คุณภาพอากาศในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้กลับมาเป็นวิกฤตอีกครั้งหนึ่งในช่วงวันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ความเข้มข้นของ PM2.5 ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่บางนา(05t) และเขตวังทองหลาง (61t) มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร มาตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2561 ซึ่งดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 ที่คำนวณโดยใช้โดยการใช้ค่า PM2.5 จากการประมาณค่าด้วยแบบจำลองเทียบกับเกณฑ์ AQI breakpoints ตามมาตรฐานของ US Environmental Protection Agency (เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ PM2.5 AQI breakpoints) ณ เวลา 11.00 นาฬิกา อยู่ที่ 180 ซึ่งเป็นสีแดงที่เตือนถึงระดับมลพิษทางอากาศ มีอันตรายต่อสุขภาพ

กราฟแสดงความเข้มข้นรายชั่วโมงของ PM2.5 ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่บางนา(05t) ระหว่างวันที่ 10-12 มีนาคม 2561 ที่มา : http://aqmthai.com/public_report.php

กราฟแสดงความเข้มข้นรายชั่วโมงของ PM2.5 ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่เขตวังทองหลาง(61t) ระหว่างวันที่ 10-12 มีนาคม 2561 ที่มา : http://aqmthai.com/public_report.php

คำถามคือ ในเมื่อมวลอากาศเย็นซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีมากขึ้นในกรุงเทพฯ หมดไป ระดับของดัชนีคุณภาพอากาศกลับมาอยู่ที่ระดับปานกลางและ/หรือระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรกลุ่มเสี่ยงในบางช่วงบางเวลา ทำไม พื้นที่กรุงเทพฯ จึงต้องเผชิญกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกหลังจากเวลาผ่านไปได้ไม่นาน

นอกเหนือจากแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นพิษ PM2.5 ที่มาจากรถยนต์หลายล้านคันบนถนนของกรุงเทพฯ แล้ว คำตอบก็คือ “มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน

จากปริมาณจุดความร้อนบันทึกภาพโดยดาวเทียม และทิศทางลม ของวันที่ 11 มีนาคม 2561 แสดงให้เห็นว่า มีกระแสลมที่ได้รับอิทธิพลของมรสุมจากทะเลจีนใต้พัดเข้ามา ทำให้กรุงเทพฯ และหลายส่วนของภาคกลางได้รับผลกระทบจากหมอกควันรุนแรงขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2561 อันเนื่องมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่ง PM2.5 สามารถแขวนลอยในอากาศได้นานและเคลื่อนตัวได้ไกล แม้ว่า กรุงเทพฯ และภาคกลางจะเป็นที่ราบ แต่การที่กรุงเทพฯ มีลมสงบในช่วงเวลากลางวันอยู่ในระดับต่ำไม่เกิน 1 เมตร/วินาที และอากาศมีความชื้นพอสมควร ทำให้เกิดการสะสมตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ และฝุ่นละอองขนาดเล็กใหม่ที่ถูกพัดเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว และพม่า จึงทำให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ตามสมมุติฐานข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลจาก Earth Observatory ขององค์การนาซา พบว่า ในช่วงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 จนถึงปัจจุบัน มีจุดเกิดไฟเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกัมพูชากว่าประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบ เครื่องมือ VIIRS บนดาวเทียมของนาซาตรวจจับจุดความร้อนทั้งหมด 1,868 จุดในกัมพูชา 185 จุดในลาว 77 จุดในเมียนมาร์ 217 จุดในไทย และ 144 ในเวียดนาม  ดังภาพด้านล่าง

ที่มา : https://earthobservatory.nasa.gov/IOTD/view.php?id=91771&eo

อาจกล่าวได้ว่าคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ที่เข้าขั้นวิกฤตมีส่วนสัมพันธ์อย่างยิ่งกับ “ปรากฎการณ์หมอกควันพิษข้ามพรมแดนในอาเซียน(ASEAN Transboundary Haze Pollution) จำเป็นต้องมีความร่วมมือในระดับอาเซียนเพื่อต่อกรกับปัญหา

รัฐบาลไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้เห็นร่วมกันในวิสัยทัศน์ภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี 2563 (Haze-free ASEAN by 2020) เหลือเวลาอีกไม่นานและมีความท้าทายอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผล

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม