ในปี 2564 นี้เป็นครบรอบ 10 ปีกับหายนะภัยนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ (11 มีนาคม พ.ศ.2554 หรือที่เราเรียกกันว่าเหตุการณ์ 311) กรีนพีซจึงชวนนักรณรงค์ของเราจากฮ่องกง เกาหลีใต้ และโตเกียว มาพูดคุยถึงความร่วมมือกันตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาในการรณรงค์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ฟุกุชิมะและทำไมในตอนนี้ถึงยังเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่

คุณทำหน้าที่อะไรในงานรณรงค์นี้?

คาซุเอะ ซูซุกิ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานจากกรีนพีซญี่ปุ่น: 

ฉันเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในงานรณรงค์ฟุกุชิมะอย่างเต็มตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นมีคำสั่งให้เปิดโรงเรียนตามปกติในพื้นที่ฟุกุชิมะ แต่ผู้ปกครองหลายคนยังคงมีความกังวลในเรื่องของอันตรายที่เกิดจากการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสี เราเริ่มรณรงค์โดยข้อเรียกร้องของเราต้องการให้มีการอพยพเด็ก และสตรีมีครรภ์ออกจากพื้นที่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังมีค่ารังสีสูงกว่าระดับปกติหลายเท่า

มารี ชาง ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานจากกรีนพีซ เกาหลีใต้:

ฉันเป็นหัวหน้าโครงการรณรงค์ยุตินิวเคลียร์ของกรีนพีซ เกาหลีใต้ เมื่อฉันเริ่มงานกับกรีนพีซ ฉันทำงานในโครงการยุติการสนับสนุนทุนถ่านหิน แต่เมื่อทำงานไปได้สักระยะฉันเริ่มสนใจเกี่ยวกับงานรณรงค์ยุตินิวเคลียร์ ตอนนี้ ฉันจึงทำทั้งสองโครงการ

ทีมวิจัยด้านรังสีของกรีนพีซ จากซ้ายไปขวา คาซุเอะและมาอิ จากกรีนพีซ ญี่ปุ่น, มาริและเรย์จากกรีนพีซ ฮ่องกง ที่หมู่บ้านนามิเอะ ในจังหวัดฟุกุชิมะ © Shaun Burnie / Greenpeace

สิ่งสำคัญมากในการขับเคลื่อนงานรณรงค์คือการสื่อสารกับทุกสำนักงานกรีนพีซในเอเชียตะวันออก รวมถึงสำนักงานโตเกียวที่จะต้องทำงานรณรงค์ร่วมกันอย่างใกล้ชิด การทำงานร่วมกับทีมวิจัยก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะเราต้องการข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และความรู้ที่ถูกต้อง งานรณรงค์นี้ไม่ใช่เพื่อสาธารณะประโยชน์เท่านั้น เราต้องการให้ทุกคนมุ่งไปที่การกำหนดนโยบายต่าง ๆ ในประเทศของเรา ฉันได้รับหน้าที่สำคัญในการทำงานรณรงค์ด้านนโยบายและทำงานร่วมกับรัฐบาลเกาหลีใต้

ฉันร่วมงานกับกรีนพีซเพียงสามปีเท่านั้นแต่ฉันกลับรู้สึกขอบคุณมากๆ กรีนพีซเป็นทีมแรกที่เข้าไปยังพื้นที่ฟุกุชิมะหลังจากเกิดเหตุการณ์ ฉันภูมิใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมากและรวมถึงงานสำรวจที่ทำมาทั้งหมดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราสามารถให้ข้อเท็จจริงได้อย่างรวดเร็วและป้องกันไม่ให้รัฐบาลญี่ปุ่นปกปิดความจริงที่เกิดขึ้น

เรย์ เล่ย หัวหน้าทีมวิจัยจากกรีนพีซ ฮ่องกง:

ผมเดินทางมายังฟุกุชิมะในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 หลังจากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ผมทำงานในภาคสนามของงานรณรงค์นี้ และเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านการป้องกันรังสี หน้าที่ของผมคือคอยตรวจสอบระดับความเข้มของรังสีในแต่ละพื้นที่และต้องคอยดูแลทุกคนในทีมในพื้นที่ฟุกุชิมะ

