กิจกรรม Plogging (พล็อกกิ้ง) อาจยังไม่คุ้นหูกับคนไทยนัก เพราะยังเป็นเทรนด์ใหม่ที่เริ่มขึ้นที่สวีเดนเมื่อห้าหกปีก่อน Plogging เป็นกิจกรรมวิ่งออกกำลังกายไปแล้วถือถุงเก็บขยะไปด้วย กลุ่มแรก ๆ ที่เริ่มในไทยและเปิดเพจเป็นจริงเป็นจังคือกลุ่ม Plogging Pattani ที่เริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมารวมตัวกันเดินวิ่งเก็บขยะ แล้วค่อย ๆ เติบโตขึ้นจนมีกิจกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ ในปัตตานีแทบทุกสัปดาห์ จากวันนั้นจนวันนี้ก็ราว 3 ปีเศษ ๆ หากลองนับดู กลุ่ม Plogging Pattani ก็จัดกิจกรรมมาเกิน 122 ครั้งแล้ว

กิจกรรม Plogging ที่ทางเพจ Plogging Pattani จัดขึ้นที่แหลมตาชี

“ความที่เป็นคนชอบเที่ยว พอผมไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวแถวบ้าน อย่างทะเล น้ำตกที่ปัตตานี แล้วเห็นขยะเยอะ ๆ มันทำร้ายจิตใจมาก จากเดิมที่สวย ๆ พอคนรีวิวแล้วไปเที่ยวเยอะ ๆ แล้วไม่ดูแลให้ดี ก็ไม่สวยแล้ว เพราะมีขยะเยอะขึ้นมาก ผมอยากให้ธรรมชาติยังสวยงามอยู่ มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม”

อดัม หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ Plogging Pattani

นายอับกอรี เปาะเดร์ หรือชื่อเล่นว่าอดัม เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเล่าย้อนถึงวันแรก ๆ ที่เขาและเพื่อนอีก 2 คน เริ่มชวนคนรอบข้างมาพูดคุยและจัดการปัญหาขยะที่ปัตตานี

“วันที่จัดกิจกรรมวันแรกมีคนมาทั้งหมด 7 คน ผมจำได้เลยว่าตื่นเต้นมาก แอบหวั่น ๆ ว่าสังคมจะมองเราในทางที่ไม่ดีว่าสร้างภาพแล้วจบหรือเปล่า ทำแค่ไม่กี่ครั้งก็ไม่ทำต่อแล้วหรือเปล่า เพราะกิจกรรมแนวเดิน-วิ่งเก็บขยะถือเป็นเรื่องใหม่ แต่พอทำไปก็มีเสียงตอบรับที่ดี และพอเริ่มมีคนสนใจเหมือน ๆ กัน ก็เลยรู้สึกกล้าที่จะจัดกิจกรรมในครั้งต่อไปมากขึ้น และมีความมั่นใจมากขึ้น”

จากครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 122 อดัมเป็นผู้จัดและเข้าร่วมในหลายครั้ง และในอีกหลายครั้งจะหมุนเวียนให้คนหน้าใหม่เป็นผู้นำจัดกิจกรรม เมื่อกิจกรรมวันนั้นดำเนินไปถึงช่วงสุดท้าย เขาจะถามผู้เข้าร่วมทันทีว่ามีใครสนใจอยากจะจัดในพื้นที่ของตนเองบ้าง หากมีคนอาสามาเป็นผู้จัดในรอบถัดไปก็มีกติกาง่าย ๆ ว่าจะต้องโพสต์ประชาสัมพันธ์วัน เวลา สถานที่ ในพื้นที่เฟซบุ๊คของผู้รับไปจัดเองก่อน แล้วทางทีมงานเพจ Plogging Pattani จะคอยช่วยเหลือด้านการแชร์ ประชาสัมพันธ์ นัดวัน เวลา สถานที่ เชิญชวนให้สังคมโลกออนไลน์มาร่วมกิจกรรม และให้ยืมอุปกรณ์เก็บขยะ รวมถึงไปร่วมงานด้วย

“เราเน้นตัวกิจกรรมให้ง่ายที่สุดและมีความสนุก คนทั่วไปจะได้เข้าถึงได้ เราอยากให้คนได้ผลัดกันนำจัดกิจกรรม และกระจายไปในหลาย ๆ พื้นที่ หลายคนที่มาร่วมมีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าบ้านเราขยะเยอะ จึงทำให้เขาอยากออกมาทำอะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่กล้า หรือไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี พอได้มาเริ่มทำก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ขึ้น และได้เจอเพื่อนที่สนใจอะไรคล้าย ๆ กันมากขึ้น

ผมคิดว่าการลุกขึ้นมาเปลี่ยน หรือลงมือทำกับอะไรสักอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องอาศัยความกล้า พวกเราเคยชินกับสิ่งแวดล้อมแบบเดิม ๆ มานาน ไม่เคยมีใครมาทำแบบต่อเนื่อง โดยที่เห็นทั่วไปกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่จะจัดแค่ตามวันสำคัญต่าง ๆ แล้วทำเพียงครั้งเดียวจบ ซึ่งเห็นว่าผลลัพธ์มันน้อยนิดเกินไป ความต่อเนื่องทำให้กิจกรรมที่เรากำลังทำมีความหมายและแตกต่างจากกิจกรรมอื่น ๆ

กิจกรรม Plogging เดิน-วิ่งเก็บขยะที่สวนขวัญเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

ครั้งที่ประทับใจ คือครั้งหนึ่งที่คนมาเยอะ มีคนจากต่างชาติที่เห็นการประชาสัมพันธ์ก็ได้มาร่วมด้วย โดยเป็นนักท่องเที่ยวและคนต่างชาติที่เป็นนักศึกษา มาจากหลายประเทศเลยและพวกเขาก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มีทั้งสวีเดน อินโด ไต้หวัน แอฟริกา มาเลเซีย เยอรมัน นอกจากนี้ครั้งนี้ยังมีความพิเศษเพิ่มมาอีกที่ผู้มาร่วมหลากหลายที่สุด มีคนที่มากันเป็นครอบครัวด้วย ตั้งแต่เด็ก ไปจนถึงปู่ย่าตายาย คนที่มาครั้งนั้น 30 กว่าคน ในครั้งนั้นเราประทับใจในด้านความหลากหลายด้านวัยและเชื้อชาติของผู้คนที่มาร่วม

หลายครั้งที่คนเห็นเราทำกิจกรรมเกิดคำถามว่านี่เป็นกิจกรรมของนักศึกษาหรือเปล่า อาจด้วยเพราะตัวผมเองรูปร่างภายนอกมันสื่อไปทางนั้น เราก็บอกว่าไม่ใช่ เราอธิบายกลับไปว่าเราเป็นคนทั่วไปที่อยู่ในวัยทำงานแล้วแต่ไม่อาจเห็นปัญหาขยะแย่ไปมากกว่านี้ได้ จึงได้ออกมาทำอะไรกันเพื่อสื่อสารให้สังคมได้ตระหนัก การที่เราได้ออกมาทำแล้วเห็นคนไม่รู้จักได้เข้ามาร่วมมากมาย ทำให้เข้าใจว่ามีผู้คนจำนวนมากที่สนใจเรื่องนี้ ผมเองก็เป็นคนทั่วไปที่อยากทำอะไรให้พื้นที่เมืองเราสะอาด และดีใจที่ยังมีคนอีกหลายคนที่คิดเหมือนกัน”

‘ใช้ซ้ำ’ ไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นไปได้

นอกจากกิจกรรมพล็อกกิ้งที่จัดแล้ว อดัมพยายามลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวัน พกแก้วส่วนตัว หลอดใช้ซ้ำ หรือกล่องข้าวอยู่เสมอ จนเพื่อน ๆ และคนในครอบครัวเริ่มทำตาม ความพยายามในการลดขยะยังรวมไปถึงการส่งปลาและอาหารทะเลให้ลูกค้าที่เป็นร้านอาหารอีกด้วย อดัมจะใช้วิธีแล่ปลาเป็นชิ้น ๆ ใส่กล่องพลาสติกขนาดใหญ่ ขับรถส่งตามร้านอาหารในปัตตานีและยะลา เมื่อทางร้านได้รับสินค้าพร้อมกล่องภาชนะใหม่ที่มาจากอดัม ทางร้านก็จะเก็บภาชนะที่ใช้เสร็จแล้วคืนมาให้ เป็นระบบส่งของที่วนภาชนะไปเรื่อย ๆ ใช้เสร็จแล้วก็คืนมาเพื่อใช้ในการส่งครั้งใหม่ 

“เราต้องส่งให้เขาเป็นประจำอยู่แล้ว ผมคิดว่าเราไม่สร้างขยะจากตรงนั้นได้ แทนที่เราจะใส่ถุงพลาสติกมาให้เขาทุกครั้ง เราก็เลือกเป็นกล่องที่ใช้ซ้ำได้แทน

ผมคิดว่า การใช้ซ้ำ (Reuse)  ดีที่สุด เพราะเป็นการใช้ที่ผ่านการคิดมาแล้ว เราคิดก่อนออกจากบ้านว่าวันนี้จะไปไหน ต้องพกอะไรออกไปบ้าง แล้วค่อยนำภาชนะนั้นกลับมาใช้ซ้ำ เราก็จะลดขยะได้เยอะ 

Reduce เป็นแนวคิดที่ดีมาก แต่เป็นไปได้ยากที่จะนำมาใช้กับผู้คนในสังคม สิ่งหนึ่งที่ได้ค้นพบคือถ้าหากเราเคร่งเกินไป จะปฏิเสธหรือลดใช้อย่างเดียว คนที่อยู่รอบข้างทั้งเพื่อนหรือคนอื่นอาจจะรู้สึกเครียดเกินไป จนเกิดการสร้างความร่วมมือที่ยาก เรายังต้องการใช้ชีวิตแบบมีศิลปะ และบาลานซ์ไลฟ์สไตล์เรากับการลดขยะ ผมเห็นว่าการสื่อสารกับเพื่อนรอบข้างน่าจะไปในทางเรื่องการใช้ซ้ำดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรอะไร เราควรใช้ซ้ำ ไม่เปลี่ยน ไม่ทิ้งขว้างบ่อย ๆ เราก็จะตอบโจทย์เรื่องลดขยะไปด้วย

ส่วน Recycle ผมว่าไม่ใช่ทางออก ขยะทุกชิ้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้นะ ส่วนขยะที่มีเขียนบอกว่ารีไซเคิลได้ มันก็จะไปสร้างพฤติกรรมมนุษย์ให้ใช้ต่อไป บางคนก็ใช้เต็มที่เลย ไม่คิดเลย เพราะเขาจะคิดว่าถ้าใช้แล้ว เดี๋ยวขยะชิ้นนั้นก็จะถูกนำไปรีไซเคิล ถ้าคนรู้สึกว่ารีไซเคิลได้ ก็จะใช้พลาสติกต่อ สร้างมลพิษต่อ คำนี้เป็นคำที่มีดาบสองคมที่สุด”

กิจกรรม Plogging เดินวิ่งเก็บขยะที่หาดรูสะมิแล จังหวัดปัตตานี

เก็บขยะอย่างเดียวไม่พอ เพราะปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

“หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยนะที่จะบอกว่าเรื่องพลาสติกก็คือเรื่องเชิงโครงสร้าง ผมอยากให้ภาครัฐใส่ใจเรื่องนโยบายการลดใช้พลาสติกมากขึ้น ผมมองว่าการเก็บขยะอย่างเดียวยังไม่พอ ที่พวกผมทำกันอาจจะหวือหวา ฮือฮากันแป้บเดียว มีคนอยากมาร่วมด้วย แต่พอกลับไปเจอสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ เราก็กลับไปสู่วิถีชีวิตเดิม ๆ คนเราไม่ได้เข้มแข็งขนาดนั้น รัฐต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้คนสามารถลดพลาสติกได้ มีแรงจูงใจ คนก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมตามไปด้วย

ภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้คนพกแก้วใช้ซ้ำ มีจุดเติมน้ำ ทำน้ำประปาดื่มได้ และต้องปฏิบัติด้วยตัวเองด้วย ไม่ใช่เวลาจัดประชุมก็ยังใช้พลาสติกเยอะอยู่ ภาครัฐต้องเริ่มเป็นตัวอย่างในการลดใช้พลาสติกก่อน ผมประทับใจมากที่ในยุโรป คนสามารถนำกระบอกน้ำไปเติมน้ำจากก๊อกได้ เติมน้ำได้ทุกที่เลย การพกแก้วส่วนตัวก็มีความหมายและทำได้ง่าย

ถ้าในระดับชุมชน อย่างในปัตตานีเอง ผมอยากให้ไม่มีขยะในสถานที่ท่องเที่ยว เราอาจจะต้องมีมาตรการกับร้านค้าที่ขายของในสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ให้ใช้พลาสติก หรือจะต้องมีการจัดการขยะจากร้านตัวเอง หากทำไม่ได้ก็มีบทลงโทษ ทั้งนักท่องเที่ยวและร้านค้า

อีกอย่างหนึ่งคือเราควรมีการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนด้วย มีศูนย์วิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ศึกษานวัตกรรมที่ช่วยลดมลพิษ และพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่นให้มาทำงานในด้านนี้ ทีมวิจัยก็จะช่วยส่งเสริมให้สังคมพัฒนานวัตกรรม หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น เช่น มีการตรวจสอบไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม แล้วเอาข้อมูลมาพูดคุยกันกับผู้คนในจังหวัดว่าเราจะทำอย่างไรกันดีหากเจอไมโครพลาสติก มาหาทางแก้ทางออกที่ดีร่วมกัน ให้ชุมชนได้มีส่วนจัดการ”

‘ผู้ผลิตสินค้า’ ส่วนสำคัญในการลดปัญหาขยะพลาสติก

“ผู้ผลิตสินค้าสำคัญมาก ถ้าเขาสามารถนำผลิตภัณฑ์กลับมาแล้วนำขวดมาหมุนเวียนได้จะดีมากเลย เราควรหมุนเวียนทรัพยากร เพื่อไม่ให้ทรัพยากรเราเป็นขยะเร็วไป ผมเข้าใจนะว่าเริ่มต้นยาก และมีต้นทุนสูง ก็เลยทำให้ไม่จูงใจผู้ผลิตมากนัก แต่ระบบใช้ซ้ำหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ จะต้องถูกนำมาคิดให้มากขึ้น ต้องศึกษาและวิจัยมากขึ้น ตั้งโจทย์ที่ยึดเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้งต้น ผมเชื่อว่าวันหนึ่งจะมีนวัตกรรมที่มาช่วยลดขยะได้ และอยู่ในราคาที่ไม่แพง ยิ่งเขาเป็นหนึ่งในผู้ที่สร้างขยะจากผลิตภัณฑ์ก็ต้องรีบเริ่มทำ ไม่ใช่ทำเพียงแค่จัดกิจกรรมเก็บขยะไม่กี่ครั้งแล้วจบไป”

ก้าวต่อไปของ Plogging Pattani

หลังจากการทำกิจกรรมและทำเพจ Plogging Pattani เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน แรงบันดาลใจได้ส่งต่อไปยังกลุ่มที่สนใจเรื่องลดพลาสติกกลุ่มอื่น ๆ ทำให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มในพื้นที่อื่น เป็นกลุ่ม Plogging นราธิวาส พัทลุง นครศรีธรรมราช มหาสารคาม สงขลา และยะลาตามมา ซึ่งหากมีโอกาสอดัมและกลุ่มเพื่อนจาก Plogging Pattani ก็จะไปช่วยร่วมกับกลุ่มเครือข่ายในจังหวัดใกล้เคียง ขณะเดียวกันก็พยายามเติมความสนุกให้กับกลุ่มพล็อกกิ้ง ปัตตานีอยู่เสมอ ๆ ทำให้เห็นความเคลื่อนไหวที่มากกว่าการเก็บขยะ แต่มีการแทรกความท้าทายใหม่ ๆ เข้าไปในชีวิตประจำวันของผู้คน

