เชื่อว่าในปัจจุบัน หลายครัวเรือนเริ่มติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาบ้านหรือที่ทำงานของตัวเองมากขึ้น ด้วยไม่ว่าจะเป็นเพราะราคาของโซลาร์เซลล์นั้นถูกลงตามความต้องการของผู้บริโภค หรือประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานที่ดีขึ้นและอายุการใช้งานที่นานถึง 25 ปี และส่วนสำคัญอย่างยิ่งนั่นคือสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศของโลกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตามมา

ในปี 2563 ที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 แต่เรายังคงเดินหน้าเพื่อทำงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และรณรงค์เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนก็ยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นที่เราขับเคลื่อนไปอย่างไม่ลดละ 

กรีนพีซได้เปิดรับอาสาสมัครที่สนใจในประเด็นพลังงานหมุนเวียนเข้าร่วม Workshop กับผู้เชี่ยวชาญด้านโซลาร์เซลล์และรวมตัวเป็นทีม Solar Generation เรียกได้ว่าเป็นทีมอาสาสมัครที่สนใจในประเด็นพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งยังเป็นทีมเพื่อสนับสนุนงานรณรงค์ในกิจกรรม โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์ ของกองทุนแสงอาทิตย์ที่กรีนพีซเป็นหนึ่งในเครือข่ายอีกด้วย

กิจกรรม Workshop การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของอาสาสมัคร Solar Generation เมื่อเดือนกันยายน 2563 © Chanklang Kanthong / Greenpeace

จากประสบการณ์การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้าน สู่การร่วมทีมอาสาสมัคร Solar Generation

กนกวรรณ มาร์แชล เธอมีชื่อเล่นว่ากวาง เธอเล่าว่าได้รู้จักกรีนพีซมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยผ่านทางเจ้าหน้าที่ระดมทุน ตอนนั้นได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดมทุนที่ห้าง MBK ส่วนตัวเธอเองสนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วอย่างประเด็น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือปัญหาพลาสติก เป็นที่มาที่ทำให้เธอรู้จักกรีนพีซและเป็นผู้บริจาคด้วย

“ปีนี้เราเพิ่งลาออกจากงานแล้วก็มีเวลาว่าง เลยอยากหากิจกรรมทำ อยากเอาตัวตนของเรากลับมาหลังจากที่เราทำงานหนักมาตลอด เลยลองหาข้อมูลว่าตอนนี้กรีนพีซกำลังทำอะไร ก็เลยเจอโครงการรับอาสาสมัคร Solar Generation พอดี ก็เลยลองสมัครเข้ารับคัดเลือกมาค่ะ ดีใจที่ได้รับคัดเลือกมาเป็นหนึ่งในอาสาสมัครมาก ๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้มาทำงานอาสากับกรีนพีซ”

กนกวรรณ มาร์แชล อาสาสมัคร Solar Generation © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“กิจกรรมของ Solar Generation สอนเราทุกอย่างเกี่ยวกับโซลาร์รูฟท็อป ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานว่าแผงโซลาร์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีส่วนประกอบอะไรบ้าง วิวัฒนาการของแผงโซลาร์ ขั้นตอนการติดตั้ง รวมทั้งประโยชน์ของโซลาร์เซลล์ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราและเพื่อน ๆ ร่วมโครงการได้เรียนรู้ ซึ่งมีประโยชน์มาก ๆ เลย อย่างตัวเราเองเราก็มีการติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อใช้งานอยู่ก่อนแล้วก็ตอบโจทย์เรื่องการลดภาระค่าใช้จ่ายได้มาก และมีแนวโน้มเพิ่มรายได้ในอนาคตหากมีการซื้อ-ขาย ไฟฟ้าในระบบหักลบกลบหน่วย Net Metering ก็เป็นมาตรการที่กรีนพีซเองกำลังผลักดันให้ภาครัฐพิจารณา นอกจากนี้คือสวนของเราไม่มีน้ำและไฟจากส่วนกลางเข้าไปถึง การติดตั้งโซลาร์เซลล์ทำให้ต้นไม้ที่เราปลูกเติบโตและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้”