ด้วยความบังเอิญในเดือนพฤศจิกายน 2553 ผมได้รับใบรับรองเกี่ยวกับการทำงานในด้านความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมที่มีรังสี

ผมได้กลับไปที่ฟุกุชิมะหลายครั้งเพื่อฝึกอบรมและติดตามงาน ในช่วงสิบปีนี้ผมเห็นคนงานที่ทำงานฟื้นฟูพื้นที่ที่ปนเปื้อนรังสีตามป่าและท้องถนน เห็นถุงที่บรรจุวัสดุและของเสียที่ปนเปื้อนรังสีถูกขนย้ายไปทิ้ง บางครอบครัวต้องทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้

บางพื้นที่ในจังหวัดฟุกุชิมะเหมือนถูกหยุดเวลาไว้ที่ปีพ.ศ.2554 © Christian Åslund / Greenpeace

ผมยังได้ประจักษ์ถึงแบบแผนการปนเปื้อนรังสีที่เกิดขึ้นใหม่ตามลำธารและแม่น้ำ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมกรีนพีซจำเป็นต้องคอยติดตามพื้นที่ฟุกุชิมะนี้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนจะได้กลับมายังที่แห่งนี้อย่างปลอดภัย

ในขณะที่ผมอยู่ที่ฟุกุชิมะ ผมรู้สึกถึงความไม่แน่นอนเสมอ ๆ  เราทุกคนมีเพจเจอร์แจ้งเตือนส่วนตัวเพื่อบอกปริมาณรังสีที่ได้รับ มันเป็นประสบการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะต้องเจอ มันแปลกมากที่ก่อนหน้านี้ เพียงสามเดือน ผมเพิ่งไปเทรนนิ่งเรื่องรังสี แล้วในวันนี้ผมกำลังอยู่ในที่ที่เต็มไปด้วยมลพิษรังสีนิวเคลียร์ที่เป็นอันตราย ที่คนไม่สามารถมองเห็น ได้กลิ่น หรือลิ้มรส ในระหว่างที่อยู่ในพื้นที่ เรามีคนคอยแจ้งเราตลอดถึงปริมาณรังสีที่ได้รับในทุกวัน แต่ยังคงมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ยังต้องอดทนอยู่กับมันในทุกวันและมีข้อจำกัดในการป้องกันตัวเอง

สมาชิกทีมวิจิจัยด้านรังสีรวมถึงคาซุเอะที่กำลังตรวจสอบระดับรังสีที่บ้านแห่งหนึ่งในหมู่บ้านโอนามิ ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิประมาณ 60 กิโลเมตร © Noriko Hayashi / Greenpeace

คุณอยากเห็นอะไรในงานรณรงค์ฟุกุชิมะ?

คาซุเอะ: ผู้คนมักลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจะคอยย้ำเตือนพวกเขาว่าเกิดอะไรขึ้นที่ฟุกุชิมะ รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนตอบโจทย์วิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่นั่นไม่ใช่ทางแก้ปัญหา สิ่งนี้ไม่ได้การันตีว่าคุณสามารถป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากพลังงานนิวเคลียร์ ทางที่ดีที่สุดคือเราไม่ควรใช้มันเลย สิ่งที่ควรทำคือการหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด

ชาวบ้านจากฟุกุชิมะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ใครต้องมาเจอเหตุการณ์เช่นนี้อีก

เรย์: เราหวังว่าชาวบ้านในจังหวัดฟุกุชิมะจะสามารถกลับมาอยู่อาศัยที่บ้าน หรือหมู่บ้านของพวกเขาได้อย่างปลอดภัย นั่นคือสิ่งที่ผมคาดหวังจากงานรณรงค์ครั้งนี้ ผมตกใจมากที่ได้เห็นความว่างเปล่าหลังจากที่ได้เดินทางไปฟุกุชิมะ บางพื้นที่ที่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิประมาณ 20-30 กิโลเมตรราวกับถูกหยุดเวลาไว้ ณ ตั้งแต่เกิดหายนะภัยขึ้น

