เกิดอะไรขึ้น?

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงกำลังศึกษาผลกระทบของหายนะภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่เกิดขึ้นเมื่อ 35 ปีที่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ได้สร้างบทเรียน เพราะรัฐบาลและบริษัทยังคงพยายามที่จะสนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ขึ้นอีก

หายนะภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลถูกจัดอันดับให้เป็นภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นแต่การฟื้นฟูการปนเปื้อนรังสียังคงเป็นความท้าทายและไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนที่อยากจะพูดถึงประเด็นนี้ การสร้างโลงหิน (Sarcophagus) ในปีพ.ศ. 2559 เพื่อกันการรั่วไหลของรังสีก็เป็นการยื้อเวลาในการคิดค้นแนวทางใหม่ ๆ

ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ?

ประชากรราว 5 ล้านคนในยูเครน เบลารุส และรัสเซียยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณที่ยังมีการปนเปื้อนรังสี ตามผลงานวิจัยร่วมที่จัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์จากกรีนพีซและยูเครนพบว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการปนเปื้อนจะได้รับปริมาณรังสีอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันยังไม่มีกระบวนการลดการปนเปื้อนรังสีหรือแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อาจจะช่วยลดผลกระทบแต่ทางรัฐบาลยังไม่มี ทรัพยากรเพียงพอที่จะนำมาปรับใช้

ศาสตราจารย์วาเลรี คัชปารอฟ หัวหน้าสถาบันรังสีวิทยาในภาคการเกษตรของยูเครน เก็บตัวอย่างนมจาก 50 ตัวอย่าง จากนั้นจะนำไปทดสอบซีเซียมเพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นว่าการปนเปื้อนส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้รอดชีวิตจากเชอร์โนบิลอย่างไร © Denis Sinyakov / Greenpeace

ในขณะเดียวกันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลยังเป็นอนุสรณ์เตือนใจเราอยู่เสมอถึงความร้ายแรงที่เกิดขึ้น ยิ่งตอนนี้ที่เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบที่อาจตามมาหลังจากนี้ก็อาจจะมีมากขึ้น

เมื่อปีที่แล้วไฟป่าครั้งใหญ่โหมกระหน่ำใน “เขตห้ามเข้าเชอร์โนบิล (Chernobyl Exclusion Zone)”  นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไฟป่าได้เกิดขึ้น ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ไฟไหม้เกิดขึ้นในเขตยกเว้นมากกว่า 1,500 ครั้ง ความแห้งแล้งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้มีไฟป่าเกิดขึ้นซึ่งกินพื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่มีความอ่อนไหวในเขตยกเว้น ไฟป่าที่เกิดขึ้นอยู่ห่างจากโลงหิน (sarcophagus) ที่เพิ่งถูกสร้างใหม่เพียงแค่หนึ่งกิโลเมตรเท่านั้น

ไฟป่าที่เกิดขึ้นทอดยาวหลายสิบกิโลเมตรเกือบถึงเมืองเคียฟ ของยูเครน ได้ทำให้ประชาชนเกิดความกลัวว่าอนุภาคของหมอกควันอาจเพิ่มระดับของรังสีในเมือง โชคดีที่สิ่งที่ประชาชนกังวลไม่เกิดขึ้น ระดับของรังสีนอกเขตหวงห้ามยังคงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่นักดับเพลิงต้องทำงานในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนซึ่งในรายงานของสื่อได้ระบุว่ามีการแผ่รังสีเกินระดับถึง 16 เท่า

ไฟป่าที่เกิดในกรุงเคียฟของยูเครน  © Oksana Parafeniuk / Greenpeace

นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นว่าอย่างไร?

“หากมองจากมุมมองของนักดับเพลิง ไฟเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจจะทำให้พวกเขาได้รับอันตรายจากการได้รับรังสีจากการสูดดม”

“น่าเสียดายที่เรามีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับความเป็นอันตรายด้านรังสีวิทยาต่อสิ่งแวดล้อมของการเกิดเพลิงไหม้ในพื้นที่ที่ปนเปื้อนรังสี” ศาสตราจารย์วาเลรี คัชปารอฟ หัวหน้าสถาบันรังสีวิทยาในภาคการเกษตรของยูเครนกล่าว

https://twitter.com/greenpeaceru/status/1249630206366752775

สิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นคืออะไร?

นักดับเพลิงควรจะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนด้านความเสี่ยงจากรังสีก่อนที่จะเข้าไปในเขตปนเปื้อน แต่การศึกษาครั้งล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ทำเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้เปลี่ยนไป วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทำให้ไฟป่าเกิดบ่อยครั้งขึ้น ระบบนิเวศก็เปลี่ยนแปลงไป และการเกิดไฟป่าแต่ละครั้งนั้นก็ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นค่อนข้างมาก

หากสภาพอากาศในปีนี้เอื้ออำนวย งกรีนพีซและสถาบันต่าง ๆ จะศึกษาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเพิ่มระดับปริมาณรังสีในระหว่างการเกิดเพลิงไหม้ “ผลลัพธ์ที่ได้ เราจะสามารถคาดการณ์ได้ว่าปริมาณของรังสีที่นักผจญเพลิงอาจจะได้รับด้วยการสูดดมจะมีปริมาณเท่าไหร่ และเราจะสามารถลดความเสี่ยงให้กับนักดับเพลิงให้ได้มากที่สุด” ศาสตราจารย์คาชปาโรฟ กล่าว

มองภาพที่ใหญ่ขึ้น

การศึกษาที่กรีนพีซจะทำร่วมกับสถาบันจะให้ข้อมูลที่จำเป็นในการประเมินความเสี่ยงที่นักดับเพลิงต้องเผชิญ สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อนักดับเพลิงเอง รวมไปถึงครอบครัวของนักดับเพลิง และเพื่อนร่วมงาน นี่เป็นเพียงหนึ่งในอันตรายที่เกิดจากภัยพิบัตินิวเคลียร์เมื่อ 35 ปีก่อนที่ยังต้องรับมือ และไม่มีใครรู้เลยว่าในอนาคตจะมีข้อค้นพบใหม่ ๆ อีกมากขนาดไหน

ประเทศที่รอดจากหายนะภัยเชอร์โนบิลไม่ได้ฉุกคิดถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น แต่พวกเขากลับยึดติดกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ในเบลารุส และรัสเซียเองก็ไม่เพียงที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนพื้นดินแห่งใหม่ แต่ยังได้เปิดตัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำแห่งแรกของโลก โดยบริษัท Rosatom ซึ่งโรงงานนิวเคลียร์นี้ได้รับขนานนามทันทีว่าเป็น “เชอร์โนบิลลอยน้ำ” 

ในปัจจุบันมีประเทศมากกว่า 30 ประเทศที่ยังคงใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้า

สิ่งที่จำเป็นที่สุดตอนนี้คืออะไร

ในขณะที่เรายังต้องจัดการผลกระทบของหายนะภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลและ บริษัทต่าง ๆ ต้องหยุดพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์และเร่งไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นธรรมให้ได้โดยเร็วที่สุด