เลวี บรินสดอน-ฮอล เกษตรกรคนเมือง ณ ตลาดเกษตรกรออแกนิค OMG Farm ใจกลางเมืองโอ๊คแลนด์

เลวี บรินสดอน-ฮอล เกษตรกรผู้ปลูกสวนผักในเมืองบอกว่า ฤดูร้อนนี้เขาคิดจะปลูกข้าวโพด

เมื่อเราถามถึงเหตุผลว่าทำไมเขาคิดจะปลูกข้าวโพด เพราะฤดูร้อนเป็นฤดูกาลที่เหมาะกับข้าวโพด? หรือทิศทางลมในฤดูนี้เอื้อต่อการปลูกงั้นหรือ? เขาหัวเราะให้เรา ก่อนจะตอบกลับมาว่าเขาแค่เพิ่งตัดสินใจวางแผนปลูกข้าวโพดเท่านั้น

เพราะเลวีทำเกษตรขนาดเล็กแบบใหม่ที่เรียกว่า small scale regenerative agriculture โดยเน้นการฟื้นฟูดินด้วยการปลูกพืชผักหลากหลาย นั่นทำให้เขามีเวลาทดลองปลูกผักต่าง ๆ ในแบบที่เขาต้องการ ถ้าหากการปลูกข้าวโพดของเขาล้มเหลว เขาก็ยังมีพืชผักอีก 30 กว่าชนิดที่กำลังปลูกอยู่ตามหัวมุมถนนควีน โดยแปลงผักเล็กๆ ขนาด 310 ตารางเมตรนี้ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองทามากิ มาเกาเรา (Tāmaki Makaurau) หรือโอ๊คแลนด์ในภาษาอังกฤษ 

เขาอธิบายให้เราฟังว่า “ความหลากหลายจะทำให้เราอยู่รอด”

เลวีเป็นเจ้าของกิจการฟาร์มผักออแกนิคเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า Organic Market Garden (OMG) ตั้งอยู่บนถนนไซมอนด์ในใจเมืองโอ๊คแลนด์ สวนผักนี้มีเป็นหนึ่งในงานรณรงค์องค์กร For the Love of Bees องค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนรักผึ้งและต้องการฟื้นฟูประชากรผึ้งซึ่งเป็นแมลงสำคัญในระบบนิเวศ รวมทั้งโปรโมทความเป็นไปได้ของระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ในเมืองใหญ่ For the Love of Bees ได้รับการสนุบสนุนจากเครือข่ายชุมชนในรูปแบบการให้ยืมที่ดินและการแชร์ความรู้กับเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในเมืองโอ๊คแลนด์และเมืองเอาเตอารัว (Aotearoa)

ส่วนฟาร์มออแกนิคนี้ทำขึ้นมาเพื่อแชร์ความรู้และแสดงให้คนทั่วไปได้เห็นว่าพื้นที่ในเมืองชั้นในมีศักยภาพพอในการพัฒนาให้กลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและพัฒนาสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน

การเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิด ทั้งสมุนไพรและดอกไม้จะช่วยดึงดูดแมลงและทำให้สภาพของเนื้อดินดีขึ้น

เลวีบอกว่า “เหตุผลหลัก ๆ ที่โปรเจคนี้เริ่มขึ้นนั่นคือเราต้องการพิสูจน์ว่าการทำฟาร์มผักเล็ก ๆ นั้นมีความเป็นไปได้ในเงื่อนไขความเป็นเมือง ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถเพาะปลูกอาหารจากพื้นที่เล็ก ๆ นี้ให้กับคนจำนวนมากได้ด้วย”

ตอนที่ฉันเดินผ่านประตูเข้าไปในฟาร์ม ฉันรู้สึกได้ถึงกลิ่นไอที่ปกติแล้วไม่มีอยู่ในเมืองใหญ่แน่นอน ที่นี่มีกลิ่นอโรมาของดอกคาร์โมมายล์ มีผึ้งบินไปมาตามดอกไม้และยังมีพืชโบราจ สมุนไพรสีน้ำเงินโตอยู่รอบๆ ผักกาดและเพิงที่ใช้ปลูกซูกินี่ สภาพหน้าดินอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยพืชต่าง ๆ รวมถึงตัวหนอน และถึงแม้ว่าฉันจะมองไม่เห็นจุลินทรีย์ในดิน แต่เชื่อว่าพวกมันอยู่ในดินที่นี่แน่นอน

