ลองนับดูแล้ว คนเราทุกคนหายใจเฉลี่ย 16 ครั้งต่อนาที 960 ครั้งต่อชั่วโมง 23,040 ครั้งต่อวัน และ 8,409,600 ครั้งต่อปี จะขับรถไปทำงาน ขี่จักรยานไปโรงเรียน หรือนั่งเฉยๆที่บ้าน ทุกลมหายใจของเราไม่เพียงแต่นำออกซิเจนเข้าร่างกายเรา แต่อาจนำพาสารอื่นๆเข้าไปด้วยเช่นกัน สารเหล่านี้รวมไปถึงมลพิษต่าง ๆ อาทิ ไฮโดรคาร์บอน (HC) ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ฝุ่นขนาดเล็ก (PM) และพิษอื่นๆที่หลายคนอาจออกเสียงไม่ออกด้วยซ้ำไป และสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศที่คนเมืองต้องเผชิญนั้น คือมลพิษจากการขนส่งคมนาคม

สุดท้ายแล้ว เราจะมีทางเลือกอื่นได้อย่างไร ในเมื่ออากาศที่เราสูดก็มาจากเมืองที่เราอาศัยอยู่ แต่ในความเป็นจริง ในขณะที่เมืองกรุงเทพฯกำลังยุ่งกับการสร้างตึกให้เยอะขึ้นและสูงขึ้น หลายเมืองใหญ่ๆในประเทศอื่นทั่งโลกได้หันมาปรับใช้ทางแก้ไขปัญหามลพิษด้วยการปรับปรุงการคมนาคมขนส่งสาธารณะ สร้างพื้นที่สีเขียว และประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างการจัดการเรื่องการขนส่งสาธารณะเหล่านี้อาจเป็นคำตอบที่ประเทศไทยจะนำมาปรับปรุงความเป็นอยู่ของคนไทยก็ได้

ที่จริงแล้ว หน่วยงานกทม.ก็ได้ลองหาวิธีปรับปรุงมาหลายครั้ง แต่สุดท้ายแล้ว ก็จบลงด้วยอย่างไม่มีประสิทธิผล ยกตัวอย่างโครงการจักรยานสาธารณะปันปั่น ถึงแม้จะวางแผนดำเนินการมาเรียบร้อย สุดท้ายก็ไม่มีคนใช้ โดยที่สาเหตุตรงตัวว่าเมืองกรุงเทพฯ ยังไม่เอื้ออำนวยสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยพอสำหรับการขี่จักรยาน ถึงแม้จะมีเส้นทางเฉพาะในบางพื้นที่ก็ตาม เพราะเหตุนี้ เวลาคนกรุงเทพฯคิดถึงการขี่จักรยาน สิ่งแรกที่คิดคือ “อันตราย” เนื่องจากทางจักรยานยังไม่เอื้อให้กับผู้ใช้จักรยานอย่างแท้จริง

แต่ระหว่างเดียวกัน เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งรถเยอะพอๆกับบ้านเรา ก็พบวิธีสร้างแผนที่ขี่จักรยานในเมืองขึ้นมา โดยเริ่มจากนักขี่จักรยานคนหนึ่ง ที่ได้ออกแบบแผนที่ว่างเปล่า และแจกจ่ายที่ให้อาสาสมัครนับไม่ถ้วนเพื่อช่วยกันกรอกจนเต็ม จากความคิดริเริ่มของชายหนุ่มคนหนึ่ง ก็กลายมาเป็นสิ่งที่ผลักดันให้รัฐบาลสร้างถนนขี่จักรยานยาวห้ากิโลเมตรขึ้นมา พร้อมยังสนับสนุนอีกสองโครงการเพื่อสร้างทางจักรยานเพิ่มด้วยงบประมาณ 33 ล้านบาท

ในทางกลับกัน ภาครัฐของเมืองโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย ยังไม่สนับสนุนเส้นทางขี่จักรยานเท่าที่มาเลเซีย เพราะเหตุนี้ กลุ่มนักผังเมือง La Ciudad Verde (เมืองสีเขียว) ก็เลยจัดการลงมือสร้างขึ้นมาเอง โดยการหาเส้นทางปั่นจักรยานที่ไม่ต่อกันเนื่องจากเป็นทางเดินรถ และทาสีลงเองเพื่อเชื่อมต่อมันเข้าด้วยกัน ทำให้เมืองเมืองหนึ่งสะดวกต่อการขี่จักรยานมากขึ้นด้วยฝีมือของประชาชนเอง

ทางจักรยานของเมืองเฟรเบิร์ก ประเทศเยอรมนี

ส่วนในเมืองเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เมื่อสถานะความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น รถยนต์ก็กลายเป็นยานพาหนะหลัก จนวันหนึ่ง นักปั่นจักรยานกลุ่มหนึ่งเริ่มจัดชุมนุมขี่จักรยานในแต่ละเดือน จนกลุ่มเคลื่อนไหวนั้นโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ การใช้จักรยานในเมืองเทลอาวีฟได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54 พร้อมกับมีระบบเช่าจักรยานเป็นของตนเอง ถึงเมืองแห่งนี้ยังตามหลังเมืองอย่างอัมสเตอร์ดัมและโคเปนเฮเกน แต่ยังคงเดินหน้าพัฒนาและเรียนรู้จากจุดอ่อนต่าง ๆ ต่อไป

หนึ่งในทางออกที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ คือการกำหนดนโยบายบางประการเกี่ยวกับรถยนต์มาบังคับใช้ อาทิเช่น ภายในปีพ.ศ. 2568 เมืองหลวงอย่างปารีส มาดริด เอเธนส์ และเม็กซิโกซิตี จะดำเนินสั่งห้ามรถยนต์ดีเซลทุกชนิดจากตัวใจกลางเมือง ในปีเดียวกันนั้น ประเทศเนเธอร์แลนด์และนอร์เวย์ก็จะเริ่มสั่งห้ามการขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเช่นกัน และในประเทศสเปน ก็ได้สั่งห้ามการใช้รถยนต์ครึ่งหนึ่งในแต่ละวันในเมืองมาดริด โดยผลัดเลขคี่และคู่ของป้ายทะเบียนรถ ส่วนในเมืองบาร์เซโลนา ก็จะสั่งห้ามรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี วิ่งบนถนนในปีพ.ศ. 2562 ส่วนฮานอยเองก็ได้ตั้งเป้าหมายให้ยกเลิกรถจักรยานยนต์ในเขตเมืองภายในปีพ.ศ. 2573 แม้กระทั้งเมืองปักกิ่ง ก็ยังวั่งห้ามรถที่ปล่อยมลพิษเกินขีดกำหนดเข้าตัวเมือง ในขณะที่กรุงออสโลจะเปลี่ยนลานจอดรถทุกแห่งให้เป็นพื้นที่สันทนาการภายในปลายปีนี้ ส่วนในเมืองใหญ่ของบางประเทศ เช่นกรุงจาการ์ตาได้มีความพยายามที่จะรณรงค์ให้ทุกวันอาทิตย์เป็นวันไร้รถยนต์ ถึงแม้ว่าตัวอย่างเหล่านี้ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างเต็มตัว เป้าหมายที่ตั้งไว้จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดมาตรการเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อลดมลพิศทางอากาศจากการเดินทาง

แนวทางลดการปล่อยมลพิษทางอากาศจากภาคการคมนาคมขนส่งคือมุ่งไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้ ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาในยุโรป สหรัฐอเมริกา จนไปถึงจีน แต่ทั้งนี้ การใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายยังอยู่ไกลโพ้นจากประเทศไทย เนื่องจากการที่ไทยยังไม่มีระบบพลังงานที่รองรับการใช้งานอย่างเต็มตัว ถึงแม้เป็นเช่นนี้ ไทยก็ยังมีทางเลือกที่จะเพิ่มการใช้เซนเซอร์ตรวจคุณภาพอากาศ อย่างที่รถประจำทางในเมืองซูริคได้ติดตั้ง

ทางจักรยานในเมืองโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ก

ยิ่งไปกว่านั้น เมืองฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมนี ได้มองภาพการใหญ่ไว้แล้ว ในแง่มุมของ “เครือข่ายสีเขียว” ที่คาดว่าจะครอบคลุมร้อยละ 40 ของพื้นที่เมือง แผนนี้รวมไปด้วยการเชื่อมโยงทั้งสวนสาธารณะ สถานที่นันทนาการ สนามเด็กเล่น และอีกมากมาย เข้าด้วยกันเพื่อให้ความสำคัญต่อการเดินและขี่จักรยานมากขึ้น เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ก็มีแผนคล้ายกันที่จะเสริมสร้าง การเดินทางตามความต้องการ (mobility on demand) ภายในปีพ.ศ. 2568 โดยใช้แอปพลิเคชั่นมือถือรวมวิธีเดินทางที่ทั้งหลากหลายและราคาถูก อย่างเช่นการขนส่งมวลชนและการใช้รถยนต์ร่วมกัน ไว้ด้วยกันเพื่อการชำระที่เรียบง่าย เป็นแผนที่จะใช้ลดมลพิษทางอากาศโดยการลดอภิสิทธิ์รถยนต์ลง

ในการที่จะเป็นเมืองที่มีศักยภาพที่ดี กรุงเทพฯจำเป็นที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงอย่างเต็มระบบโดยที่ใช้กลยุทธ์ที่ยั่งยืนแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ แทนที่จะใช้วิธีแก้ไขระยะสั้นจดจ่ออยู่ที่ปัญหาย่อมๆ ไม่น่าแปลกใจเลยที่แผนปรังปรุงคุณภาพอากาศของไทยไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการที่จะปรับปรุงเกณฑ์ที่กว้างอย่างมลพิษทางอากาศนั้น ต้องการความเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการระบบอย่างเต็มตัว ถึงแม้ว่าวิธีการปรับปรุงอย่างที่ได้เอ่ยไว้อาจจะฟังดูมีค่าใช้จ่ายที่มหาศาล แต่สุดท้ายแล้ว ผลที่ได้รับจากโครงการเหล่านี้ถือได้ว่าคุ้มค้ากับการลงทุนนั้นๆ ไม่ว่าจะแง่เศรฐกิจ การเมือง สังคม หรือธรรมชาติ ไม่เพียงแต่ในเรื่องของคุณภาพอากาศ แต่รวมทั้งคุณภาพชีวิตโดยรวม และถึงแม้ว่าทางแก้ปัญหาบางวิธีเหล่านี้อาจไม่เหมาะสมกับการนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ยังมีทางเลือกอีกมากมายที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้ได้

ที่สำคัญไปกว่าการตั้งกฎเกณฑ์และเปลี่ยนนโยบาย คือการทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นจริง การบริหารจัดการทรัพยากรและแผนดำเนินการให้บรรลุความสำเร็จยังคงเป็นปัญหาอยู่สำหรับรัฐบาลไทย โดยมีหลายโครงงานที่เกิดขึ้นแต่ไม่จบลงอย่างสมบูรณ์

แท้จริงแล้ว คนเราก็ปรับตัวเข้ากับสิ่งที่มีอยู่ไปเรื่อยๆ ถ้าน้ำมันถูกลง เราก็ขับรถมากขึ้น แต่ถ้ามีช่องทางจักรยานมากขึ้น เราก็คงขี่จักรยานมากตาม ถ้ามีถนนสร้างใหม่เยอะขึ้น เราก็อาจซื้อรถใหม่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าค่าจอดรถแพงขึ้น เราก็คงหันมาใช้รถสาธารณะมากเอง ถ้ามีทางเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนที่สูงขึ้น ทุกคนก็คงหันมาเปลี่ยนใช้เพื่ออากาศรอบตัวที่ดีขึ้น ถ้าทุกคนใช้พลังงานฟอสซิลน้อยลง อากาศก็จะดีขึ้น และสุดท้ายแล้ว ถ้าอากาศยิ่งดีขึ้นเท่าไหร่ คนก็จะหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นวัฏจักรที่คูณตัวความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคนไปเรื่อยๆ

ความรับผิดชอบส่วนตัวของประชาชนแต่ละคน ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากกับการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ที่สำคัญไปยิ่งกว่านั้น คือความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

ร่วมลงชื่อ ขออากาศดีคืนมา ได้ที่นี่

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม