ทุกวันนี้สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยไปถึงไหน? เราสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเรากำลังสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของบ้านเราเพราะเป็นสิทธิที่เราพึงมีและสามารถทำได้หรือไม่?

สำหรับ กรณ์อุมา พงษ์น้อย แล้วการต่อสู้ที่ผ่านมาและปัจจุบันก็ไม่ต่างอะไรจากหนังม้วนเก่าที่ทำให้รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตอยู่ตลอดเวลา

กรณ์อุมา พงษ์น้อย คือหนึ่งในชุมชนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภรรยาของนายเจริญ วัดอักษร แกนนำชุมชนผู้ถูกปลิดชีวิตไปด้วยปืน 9 นัด ในคืนวันที่ 21 มิถุนายน 2547 เนื่องจากการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 20 กว่าปีที่แล้ว ชายชื่อเจริญ วัดอักษร ร่วมกับชาวบ่อนอก ทับสะแก บ้านกรูด และชุมชนอื่น ๆ ในประจวบคีรีขันธ์ ได้ต่อสู้กับการคุกคามของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งหากปราศจากจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในวันนั้น ในทุกวันนั้นประจวบฯ ที่เรารู้จักกันอาจกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่คล้ายกับระยองไปแล้ว

การลุกขึ้นต่อสู้ท้าทายอำนาจรัฐและนายทุนที่เข้ามารุกรานสิ่งแวดล้อมเพียงเพื่อผลประโยชน์อันมหาศาลจากทรัพยากรแก่คนเฉพาะกลุ่มมักลงเอยด้วยการถูกข่มขู่ อุ้มหาย หรือถูกสังหาร จากในอดีตเมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมา แม้แต่คดี “ฆ่า เจริญ วัดอักษร” เองก็กลับมีบทสรุปการตัดสินออกมาว่า ยกฟ้องคดี จวบจนวันนี้ มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง ทางกรีนพีซได้มาชวน คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย พูดคุยถึงเรื่องสิทธิในปัจจุบัน

“เราไม่เคยคิดที่จะหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมแม้กระทั่งศาลปกครอง เพราะเราไม่คิดว่าจะสามารถสร้างความเป็นธรรมอะไรให้กับเราได้” — กรณ์อุมา พงษ์น้อย

 

แม้จะมีชัยชนะเรื่องโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจนกระทั่งภาครัฐและเอกชนต้องพับเก็บโครงการขนาดรวม 4,100 เมกะวัตต์ไป แต่ในทุกวันนี้ชุมชนบ่อนอก ประจวบคีรีขันธ์ ยังเผชิญกับการคุกคามสิ่งแวดล้อมที่ไม่แตกต่างออกไปจากเดิมสักเท่าไรนัก มีปัญหาเรื่องวิกฤตทางทะเลที่ต้องต่อสู้กับทุนต่างถิ่น และเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง รวมถึงประเด็นเรื่องที่ดินสาธารณะคลองชายธง ต.บ่อนอก อ.เมือง ที่เป็นที่หมายปองของกลุ่มทุนมาตั้งแต่สมัยโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ธุรกิจบ่อกุ้ง และมหาวิทยาลัย ซึ่งการเคลื่อนไหวต่อต้านของชุมชนเป็นการขัดขวางผลประโยชน์ของกลุ่มทุน

สิทธิของประชาชนจึงถูกบดบังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จนบ่อยครั้งที่ชุมชนท้องถิ่นถูกกีดกันไม่ให้มีสิทธิและเสียง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอำนาจการตัดสินใจ ในขณะที่ภาครัฐและกลุ่มทุนสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการ “พัฒนา” โดยที่ภาระและผลกระทบจากการพัฒนานั้นกลับตกอยู่กับชุมชนผู้สูญเสียวิถีชีวิตของตน

“ถ้ารัฐฟังเสียงประชาชน การทำลายก็ไม่เกิดขึ้น อย่างหมู่บ้านป่าแหว่งของเชียงใหม่ ชาวบ้านคัดค้านมาตั้งแต่ต้น แต่ถามว่าหน่วยงานรัฐฟังไหม ไม่ฟัง เดินหน้าอนุมัติ ศาลก็ไม่ฟัง แต่รัฐมักอ้างว่าชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้มองถึงความชอบธรรม ขณะที่ชาวบ้านไม่ว่าจะลุกขึ้นมาคัดค้านใดๆ ก็ตาม เขาจะพูดเรื่องความเป็นธรรม เพราะมันคือการทำลาย เรื่องสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยจึงยังไม่ไปถึงไหน สิทธิจริงๆ ยังไม่เกิด” กรณ์อุมา พงษ์น้อย กล่าว “โครงการที่ทำภายใต้กฎหมายที่กำหนดไม่ได้หมายความว่าไม่ละเมิดสิ่งแวดล้อมและชุมชนของเรา

เมื่อความชอบธรรมถูกละเลย การละเมิดสิทธิจึงเกิดขึ้นเสมอมา คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย เสริมว่า
“ถ้าว่ากันด้วยเรื่องกฎหมาย เขาย่อมรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไรจึงจะถูกกฎหมาย และการพึ่งพาขบวนการยุติธรรมผลเป็นอย่างไรก็สามารถคาดเดาได้ ดังนั้นทางออกของชุมชนจึงจำเป็นต้องพึ่งพลังประชาชน”

“เราจะไปพึ่งพาใครได้ ในเมื่อหากโรงงานปล่อยมลพิษ และเราร้องเรียนต่อกรมควบคุมมลพิษ ค่ามลพิษก็อยู่ในค่ามาตรฐาน เพราะมีการตั้งค่ามาตรฐานไว้สูงเอื้อต่อการปล่อย แล้วพวกเราในฐานะประชาชนจะทำอย่างไร” กรณ์อุมา พงษ์น้อย กล่าว

แม้ว่าเรื่องสิทธิในประเทศไทยจะยังไม่ค่อยมีอะไรแตกต่างออกไปจากเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา แต่คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย สังเกตเห็นว่า แต่ภาคประชาชนมีการตื่นตัวมากขึ้น ลุกขึ้นมาปกป้องการละเมิดจากรัฐจากทุน ในขณะที่นโยบายรัฐไม่เคยเปลี่ยน มักอ้างเสมอถึงการพัฒนา แม้ว่าผลคือการทำลาย

“นโยบายรัฐ คือ สิ่งที่ละเมิดสิทธิชุมชนของเรามากที่สุด นำข้อกฎหมายมาเล่นงานเรา กลุ่มทุนแม้จะเข้ามา แต่ก็ถือว่าขับเคลื่อนภายใต้นโยบายของรัฐ เพราะนโยบายรัฐเป็นสิ่งที่ top-down ไม่รับฟังความคิดเห็นที่แท้จริง ไม่โปร่งใส เราคิดว่าไม่ใช่ขั้นตอนที่ถูกต้อง รัฐบาลทุกยุคสมัยไม่มีใครเปลี่ยนเลย รัฐฟังแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฟังแต่กฟผ. และกระทรวงพลังงาน” กรณ์อุมา พงษ์น้อย อธิบาย

ทางออกและความหวัง

สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นเรื่องน่ากังวลในประเทศไทย แต่สิ่งที่เป็นความหวังในการปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมเสมอมาคือพลังและการขับเคลื่อนของภาคประชาชน และสำหรับคุณกรณ์อุมา พงษ์น้อยแล้วการต่อสู้ที่ดีที่สุด คือ การที่มีชุมชนเข้มแข็งคอยดูแลบ้านของตน

“เราต้องตั้งเครือข่ายองค์กรที่เข้มแข็ง สอดส่องดูแล สร้างความรู้ความเข้าใจในหมู่ประชาชนพี่น้องเอง อยู่อย่างไรให้สิ่งแวดล้อมดีและยั่งยืน ไม่ใช่ล้างผลาญ ตื่นรู้และร่วมมือกัน จะเป็นการช่วยกันดูแลและปกป้องทรัพยากรได้อย่างแท้จริง” กรณ์อุมา พงษ์น้อย กล่าวย้ำ

พลังงานหมุนเวียนเป็นอีกทางออกหนึ่งของปัญหาพลังงานในชุมชน โดยที่หากชุมชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองจากพลังงานที่มีอยู่ทั่วไปจากแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งในการส่งเสริมเรื่องสิทธิของชุมชน “โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการจัดการชีวิตตนเองได้” กรณ์อุมา พงษ์น้อย เสริม “ที่ผ่านมาเราก็เรียกร้องอยู่ solar rooftop เป็นเรื่องที่ดี ถ้ารัฐส่งเสริมอย่างจริงจัง ให้ความรู้ประชาชนว่าดียังไง ไม่มีมลพิษยังไง ถ้าคุณผลิตได้มากยังขายไฟเข้าระบบได้ และช่วยให้โลกเราดีขึ้นได้”

สิทธิชุมชน ควรจะเป็นการให้ชุมชนมีสิทธิในการเลือกอนาคตของชุมชนเอง ตามทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ ดังที่ เสกสรรค์  ประเสริฐกุล เรียบเรียงออกมาเป็นแนวคิดเรื่องสิทธิว่า “ผู้ยากไร้ทั้งหลายไม่ได้ต้องการดำรงตำแหน่งสาธารณะ ไม่ได้ต้องการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชิงอำนาจในรัฐสภา หากต้องการสิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการพิทักษ์รักษาวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิทธิอื่นๆ อันเกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอยู่โดยไม่ถูกรุกล้ำล่วงเกิน เกี่ยวข้องกับความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนของตน”

บางทีการรักษาสิทธิของชุมชน ไม่ใช่แค่เพียงการปกป้องชุมชนเท่านั้น แต่คือการรักษาไว้ซึ่งจิตวิญญาณของชุมชน และการที่รัฐกำลังละเลยสิทธิที่ชอบธรรม คงไม่ต่างจากการเหยียบย่ำจิตวิญญาณชุมชน

Brand Audit in Chonburi, Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซ

ไม่ว่าคุณเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ซึ่งคุณสามารถเลือกประเภทของอาสาสมัครได้ตามความสนใจ อาทิ เยาวชนกรีนพีซ (Youth) นักพูดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Greenspeaker) นักกิจกรรมเชิงออนไลน์ (Digital Activist) และนักกิจกรรมภาคสนาม (Activist)

มีส่วนร่วม