“ทางกลุ่มกำลังขยับเรื่องกิจกรรมการลดใช้พลาสติกให้เข้าไปในแง่มุมอื่น ๆ ที่เป็นไลฟ์สไตล์ของคน เช่นเรื่องการท่องเที่ยว การจัดปาร์ตี้ สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งกิจกรรมที่มนุษย์นิยมทำกัน เราเอาเรื่องนี้เป็นโจทย์ว่าจะเที่ยวหรือจัดปาร์ตี้ยังไงให้มีความเป็นรักษ์โลก โดยเราจัดกิจกรรมตรงนี้ขึ้นก่อนแล้วชวนสังคมเข้ามาร่วมเพื่อสื่อสารให้สังคมเห็นว่าเที่ยวแบบรักษ์โลก หรือปาร์ตี้แบบรักษ์โลกก็สามารถทำได้อย่างง่ายและมีความสนุกได้ และสังคมเข้าใจถึงสิ่งที่ต้องการสื่อไปพร้อม ๆ กัน จนผู้คนนำมาปรับใช้กับชีวิตของเขาเอง เริ่มอยากทำแบบพวกเรา เช่น ผู้คนเริ่มอยากเที่ยวด้วยการหลีกเลี่ยงการสร้างขยะ ด้วยการให้ตนเองกับคนร่วมทริปร่วมพกแก้ว พกกระบอกน้ำ  เริ่มอยากจัดปาร์ตี้ที่ให้ทุกคนสร้างขยะน้อยที่สุด ในส่วนของเราที่ได้ทำกิจกรรมเหล่านี้แล้วก็ได้เห็นว่าตอนแรกเพื่อน ๆ ก็หนักใจ บางคนก็กังวล ไม่กล้าเข้าร่วม เราก็เลยหาวิธีสร้างแรงจูงใจด้วยการลดหย่อนบางจุดไปบ้างให้คนรู้สึกกังวลน้อยลง มีความรีแล็กซ์มากขึ้น แล้วค่อย ๆ ขยับความเข้มงวดตามสถานการณ์ ปรับตัวกิจกรรมให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น

ผมเชื่อว่าความสนุกและบรรยากาศที่ผ่อนคลายคือหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้คนเปิดรับ อยากเข้ามาร่วม ตั้งข้อสังเกต แล้วเกิดการเรียนรู้ตามมา”

เราจึงได้เห็นบรรยากาศความสนุกระหว่างเที่ยวทะเลแบบหลีกเลี่ยงการสร้างขยะทางเพจแชร์อยู่เรื่อย ๆ ตั้งแต่การแคมปิ้งแบบลดขยะพลาสติก ไปพร้อมกับเก็บขยะระหว่างกิจกรรม หรือแม้แต่กิจกรรมพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำปัตตานี ล่าสุดมีกิจกรรมวิ่งเก็บขยะตอนกลางคืน คือไปพล็อกกิ้งแล้วจัดปาร์ตี้ปิ้งย่าง กินน้ำชา (แบบไม่สร้างขยะ) กันต่อหลังเสร็จกิจกรรม โดยปาร์ตี้อยู่บนฐานคิดของการหลีกเลี่ยงการสร้างขยะ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสร้างสรรค์

หากสนใจเข้าร่วมกิจกรรมสนุก ๆ กับกลุ่ม Plogging Pattani สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/Plogging-Pattani-1063616437130913

กรีนพีซรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก โดยมุ่งสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนให้ลดละเลิกพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง นอกจากนี้ยังเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการผลักดันปัญหาพลาสติกในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการเก็บขยะและตรวจสอบขยะพลาสติกว่ามีประเภทใดและแบรนด์ใดบ้างที่พบเจอในสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องให้ผู้ผลิตใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) โดยเจ้าของแบรนด์สินค้าจะต้องรับผิดชอบต่อขยะที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง และจะต้องทำให้มีขยะออกจากกระบวนการผลิตให้ได้น้อยที่สุด

ร่วมแชร์กิจกรรมหรือไอเดียการลดมลพิษพลาสติกได้ในกลุ่มเฟสบุค “กลุ่มที่เราจะลดขยะไปด้วยกัน” ได้ที่นี่  หรืออ่านข้อมูลเกี่ยวกับงานรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติกของกรีนพีซได้ที่ https://www.greenpeace.org/thailand/tag/plastic/