โซลาร์เซลล์บ้านสวน

คุณกวางแชร์ประสบการณ์การติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านสวนของเธอว่า สวนของเธออยู่ในจังหวัดสกลนคร จริง ๆ ที่นั่นเคยเป็นที่นามาก่อน แต่ปลูกข้าวทำนาแล้วขาดทุน เพราะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนหลายอย่างมาก ค่าปุ๋ย ค่าจ้างแรงงานต่าง ๆ ก็เลยลองเปลี่ยนมาปลูกเพื่อกินก็พอ แล้วเปลี่ยนพื้นที่ตรงนั้นให้กลายเป็นสวนโดยหล่อเลี้ยงสวนด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์

“พื้นที่ที่เหลือเราปรับเป็นปลูกไม้เนื้อแข็งที่เป็นที่ต้องการของตลาดเช่น พะยูง ยางนา มะค่า ไม้ประดู่ และต้นสัก เป็นต้น ต้นไม้เหล่านี้เรารับกล้ามาจากกรมป่าไม้เพื่อมาปลูก แล้วเขาก็จะมาถ่ายรูปแล้วจ่ายเงินค่าบำรุงรักษาสวนให้เรา เขาจะมาดูว่าต้นไม้ของเราโตไหม จังหวะที่เราเริ่มปลูกเป็นช่วงปลายฝนพอดี ต้นไม้ก็เหมือนจะไม่รอดเราก็เลยคิดว่า ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ดีกว่าเพื่อนำพลังงานมาสูบน้ำขึ้นมาใช้ ทำให้ต้นไม้ในสวนอยู่รอดปลอดภัย” 

โซลาร์เซลล์กำลัง ‘อินเทรนด์’

คุณกวางให้ความเห็นในมุมมองที่น่าสนใจว่า “ตอนนี้โซลาร์เซลล์กำลังเป็นแหล่งพลังงานที่น่าสนใจมาก ๆ เรียกว่าเป็นเทรนด์เลยก็ได้ เราเองก็วางแผนว่าจะติดตั้งเพิ่มที่บ้านด้วย ช่วงนี้ก็หาข้อมูลเรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปก่อน เพราะตอนนี้เทคโนโลยีเรื่องแบตเตอรีก็มีการพัฒนาให้ดีขึ้นและมีราคาถูกลง 

“เราคิดว่าถ้าเราพึ่งพาแต่ไฟฟ้าจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ถ้ามีปัญหาไฟฟ้าดับเราเองก็มีต้นทุนที่ต้องเสียนะ เลยคิดว่าพลังงานแสงอาทิตย์ตอบโจทย์มากสำหรับเรา”

“นอกจากประหยัดค่าใช้จ่ายและเหมาะกับพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงแล้ว โซลาร์เซลล์ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตพลังงานอีกด้วย เพราะเมื่อใช้โซลาร์เซลล์ เราจะลดการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลง ประโยชน์อีกอย่างที่น่าสนใจมากก็คือประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจเพราะการติดตั้งโซลาร์เป็นการลงทุนระยะยาว มีจุดคุ้มทุนในระยะสั้นแค่ 5-6 ปีเราก็ได้ทุนคืนแล้ว ที่เหลืออีก 20 ปีตามอายุการใช้งานแผงก็คือกำไรสำหรับเรา” 

ทีม Solar Generation กับวิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งแรกของไทย 

เมื่อเตรียมความพร้อมทีม Solar Generation แล้ว อาสาสมัครก็พร้อมลงพื้นที่ คุณกวางเป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่ได้มีโอกาสไปเป็นทีมทำกิจกรรมให้ความรู้กับนักศึกษาที่วิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งแรกของกองทุนแสงอาทิตย์ นั่นคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี

“หลังจากที่ได้มาร่วมลงพื้นที่จริงใน โครงการ ‘โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์  (SOLAR GENERATION)’ ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ด้วยความที่เชื่อว่ากลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวันเยอะที่สุดคือคนทำงาน และ นักเรียนที่มาเรียนหนังสือ ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่น่าจะใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากและคุ้มค่าที่สุด รู้สึกดีใจและตื่นเต้นกับโครงการที่เกิดขึ้นมาก เราเองคิดว่าโรงเรียนในไทยควรมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นะ แล้วมันจะช่วยให้ประเทศของเราลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปได้อีก รวมทั้งลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ได้อีกด้วย

“นอกจากโรงเรียนยังมีออฟฟิศ ที่ทำงานด้วยนะที่เราใช้ไฟฟ้ากันในตอนกลางวัน ลองคิดดูว่าถ้าตึกในกรุงเทพฯใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีรถยนต์ชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์ได้ มันจะช่วยลดมลพิษทางอากาศไปได้มากแค่ไหนและยกระดับคุณภาพชีวิตของเราให้ดีกว่าเดิมด้วย อยากให้พื้นที่เมืองได้เริ่มใช้พลังงานหมุนเวียนได้แล้วเพราะในต่างจังหวัดเริ่มขับเคลื่อนเรื่องนี้แล้วนะ

“เรายังมองอีกว่าพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพได้แน่นอน ตอนนี้เทรนด์ของรถไฟฟ้าที่ชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์กำลังมา ซึ่งการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยแนะนำดูเพราะฉะนั้น โครงการ ‘โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์  (SOLAR GENERATION)’ นี้ที่เน้นติดตั้งในวิทยาลัยอาชีวศึกษาก็เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาตระหนักถึงพลังงานแสงอาทิตย์และสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ ทำให้เห็นว่ายังมีช่องทางอาชีพอยู่ในภาคส่วนของพลังงานหมุนเวียนด้วย 

“เราคิดว่าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์เป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ในประเทศไทยนี้ถือว่าเรากำลังเริ่มต้น ตลาดงานยังไม่อิ่มตัวเลยซึ่งเรามองว่าน้อง ๆ นักศึกษาสามารถหางานในสายงานนี้ หรือทำบริษัทติดตั้งเองก็ยังได้เลยเพราะมี outsource มากมาย และเราเชื่อว่าโครงการโซลาร์เจเนอเรชั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะกระตุ้นให้โรงเรียนมีหลักสูตรในการติดตั้งและดูแลรักษาโซลาร์เซลล์”

นอกจากคุณกวาง ยังมีอาสาสมัครจาก Solar Generation อีกหนึ่งคนที่ร่วมแชร์เรื่องราวในบทความนี้ อัฐวิชญ์ ประสงค์พร หรือ โย ก็เป็นหนึ่งในอาสาสมัครจากทีม Solar Generation เช่นเดียวกัน

เป็นอาสาสมัครครั้งแรก

คุณโยแชร์กับเราว่า งานนี้เป็นงานอาสาสมัคร ‘ครั้งแรก’ จากที่เขาเห็นการเปิดรับสมัครในโซเชียลมีเดีย จึงตัดสินใจลองทำงานอาสาสมัคร

อัฐวิชญ์ ประสงค์พร อาสาสมัคร Solar Generation © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ก่อนหน้านี้เรารู้จักกรีนพีซว่าเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมองค์กรหนึ่ง ซึ่ง Solar Generation เป็นโครงการแรกที่เราเข้ามาลองเป็นอาสาสมัคร เพราะว่าสนใจด้านพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้วและตอนนี้เราก็เรียนอยู่ในสาขาด้านพลังงานหมุนเวียนด้วยแต่ว่ายังไม่ได้ลงพื้นที่ จึงคิดว่าน่าจะเอาความรู้ที่เรียนมาช่วยในงานอาสาสมัคร

“อย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ แต่ยังมีข้อดีอีกหลายข้อเช่น โซลาร์เซลล์ช่วยลดความร้อนบนหลังคาซึ่งพอความร้อนในบ้านลดลงก็ยิ่งทำให้เราใช้ไฟฟ้าน้อยลงไปอีก รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล”

