โคคา-โคล่า ในอดีต

มีโฆษณาของโคคา-โคล่าชิ้นหนึ่งจากปีพ.ศ.2514 ที่ชื่อว่า “Hilltop” หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ฉันอยากซื้อโค้กให้กับโลกทั้งใบ” วิดีโอได้นำเสนอกลุ่มคนหนุ่มสาวที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลกในมือถือขวดแก้วโค้กยืนร้องเพลงอยู่บนยอดเขา “ฉันอยากจะทำให้โลกเป็นบ้านของทุกคน … ซื้อโค้กให้กับคนทั้งโลกและอยู่เป็นเพื่อนชิดใกล้ มันคือสิ่งที่โลกต้องการในปัจจุบัน”

โคคา-โคล่าและสิ่งที่เกิดในปัจจุบัน

ในวาระการประชุมผู้ถือหุ้นในปีนี้ซึ่งครบรอบ 50 ปี โคคา-โคล่าต้องการแสร้งทำเป็นว่ายังคงอยู่บนยอดเขา ทำให้เรารู้สึกสดชื่น มีความสุข และเต็มไปด้วยความคิดถึงความ “คลาสสิก” ของแบรนด์ 

ในขณะเดียวกัน นักกิจกรรมทั่วโลกต่างพากันเรียกร้องถึงการดำเนินงานของบริษัทอย่างโคคา-โคล่า และส่งสัญญาณให้เห็นว่า ในขณะนี้ บนยอดเขาไม่เพียงแต่เต็มไปด้วยขยะขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเท่านั้น แต่ยังถูกปกคลุมไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบมาเพื่อขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ปัญหามลพิษพลาสติกจากโคคา-โคล่านั้นไม่ใช่แค่เป็นปัญหาขยะในทะเลเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์สุขภาพของมนุษย์อีกด้วย

Imported Plastic in East Java, Indonesia. © Fully Syafi / Greenpeace
© Fully Syafi / Greenpeace

ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ

เราอาจจะยังไม่รู้ว่า โลกที่โคคา-โคล่าต้องการสร้างบนยอดเขาแห่งนั้นมีหน้าตาเป็นเช่นไร แต่ที่เห็นได้ชัดเลยคือ มลพิษพลาสติกกำลังคุมคามสุขภาพของเราและสุขภาพของโลกใบนี้

ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2563 จากรายงานการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกซึ่งจัดขึ้นทั่วโลก โคคา-โคล่า เป็นผู้ก่อมลพิษพลาสติกมากที่สุดของโลกเป็นปีที่สามติดต่อกัน นั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะยืนอยู่บนชายหาดใดหรือเมืองไหน ที่ที่คุณเดินเล่นอยู่ก็มักจะพบบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีโลโก้โค้กปะปนอยู่ในน้ำและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ รอบ ๆ ชุมชนของคุณ

หลายทศวรรษที่ผ่านมา โคคา-โคล่าและบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ได้อาศัยความเชื่อผิด ๆ ของประชาชนเกี่ยวกับการรีไซเคิลเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อมลพิษพลาสติกเหล่านี้

พวกเขาใช้การรีไซเคิลมาเป็นแนวทางในการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และผลักภาระให้กับผู้บริโภคในการทำความสะอาด ในขณะพวกเขาเองปฏิเสธที่จะรับรู้ว่าปัญหามลพิษพลาสติกไปไกลเกินกว่าจะแก้ไขได้เพียงแค่การรีไซเคิลหรือกิจกรรมเก็บขยะ

Coca Cola Plastic Pollution in the Anacostia River in Maryland. © Tim Aubry / Greenpeace
© Tim Aubry / Greenpeace

การใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งส่งผลต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  

ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลถูกเหนี่ยวรั้งจากการเรียกร้องทั่วโลกที่ต่อต้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทางรอดในการเติบโตของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลจึงเป็นพลาสติกและการเป็นพันธมิตรในระยะยาวกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างโคคา-โคล่า

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ในการผลิตพลาสติกทั้งหมด การผลิตบรรจุภัณฑ์มีสัดส่วนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ อุตสาหกรรมจึงไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการเพิ่มการผลิตในส่วนนี้ และหากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลพัฒนาความสามารถในการสกัดและการแปรรูป เพื่อตอบสนองความต้องการพลาสติกตามการเติบโตที่คาดการณ์ไว้ การปล่อยมลพิษสู่โลกอาจจะสูงถึงเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้

Ineos Oil Facilities in Texas. © Aaron Sprecher / Greenpeace
© Aaron Sprecher / Greenpeace

โคคา-โคล่าจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

โคคา-โคล่า กลับไปสู่ยอดเขาที่สดใสได้อย่างไร? ถ้าหากโคคา-โคล่าต้องการแสดงให้เห็นว่าตนใส่ใจต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศและปัญหามลพิษพลาสติกจริง โคคา-โคล่าก็ต้องยุติความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและยุติการพึ่งพาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย

หากโคคา-โคล่าต้องการแสดงให้เห็นว่าห่วงใยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและปัญหามลพิษพลาสติก ก็ต้องยุติการผลิตพลาสติก และหันมาลงทุนในระบบใช้ซ้ำเพื่อลดภาระปัญหามลพิษพลาสติก

หากโคคา-โคล่าต้องการดำเนินการตามคำมั่นด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง จะต้องไม่มีส่วนร่วมในการสร้างโรงงานปิโตรเคมีเชื้อเพลิงฟอสซิลตามแผนที่วางไว้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และต้องยุติความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล

ถึงเวลาแล้วที่ โคคา-โคล่า จะทำให้โลกเป็นบ้านหลังใหม่ของทุกคน หันมาลงทุนกับระบบใช้ซ้ำและระบบเติม เราต้องการวิธีการแก้ปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่โลกกำลังเรียกร้องในปัจจุบัน

Plastic Waste Delivery at the DENR in Manila. © Jilson Tiu / Greenpeace
© Jilson Tiu / Greenpeace

_____________________________________________________

โรบิน ฟลาฮาตี ผู้ประสานงานรณรงค์โครงการยุติมลพิษพลาสติก