โลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้หมุนรอบระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหนือคุณภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ระบบนี้แย่งชิงทรัพยากรของโลกและยังเอารัดเอาเปรียบผู้เปราะบางที่สุด นอกจากนั้นยังซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างและสร้างผลกระทบต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศในระดับที่ลึกซึ้ง โดยมี “ทุนฟอสซิล” จากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นตัวการสำคัญ

เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร?

ย้อนไปในปี พ.ศ. 2551 ท่ามกลางวิกฤตการเงิน บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลและรัฐบาลต่าง ๆ ได้ถือโอกาสนี้แลกอนาคตของพวกเรากับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยดำเนินมาตรการ “รัดเข็มขัด” กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงบางส่วน ในขณะที่เชื้อเพลิงฟอสซิลยิ่งทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศเลวร้ายกว่าเดิม ระบบที่เสียหายและไม่เป็นธรรมอยู่แล้วก็ยิ่งลุกลามมากขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อตอบสนองความโลภของคนกลุ่มหนึ่ง โดยมีราคาที่ต้องจ่ายคือโลกใบนี้และชีวิตผู้คน 

ผลก็คือโครงสร้างนี้ก่อให้เกิดวิกฤตที่เชื่อมโยงกันมากมาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้ปรากฎให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และในขณะที่พวกเราพยายามกอบกู้ตัวเองจากโควิด-19 พวกเขาก็กำลังพยายามซ้ำเติมอีกครั้ง 

Fighting Inequality Concert in Manila. © Jilson Tiu / Greenpeace
สัปดาห์แห่งการรณรงค์ระดับโลกจัดขึ้นโดยกลุ่ม Fight Inequality Alliance เพื่อเน้นให้เห็นช่องว่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างคนรวยและคนจนในฟิลิปปินส์ ประกอบไปด้วยการเคลื่อนไหวระดับชาติ องค์กรของประชาชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันจัดชุมนุมและคอนเสิร์ตที่ชุมชนยากจนในอินทรามูรอส ใจกลางเมืองหลวงอย่างมะนิลา © Jilson Tiu / Greenpeace

แล้วความยุติธรรมทางสังคมสำคัญอย่างไร?

เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ผู้คนที่เผชิญกับการกดขี่และความเหลื่อมล้ำมากอยู่แล้วคือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และคนเดียวที่ได้รับประโยชน์จากมันคือคนที่มีอำนาจมากที่สุด

จนถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติจากสภาพอากาศหลายพันคน และมีอีกหลายล้านคนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะชุมชนพื้นเมืองและชุมชนชายขอบ  เยาวชนและคนรุ่นใหม่ต้องเป็นทุกข์จากการว่างงาน เผชิญกับอัตราค่าจ้างที่ต่ำ ตลาดงานนิ่ง และพบอุปสรรคในการสร้างอนาคตของตัวเอง ผู้หญิงและชุมชนที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบหนักที่สุด และในเวลาเดียวกันนี้ โลกก็สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมากยิ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ 

Sea Level Rise in India. © Greenpeace / Peter Caton
Dukhdev Tikadar ผู้อาศัยอยู่บนเกาะ Ghoramara เป็นหนึ่งในหลาย ๆ คนที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เขากล่าวว่า “ฉันตกปลาในแม่น้ำและฉันชอบที่นี่” โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะมีผู้คนกว่า 70,000 คนต้องพลัดถิ่นจากซุนดาร์บันเนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นภายในปี 2573 © Greenpeace / Peter Caton

มีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง?

© Sontaya Sangphech

การต่อสู้ของชุมชนที่อมก๋อยคือหัวใจสำคัญของการยุติยุคถ่านหิน ต้นทุนผลกระทบภายนอกจากการนำถ่านหินมาผลิตไฟฟ้าและการผลิตทางอุตสาหกรรมทำความเสียหายให้กับสภาพภูมิอากาศโลกและชุมชนนั้นสูงเกินกว่าที่จะแบกรับ ผู้นำศาสนา และชุมชนในอำเภออมก๋อยกว่า 500 คน ร่วมประกอบพิธีบวชป่า กิจกรรมทำแนวกันไฟ ฝังหมุดประกาศเขตพื้นที่ทางจิตวิญญาณบริเวณพื้นที่ป่าหมู่บ้านกะเบอะดิน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า “ชาวอมก๋อยไม่ต้องการให้วิถีชีวิตและอัตลักษณ์จากสิ่งชั่วร้ายมาเอาไปซึ่งผืนดินและทรัพยากรชุมชน และยืนยันว่าจะปกป้องทรัพยากรของประเทศต่อไป” 

พลังของประชาชนที่ร่วมกันลุกขึ้นคัดค้านการคุกคามของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย คือพลังสำคัญที่สุดที่ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่โครงการต่าง ๆ ที่เทพา จังหวัดสงขลา และจังหวัดกระบี่ ไม่สามารถดำเนินการได้ ตัวแทนชุมชนกล่าวในแถลงการณ์ว่า “การรวมตัวของพี่น้องประมงพื้นบ้านในพื้นที่จะนะ เทพา และปัตตานีในวันนี้ รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ ศิลปิน สื่อมวลชน นักพัฒนาเอกชน นักศึกษา เยาวชน และผู้ที่อยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในวันนี้ เป็นการยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องการสานพลังความเป็นเครือข่ายที่เหนียวแน่น และร่วมกันปกป้องฐานทรัพยากร ฐานชีวิตของผู้คนให้พ้นจากหายนะจากการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่สุขสงบและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์” 

© Activist, Kaossara Sani, co-founder ,ACT ON SAHEL MOVEMENT
Kaossara Sani ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการ ACT ON SAHEL MOVEMENT © Kaossara Sani

ในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมด้านสภาพอากาศของโตโก Kaossara Sani กล่าวว่า “ อำนาจเงินตรากำลังฆ่าโลกใบนี้ ทุกความเงียบและการเฉยเมยในประเทศและอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยต่อสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นอาชญากรรมต่อธรรมชาติ มนุษยชาติ และเป็นภัยคุกคามต่อความยุติธรรมทางสังคมในประเทศยากจน” 

เราทำอะไรได้บ้าง?

เราต้องไม่ยอมนิ่งเฉย เราต้องลงมือทำ

ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ร่วมกันเรียกคืนพลังของเราจากผู้ที่ใช้มันทำลายชีวิตในทุกรูปแบบ ถึงเวลาที่ต้องต่อต้านและทำให้พวกเขารับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น 

ถึงเวลาแล้วสำหรับแคมเปญ #ปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล! 

ติดตามได้เร็วๆนี้!

Solar Rooftop at Luang Suan Hospital in Thailand. © Greenpeace / Arnaud Vittet
พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทุกคน

ยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟระดับครัวเรือน ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม