เกาะบอร์เนียวเคยถูกขนานนามว่าสวยงามบริสุทธิ์และเขียวชอุ่ม เป็นที่รู้จักกันในด้านของความงามตามธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ มักจะถูกเรียกว่าเป็นปอดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้กลับกลายเป็นพื้นที่สะท้อนของความโลภและการทำลาย

ฉันเกิดบนเกาะนี้และใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตที่นี่ บนเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียวเป็นหนึ่งในขุมทรัพย์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงที่สุดในโลก และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเกาะยังกักเก็บคาร์บอนไว้จำนวนมหาศาล

ไม่น่าแปลกใจเลยที่บริษัทต่าง ๆ มองเห็นถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ของเกาะบอร์เนียวและเริ่มมาลงหลักปักฐานเริ่มต้นธุรกิจของพวกเขาแต่น่าเสียดายที่รูปแบบธุรกิจของพวกเขามุ่งเน้นไปที่การเติบโตและความมั่งคั่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ใช่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

นักสำรวจตรวจวัดและทำเครื่องหมายบนที่ดินเพื่อขยายเหมืองหินที่สัมปทานเหมือง ในเมืองมาโครมัน ในกาลิมันตันตะวันออก บนเกาะบอร์เนียวฝั่งอินโดนีเซีย การถางป่าเพื่อการทำเหมืองถือเป็นการทำลายพื้นที่ป่าโบราณแห่งสุดท้ายของโลก © Kemal Jufri / Greenpeace

เรื่องราวความโลภของบริษัทและความไม่ใส่ใจของรัฐบาล

จังหวัดกาลิมันตันใต้ครอบคลุมพื้นที่ 3.7 ล้านเฮกตาร์ (ราว 23 ล้านไร่) โดยพื้นที่ประมาณ 1.7 ล้านเฮกตาร์(11 ล้านไร่) หรือ 33 %ของพื้นที่ได้รับการจัดสรรสำหรับสัมปทานเหมืองถ่านหิน ได้รับการอนุญาตให้ปลูกปาล์มน้ำมันครอบคลุมพื้นที่ 618,000 เฮกตาร์(3.8 ล้านไร่) หรือร้อยละ 17 ของพื้นที่ และมีพื้นที่ส่วนเล็ก ๆ ถูกจัดสรรให้เป็นสัมปทานปลูกไม้โตเร็วเพื่ออุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ

พื้นที่อย่างน้อย 30 %ของป่าเขตร้อนบนเกาะบอร์เนียวถูกทำลายในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา รวมถึงพื้นที่ป่าพรุที่อุดมด้วยคาร์บอนซึ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าไม้ทั่วไปถึงสองเท่า การตัดไม้ การขุดเหมือง และการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันมีส่วนทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมากและส่งผลกระทบต่อประชากรลิงอุรังอุตังบนเกาะ ปัจจุบันเกาะบอร์เนียวสูญเสียลิงอุรังอุตังไปแล้วเกือบ 150,000 ตัวในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา

สัมปทานเป็นของ PT Multi Persada Gatramegah (PT MPG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท Musim Mas ซึ่งเป็นผู้จัดหาน้ำมันปาล์มให้กับ Procter & Gamble ใน มัวราเทวา เมืองบาริโตเหนือ ในกาลิมันตันกลาง กรีนพีซเรียกร้องให้ P & G หยุดทำลายป่าฝนของชาวอินโดนีเซียและให้คำมั่นในนโยบายการไม่ตัดไม้ทำลายป่า © Ulet Ifansasti / Greenpeace

ชุมชนพื้นเมืองก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและถูกไล่ออกจากพื้นที่ ชาวไดยักซึ่งเป็นหนึ่งในผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมของเกาะพึ่งพาป่าเป็นหลักในการดำรงชีวิต ในตอนนี้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของพวกเขาถูกคุกคามเนื่องจากความโลภของบริษัทและการขาดการเอาใจใส่จากรัฐบาล

ไฟไหม้ครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นในปี 2558 และ 2562 จะฝังอยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดไปเหตุการณ์ไฟไหม้ส่งผลให้ป่าไม้และพื้นที่ป่าพรุเกือบ 4.4 ล้านเฮกตาร์ถูกเผา ภาคการเพาะปลูกมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดเพลิงไหม้ระหว่างปี 2558-2562 โดยร้อยละ 27 ของพื้นที่ถูกเผาไหม้ในปี 2562 อยู่ในสัมปทานปาล์มน้ำมันและสัมปทานไม้เยื่อ

สมาชิกทีมป้องกันไฟป่ากรีนพีซอินโดนีเซีย (FFP) เข้าดับไฟในพื้นที่เพาะปลูกและป่าไม้ในตำบลเจกันรายา เมืองปาลังการายา จังหวัดกาลิมันตันตอนกลาง ประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศภาวะฉุกเฉินใน 6 จังหวัดที่เกาะสุมาตราและเกาะกาลิมันตันเนื่องจากไฟป่าในอินโดนีเซียลุกลามใหญ่โต © Ulet Ifansasti / Greenpeace

ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศบนเกาะบอร์เนียว

ในช่วงต้นปี 2564 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกาะบอร์เนียวได้พบกับข่าวน้ำท่วมสะพัดในกาลิมันตันใต้ ซึ่งแตกต่างจากแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงเมื่อเร็ว ๆ นี้ในสุลาเวสี น้ำท่วมในครั้งนี้เกิดจากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่น่าจะสามารถป้องกันได้โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังคงออกใบอนุญาตให้กับบริษัทต่าง ๆ ตามอำเภอใจ ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ลุ่มน้ำของเกาะบอร์เนียวถูกทำลาย ด้วยความที่มีป่าปกคลุมน้อยมาก กาลิมันตันใต้จึงมีความเสี่ยงสูงต่อน้ำท่วมเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมกราคม ฝนตกหนักทำให้เกิดดินถล่มและทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในอย่างน้อย 10 อำเภอ มีผู้เสียชีวิต 20 คนและส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 300,000 คนตามรายงานล่าสุดของสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ที่เพิ่งไปเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยระบุว่า เหตุการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยร้ายแรงบนเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี

ผู้หญิงคนหนึ่งเดินบนซากปรักหักพังของตลาดฮานทกาน (Hantakan market) ที่ถูกทำลายจากน้ำท่วมฉับพลันที่หมู่บ้านอลัท เมืองฮานทกาน เขตฮูลู สุไหง เตงกา จังหวัดกาลิมันตันใต้ เขตฮูลู สุไหง เตงกา ยังคงถูกตัดขาดจากความช่วยเหลือเนื่องจากถนนทางเข้าถูกทำลาย น้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกหนักตามฤดูกาลและการแผ้วถางพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับปาล์มน้ำมันและการขุดเจาะถ่านหินในกาลิมันตันใต้ ส่งผลให้ระดับน้ำสูงถึง 2 เมตร ท่วมบ้านเรือนหลายร้อยหลัง เป็นผลให้ประชาชนหลายพันคนต้องหนีออกจากบ้านและหาที่พักพิงบนที่สูง © Iman Satria / Greenpeace

คำแถลงนี้เป็นการเล่าเรื่องที่ชวนสับสน ซึ่งรัฐบาลมักใช้เพื่อหลีกหนีความรับผิดชอบจากไฟป่าและน้ำท่วม เห็นได้ชัดว่าการตำหนิสภาพอากาศนั้นสะดวกกว่าการตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นบนเกาะบอร์เนียว ไม่ใส่ใจเลยว่าบริษัทจำนวนมากที่ดำเนินงานบนเกาะบอร์เนียวไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเลยสักนิด และมักจะหาประโยชน์จากการแปลงที่ดินและป่าไม้ของพื้นที่ สิ่งสำคัญก็คือ สังเกตได้ว่าใบอนุญาตสัมปทานน้ำมันปาล์มและเหมืองแร่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมรุนแรง

จากเรื่องทั้งหมดนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียเลือกที่จะเพิกเฉยต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมแม้ว่าเกาะบอร์เนียวจะมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ [1]

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือรัฐบาลล้มเหลวในการวางแผนเชิงพื้นที่ตลอดจนนโยบายการปกป้องป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้บริษัทต่าง ๆ เข้าไปหาประโยชน์จากสถานการณ์นี้

อาสาสมัครอพยพเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในหมู่บ้านสุไหงรายา เขตบันจาร์ ในจังหวัดกาลิมันตันใต้ น้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกหนักตามฤดูกาลและการแผ้วถางพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับปาล์มน้ำมันและการขุดเจาะถ่านหินในกาลิมันตันใต้ ส่งผลให้ระดับน้ำสูงถึง 2 เมตร ท่วมบ้านเรือนหลายร้อยหลัง เป็นผลให้ประชาชนหลายพันคนต้องหนีออกจากบ้านและหาที่พักพิงบนที่สูง © Putra / Greenpeace

ผลประโยชน์ของอำนาจที่กระจุกตัวที่คนบางกลุ่มทำให้การทำงานของรัฐอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดจากการลิดรอนสิทธิของประชาชน กล่าวคือสิทธิในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและสิทธิในระบอบประชาธิปไตย น้ำท่วมเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลออกนโยบายที่ขัดแย้งกัน โดยมีมติเห็นชอบอนุมัติกฎหมายเหมืองแร่และให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการเหมืองแร่ [2]

กฎหมายไม่เป็นธรรมฉบับใหม่ หรือ Omnibus Law ที่ถูกอนุมัติผ่านอย่างรวดเร็วโดยรัฐบาล ซึ่งได้ลบบทบัญญัติมากมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตอนนี้ทำให้เกาะบอร์เนียวต้องเสี่ยงเผชิญกับภัยพิบัติในอนาคต [3] สิ่งที่น่าตกใจที่สุดคือการยกเลิกข้อกำหนดขั้นต่ำ 30 เปอร์เซ็นต์ที่จำเป็นต่อการปกป้องขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ลุ่มน้ำ สิ่งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่ามากขึ้นทั้งการอนุญาตให้ทำปาล์มน้ำมัน การขุดเหมืองและสัมปทานอื่น ๆ

ความจำเป็นในการฟื้นตัวอย่างเป็นมิตรและเป็นธรรมกับสิ่งแวดล้อม

ตลอดชีวิตของฉัน ฉันรณรงค์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและเกาะบอร์เนียวอันเป็นที่รักของฉันมาตลอด ในปี 2558 ฉันมีส่วนร่วมในการริเริ่มของผู้คนที่ยื่นฟ้องและชนะคดีต่อประธานาธิบดีโจโกวี และรัฐมนตรี 5 คนในข้อหาละเลยการจัดการไฟป่าและหมอกควัน แต่แค่นี้ยังไม่พอ เราต้องการคนจำนวนมากขึ้นเพื่อเฝ้าระวังและกดดันให้รัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ เปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อาศัยการทำลายธรรมชาติเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อุรังอุตังกำลังปีนเล่นบนต้นไม้ในเขตมูลนิธิช่วยเหลืออุรังอุตังบนเกาะบอร์เนียว (Borneo Orangutan Survival (BOS) Foundation) ใน Nyaru Menteng จังหวัดกาลิมันกลาง © Bjorn Vaugn / BOSF / Greenpeace

แม้จะมีการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ขอให้เรารวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อปกป้องเกาะบอร์เนียว เราต้องยืนหยัดร่วมกันเพื่อต่อต้านระบบที่เป็นภัยทำลายและไม่ยุติธรรมนี้ หากเราต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติและภาวะฉุกเฉินทางสภาพอากาศ

สุขภาพของมนุษย์และสุขภาพของโลกมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดและต้องจัดการร่วมกัน เราขอร้องให้ทั้งรัฐบาลอินโดนีเซียและภาคธุรกิจจัดลำดับความสำคัญของผู้คนและโลกในขณะที่พวกเขาปรับปรุงเศรษฐกิจและสังคมจากเหตุการณ์ โควิด-19 อินโดนีเซียต้องลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

เหนือสิ่งอื่นใด จะต้องให้ความสำคัญในการปกป้องป่าไม้ของชาวอินโดนีเซีย เปลี่ยนแนวทางการเกษตรในปัจจุบันและออกแบบเมืองของเราใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทำลายป่าไม้และพื้นที่ป่าพรุของเรา ความล้มเหลวในการทำเช่นนั้นจะส่งผลร้ายแรงไม่เพียงแค่อินโดนีเซียเท่านั้น แต่ส่งผลถึงส่วนที่อื่น ๆ ของโลกด้วย เราต้องปกป้องเกาะบอร์เนียวเพราะชีวิตของเราขึ้นอยู่กับที่นี่

Arie Rompas หัวหน้าทีมรณรงค์ป่าไม้ ใน กรีนพีซ อินโดนีเซีย