© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา กองทุนแสงอาทิตย์ (Thailand Solar Fund) ได้เดินหน้าเปิดตัว “Solar Generation วิทยาลัยแสงอาทิตย์” ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 10.8 กิโลวัตต์ที่วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ซึ่งนับเป็นวิทยาลัยแสงอาทิตย์จากเงินบริจาคของประชาชนแห่งแรกในภาคเหนือ และเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของจังหวัดลำปางเพื่อขยายผลให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับนักเรียนนักศึกษาในอนาคต และเป็นโครงการแห่งที่ 2 ของกองทุนแสงอาทิตย์ เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้กับวิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่งทั่วประเทศ 

ในครั้งนี้ กรีนพีซได้ไปพูดคุยกับคุณอำนวย เรือนสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม และนักศึกษาในสาขาไฟฟ้ากำลังที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและพลังงานแสงอาทิตย์ พวกเขาเหล่านี้ได้เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของความสนใจ มุมมองด้านพลังงานหมุนเวียน และโอกาสในด้านอาชีพไว้อย่างน่าสนใจ และตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าอนาคตสามารถเริ่มต้นได้บนหลังคา

จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติบนหลังคา

คุณอำนวย เรือนสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

คุณอำนวย เรือนสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปครั้งนี้ว่า เนื่องจากวิทยาลัยมีนักศึกษาและบุคลากรเพิ่มขึ้นจึงมีการใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้สาธารณูปโภคก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งสวนทางกับงบประมาณของวิทยาลัยซึ่งไม่ได้มีงบส่วนนี้มาก จึงได้ลองศึกษาพลังงานหมุนเวียนผ่านทางอินเทอร์เน็ตและยูทูป จนได้ไปพบกับเว็บไซต์ของกองทุนพลังงานแสงอาทิตย์และพบว่าน่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายได้ จึงเริ่มสนใจหาข้อมูลเพิ่มเติมและตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ

“ประเด็นสำคัญที่สุดอย่างแรกคือ การติดตั้งโซลาร์รูปท็อปจะช่วยประหยัดงบประมาณค่าสาธารณูปโภคของวิทยาลัย และป็นการช่วยให้ประหยัดงบประมาณของทางราชการด้วย ซึ่งในแต่ละปีภาระบิลค่าไฟฟ้าของวิทยาลัยจะอยู่ที่ราว 750,000 บาทต่อปี และประเด็นที่สองที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องวิชาการ เพราะทางวิทยาลัยมีแผนที่จะเปิดวิทยาลัยให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เรื่องพลังงานหมุนเวียนและการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน ประชาชนในพื้นที่ก็สามารถเข้ามาศึกษาได้อีกด้วย”

“เนื่องจากอำเภอแจ้ห่มมีแสงอาทิตย์ค่อนข้างแรงตลอดทั้งปี จึงคิดว่าหากได้ใช้พลังงานจากธรรมชาติที่ไม่มีมลพิษ อีกทั้งยังจะเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่ก็น่าจะดีกับทุกฝ่าย เพราะชุมชนจะได้ไม่ต้องทนกับแหล่งพลังงานที่กระทบต่อสภาพแวดล้อมเพิ่ม”

“นอกจากตึกอำนวยการแล้ว วิทยาลัยยังมีแผนที่จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มเติมที่หอพักนักศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักศึกษา ทั้งนี้ภายในบริเวณเดียวกันยังมีโรงเรียนไก่ เลี้ยงหมู ซึ่งหวังว่าโซลาร์รูฟท็อปจะช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องนี้ได้ด้วยเช่นกัน”

อนาคตเริ่มต้นที่การสร้างคน

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ผู้อำนวยการเล่าต่อว่า ในปัจจุบันวิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่มเปิดสอนในสาขาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น สาขาช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างก่อสร้าง การท่องเที่ยว พาณิชยกรรมและการบัญชี แต่ปัจจุบันมีแผนจะเพิ่มหลักสูตรสาขาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเนื่องจากในอนาคตจะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยคนจะต้องทำหน้าที่ควบคุมเอไอหรือหุ่นยนต์ และอีกสาขาที่จะเพิ่มคือการท่องเที่ยวเชิงบริการ เนื่องจากจะเป็นประโยชน์และสามารถนำบริบทของชุมชนแจ้ห่มมาเป็นตัวอย่างได้เลย เนื่องจากนักศึกษาที่วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่มส่วนมากเป็นเด็กในพื้นที่ประมาณร้อยละ 80 อยู่แล้ว

