เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ผู้หญิง เป็นแรงขับเคลื่อนที่มีอิทธิพลในทุกภาคส่วนของโลก ไม่ว่าจะเป็นในมิติสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่อดีจจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในโลกมีอำนาจของเพศชายกดทับ “เสียง” ของผู้หญิงในที่สาธารณะ แต่ก็มีผู้หญิงจำนวนมากเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเธอออกมาพูดถึงผลกระทบที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเพศซึ่งเชื่อมโยงไปยังปัญหาอื่นๆ 

ในมิติด้านสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน ผู้หญิง เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและรับภาระมากกว่า จากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากความยากจน (คนยากจนส่วนใหญ่ในโลกคือผู้หญิง) และด้วยความไม่เท่าเทียมทำให้ผู้หญิงขาดการมีส่วนร่วม รวมทั้งไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการเพื่อเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งมักจะถูกกีดกันออกจากการวางแผนด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม นโยบายทางการเมืองและแผนการดำเนินนโยบาย

ปัจจุบันมีกลุ่มผู้หญิงลุกขึ้นมาแสดงพลังในการปกป้องสิ่งแวดล้อมอยู่ทุกที่ๆ รวมทั้งในประเทศไทย ในโอกาสวัน International Women Day 2021 เราอยากพาทุกคนมารู้จักกับผู้หญิงในไทยที่ลุกขึ้นมาทำงานและสร้างความท้าทายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมในหลายรูปแบบด้วยกันค่ะ

1.สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และงานด้านกฎหมายของ “สุภาภรณ์ มาลัยลอย”

สุภาภรณ์ มาลัยลอย หรือ พี่หนู ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มาพร้อมแนวคิดที่ว่า ‘เราอยากให้ทุกคนมีสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ’ การทำงานของ EnLAW จึงเน้นหนักไปที่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงนโยบายเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางบ้านเกิดที่พวกเขาอาศัยอยู่และช่วยเหลือชุมชนให้ทราบถึงสิทธิต่างๆ

“บางทีคนมองแค่ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนมันเป็นเรื่องเนื้อตัวร่างกายของเรา หรือการมีชีวิตอยู่ที่มีรายได้เพียงพออะไรแบบนี้ แต่ว่าพอเรามองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมมันเป็นเรื่องไกลตัว เราก็เลยไม่ได้มีส่วนเข้าไปกำหนดการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมด้วย  

อย่างถ้าเราคิดว่าอากาศบริสุทธ์มันควรเป็นสิทธิที่เราควรเข้าถึง พอมีปัญหา PM2.5 เราก็มีสิทธิเรียกร้องให้รัฐจัดการแก้ไขหรือเรียกร้องต่อบุคคลที่ทำให้เกิดผลกระทบนี้แก้ไขปัญหา หรืออย่างกรณีชุมชนคลิตี้ล่างที่ต้องใช้น้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่วจากการประกอบกิจการ กรณีนี้ถ้าเรามองในเชิงโครงสร้างแล้ว มันคือการพัฒนาที่ไปทำลายวิถีชุมชน พวกเราเองแม้ว่าไม่ได้อาศัยอยู่ในคลิตี้ แต่เรามีสิทธิไปเที่ยวไปเล่นน้ำที่คลิตี้นะและเราก็ควรมีสิทธิไปเรียกร้องรัฐว่าไม่ควรปล่อยให้เกิดการพัฒนาที่ทำลายน้ำสะอาดที่ทุกคนเข้าถึง”

2.อาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อม และเรียนรู้การรณรงค์แบบสันติวิธีกับ ปุ๊ก ผณิตา คงสุข

“ในช่วงปี 2543 บ้านเราก็ยังไม่ค่อยรู้จักการรณรงค์แบบสันติวิธี เราได้เห็นความต่างเวลาที่เราไปเผชิญหน้ากับปัญหา หรือกับองค์กรหรือบริษัทอะไรที่เขากำลังทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่ แต่เราจะไม่ใช้ความรุนแรงทุกวิถีทาง พอเราได้ทำกับสถานการณ์จริง ตอนแรกเราก็ตื่นเต้นมาก แต่พอเราได้ผ่านกิจกรรมหลาย ๆ ครั้ง ความกลัวจะค่อย ๆ หายไป เราได้เข้าใจคนที่เขาอยู่ตรงข้ามกับเรามากขึ้น เราจะยิ่งนอบน้อมกับเขา ทำให้เราทำงานรณรงค์ได้แบบเข้าใจมนุษย์เพิ่มขึ้น” 

เพราะเริ่มสังเกตถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจากรอบ ๆ ตัว จึงทำให้พี่ปุ๊กตัดสินใจมาเป็นอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อมกับกรีนพีซ เป็นเวลากว่า 20 ปีกับงานอาสาสมัครเธอได้มีโอกาสพบเจอผู้คนหลากหลาย เรื่องราวมากมายระหว่างการทำงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม กล้าที่จะออกไปอยู่แถวหน้าเพื่อที่จะบอกอุตสาหกรรมต่าง ๆ ว่าเขาทำลายสิ่งแวดล้อมยังไง ทำไมเราต้องหยุดเพื่อปกป้องทรัพยากรในอนาคตของลูกหลานต่อไป

3. ปกป้องทรัพยากรบ้านเกิด จากอำนาจรัฐที่เอื้อกลุ่มทุน เรื่องราวการต่อสู้ของสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล

“ตอนนั้นที่นี่ถูกกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมาตั้ง 3 โรงเพื่อสนับสนุนเรื่องพลังงาน ทำสาธารณูปโภคขึ้นก่อนจะทำนิคมอุตสาหกรรม โดยวางแผนจะตั้งโรงไฟฟ้าตั้งที่ตอนเหนือของบ่อนอก ที่ อ.ทับสะแก และที่บ้านกรูด ถ้าขึ้นโรงไฟฟ้าได้นิคมอุตสาหกรรมที่เป็นโรงถลุงเหล็กก็จะตามมา ตอนนั้นเรียกว่าเขาตั้งเป้าให้บ้านเรามีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เพราะประจวบฯอยู่ติดฝั่งชายทะเล สามารถทำท่าเรือขนส่งถ่านหินได้”

Activists in Southern Thailand. © Biel Calderon / Greenpeace
© Biel Calderon / Greenpeace

สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล หรือ พี่หนิง เป็นหนึ่งในเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดประจวบฯ เธอเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ช่วยกันปกป้องพื้นที่ชายฝั่งจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 โรง จากชุมชนที่ถูกรัฐบาลละเลยจากการมีส่วนร่วมในการวางแผนนโยบายในพื้นที่ เธอและคนในท้องถิ่นเริ่มต้นสู้จากศูนย์ แต่เธอและชาวบ้านยอมแพ้ไม่ได้เพราะที่นี่คือบ้าน

Locals Welcome Greenpeace. © Greenpeace / Vinai Dithajohn
© Greenpeace / Vinai Dithajohn

“ชาวบ้านเราต้องกำหนดนักการเมือง เลือกมึงผิด สมัยหน้ากูไม่เลือกมึง เรามีโอกาสเลือก แต่ไม่ใช่เลือกนักการเมืองไปแล้วตรวจสอบไม่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือกระบวนการตรวจสอบนักการเมือง ถ้ากลไกตรงนี้ไม่เดิน สื่อมวลชนก็ตรวจสอบไม่ได้มันก็พังกันหมด คือตอนที่พวกเราคัดค้านได้ สื่อมวลชนเข้มแข็งไง ถ้าสื่อมวลชนไม่เป็นอิสระและเข้มแข็งจริง ๆ นะทำได้ยากมาก  แต่ถ้าสื่อมวลชนอ่อนแอ ชาวบ้านจำเป็นต้องขึ้นมาทำเรื่องสื่อสารต่อสังคมเองให้ได้”

4.หนึ่งในผู้ริเริ่ม Climate Strike ในประเทศไทย “หลิง นันทิชา โอเจริญชัย”

เธอคือคนหนึ่งที่รักธรรมชาติและศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกมาอย่างดีในช่วงระหว่างการเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย ความฝันของเธอคือการเป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อม ใช้ทักษะการเขียนที่เธอรักสื่อสารข้อความปัญหานี้ให้กับคนอื่นได้ทราบ เธอได้รับแรงบันดาลใจจากบทความของ เกรียตา ทุนแบร์ และการรณรงค์หยุดเรียนประท้วงโลกร้อนในทุกวันศุกร์ หลังจากอ่านบทความนั้น หลิงตัดสินใจที่จะจัด Climate Strike ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

“มีคนบอกกับเราว่า  Climate Strike มันคืองานของเราที่จะต้องสร้างการรับรู้ให้กับคนอื่น งานของเราไม่ใช่การลงมือทำเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น แต่งานของเราคือการสร้างการรับรู้เรื่องของวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้ได้ก่อน เราก็เลยเก็บสิ่งนี้มาคิดแล้วก็บอกกับตัวเองว่า สุดท้ายแล้วการเป็นนักกิจกรรมเพื่อรณรงค์งานอะไรสักอย่างมันคือการพูดในสิ่งที่เราจะรณรงค์ไปจนกว่าจะมีคนฟังแล้วนำสิ่งที่เราพูดไปแก้ไข นั่นคือเราเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในกระบวนการการแก้ไขปัญหานะ”

5. การลุกขึ้นสู้ของเยาวชนหมู่บ้านกะเบอะดินต่อโครงการเหมืองถ่านหินใน อ.อมก๋อย

พรชิตา ฟ้าประทานไพร หรือ ดวง เยาวชนในหมู่บ้านกะเหรี่ยงโปว์ที่ชื่อว่า ‘กะเบอะดิน’ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เธอและกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านกะเบอะดินรับรู้ถึง ‘โครงการเหมืองถ่านหิน’ ที่อาจนำมาสู่การทำลายทรัพยากร ต้นน้ำ ของชาวบ้านในหมู่บ้านและผู้ที่ต้องใช้น้ำจากลำห้วย เพราะที่หมู่บ้านกะเบอะดินแห่งนี้มี “ถ่านหิน” อยู่ใต้ดินและปรากฏให้เห็นเด่นชัดที่บริเวณห้วยผาขาวลำห้วยใหญ่สายสำคัญที่มีจุดเริ่มต้นจากผาขาวไหลผ่านหลายหมู่บ้าน 

เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนในหมู่บ้านที่นี่เลยก็ว่าได้ ทั้งมะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำ พริก หรือแม้กระทั่งข้าว ล้วนแล้วแต่ใช้น้ำเป็นปัจจัยหลักในการทำอาชีพ ครอบครัวของดวงปลูกมะเขือเทศเป็นหลัก 

ดวงเลือกใช้โซเชียลมีเดียเพราะคิดว่า หมู่บ้านของเธอมีทรัพยากรสมบูรณ์ มีวิถีชีวิตมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่หลายคนยังไม่รู้จักหมู่บ้านกะเบอะดินที่กำลังจะเผชิญกับโครงการเหมืองถ่านหิน จึงอยากสื่อสารให้คนภายนอกรู้ว่าหมู่บ้านนี้ทำอะไร ชาวบ้านมีอาชีพอะไร มีพืชผลการเกษตรอะไรบ้าง และที่สำคัญคือหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์นี้กำลังเจอปัญหาอะไร 

“ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย หากโครงการเหมืองเข้ามาแล้วเราต้องย้ายออกเราก็ต้องย้ายออกไปเลย หรือหากไม่ย้าย หมู่บ้านก็จะอยู่ในเส้นทางขนส่งถ่านหินและเราอาจต้องทนอยู่กับทั้งมลพิษทางเสียง ฝุ่นละอองและปัญหาการใช้เส้นทางเข้าออกหมู่บ้าน วิถีชีวิตของเราจะต้องเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเราเลือกที่จะลุกขึ้นมาคัดค้านดีกว่า”

6. เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อสร้างงานรณรงค์ของ กรณิศ ตันอังสนากุล

จากการเป็นนักวิจัยมากว่า 5 ปี กิ๊ก กรณิศ ตันอังสนากุล ได้นำประสบการณ์ทั้งหมดมาตั้งธุรกิจเพื่อสังคมพร้อมทั้งรณรงค์ให้คนลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อท้องทะเลของเราผ่านหน้าเฟซบุ๊คเพจชื่อ ReReef 

“เราอาจแบ่งคนกว้างๆ ออกเป็นสองกลุ่มคือ คนที่ยังไม่รับทราบข้อมูลอะไรเลย เราก็ให้ข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนักรู้ก่อน กับอีกกลุ่มที่รับรู้ข้อมูลมีความตระหนักรู้แล้ว แต่ยังไม่นำไปสู่การลงมือทำ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มันยังติดขัดบางอย่างอยู่ ซึ่งเรารู้สึกว่าอุปสรรคตรงนั้นส่วนหนึ่งคือการไม่มีตัวเลือกที่ใช้ทดแทนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เราจึงต้องหาทางเลือกอื่นให้เขา คือผู้บริโภคอยากได้อะไร เราก็ไปหาทางเลือกที่ดีกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ามาให้ และในราคาที่เหมาะสม ทุกคนรับได้”

เรื่องราวของผู้หญิงทั้ง 6 เป็นตัวอย่างแรงผลักดันสำคัญของผู้หญิงจากทั่วทุกมุมโลกในการการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่บ้านเกิด ด้วยความเป็นผู้นำในด้านการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงจะทำให้รัฐตระหนักถึงความต้องการของพลเมืองมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความร่วมมือจากหลายๆฝ่ายและกลุ่มคนชายขอบ นอกจากนี้ยังมีพลังทางด้านสันติภาพที่ยั่งยืนอีกด้วย

คืนอากาศดีให้คนไทย

เราทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาดและต้องการให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนจากมลพิษทางอากาศ ร่วมผลักดันกรมควบคุมมลพิษเพื่อยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทย

มีส่วนร่วม