งานรณรงค์ที่ยั่งยืนและความท้าทายของโครงการ โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์ 

สิ่งที่น่าสนใจข้อหนึ่งที่คุณโยเล่านั่นคือ เขามองว่างานรณรงค์การเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนโดยการรณรงค์ให้เกิดการติดตั้งโซลาร์เซลล์ตามครัวเรือนรวมถึงสถานศึกษานั้นสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)

“ปัจจุบันประเทศไทยเองก็พยายามโปรโมท เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เราก็มองเห็นว่าการรณรงค์ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เปลี่ยนผ่านพลังงานเป็นพลังงานหมุนเวียนนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ในข้อ 7 และ 11 คือ Affordable and Clean Energy และ Sustainable Cities and Communities ส่วนตัวเราเองก็มีแผนจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านตัวเองเช่นกันโดยเริ่มติดตั้งที่ 1.5 กิโลวัตต์ก่อน ตั้งใจจะติดตั้งเป็นระบบออนกริดเพราะอยากลดค่าใช้จ่ายตอนกลางวันเพราะที่บ้านเราใช้ไฟฟ้ามากกว่าตอนกลางคืน ถ้าใช้งานได้ดีก็จะค่อย ๆ ขยายเป็นระบบที่ใหญ่ขึ้น”

ความประทับใจและความท้าทายของงานรณรงค์

“พอได้ร่วมมาลงพื้นที่จริงในโครงการ ‘โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์ (SOLAR GENERATION)’ เราก็ได้มาเห็นการทำงานติดตั้ง เช่น ลักษณะการติดตั้งต่าง ๆ คือการติดตั้งในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกันเนื่องจากลักษณะของโครงสร้างอาคาร อีกหนึ่งข้อที่มองเห็นก็คือการผลักดันด้านอาชีพเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับนักศึกษาอาชีวศึกษาก็มีความเป็นไปได้เพราะว่ามีภาควิชาที่เรียนเกี่ยวกับไฟฟ้ากำลังอยู่แล้ว อย่างไรก็ดียังมีความท้าทายอยู่เพราะถ้าเรามองในภาคการศึกษาสายสามัญ เรื่องเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับนักเรียน

“เราประทับใจหลาย ๆ อย่างหลังจากได้ร่วมงานกับกรีนพีซ สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือ การยอมรับในความหลากหลาย กรีนพีซเปิดรับอาสาสมัครที่มีความหลากหลายเช่น ความหลากหลายด้านอาชีพ ด้านอายุ และเปิดรับทุกข้อคิดเห็นที่หลากหลายจากอาสาสมัคร อีกข้อหนึ่งที่ชอบก็คือการทำงานของกรีนพีซที่อ้างอิงข้อมูล ถ้าเราเข้าไปอ่านรายงานอย่างละเอียดแล้ว เราจะเห็นเลยว่ารายงานนี้มีหลักฐานและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้ามารับรองรายงาน อย่างเช่นการประเมินวัฏจักรคาร์บอนระหว่างพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์กับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมีข้อมูลรับรองว่าพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จริง นอกจากนี้รายงานยังมีข้อเสนอหลายข้อเพื่อให้ภาครัฐนำไปปรับใช้ตามบริบทที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย”

#พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทุกคน คือข้อความที่กรีนพีซพยายามจะสื่อสารในงานรณรงค์การเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียน เพราะอะไรเราจึงใช้คำว่า “เพื่อทุกคน” นั่นก็เพราะนอกจากช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ถ้าหากเรามีระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืน ลดการผูกขาดและกระจายการผลิตพลังงานให้กับคนทุกคนอย่างเป็นธรรมแล้ว จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริง จะช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มการจ้างงานจากระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพมากขึ้น มาร่วมกันผลักดันกับภาครัฐให้ การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นสิทธิ์ที่เราทุกคนก็ทำได้ ไม่ถูกผูกขาดกับใครหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม