การผูกขาดและการลดทอนธรรมาภิบาลระบบพลังงานของประเทศไทยที่ยังฝังรากลึกนั้นมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อการลงทุนด้านพลังงานมีผู้เล่นใหม่ จากเดิมที่เป็นนักการเมือง ข้าราชการในหน่วยงานด้านพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเอกชน ผู้เล่นใหม่คือ กลุ่มทุนทหารที่ดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว กำลังเร่งตั้งเป้าหมายการลงทุนเพื่อความมั่นคงของหน่วยงานมากขึ้น และอาจจะนำมาซึ่งการผูกขาดทางพลังงานที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ อาจคาดไม่ถึงและยากที่จะรอดพ้นจากวงจรอุบาทว์ของการผูกขาดระลอกใหม่

ในเดือนมกราคม 2552 การก่อตัวของการลงทุนด้านพลังงานของกองทัพปรากฏชัดขึ้น เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ (ร่าง) พระราชบัญญัติอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพลังงานทหาร  โดยให้กระทรวงกลาโหมและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มีอำนาจจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพลังงานทหาร การร่วมทุน ร่วมการงาน การจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน ฯลฯ ตามที่กำหนด และให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นกรรมการเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐประหารภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ถือเป็นจุดเปลี่ยนทิศทางการสนับสนุนและลงทุนด้านพลังงานที่มีความเกี่ยวพันกับรัฐบาลในปัจจุบัน ทั้งนี้ นโยบายพลังงานระดับชาติจะยังมุ่งผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่เป็นจุดสานต่อของการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนหรืออาเซียนกริด และการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ

ในปี 2558 กองทัพบกร่วมกับภาคเอกชนหนุนตั้งโซลาร์ฟาร์ม 310 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ราชพัสดุ และได้มีการยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงานขอให้มีการเปิดรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพิ่ม พร้อมขยายโครงการอีก 20 แห่ง ตามโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการอีก 100 เมกะวัตต์ เนื่องจากกองทัพบกยังไม่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ประกอบกับยังไม่มีใบอนุญาต และยังไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อบริษัทที่ยื่นเสนอขายไฟฟ้าไว้เดิม อีกทั้งในรายละเอียดของการจัดสรรรายได้ตาม พรบ.การร่วมลงทุนและไม่ได้มีการชี้แจงการบริหารจัดการรายได้ที่จะเกิดจากการไฟฟ้าต่อสาธารณะ ยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้น คือ สมมติว่านโยบายสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 5บาทต่อหน่วย ในระยะเวลา 25 ปี โครงการโซลาร์ฟาร์มของกองทัพบกและภาคเอกชนจะมีรายได้ราว (1440 หน่วยต่อกิโลวัตต์ต่อปีx1000x310x25x5) 5.58 หมื่นล้านบาท 

ดังนั้นรายได้ดังกล่าวจะถูกจัดสรรให้กับกองทัพบกและภาคเอกชนเป็นสัดส่วนเท่าไร และรายได้ในส่วนของกองทัพบกจะเป็นรายได้ของกองทัพบกหรือเป็นรายได้ของกรมธนารักษ์ในสัดส่วนเท่าไร

ในปีเดียวกัน รัฐบาลออกประกาศ ทส. ฉบับที่ 7/2558 ในวันที่ 9 กันยายน2558 ให้ยกเว้นการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) สำหรับโครงการพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาด ก่อนที่จะมีคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ในวันที่ 20 มกราคม 2559 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่อง

การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าขยะ มาตรการดังกล่าวก่อให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในหลายจังหวัดและมีการนำขยะไปเผาร่วมกับถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า

ในปี 2559 คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) ได้แต่งตั้งเลขาธิการคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ(คสช.)เป็นประธานกรรมการและมีปลัดบัญชีทหารบกร่วมเป็นกรรมการของกองทุน โดยมีอำนาจหน้าที่เสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุน ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 25 ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กําหนด ทั้งนี้ ตามแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลําดับความสําคัญที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกําหนด โดยงบประมาณแต่ละปีจะมีราวหลายพันล้านบาทที่มาจากการเก็บรายได้จากผู้ใช้น้ำมันทุกคน

ในเดือนตุลาคม 2560 รัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกาจัดให้มีการหารือระหว่างภาคเอกชน สนธิสัญญาไมตรี และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการลงทุน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) ได้ลงนามซื้อถ่านหินจากภาคเอกชนสหรัฐฯ 2 ฉบับ รวม 155,000 ตันเพื่อใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์ และในเดือนเดียวกัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 11-12 ของบริษัท Adaro Indonesia (AI) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมถ่านหินใหญ่อันดับต้นของอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเหมืองถ่านหินที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เกาะกาลิมันตัน โดยแหล่งที่มาของเงินทุนราว 1.17 หมื่นล้านบาท มาจากการเพิ่มทุนของ กฟผ.ในส่วนเงินรายได้และบางส่วนจากเงินปันผลที่จะได้จากการลงทุนเพื่อป้อนให้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของกฟผ.ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จังหวัดกระบี่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา รวมทั้งการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาถ่านหิน และเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน รวมตัวกันคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2555 และมีการคัดค้านอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดซองราคาโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 โดยกลุ่มกิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟ ไชน่า และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เสนอราคาต่ำสุดที่ ประมาณ 32,000 ล้านบาท ในขณะที่ การคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเริ่มต้นเมื่อปี 2557

ในการรวมตัวกันของประชาชนทั้งสองเครือข่าย ร่วมกันประท้วงรัฐบาลด้วยการอดอาหาร ที่บริเวณด้านหน้าอาคารสหประชาชาติ(UNESCAP) ในกรุงเทพฯ ผลจากการเจรจา รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) เพื่อศึกษาผลกระทบต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ทั้งสองแห่งนี้ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้มีข้อสรุป ผลการศึกษาดังกล่าวอย่างเป็นทางการออกสู่สาธารณะ

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาถ่านหิน และเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน รวมตัวกันคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย

ในเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา กองทัพบกและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ร่วมกันศึกษา พัฒนาและลงทุนโซลาร์ฟาร์มบนที่ราชพัสดุกองทัพ 6 แสนไร่ เพื่อรองรับการผลิตได้ราว 3 หมื่นเมกะวัตต์ซึ่งวางเป้าหมายไว้ตั้งแต่ปี 2558 การประกาศเดินหน้าโครงการฯดังกล่าว ยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการบริหารจัดการรายได้ที่จะเกิดขึ้นตลอดอายุการดำเนินการของการผลิตไฟฟ้าราวกว่า 25 ปี ออกสู่สาธารณชน

หากพิจารณาถึงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ทหารเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมากและกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนและลงทุนกิจการพลังงาน รวมถึงความเกี่ยวข้องในกระบวนการเห็นชอบและการออกนโยบายเกี่ยวกับกิจการพลังงาน

ในส่วนของการลงทุนระบบโซลาร์ฟาร์ม แม้ว่าจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของประเทศ สิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วยก็คือ การผูกขาดการลงทุนพลังงานหมุนเวียนไว้กับกลุ่มพลังอำนาจ และการกีดกันสิทธิของชุมชน ประชาชนและผู้บริโภคในการพัฒนา ผลิตและมีรายได้จากการขายไฟฟ้าในระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรม

การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาลหนึ่งในโครงการของกองทุนแสงอาทิตย์ ที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้า สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงลดมลพิษทางอากาศ

การผลิตไฟฟ้าจะต้องไม่ผูกขาดโดยกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม รวมถึงกลุ่มทุนทหาร 

เราเรียกร้องให้รัฐบาลปลดล๊อกวงจรอุบาทว์นี้  เปิดพื้นที่ให้กับ Prosumer (ผู้บริโภคที่เป็นทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าและขายไฟฟ้า) ผ่านระบบกระจายศูนย์การผลิตไฟฟ้า (decentralised energy) หาไม่แล้ว การเปลี่ยนผ่านพลังงาน(energy transition)อย่างเป็นประชาธิปไตย ก็จะเป็นเพียงฝุ่นที่อยู่ในสายลม

ข้อมูลอ้างอิง

(1) https://www.thansettakij.com/content/108804

(2) https://www.prachachat.net/economy/news-49383

(3) http://www.eppo.go.th/index.php/th/committees-subcommittees/committees-petroleum-refinery

(4) https://www.greenpeace.org/thailand/explore/resist/coal/coal-area/thepha/

(5) https://www.greenpeace.org/thailand/explore/resist/coal/coal-area/krabi/

(6) http://prdnews.egat.co.th/clipnews_egat/2015/1/23/corporate-www.thanonline.com.pdf

(7) ประกาศพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562

(8) https://enlawfoundation.org/newweb/?p=2688

(9) http://www.eppo.go.th/index.php/th/committees-subcommittees/committees-enconfund(9)https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2018/01/conflict-of-interest-law-1.pdf

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม