หากกล่าวว่าตนเองเป็นคนรักอาหารทะเลในยุคนี้แล้วล่ะก็ เราคงจะต้องระแวดระวังและเลือกสรรค์ในการกินสักนิด เพราะมหาสมุทรของเรากำลังเหลือปลาน้อยลงไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศที่ส่งผลต่อแนวปะการัง มลพิษทางทะเลที่ส่งผลร้ายต่อสัตว์น้ำ และเรืออวนลากขนาดมหึมาที่กวาดเอาปลาจำนวนหลายต่อหลายตันต่อวัน และยิ่งยังมีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนเรือประมงพาณิชย์ ด้วยปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำให้เราหมดความอยากกินอาหารทะเลไป เรียกว่า การกินอาหารทะเลแต่ละครั้งอาจจะเป็นความสุขที่ปนอยู่บนการรู้สึกผิดลึก ๆ

การชอบกินอาหารทะเลไม่ควรเป็นเรื่องที่ผิดหรือน่าอาย และคนรักอาหารทะเลอย่างพวกเรานี่เองที่มีพลังในการตีกรอบให้กับตลาดอาหารทะเล ด้วยการเรียกร้องให้อุตสาหกรรมเลือกจับสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมเท่านั้น
เรารู้ดีว่าการเป็นผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบนั้นต้องใช้ความพยายามสูง และอาจจะสับสนสักหน่อยในตอนแรก ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากแนะนำคำถาม[1] ที่นักช้อปทุกคนควรถามเมื่อต้องการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ครั้งต่อไปที่ไปชอปปิงลองพิจารณาคำถามสั้น ๆ เหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารทะเลที่คุณกินนั้นอาจมีส่วนในการสร้างปัญหาในมหาสมุทร

[1]*คำถามเหล่านี้ตั้งขึ้นจากเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการทำประมงที่เป็นธรรมและยั่งยืน

1. ทางบริษัทอาหารทะเลมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส และเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้บริโภคหรือไม่?

วิธีการประมง พื้นที่ทำการประมง สัตว์น้ำที่จับ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องนั้นสามารถพบได้ง่ายบนฉลากหรือเว็บไซท์ของบริษัทหรือไม่? หากคุณไม่สามารถหาข้อมูลเหล่านั้นเจอ ไม่ว่าจะหายังไงก็ตาม (แม้ว่าจะลองกูเกิ้ลดูแล้ว) มีโอกาสที่บริษัทนี้จะมีเบื้องลับเบื้องหลังที่สกปรก และไม่อยากให้ผู้บริโภครับรู้

2. จับสัตว์น้ำมาด้วยวิธีการอะไร?

อาหารทะเลที่จับขึ้นมานั้นใช้วิธีการประมงที่เลี่ยงการจับสัตว์น้ำประเภทอื่น อย่างเช่น ฉลาม เต่า หรือทูน่าที่ยังโตไม่เต็มวัยหรือไม่ วิธีการประมงนี้เรียกว่า เบ็ดตวัด (หรือ Pole and Line) ไม่เช่นนั้นแล้วอาหารทะเลนั้นอาจมาจากวิธีการประมงแบบทำลายล้าง อาทิ เบ็ดราว หรือการใช้อวนล้อม ประกอบกับอุปกรณ์ล่อปลา FADs หรือเรืออวนลาก

ผืนมหาสมุทรของเรากำลังอยู่ในวิกฤตจากการประมง อันที่จริงแล้ว กว่าร้อยละ 75 ของจำนวนประชากรปลานั้นกำลังถูกทำการประมงเกินขนาด การทำประมงแบบทำลายล้างไม่เพียงส่งผลกระทบต่อจำนวนปลาเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสัตว์น้ำสายพันธุ์อื่น และทะเลอันอุดมสมบูรณ์ของพวกมัน มีการประมงหลายรูปแบบที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อมหาสมุทร ทำให้เกิดการจับปลาที่ไม่ใช่เป้าหมาย เช่น เต่า โลมา ปลาวัยอ่อน สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ และสัตว์ทะเลอื่นๆ ซึ่งผู้บริโภคควรตระหนักถึงวิธีการจัดหาอาหารทะเลของบริษัทจากเรือประมง หรือผู้จัดจำหน่ายนั้นเป็นอย่างไร  ทางบริษัทควรมีนโยบายที่ระบุอย่างชัดเจนถึงเกณฑ์การจัดหาอาหารทะเล ที่จะต้องไม่จับปลาจากแหล่งที่มีประชากรปลาเหลืออยู่น้อย ไม่ใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง และไม่มีความเชื่อมโยงกับบริษัทที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม

3. ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้จับสัตว์น้ำประเภทใดบ้าง และจับที่ไหน?

อาหารทะเลที่เราซื้อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่มหาสมุทรจนถึงจานอาหารเราหรือเปล่า? หรือมีการทำการประมงในพื้นที่คุ้มครองทางทะเลหรือไม่? ทางบริษัทควรมีอำนาจในการตรวจสอบย้อนกลับทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน และทราบอย่างชัดเจนว่าทำการประมงที่ใด เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายการจัดซื้อนั้นโปร่งใสตรวจสอบได้อย่างแท้จริง

มีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในร้านซูชิโปรดของคุณหรือเปล่า? หรือเป็นหนึ่งในส่วนผสมของอาหารเจ้าเหมียวหรือเปล่า? สามารถตรวจสอบรายการสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ Red List ได้ที่นี่ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าคุณไม่ได้เลือกซื้ออาหารทะเลที่เกี่ยวของกับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

4. ใครเป็นคนจับปลาให้คุณ?

บางบริษัทระดับโลกมีความเชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน โดยมีการทำร้ายแรงงาน และบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีในแต่ละครั้ง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องรู้ว่าใครเป็นคุณจับปลาเหล่านี้ และมีการปฏิบัติอย่างไรบ้างต่อแรงงาน

แบรนด์อาหารทะเลที่มีความรับผิดชอบควรมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อให้แน่ใจถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์ วิธีเดียวที่สามารถรู้ได้ว่าบริษัทอาหารทะเลหรืออาหารกระป๋องนั้นมีนโยบายที่รับรองการคุ้มครองแรงงานและชุมชนหรือไม่นั้น คือการมีผลตอบแทนที่ยุติธรรมต่อแรงงาน

5. อาหารทะเลของคุณมาจากการประมงที่ผิดกฎหมายหรือเปล่า?

บริษัทอาหารทะเลใช้การขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเลหรือไม่? เพราะกระบวนการนี้เป็นวิธีที่เอื้อต่อการปะปนของการทำการประมงแบบถูกและผิดกฎหมาย และเอื้อต่อการเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น หรือต้องคำนึงว่าบริษัทนี้มีการทำธุรกิจกับบริษัทที่มีประวัติการทำประมงและแลกเปลี่ยนอาหารทะเลด้วยวิธีการขนถ่ายสินค้ากลางทะเลหรือไม่

บริษัทที่ทำการประมงอย่างถูกกฎหมายควรไม่เชื่อมโยงกับการกระทำ IUU (การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

6. นโยบายการจัดหาสินค้าอาหารทะเลเป็นอย่างไร?

ทางบริษัทมีนโยบายด้านความยั่งยืนและเป็นธรรมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรท่ีระบุถึงเกณฑ์การจัดหาสินค้าอาหารทะเลหรือไม่? ทางบริษัทรับซื้อจากผู้จัดหาอาหารทะเลที่จับสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ หรือสัตว์น้ำที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือไม่ หรือจากพื้นที่ที่มีการทำประมงเกินขนาดหรือไม่? ทางบริษัทกำลังดำเนินการในขอบเขตเวลาเพื่อขจัดการกระทำประมงแบบทำลายล้างหรือไม่? นโยบายการจัดหาสินค้าอาหารทะเลควรแสดงถึงความมุ่งมั่นและการลงมือทำของบริษัทไปสู่ความยั่งยืน

7. อาหารทะเลที่คุณซื้อ มีส่วนช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหรือไม่?

ทางบริษัทเลี่ยงการจัดหาอาหารทะเลจากพื้นที่ที่อาจจะเป็นหรือเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลหรือไม่? ทางบริษัทดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทะเล ลดผลกระทบ และต่อกรกับความท้าทายที่มหาสมุทรกำลังเผชิญหรือไม่? การถามคำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราดูได้ว่าบริษัทใดสนับสนุน หรือลงทุนในการพัฒนาส่งเสริมการประมุงที่เป็นธรรมและยั่งยืนมากน้อยเพียงใด

สิ่งสุดท้ายที่คนรักอาหารทะเลต้องการ คือ การมีส่วนในการทำร้ายมหาสมุทรของเราโดยไม่ตั้งใจ หากคุณเลือกที่จะเป็นผู้บริโภคที่เลือกกินเลือกใช้อย่างมีความรู้ คุณก็สามารถช่วยยุติการทำประมงแบบทำลายล้าง ผิดกฎหมาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลได้ เราแน่ใจว่าด้วยพลังของผู้บริโภคจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมปลาทูน่า และจะต้องมีสักวันที่เราทุกคนจะอิ่มอร่อยกับอาหารทะเลที่เราชอบ ได้อย่างไม่ต้องรู้สึกผิดว่าจะมาจากการประมงที่ทำลายทะเล
วิธีที่แสนง่ายอีกวิธีคือ พยายามเลือกซื้ออาหารทะเลจากประมงพื้นบ้านที่จับมาอย่างยั่งยืน อาจจะต้องใช้ความพยายามในการหาซื้อสักหน่อย แต่หากเราไม่พยายามแล้ว ในอนาคตเราอาจไม่มีอาหารทะเลหลงเหลือให้กินอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ จากทะเลสู่กระป๋อง: การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย ปี 2559

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

About the author

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์
นักเขียน นักสิ่งแวดล้อม ผู้เชื่อในพลังการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของทุกคนจากการเลือกกิน เลือกซื้อ เลือกใช้ และการลงมือทำ เพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

Comments

Leave your reply