เช่นเดียวกับเป้าหมายการเพิ่มจำนวนแมลงและกักเก็บก๊าซคาร์บอนในดิน ฟาร์มแห่งนี้ยังขายผักออแกนิคใส่กล่องให้กับชุมชนท้องถิ่น ครอบครัวกว่า 40 ครอบครัวบริโภคผักผลไม้จากฟาร์มเล็ก ๆ ที่มีขนาดเท่าโรงจอดรถทุก ๆ สัปดาห์

“ผู้คนต่างก็มีความสุขเพราะว่าเราได้เก็บเกี่ยวผักสด ๆ ให้เขาในวันอังคารและวันศุกร์ ซึ่งพวกเขาสามารถมารับผักเหล่านี้ได้”

ผลแรดิชสดใหม่พร้อมส่งไปยังแต่ละครัวเรือน

ฟาร์ม OMG ใช้แนวคิด เกษตรกรรมที่สนับสนุนโดยชุมชน (Community Supported Agriculture : CSA) ซึ่งแต่ละครัวเรือนสามารถสมัครสมาชิกและรับกล่องผักตามฤดูกาลทุก ๆ สัปดาห์เป็นระยะเวลาสามเดือน นั่นหมายความว่าเกษตรกรจะรู้ว่าเขาต้องใช้เงินทุนจำนวนเท่าไรที่จะต้องเตรียมไว้ในการเพาะปลูกตลอดฤดูกาลและสามารถทดลองปลูกพืชพันธ์ุอื่น ๆ ได้ ดังนั้นผู้ซื้อจะได้รับผักสดที่อุดมด้วยสารอาหารเหมือนกับผักที่ปลูกเองในสวนหลังบ้านตัวเองทุกสัปดาห์

เลวีบอกว่า “มันเป็นโมเดลธุรกิจที่แตกต่างจากโมเดลเดิม ๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะธุรกิจนี้ไม่ต้องการการเติบโตเพื่อผลกำไรสูงสุด แต่เป็นธุรกิจที่เสริมให้รากฐานของชุมชนในพื้นที่นั้น ๆ และเป็นธุรกิจที่ไม่สร้างรอยเท้าคาร์บอนจากการขนส่งรวมทั้งยังไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์”

“คุณไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากมาย สวนนี้ก็กลายเป็นจุดศูนย์รวมของชุมชนและช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกษตรแบบนี้จึงไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนที่ดีที่สุด เพราะในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งอาหารให้กับผู้คนและทำให้พวกเขามีสุขภาพแข็งแรง”

เลวีพูดคุยถึงเทคนิคการเก็บเกี่ยวพืชให้กับอาสาสมัครของฟาร์ม OMG

ฟาร์มใช้แนวทางการปลูกรูปแบบใหม่อย่างเช่น ไม่มีการขุดพลิกหน้าดิน ทำให้สภาพเนื้อดินยังอุดมสมบูรณ์เอื้อต่อจุลินทรีย์และเห็ดราในดิน หรือการปลูกพืชที่หลากหลายในพื้นที่เดียวกัน

“ช่วงฤดูร้อนเราจะปลูกผักส่วนใหญ่ประมาณ 7-5 สายพันธุ์ ผักเหล่านี้จะเจริญเติบโตพร้อมกัน แล้วเราก็จะได้ผักหลากหลายชนิดพร้อมกัน เราปลูกพืชพร้อมกันหลายสายพันธุ์ เช่น มะเขือยาวกับผักชี บีทรูทกับต้นหอม และในฤดูร้อนคราวนี้ ผมกำลังจะปลูกพืชที่ให้ร่มเงาในสวน”

พื้นที่ที่มองหาจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับแมลงและการผสมเกสร รวมทั้งนกและระบบนิเวศ หากเรามีพื้นที่แบบนี้เกิดขึ้นเป็นรากฐานในชุมชนแล้ว ก็จะกลายเป็นพื้นที่สำหรับคนในชุมชนที่จะมาพบปะพูดคุยกัน บางครั้งที่นี่ก็เหมือนกับจุดรวมพลของคนในชุมชน

ระหว่างการสนทนาของเรา เลวีกล่าวประโยคที่น่าสนใจว่า “เมื่อมีวิถีแบบนี้เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ คนเมืองก็จะได้เห็นตัวอย่างการทำฟาร์มขนาดเล็กแบบนี้ รวมถึงได้เรียนรู้และเข้าถึงการเกษตรได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงพลังให้กับโลกที่ถูกตัดขาดจากระบบผลิตอาหาร”

“สิ่งที่เราทำไปทั้งหมดนั้นก็เพราะการทำฟาร์มเล็ก ๆ ในเมืองใหญ่แบบนี้คือการวางรากฐานที่จะส่งผลให้เกิดโลกที่มีสุขภาพดีและอุดมสมบูรณ์ในหลาย ๆ ระดับ”

แม้ว่าโลกกำลังเผชิญกับโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก รวมทั้งยังต้องเจอกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศแต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีการสร้างระบบอาหารที่ยืดหยุ่นให้กับโลกของเรามากพอ

“ในระหว่างที่หลายประเทศล็อกดาวน์เพราะโรคระบาด แต่มีสิ่งเดียวสำหรับเราที่เปลี่ยนไปนั่นคือเราจะต้องสร้างพลังในฐานะผู้บริโภคมากขึ้น แต่เพราะเรามีชุมชนที่เราปลูกพืชผักให้กับพวกเขา นั่นทำให้ผมรู้สึกว่าเรามีรากฐานชุมชนที่เข้มแข็งและมีระบบอาหารที่เอื้ออำนวยต่อชุมชนในขณะที่เราจะผ่านวิกฤตโรคระบาดนี้ไปด้วยกัน ตอนนั้นผมก็รู้ซึ้งว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดเป็นเรื่องถูกต้อง”

ประชากรในเมืองใหญ่กลายมาเป็นเกษตรกรในฟาร์มเล็ก ๆ นี่คือ รีห์อานอน วอร์กเกอร์ เธอกำลังปลูกต้นกล้า

ก้าวต่อไปของฟาร์มนี้จะเป็นอย่างไร?

อย่างที่ เลวี บรินสดอน-ฮอล  ชี้ให้เห็นนั้น ความอุดสมบูรณ์ของพื้นดินจะเพิ่มขึ้นถ้าหากเราทำการเกษตรโดยไม่ใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์และไกลโฟเซต  ในทางกลับกันการทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีจะช่วยให้จุลินทรีย์ในดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น 

เขาบอกกับเราว่าเราจำเป็นต้องมีฟาร์มแบบนี้ในเมืองใหญ่ทั่วทุกมุมถนน

“ถ้าคุณพิจารณาดี ๆ คุณรับรู้ว่าอาหารที่ผลิตส่วนใหญ่ในโลกนี้จริง ๆ แล้วเกิดจากการเพาะปลูกจากเกษตรกรรายย่อย แหล่งอาหารจากฟาร์มเล็ก ๆ คือแรงขับเคลื่อนที่สร้างอาหารให้กับโลก”

“ในมุมมองของผม ผมมองว่าทุก ๆ ชานเมืองควรมีฟาร์มการเกษตรสำหรับเมืองใหญ่ ซึ่งมันเป็นไปได้ เพราะมันพิสูจน์ให้ผมเห็นแล้วว่าเมืองใหญ่ทุกเมืองสามารถผลิตพืชผักที่สดใหม่ได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงพืชจำพวกสมุนไพร พืชใบ และผลไม้ ก็สามารถปลูกเพื่อหล่อเลี้ยงเมืองใหญ่และคนในชุมชนได้”

สำหรับฉันแล้ว การได้มาพูดคุยกับเลวี บริสดอน-ฮอล เป็นไอเดียที่ดีทีเดียว

หากสนใจเกี่ยวกับฟาร์ม OMG และการเกษตรเชิงนิเวศในเมืองใหญ่ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ของเครือข่าย For the Love of Bees , the Urban Farmers Alliance, และรู้จักการทำเกษตรขนาดเล็กแบบใหม่ regenerative agriculture เพื่อข่าวสารดี ๆ เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในเมืองใหญ่ การทำฟาร์มเล็ก ๆ ตามหัวมุมถนนในทุก ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

Holly Dove เขียน Shujin Liu ภาพ

บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่

แปลโดย อลงกรณ์ ลัคนารจิต นักศึกษาฝึกงาน

ปฏิวัติระบบอาหาร

สิ่งที่เรากินเข้าไปนั้นจะบำรุงหล่อเลี้ยงร่างกายและช่วยให้เรามีชีวิตที่ดี แต่การเลือกกินที่ไม่ดีอาจทำให้เราป่วยหนักได้ ซึ่งชนิดและปริมาณของอาหารที่เรากินและวิธีการเพาะปลูกอาหารแต่ละชนิดนั้นยังเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการอยู่รอดของโลกเราด้วย การบริโภคแต่เนื้อสัตว์หรือบริโภคในปริมาณมากเกินความพอดีอาจก่อโรคร้ายให้กับเราโดยไม่รู้ตัว

มีส่วนร่วม