่มรายได้น้อยยอมลงทุนน้อยกว่าเพื่ออุปกรณต่างๆ

ที่มา: รายงาน Self-Protection Investment Exacerbates Air Pollution Exposure Inequality in China โดยมหาวิทยาลัย Tsinghua ประเทศจีน

     นี่คือภาระทางค่าใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหน้ากากหนึ่งชิ้นมีราคาเทียบเท่ากับอาหารหนึ่งมื้อ สำหรับผู้ที่มีรายได้ขั้นต่ำแล้วถือเป็นค่าใช้จ่ายราคาสูง เราจึงเห็นผู้ที่มีรายได้ระดับกลางสามารถหาซื้อหน้ากากที่เหมาะสมมาสวมป้องกัน แต่สำหรับเครื่องกรองอากาศ และเครื่องตรวจวัดค่า PM2.5 นั้น มีคนจำนวนน้อยนักในเมืองที่เลือกที่จะหาซื้อมาใช้ ทั้งที่ค่า PM2.5 ในตัวอาคารนั้นก็สูงไม่แพ้ภายนอก  และด้วยความไม่รู้เนื่องจากไม่มีเครื่องวัด คนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องทนหายใจในอากาศที่มีมลพิษแม้กระทั่งขณะนอนหลับ เรากำลังอยู่ในภาวะที่จำเป็นต้องเสียเงินเพื่อซื้ออากาศดี ๆ ไว้หายใจ

    ภาระของประชาชนในเมืองมลพิษจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากภาครัฐยังคงยื้อการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้วยนโยบายที่จัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิด ได้แก่ ภาคส่วนอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า การก่อสร้าง การเผาในที่โล่ง และคมนาคมขนส่ง แต่ขณะนี้มาตรฐานค่ามลพิษทางอากาศที่สูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกนั้นเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ก่อมลพิษ โดยที่ละเลยผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนส่วนรวม ความหละหลวมในการกำหนดนโยบายต่อผู้ก่อมลพิษและมาตรฐานที่ต่างกันนี้ คือชนวนที่เร่งให้ความเลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคมยิ่งชัดเจน และผู้ที่จะสามารถเลี่ยงรับผลกระทบจากมลพิษได้มากกว่า คือ คนที่มีรายได้สูง

• มกราคม 2562 คนกรุงเทพฯ อยู่ในอากาศปนเปื้อนฝุ่นพิษ PM2.5 เกินมาตรฐานมาแล้วกี่วัน?
• การยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศ จะช่วยปกป้องชีวิตคนไทย

หนึ่งในตัวการของมลพิษในกรุงเทพฯ คือภาคคมนาคม © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ทางออกที่ลดความเลื่อมล้ำ

อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย เคยกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า  “เมืองที่พัฒนาแล้วไม่ใช่เมืองที่คนจนทุกคนหันมาใช้รถ แต่เป็นเมืองที่คนรวยทุกคนหันมาใช้ขนส่งมวลชน” ขณะนี้เมืองโบโกตาเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อการสัญจรด้วยจักรยานและมีการใช้จักรยานติดอันดับ 3 ของโลก

สิ่งที่แสดงสถานะทางสังคมอย่างรถยนต์ส่วนตัวนั้น ได้รับการส่งเสริมซ้ำเติมโดยภาครัฐที่ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยนโยบายต่าง ๆ โดยที่ไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาจราจรและการวางผังเมือง รถเมล์และขนส่งมวลชนสาธารณะจึงกลายเป็นสาธารณูปโภคของคนรายได้น้อย ไร้คุณภาพ ไม่เอื้อต่อการเดินทาง ระบบรถไฟฟ้าเองก็ทำให้การกระจายตัวของที่พักอาศัยแนวรถไฟฟ้านั้นเป็นทำเลราคาสูง กล่าวคือ ระบบรถไฟฟ้าที่ควบคู่กับการขาดการพัฒนาผังเมืองอย่างเป็นระบบนอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาจราจรแล้ว ยังเอื้อให้เกิดการเก็งกำไรที่ดิน

สิ่งเหล่านี้คือ ความเหลื่อมล้ำด้านคมนาคมขนส่ง และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเดินทาง ปัญหาที่ตามมาคือ มลพิษทางอากาศจากรถยนต์นับหลายล้านคันในเมืองกรุง และเช่นเดิม ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าคือคนกลุ่มเดิมคือคนที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แต่มีส่วนในการปล่อยมลพิษน้อยกว่า

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ภาพในวันที่ฝุ่นควันพิษปกคลุมกรุงเทพฯ © Chanklang Kanthong / Greenpeace

การแก้ไขของภาครัฐที่ยั่งยืนคือ ปรับระดับมาตรฐานรถเมล์และเครือข่ายขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเอื้อต่อคนทุกฐานะ ทุกวัย และต่อคนพิการเช่นกัน ทำให้ผู้คนหันมาใช้บริการรถสาธารณะและเลือกระบบขนส่งสาธารณะทางเลือกหลัก เพราะเมืองที่น่าอยู่ คือเมืองที่อยู่ได้สำหรับทุกคน

• Livable City ยุค 4.0 หรือ 0.4 ? มองจุดเริ่มต้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่าน Mayday, Khon Kaen Smart City และ GoodWalk

 

เมืองที่น่าอยู่คือเมืองที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของคนทุกคนอย่างเท่าเทียม สิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างการมีอากาศสะอาดเพื่อหายใจไม่ควรเป็นค่าใช้จ่ายมูลค่าสูงที่ทุกคนต้องเสีย การพัฒนาเมืองที่คำนึงสุขภาพของประชาชนทุกระดับรายได้คือการพัฒนาที่ยั่งยืน มิเช่นนั้นแล้ว เราอาจสามารถสังเกตฐานะทางสังคมได้จากหน้ากากที่สวมใส่ในกรุงเทพฯ ก็อาจจะเป็นการกล่าวที่ไม่เกินจริงเท่าไรนัก

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ประชาชนสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพฯ © Chanklang Kanthong / Greenpeace

อย่าลืมว่าอากาศที่เราหายใจนั้นหมายถึงชีวิต อิสรภาพ และความสุขที่ทุกชีวิตพึงจะมี

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม