ช้างถือว่ามีความสำคัญมากในระบบนิเวศ ช้างสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สัตว์ป่าต่าง ๆ มากมาย เช่น ขนาดตัวที่ใหญ่ของมันช่วยเดินเปิดเส้นทางให้สัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ การสร้างแหล่งน้ำโดยการใช้งาขุดเจาะพื้นดินเพื่อให้สัตว์อื่น ๆ มีแหล่งน้ำใช้ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชไปยังส่วนต่าง ๆ ของผืนป่าผ่านการขับถ่าย 

ทว่า ปัจจุบันจำนวนที่อยู่อาศัยของช้างมีจำนวนลดลง เนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ป่าของมนุษย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของช้าง ส่งผลให้พื้นที่อาศัยของพวกมันไม่ปลอดภัยอย่างที่เคยเป็น จนก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ปัญหาเหล่านี้ยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตของช้างแย่ลง อีกสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าก็คือ โรงงานอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นความต้องการด้านทรัพยากร หรือการซื้อที่ดินเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นจึงทำให้ช้างและสัตว์สายพันธุ์อื่นๆต้องเผชิญกับปัญหาการถูกรุกรานเอาเปรียบและมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ในที่สุด

เรารวบรวม  “5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับช้าง” ทั้งช้างสายพันธุ์เอเชียและสายพันธุ์แอฟริกา มาให้คุณอ่านเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของช้างต่อระบบนิเวศและร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมไปกับเรา

1. ช้างกินอ้อยเป็นอาหารหลักจริงหรือ ?

ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและถูกขนานนามว่าเป็นสัตว์มังสวิรัติ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าช้างกินกล้วยหรืออ้อยเป็นหลัก แต่ความจริงแล้ว ช้างจะกินอาหารจำพวกพืชอย่างเช่น หญ้าชนิดต่างๆ เช่น ไผ่ เป็นต้น โดยเฉพาะช้างเลี้ยงมักจะกินอาหารประมาณ10เปอร์เซ็นของน้ำหนักตัวต่อวัน 

Climate Chang[e] Caravan Eight Day. © Greenpeace / Athit Perawongmetha
© Greenpeace / Athit Perawongmetha

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบร้ายแรงที่ส่งผลกับพืชพันธุ์ต่างๆซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของช้างก็คือ วิกฤตไฟป่า โดยพืชพันธุ์ต่างๆจะได้รับความเสียหายครั้งใหญ่ ซึ่งมาจากฝีมือมนุษย์ถึง99.8เปอร์เซ็น อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและส่งผลในระยะยาวที่เราเรียกกันว่า “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมา

2. ช้างเลี้ยงและอาหารเสริม

เราอาจจะสงสัยว่า ทำไมช้างเลี้ยงถึงต้องการอาหารเสริม แล้วอาหารเสริมของมันคืออะไร โดยปกติแล้ว ช้างเลี้ยงมักจะไม่มีโอกาสได้เลือกกินอาหารตามธรรมชาติ อาหารเสริมสำหรับช้างเลี้ยงทั่วไปจะเป็นจำพวกพืชตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่มีรสชาติหวาน เปรี้ยว เพื่อเป็นการกระตุ้นในการกินอาหารอื่น ๆ ของพวกมัน และอาจจะผสมสมุนไพรเข้าไปด้วย โดยเฉพาะกล้วย อ้อย แตงกวา จัดว่าเป็นอาหารเสริมของช้าง อาหารป้อนจะมีข้าวเหนียวป้อนและมะขามป้อนซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลช่วยเพิ่มความหวานทำให้ช้างชอบกินมากยิ่งขึ้น บอระเพ็ดที่สามารถกระตุ้นความอยากอาหารให้กับช้างได้ ไพล สามารถช่วยในเรื่องของการระบาย ท้องอืดท้องเฟ้อได้ดี และเกลือจะทำให้ช้างเกิดความรู้สึกกระหายน้ำมากขึ้น

3. ทำไมช้างจึงตกมัน

ช้างที่มีอาการตกมันเป็นช้างที่มีความสมบูรณ์และมีความตื่นตัวทางเพศอย่างเต็มที่ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งช้างเพศผู้และเพศเมียในช่วงอายุ20-40ปี ซึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือ สภาพภูมิอากาศ หากสภาพภูมิอากาศร้อนผิดปกติ ช้างจะมีอาการหงุดหงิด เป็นเหตุให้เกิดการตกมันได้ และวิธีทั่วไปที่ชาวบ้านจะแก้ปัญหาเหล่านี้คือ การพาช้างลงไปเล่นน้ำเพื่อคลายร้อน แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การชะลอไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงเกินไปกว่านี้ต่างหากคือการช่วยให้ภาวะทางธรรมชาติของช้างยังคงอยู่

4. ช้างป่ามีสายตาที่ไม่ดีนักในช่วงตอนกลางวัน

ในช่วงกลางวัน ช้างป่าสามารถมองเห็นในระยะไม่เกิน 25 ฟุต แต่รู้หรือไม่ ช้างทดแทนการมองเห็นด้วยส่วนประสาทสัมผัสอื่น โดยใช้งวง(ส่วนสำคัญสุด) เพื่อการดมสิ่งต่าง ๆ โดยการส่ายงวงขึ้นกลางอากาศ เพื่อดูว่ามีกลิ่นผิดปกติอะไรบ้าง นอกจากงวงแล้ว ช้างยังใช้ส่วนประสาททางหู ในการฟังเสียง ตรวจหาสิ่งต้องสงสัย เช่นเสียงไม้หัก เสียงเดินเหยียบใบไม้ ช้างก็สามารถจับสังเกตได้ อย่างไรก็ดี เมื่อสภาพแวดล้อมที่ช้างอาศัยอยู่นั้นเต็มไปด้วยสิ่งไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมโรงงานที่มีการปล่อยสารเคมี เขตชุมชนที่ไม่มีการดูแลเรื่องการจัดการขยะ อาจจะทำให้ช้างสูดดมสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย ทำให้ช้างหรือสัตว์สายพันธุ์อื่นๆได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

5. สัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ถ้านึกถึงสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่แล้ว ช้างก็จะเป็นหนึ่งในสัตว์ที่เรานึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ แน่นอน เพราะว่าช้างมีลักษณะที่สูงใหญ่และสง่างาม ซึ่งครองสถิติสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึง 2 อันดับด้วยกัน โดยช้างเอเชียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 มีน้ำหนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4,200 กิโลกรัม สูงสุดอยู่ที่ 5,200 กิโลกรัม และมีความยาวเฉลี่ยของลำตัวประมาณ 5.94 เมตร ส่วนอันดับที่ 1 ได้แก่ ช้างแอฟริกา มีน้ำหนักโดยรวมถึง 8,500 กิโลกรัม สูงสุดอยู่ที่ 13,000 กิโลกรัม และมีความยาวของลำตัวประมาณ 6.66 เมตร

 

บทความนี้เขียนและเรียบเรียงโดย อลงกรณ์ ลัคนารจิต นักศึกษาฝึกงาน