วิกฤตสภาพภูมิอากาศยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีเหตุการณ์วิกฤตครั้งสำคัญไม่ว่าจะเป็น ไฟป่าครั้งใหญ่ทั้งในออสเตรเลีย แอมะซอน และแคลิฟอร์เนีย เกิดน้ำท่วมร้ายแรงในอินโดนีเซีย (ซึ่งน้ำซัดไปถึงประตูทำเนียบประธานาธิบดีด้วยซ้ำ) เหตุการณ์พายุไซโคลนพัดถล่มอินเดียและบังคลาเทศ หรือการเกิดฝนคะนองอย่างหนักในเคนยาทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน รวมทั้งฤดูพายุเฮอริเคนอันโหดร้ายในมหาสมุทรแอตแลนติกที่พัดเข้าสู่นิการากัวและฮอนดูรัส นี่จึงนับเป็นปีที่ทำลายสถิติในด้านการเกิดภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศในหลายแง่มุม

แต่มันก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด! ภาพถ่ายดาวเทียมจากอวกาศยังแสดงให้เห็นว่าเราอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์อันน่าทึ่งและธรรมชาติอันเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาพิจารณาอย่างช้า ๆ  ไปพร้อมกับหวนคิดว่ามันสำคัญแค่ไหนที่เราจะต้องรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศเสียที

จริง ๆ นะ  เมื่อเห็นความสวยงามเช่นนี้อยู่ตรงหน้าแล้ว คุณจะสิ้นหวังได้อย่างไร? จะไม่ให้เรามีความหวังได้อย่างไร? 

ทะเลสาบ Dagzê – จีน

Source: https://climate.nasa.gov/climate_resources/59/tibetan-depths/

ภาพถ่ายจากดาวเทียมนี้แสดงให้เห็นทะเลสาบ Dagzê ในทิเบต ที่มีชายฝั่งสีสันแพรวพราวราวกับอัญมณีของราชสำนัก ในแถบพื้นที่สูงและแห้งแล้งของที่ราบสูงนี้ ทะเลสาบ Dagzê ได้รับการยกย่องว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนในท้องถิ่น โดยในภาพนี้เราจะเห็นว่าน้ำเป็นสีดำ แต่ระหว่างทางเดินไปยังทะเลสาบจะปรากฎบนผิวโลกเป็นสีฟ้า เมื่อก่อนดินที่นี่เคยชุ่มกว่านี้และทะเลสาบก็ลึกกว่านี้ แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทะเลสาบก็ค่อย ๆ หดตัวลง สังเกตได้จากซากดึกดำบรรพ์ที่ปกคลุมรอบบริเวณนี้ซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่นี่เคยเป็นแหล่งน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่านี้มากในสมัยก่อน

เทือกเขาหิมาลัย

Source: https://climate.nasa.gov/climate_resources/92/the-himalayas/

สิ่งที่ดูเหมือนภาพขยายของมังกรที่บิดเบี้ยวนี้ คือภาพสีที่ผิดเพี้ยนของเทือกเขาหิมาลัยตะวันออก ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน แสดงให้เห็นแนวสันและยอดเขาเขาหงิกงอ ซึ่งเป็นแนวที่เชื่อมต่อกันผ่านเนปาล อินเดีย ภูฏาน จีน พม่าตอนเหนือ รวมถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ที่สูงที่สุดในโลก

ภูเขาอุสุ – ญี่ปุ่น

ทางตอนเหนือของญี่ปุ่นซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทะเลสาบโทยะบนเกาะฮอกไกโด คือที่ตั้งของภูเขาไฟอุสุที่ยังมีชีวิต ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ประกอบขึ้นจากชั้นหินต่าง ๆ ภาพนี้ถูกถ่ายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่เกิดการปะทุขึ้น ภูเขาอุสุเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม เต็มไปด้วยป่าที่แผ่กิ่งก้านสาขาและมีโดมลาวาหลายลูก เมื่อมองจากจากอวกาศจึงดูเป็นภูมิทัศน์ที่แสนลึกลับบนโลกของเรา

ภูเขาฟูจิ

ฟูจิเป็นภูเขาที่เกิดจากการก่อตัวตามธรรมชาติและเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยเมื่อมองจากอวกาศจะไม่เห็นหิมะที่ปกคลุมบนยอดเขาฟูจิ ญี่ปุ่นตะวันออกรอดพ้นจากพายุหิมะที่พัดถล่มทางตะวันตกของญี่ปุ่น (ดูภาพด้านบน) ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนในระบบสภาพอากาศในช่วงที่โลกร้อนขึ้น ทำให้ความถี่ ความรุนแรง และระยะเวลาของสภาพอากาศที่ผิดปกติล้วนเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์และธรรมชาติ

เกาะเชจู – เกาหลีใต้

เกาะเชจูรูปไข่หรือที่เรียกว่าเกาะแห่งเทพเจ้า เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ซึ่งเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำเมื่อประมาณ 2 ล้านปีก่อน 

จุดเด่นของเกาะนี้มีภูเขา Halla ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่มีบันทึกไว้ว่าเกิดการปะทุครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1007 ภูเขา Halla เป็นภูเขาไฟรูปโล่ที่มีฐานต่ำและกว้างคล้ายกับโล่นักรบโบราณ ในขณะเดียวกันก็เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเกาหลีใต้ บริเวณปล่องภูเขาไฟมีทะเลสาบธรรมชาติและน้ำตกจำนวนมาก คุณลักษณะที่หาได้ยากเหล่านี้รวมกันประกอบกับกระบวนการของภูเขาไฟ ทำให้ที่นี่ได้รับสถานะเป็นมรดกโลก

ไต้หวัน

Source: https://eoimages.gsfc.nasa.gov/images/imagerecords/90000/90008/earth_vir_2016_lrg.jpg

ไต้หวันสว่างไสวดั่งโคมไฟ ส่องแสงเหมือนหิ่งห้อยในภาพถ่ายดาวเทียมนี้ บริเวณใจกลางเมืองเปล่งประกายสว่างไสวที่สุดโดยประกอบไปด้วยมหานครสำคัญคือ ไทเป ไทจง ไถหนาน และเกาสง เรียงรายตลอดแนวเขตทางเหนือและตะวันตก กรีนพีซกำลังรณรงค์อย่างหนักที่จะผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เพื่อให้แสงไฟในเมืองทั้งหมดมีที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด 100%

เถาหยวน

Credit: Landsat-8 image courtesy of the U.S. Geological Survey

เมื่อมองภาพของเมืองเถาหยวนจากด้านบน จะเห็นว่าทางตะวันตกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีจุดด่างดำซึ่งดูเหมือนก้อนหินขนาดยักษ์ แต่ในความเป็นจริงจุดเหล่านี้คือแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็น สระน้ำ บ่อน้ำ และอ่างเก็บน้ำ โดยมีจำนวนรวมกันเป็นพันแห่ง บ่อเทียมเหล่านี้เคยถูกใช้เพื่อการกักเก็บน้ำและการชลประทาน โดยปัจจุบันแหล่งน้ำที่เหลืออยู่บางส่วนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับการเดินชมธรรมชาติ หากไม่มีสถานที่เหล่านี้ เราก็จะไม่มีทางหนีจากความกดดันของชีวิตในเมืองได้เลย

เกาะลันเตา 

ลันเตาคือเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในฮ่องกงซึ่งมักเรียกกันว่า “ปอดของฮ่องกง” เนื่องจากมีป่าไม้พื้นเมืองที่อุดมสมบูรณ์และหายาก ซึ่งอยู่ร่วมกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยในแนวสูงซึ่งเป็นลักษณะของเกาะฮ่องกงและเกาลูน

เหตุผลที่เราควรเชื่อในการเปลี่ยนแปลง

เราหวังว่าความยิ่งใหญ่ของภาพเหล่านี้จะทำให้คุณมีมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับความสวยงามของโลกใบนี้ และความหวังใหม่ที่เราจะนำแนวทางแก้ไขภัยคุกคามที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมาใช้ ความงามเหล่านี้สร้างแรงบันดาลใจให้เรา และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้นำในภูมิภาคเริ่มที่จะปกป้องโลกซึ่งเต็มไปด้วยความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ จากการคุกคามของมลภาวะไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตาม คำมั่นสัญญาล่าสุดที่จะทำให้คาร์บอนเป็นกลางในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าโดยสามประเทศใหญ่ ๆ ได้แก่ เกาหลี จีน และญี่ปุ่น เป็นก้าวแรกที่สำคัญก่อนที่จะนำคำมั่นสัญญาเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติจริงที่จะช่วยปกป้องโลกของเรา

ภาพเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้องค์การนาซา (NASA) เขียนว่า “ท่ามกลางความกว้างใหญ่ของจักรวาล ความงดงามของชีวิตบนโลกเราส่องสว่าง”

แล้วเราจะยอมให้แสงสว่างเหล่านี้ดับลงได้อย่างไร?