มาริ: ฉันขอพูดถึงประเด็นอื่น ๆ ในมุมมองของคนเกาหลีใต้ เราคิดว่าสิ่งสำคัญคือการหยุดปล่อยน้ำที่ปนเปื้อน(น้ำที่ใช้หล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ได้รับความเสียหาย) ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่แก้ไขปัญหานี้ ในอีกห้าปีข้างหน้าอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม ในเรื่องของการวางแผนปลดระวางโรงไฟฟ้ารวมไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดฟุกุชิมะจะได้รับผลกระทบไปด้วย

กรีนพีซเรียกร้องอยู่เสมอว่าน้ำที่ปนเปื้อนควรได้รับการบำบัดอย่างเหมาะสมจนกว่ารังสีนิวเคลียร์จะอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

เรย์ เล่ย หัวหน้าทีมสำรวจของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก อยู่บริเวณแม่น้ำอาบุคุมะในเมืองฟุกุชิมะกำลังตรวจสอบระดับกัมมันตภาพรังสีหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในปีพ.ศ.2562 © Shaun Burnie / Greenpeace

คุณนึกถึงอะไรเมื่อพูดถึงงานรณรงค์ฟุกุชิมะ?

มาริ: ฉันอยากเล่าเรื่องหนึ่ง ในปี 2562 ฉันอยู่ที่ฟุกุชิมะเกือบหนึ่งเดือน เป็นการสำรวจรังสีครั้งแรกของฉัน ฉันรู้ว่ามันค่อนข้างอันตราย แต่ฉันจะต้องทำ ฉันรู้สึกว่าฉันจะไม่สามารถทำงานรณรงค์นี้ได้ถ้าไม่ได้สัมผัสประสบการณ์จริงที่ฟุกุชิมะ ในวันสุดท้ายของการทำงานที่ฟุกุชิมะ เที่ยวบินที่ฉันจะเดินทางกลับบ้านเกิดล่าช้าเนื่องจากไต้ฝุ่นฮิบิกีส ในตอนเช้าฉันไม่รู้ว่าทำไมจู่ ๆ ฉันก็เริ่มร้องไห้เป็นเวลาสองสามชั่วโมง แล้วนึกถึงทุกคนในฟุกุชิมะที่ชีวิตได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ฉันจะไม่ลืมความรู้สึกในเช้าวันนั้นเลย

เรย์: ครั้งแรกที่ฉันเดินทางไปที่ฟุกุชิมะ ผมเดินทางไปพร้อมกับเพื่อนร่วมงานอีกกว่า 20 คน  ผมประหลาดใจมากที่เราสามารถวางแผนกันว่ามีเรื่องอะไรที่เราต้องทำบ้างในระยะเวลาสั้น ๆ นั่นคือตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องของการทำงานร่วมกัน และความมุ่งมั่นของพวกเราที่มีต่องานรณรงค์ฟุกุชิมะ ผมต้องขอบคุณคาซุเอะและมาริสำหรับการทำงานภาคสนามของพวกเราครั้งล่าสุดในปี 2562 และได้นำเสนอวิดิโอที่ทำให้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในฟุกุชิมะ อย่างเช่น การปนเปื้อนและสถานการณ์ของคนในพื้นที่

ในญี่ปุ่น กรีนพีซและประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านแผนการของรัฐบาลที่จะปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อเดือนตุลาคม 2563 © Masaya Noda / Greenpeace

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกคุณทำงานร่วมกันอย่างไร?

มาริ: ฉันรู้สึกว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่สามารถหยุดการทำงานของพวกเราได้ เมื่อปีที่ผ่านมาพวกเรายังส่งทีมลงพื้นที่ไปยังฟุกุชิมะ และเรายังสามารถเปิดเผยรายงานที่เกี่ยวกับฟุกุชิมะถึงสองเล่ม ในขณะเดียวกันกรีนพีซ เกาหลีใต้ยังคงคิดหาวิธีที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ของเราเพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้เรื่องนี้ด้วย แม้ว่าโควิดจะก่อให้เกิดความท้าทายมากมาย แต่ก็ยังผลักดันให้เราคิดเกี่ยวกับการรณรงค์ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

มาริ ชาง ผู้ประสานงานรณรงค์ของกรีนพีซและอาสาสมัครของกรีนพีซยื่นข้อเรียกร้องพร้อมด้วยรายชื่อผู้สนับสนุนกว่า 80,000 รายชื่อต่อสถานทูตญี่ปุ่นในเกาหลีใต้ © Jung-geun Augustine Park / Greenpeace

คาซุเอะ: ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มาริ เรย์และฉันก็พูดคุยกันผ่านช่องทางออนไลน์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นฉันคิดว่าการทำงานร่วมกันในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19จึงไม่เป็นปัญหาในการประสานงานมากนัก

เรย์: ท่ามกลางเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ทำให้เราไม่สามารถเจอกันได้ แต่เรายังคงหาทางทำกิจกรรมต่าง ๆ ของเราบนพื้นที่ออนไลน์ เราได้ร่วมมือกันในการทำรายงานใหม่ ๆ ออกมาเพื่อแก้ปัญหาพวกนี้ เช่น น้ำปนเปื้อนที่ถูกปล่อยลงมหาสมุทรแปซิฟิก

รู้จักกรีนพีซได้อย่างไร?

คาซุเอะ: ในช่วงปีพ.ศ.2534 ได้เกิดสงครามระหว่างอิรักและอเมริกา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้เงินภาษีของประชาชนสนับสนุนการทำสงครามซึ่งทำให้ฉันรู้สึกโกรธมาก ฉันต้องการที่จะหยุดการสนับสนุนนี้แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ในตอนนั้นที่ยังไม่ม่อินเทอร์เน็ตฉันค้นหาเบอร์จากสมุดปกเหลืองหาเบอร์ติดต่อองค์กรไหนก็ได้ที่มีคำว่า “สันติภาพ” แต่กลับไม่พบกรีนพีซอยู่ในนั้น แต่ฉันกลับพบองค์กรอื่น ๆ และเข้าไปพูดคุยกับพวกเขาและที่นั่นฉันถึงได้พบกับคนจากกรีนพีซ

ฉันคิดว่าสิ่งที่กรีนพีซทำมันเยี่ยมมาก กรีนพีซไม่เพียงแต่ต่อต้านสงคราม แต่เราไม่ควรสู้กันเพียงเพราะน้ำมันด้วยซ้ำ ถ้าเรามีเงินมากพอที่จะทำสงครามควรเอาไปลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนมากกว่า ฉันคิดว่าฉันต้องการร่วมงานกับองค์กรแบบนี้เพราะมองเห็นต้นตอของปัญหาตั้งแต่แรก และนี่คือเรื่องราวของฉัน

คาซุเอะ ซูซุกิ ผู้ประสานงานรณรงค์ของกรีนพีซ ขณะกำลังอภิปรายในการประชุมสัมมนา ‘Uniting for Peace’ ที่โตเกียวในปี 2546 © Greenpeace / Jeremy Sutton-Hibbert

มาริ: คุณรู้ไหมว่าคำถามนี้ทำให้ฉันเหมือนย้อนเวลากลับไปในอดีต ฉันไม่เคยคิดว่าจะได้ร่วมงานกับกรีนพีซเลย เพราะเมื่อก่อนฉันมักจะร่วมเคลื่อนไหวในชุมชนเท่านั้น แต่มีสองอย่างที่เปลี่ยนความคิดฉัน

ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2557 เกิดเหตุการณ์เรือเซวอลอับปางและจมลงก้นทะเลโดยมีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมากกว่า 300 คน จากเหตุการณ์นี้ฉันกล่าวโทษต่อรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ไม่พยายามมากพอที่จะช่วยชีวิตพวกเขา และทำให้ฉันตระหนักได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่ฟุกุชิมะ จากนั้นฉันก็เริ่มค้นหาว่ามีหน่วยงานหรือองค์กรใดบ้างที่กำลังขับเคลื่อนประเด็นนี้อยู่ ฉันพบว่ากรีนพีซรณรงค์เรื่องนี้มานานเกือบ 50 ปี และพบว่าทางกรีนพีซมีชื่อเสียงในการรณรงค์ยุติการใช้นิวเคลียร์ ด้วยเหตุนี้ฉันจึงร่วมงานกับกรีนพีซเพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแนวทางแก้ไขและผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น

เรย์: ฉันทำงานที่นี่มา 14 ปี ก่อนหน้าที่จะมาทำงานที่นี่ ฉันเคยเป็นส่วนหนึ่งของโลกทุนนิยมมาก่อนนี่คือสิ่งที่ฉันตระหนักได้ว่าฉันต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ในอาชีพการทำงานของตัวเองและตามหาสิ่งที่มีความหมายต่อโลกใบนี้ ฉันมองหางานที่พอจะเป็นไปได้จนสุดท้ายก็เจอกรีนพีซ

ฉันมีส่วนร่วมในการตรวจสอบงานวิจัยหลายงานจากงานรณรงค์ที่ผ่านมา มีบางครั้งที่ต้องทำงานในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง เช่น ฉันถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงงานไล่เรื่องจากพยายามหาท่อระบายน้ำทิ้งของโรงงานเพื่อสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำทิ้ง รวมถึงอันตรายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในงานภาคสนาม อะไรก็เกิดขึ้นได้และนี่เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ต้องเจอ

ฉันเชื่อว่างานรณรงค์ของกรีนพีซจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ฉันรู้สึกดีที่ได้ทำงานในองค์กรที่จะสามารถทำให้โลกของเราดีขึ้นได้

วิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิยังคงดำเนินต่อไปเนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีลงมหาสมุทรแปซิฟิก © Christian Åslund / Greenpeace

มีอะไรที่อยากพูดกับคนที่สนับสนุนเราไหม?

เรย์: โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือปัญหาในระดับโลก ฉันอยากให้ผู้สนับสนุนของเราไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดก็ตามบนโลกใบนี้ อยากให้ทุกคนร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้องของกรีนพีซเพื่อให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก และฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญกับเราทุกคนที่จะตั้งคำถามกับรัฐบาลญี่ปุ่นว่าพื้นที่ฟุกุชิมะปลอดภัยสำหรับการย้ายถิ่นฐานกลับไปแล้วหรือยัง

ฉันยังคิดว่าการสื่อสารกับผู้สนับสนุนและผู้บริจาคของเราเป็นเรื่องสำคัญมาก งานทั้งหมดของเราเกิดขึ้นได้เพราะการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทั้งทางการเงินและการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของทุกคน

สมาชิกของทีมตรวจสอบรังสีของกรีนพีซจากประเทศต่างๆ กลับไปที่ฟุกุชิมะเป็นประจำเพื่อสำรวจรังสีนิวเคลียร์ © Greenpeace

คาซุเอะ: ฉันขอชวนให้ทุกคนดูว่าใครคือนายทุนสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลโตเกียวเป็นผู้ถือหุ้นของ TEPCO (เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ)  ลองตรวจสอบดูว่าเงินของคุณมีส่วนสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่ ฉันไม่คิดว่าทุกคนจะรู้ว่า บริษัทโตชิบา มิตซูบิชิ และฮิตาชิ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานนิวเคลียร์ เราสามารถเลิกสนับสนุนได้ง่าย ๆ เพียงแค่เลิกซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านั้น หากพวกเขายังสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์อยู่

ในการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เรามีประโยคที่ว่า “ฉันทำคนเดียวไม่ได้ แต่พวกเราทำได้” นั่นหมายถึงฉันไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้โดยลำพังได้แต่ถ้าเราร่วมมือกันเรื่องนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ และนั่นคือวิธีการทำงานของกรีนพีซทั่วโลก

ฉันต้องขอบคุณทุกคนมาก ๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันมีพลังในการทำงาน

ฉันเชื่อว่าเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่าง อย่างที่ฉันบอกไป “ฉันคนเดียวทำไม่ได้ แต่พวกเราทำได้” และถ้าเป็นกรีนพีซ ฉันก็ดีใจมากที่เราจะทำงานร่วมกันเพื่อโลกที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น!