“อยากให้สังคมไทยเข้าใจการที่ว่าพวกเราอยู่ในป่า พวกเราไม่ใช่คนบุกรุก แต่เป็นคนรักษาป่า เพราะถ้าบุกรุกจริงก็แปลว่าเราจะอยู่กับมันไม่ได้” 

คือประโยคที่ ประเสริฐ พุกาด พร้อมทั้ง กิ๊ป ต้นน้ำเพชร และ พนมพร วนสิริคุณ บอกกับเราในการพูดคุยกัน ณ สถานที่ปักหลักชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาล พวกเขาคือชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ผู้ซึ่งมาร่วมเรียกร้องกับภาคประชาสังคมเพื่อรณรงค์ #Saveบางกลอย และยังคงมีความหวังจะได้กลับไปใช้ชีวิตที่ ‘บ้าน’ ซึ่งพวกเขาต้องจากมาหลายปีเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในประเด็นสิทธิในที่ดินดั้งเดิม สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งพวกเขายืนยันอย่างหนักแน่นว่าคนคือ ‘ผู้รักษา’ โดยการทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ ‘ผู้ทำลาย’ 

กรีนพีซชวนมาอ่านเรื่องเล่าจากเสียงของชาวบางกลอย ซึ่งเล่าถึงวิถีชีวิต การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แนวคิดเรื่องการทำไร่หมุนเวียน และความฝันในอนาคตของพวกเขาให้เราฟัง

คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างไร?

“ตอนที่เราอาศัยอยู่ที่บางกลอยบน เราทำไร่ เลี้ยงไก่ ปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ทุกครั้งที่จะไปปลูกพืชที่ไหนก็ต้องทำการเปิดป่า เราอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการทำ ‘ไร่หมุนเวียน’ ไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย เช่น เราปลูกข้าวเสร็จในปีนี้ ปีต่อไปพื้นที่เดิมก็จะไม่ให้ผลผลิตดีเหมือนเดิม เราจึงจะต้องเปิดป่าที่พื้นที่อื่น ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณสิบปีเพื่อรอให้ต้นไม้เจริญเติบโต รอให้พื้นที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ แล้วเราก็จะหมุนกลับมาทำไร่ที่เดิมอีกครั้ง ผลผลิตที่ปลูกได้ เราก็ไม่ได้เอาไปขายที่ไหน เราเน้นไว้ทำกินเอง แต่ก็จะมีบ้างที่ขายคือพริกกะเหรี่ยง พ่อแม่ผมตอนเด็ก ๆ เคยเดินลงมาขาย หรือล่องแพมาขายที่แถวท่ายาง”

“ก่อนที่เราจะไปปลูกพืชที่ไหน จะต้องทำพิธีกรรมโดยการขออนุญาตจากแม่ธรณีก่อน มีหลายพิธีที่ชาวกะเหรี่ยงใช้กัน เช่น ผ่าหัวไม้ออกเป็นสี่ซีกแล้วปักลงไปในดิน แล้วก็จะใช้ไม้อีกอันมาเพื่อตีข้าง ๆ ถ้าไม้ที่ปักอยู่ยาวขึ้นก็แปลว่าแม่ธรณีอนุญาตให้ทำ ถ้าสั้นลงก็แปลว่าเราไม่สามารถทำในพื้นที่นั้นได้ หรือบางครั้งเราก็จะกลับไปนอนฝัน ถ้าเราฝันว่าเราขี่ช้างหรือปีนเขาก็แปลว่าทำได้ แต่ถ้าเราฝันร้าย เช่น ฝันเห็นไฟลุก เห็นต้นไม้ถูกโค่น ก็แปลว่าแม่ธรณีไม่อนุญาตให้ทำในพื้นที่นั้น”

“เราเป็นเหลนของปู่คออี้ ความทรงจำเกี่ยวกับปู่คออี้ตอนที่ยังเป็นเด็กก็คือ ปู่จะสอนว่าพืชพันธุ์ข้าวนี่อย่าทิ้งนะ และ ‘อย่าลืมการทำไร่หมุนเวียน’ ซึ่งนั่นก็คือประเด็นที่สำคัญที่สุด อย่าปล่อยให้วัฒนธรรมนี้หายไป รวมทั้งวิถีชีวิตอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสานตะกร้า การทอผ้า การปั่นไหมด้วย”

“ที่บางกลอยบน จะมีต้นไม้ขนาดใหญ่หลายชนิดที่ต้องใช้สองสามคนโอบรอบ ผมก็พนันไว้กับต้นไม้ว่า ต้นนี้อายุจะยืนเท่าผมไหม พอทำไปทำมาเขาก็โตกว่าผมแล้ว มีแต่ผมนี่แหละที่จะตายก่อนต้นไม้”

“สถานที่โปรดที่บางกลอยบนก็คือที่บ้านนี่แหละ หลังจากเราทำภารกิจเสร็จเราก็จะกลับมาพักผ่อน ตื่นขึ้นมาก็ใช้ชีวิตปกติ แล้วบางปีก็ตั้งใจไว้ว่าจะไปเที่ยว อยากไปภูเขาก้ามปู ไปเที่ยวชมวิว ดูปลา ในฤดูออกดอกที่ห้วยใหญ่ก็จะมีต้นไม้ และมีดอกกล้วยไม้หลายสี เราก็จะไปนอนค้างคืนที่ห้วยใหญ่”

ความฝันที่วาดไว้เมื่อได้กลับบ้าน

“ผมต้องลงมาอยู่ด้านล่างตั้งแต่ปี 2539 วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปเยอะ เช่น พิธีเลี้ยงแม่โพสพ พิธีกินข้าวใหม่ ประเพณียุ้งข้าวก็หายไป หรือวิถีชีวิตดั้งเดิมอย่างการทอผ้า การปลูกไหมก็หายไปด้วย ด้านที่ดินก็ต่างกันเยอะเพราะข้างล่างเป็นดินลูกรัง พื้นที่ก็ไม่อุดมสมบูรณ์ อากาศก็ไม่เหมือนกัน อย่างตอนที่เราทำไร่หมุนเวียนที่บ้าน เราไม่ได้ปลูกแค่ข้าวอย่างเดียว เราปลูกพืชนานาชนิดไปด้วย ทำให้หลังจากที่เราเกี่ยวข้าวเสร็จเราก็สามารถเก็บผักกินต่อได้อีกหลายเดือนเลย ไม่ว่าจะเป็น พริก มะระ หรือมังคุด แต่ข้างล่างนี่ก่อนจะเกี่ยวข้าวเสร็จ พืชที่ปลูกไว้ด้วยกันก็ตายหมดแล้ว”

“การที่เราต้องอพยพจากบางกลอยบนมาอยู่ที่บางกลอยล่าง ความรู้สึกไม่เหมือนเดิมเลย ตอนที่เราอยู่ข้างบน พอตีสี่ตีห้าก็ตื่นแล้วเพราะเราจะถูกปลุกจากเสียงสัตว์ป่าไม่ว่าจะเป็นชะนีหรือค่างที่อยู่ร่วมกันกับเรา พอเขาตื่นก่อนเราก็จะตื่นด้วย พอเราตื่นขึ้นมาก็หุงข้าวกินอาหาร ในช่วงที่เราต้องทำไร่ พอฟ้าเริ่มสว่างเราก็จะเข้าไปในไร่หรือไปถอนหญ้า แล้วปีละครั้งเราก็จะทำพิธีร่วมกันในหมู่บ้าน เช่น พิธีกินไก่ของชาวกะเหรี่ยง และพิธีเลี้ยงแผ่นดิน”

“ถ้าได้กลับขึ้นไปใช้ชีวิตที่บางกลอยบน ก็อยากจะกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมนั่นแหละ จะได้กลับไปทำไร่หมุนเวียนเหมือนเมื่อก่อน โดยที่ไม่ได้เบียดเบียนสัตว์หรือชีวิตอื่น ๆ เราจะอยู่ร่วมกันได้ ผมอยากให้สังคมไทยเข้าใจการที่ว่าพวกเราอยู่ในป่า พวกเราไม่ใช่คนบุกรุก แต่เป็นคนรักษาป่า เพราะถ้าเราบุกรุกจริงก็แปลว่าเราจะอยู่กับมันไม่ได้ ถ้าเราไปทำลายหรือโค่นต้นไม้หลากหลาย แล้วพอฤดูฝนมันก็จะทำให้ฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่ แล้วถ้าเราไม่รักษาน้ำ เราก็จะลงไปอาบน้ำหรือเอาเสื้อผ้าไปซักไม่ได้”

จะสู้จนถึงเมื่อไร?

“การที่เราเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หมายความว่าเราอาศัยอยู่ที่นี่ก่อนจะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติด้วยซ้ำ บรรพบุรุษของเราเคยได้รับแจกเหรียญชาวเขา ก็ถือว่าเป็นการรับรองว่าเราเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่กับป่าได้ เราจะดูแลป่าได้ นอกจากนั้น ถ้าไม่มีป่าเราก็อยู่ไม่ได้ เราอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่คออี้ รุ่นปู่ทวดย่าปวด แล้วที่นี่ก็ยังอุดมสมบูรณ์พอที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ถ้าพวกเราบุกรุกแล้วป่าจะยังสมบูรณ์ได้อย่างไร”

“มันไม่ยุติธรรมที่เขาใช้อำนาจ เขาใช้กฎหมายโดยที่ยังไม่ได้คุยอะไรกันเลย รู้ตัวอีกทีเขาก็ลากเราไปแล้ว ผมตั้งใจจะปักหลักอยู่ที่นี่จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย เพราะว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลยถ้ารัฐยังใช้แต่อำนาจแบบนี้”

“ผมตั้งใจจะสู้ต่อไป ถึงจะต้องนอนตายตรงนี้ผมก็นอนตายได้เลย แม้ผมจะต้องถูกโกนหัวกี่ครั้งก็ยอม”

โลกธรรมชาติคือรากฐานของวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง

กรีนพีซ ประเทศไทย ในฐานะเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระและเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมในประเทศไทย เราเชื่อมั่นว่า การเคารพสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (indigenous rights) และการฟื้นฟูสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง (self-determination) คือหัวใจสำคัญในการต่อสู้เพื่อปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติรวมถึงนิเวศบริการโดยรวมต่อสังคมไทย

กรีนพีซ ประเทศไทยเห็นว่าโลกธรรมชาติคือรากฐานของวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง  และสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง การจัดการที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนนั้นมีลักษณะเฉพาะบนภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนและองค์ความรู้ดั้งเดิมทางภูมินิเวศวิทยาที่ลึกซึ้ง