“ปัจจุบันการเรียนการสอนที่วิทยาลัยจะแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยครึ่งหนึ่งเป็นการเรียนในสถานศึกษา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือการศึกษาในสถานประกอบการจริง ดังนั้นนักศึกษาที่นี่ก็จะมีประสบการณ์ทำงาน และมีโอกาสในการทำงานในอนาคต เช่น ในห้องเรียนได้สอนให้ซ่อมไฟฟ้า ควบคุมระบบ หรือควบคุมหุ่นยนต์ เมื่อนักศึกษาไปเรียนรู้เพิ่มเติมหรือหาประสบการณ์ก็จะได้รับโอกาสในการไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะอื่นๆ เช่นการขายของ การบริการ ตามความสนใจของแต่ละคนด้วย”

“การที่วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่มได้รับคัดเลือกให้ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปจากกองทุนแสงอาทิตย์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วิทยาลัยของเราในอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดลำปาง เป็นศูนย์เรียนรู้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยยกระดับการเรียนการสอนของเราและนำไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ และผลิตกำลังคนในท้องถิ่นออกมาเพื่อรองรับธุรกิจของโซลาร์เซลล์ รวมถึงการสร้างงานใหม่ โดยที่วิทยาลัยยังสามารถดึงคนที่ไม่ได้อยู่สายอาชีพนี้โดยตรงเข้ามาเรียนรู้การทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเกิดการแข่งขันและมีตลาดแรงงานที่มีคุณภาพซึ่งตอบโจทย์ในช่วงที่ประเทศพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงโควิด-19อีกด้วย”

พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในฐานะพลังงานที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่มยังมีแผนเปิดหลักสูตรใหม่เพื่อสอนเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะ และหวังว่าเมื่อนักศึกษาได้เรียนรู้แล้วจะสามารถขยายผลให้เป็นประโยชน์กับชุมชนและสังคมต่อไปได้ เพราะมองว่าในอนาคตจะมีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์รูปท็อปหรือรถไฟฟ้า นอกจากนั้น วิทยาลัยก็กำลังเริ่มต้นโครงการต้นแบบในการขับเคลื่อนด้วยรถไฟฟ้า และในอนาคตอยากจัดเป็นการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การผลิตจักรยานไฟฟ้าให้ผู้ที่สนใจ  หรือวีลแชร์ไฟฟ้าเพื่อให้คนชราและคนพิการได้ใช้โดยจะจัดจำหน่ายในราคาต้นทุน”

“จังหวัดลำปางฝุ่นเยอะที่สุดในช่วงประมาณเดือนเมษายน สาเหตุเกิดจากความแห้งแล้งและการเผาป่า ที่ผ่านมามีมาตรการควบคุมบ้าง เช่น ห้ามเผาป่าโดยกำหนดระยะเวลา หรือหน่วยงานราชการก็มีการพ่นละอองน้ำ แต่ก็ไม่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้มาก จึงมีแนวคิดเรื่องการติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กและเล็กมาก (Dustboy) ที่วิทยาลัย และเป็นสถานีวัดคุณภาพอากาศเพิ่มขึ้นอีกแห่งที่นักศึกษาและประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ผ่าน https://cmu.cmuccdc.org  และ www.aqicn.org เพราะหากหน่วยงานราชการมีติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศก็จะสามารถช่วยป้องกันในฐานะเป็นการเตือนภัยได้อีกทางหนึ่ง”

“สุดท้ายนี้ อยากชวนให้ส่วนราชการและเอกชนมาติดตั้งพลังงานโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น เพราะจะช่วยประเทศชาติในการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ อีกทั้งยังเชื่อว่าในอนาคตกฎหมายจะเปิดช่องในการพัฒนาต่อยอดได้มากขึ้นแน่นอน”

เยาวชนกับความหวังที่จะเห็นพลังงานแสงอาทิตย์เป็นของทุกคน

จากการพูดคุยกับนักศึกษาในสาขาไฟฟ้ากำลังที่วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม หลังร่วมเวิร์กช็อปเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ละคนก็ได้เล่ามุมมองในหลากหลายด้านให้เราฟัง ไม่ว่าจะเป็นมุมมองต่อความเป็นไปได้ของการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ความฝันและอาชีพในอนาคต หรือมุมมองต่อการปฏิวัติพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม

กันติศักดิ์ สัตย์นิ่ง นักศึกษาสาขาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม
© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ก่อนหน้านี้เคยรู้จักโซลาร์เซลล์เฉพาะแต่ชื่อ เคยเห็นจากวีดีโอบนอินเทอร์เน็ต หรือไม่ก็อ่านผ่าน ๆ ในเว็บต่างประเทศ ตอนนั้นยังไม่ได้สนใจมาก แต่พอได้เรียนรู้มากขึ้นว่าโซลาร์เซลล์ทำงานอย่างไร มีกี่แบบ สามารถติดตั้งได้อย่างไรบ้าง  ก็พบว่าในอนาคตน่าจะนำมาใช้เป็นพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ดี” 

กันติศักดิ์ สัตย์นิ่ง

ปวีณา ปั้นคง นักศึกษาสาขาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม
© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ถ้าเรียนจบก็อยากลองทำงานเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ค่ะ และมองว่าจะนำความรู้ที่มีไปต่อยอดได้อีกหลายทาง เช่น หากเรารู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ลึก ๆ ก็สามารถไปบอกต่อหรือให้ความรู้คนอื่นได้ด้วย เหมือนกับตอนเด็ก ๆ ที่เราเคยคิดอยากเป็นครู เพราะอยากช่วยกระจายความรู้นี้ให้คนอื่น เพราะจะเป็นประโยชน์ในด้านการประกอบอาชีพของคนในชุมชนและเยาวชนในอนาคต”

ปวีณา ปั้นคง

พีรดนย์ พุทธรักษ์ นักศึกษาสาขาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม
© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“เคยไปฝึกงานในการติดแผงโซลาร์เซลจำนวนหลายโครงการ ตอนนั้นได้ไปช่วยทำและไปเรียนรู้ พบว่าในกระบวนการติดตั้งก็ไม่ได้ยุ่งยาก โดยมีองค์ประกอบหลักๆ คือแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอร์รี่ และแผงควบคุม ในอนาคตผมอยากลองทำบ้านจำลองขาย โดยใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อให้คนได้รู้ว่าการติดโซลาร์รูฟท็อปสามารถใช้งานได้จริงๆ”

“ตอนนี้ในหลักสูตรการสอนมีการสอดแทรกเรื่องพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเล็กน้อย จึงน่าจะดีถ้ามีการสอนเรื่องพลังงานทางเลือกมากขึ้น เพราะจะนำไปต่อยอดในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือการใช้รถไฟฟ้าแทนน้ำมัน เพราะพลังงานจากแสงอาทิตย์ไม่มีวันหมดและไม่สร้างมลพิษอีกด้วย”

พีรดนย์ พุทธรักษ์

ชฎาธาง ปางรังษี นักศึกษาสาขาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม
© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ในอนาคตก็อยากจะลองติดโซลาร์บนหลังคาบ้าน จะมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น เวลาไฟฟ้าดับเราก็จะมีไฟฟ้าใช้ในยามฉุกเฉินโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากแหล่งเดียว นอกจากนั้นยังมองว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายรายเดือนได้เนื่องจากรายได้ของที่บ้านจะได้มาเป็นรายปี การลงทุนติดตั้งเพียงครั้งเดียวโดยไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้ารายเดือนก็น่าจะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้”

ชฎาธาง ปางรังษี

ณัฐปณัย เฟื่องเจริญ นักศึกษาสาขาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม
© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ที่ลำปางประสบปัญหาเกี่ยวกับฝุ่นPM2.5ค่อนข้างมากในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่เราใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะโดยปกติเวลาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็มักจะก่อให้เกิดมลพิษในกระบวนการผลิตด้วย แม้ว่าโซลาร์ผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่า แต่ก็เป็นแหล่งพลังงานที่สามารถใช้ได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชนมากกว่า และช่วยให้ประหยัดงบประมาณได้ด้วย ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เราก็จะต้องพึ่งพาพลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินลดลง ทำให้มลพิษที่เกิดจากการผลิตลดลงตามไปด้วย”

ณัฐปณัย เฟื่องเจริญ


#พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทุกคน คือข้อความที่กรีนพีซพยายามจะสื่อสารในงานรณรงค์การเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียน เพราะอะไรเราจึงใช้คำว่า “เพื่อทุกคน” นั่นก็เพราะนอกจากช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ถ้าหากเรามีระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืน ลดการผูกขาดและกระจายการผลิตพลังงานให้กับคนทุกคนอย่างเป็นธรรมแล้ว จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริง จะช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มการจ้างงานจากระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพมากขึ้น มาร่วมกันผลักดันกับภาครัฐให้ การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นสิทธิ์ที่เราทุกคนก็ทำได้ ไม่ถูกผูกขาดกับใครหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

Solar Rooftop at Luang Suan Hospital in Thailand. © Greenpeace / Arnaud Vittet
พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทุกคน

ยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟระดับครัวเรือน ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม