ในความพยายามที่จะจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศและลดก๊าซเรือนกระจก หลายเมืองทั่วยุโรปกำลังมีแผนที่จะส่งเสริมให้ประชาชนลดใช้รถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยการหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ เปลี่ยนมาปั่นจักรยานหรือเดินแทน

แล้วประเทศไหนกันล่ะที่กำลังเป็นผู้นำอยู่ตอนนี้? แล้วระดับคุณภาพอากาศดีขึ้นบ้างหรือไม่? และประเทศไหนที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ได้?

กรีนพีซเยอรมนีร่วมกับสถาบันวุฟแพร์ไทล์ (Wuppertal Institute) ได้เปิดตัวรายงาน “Living Moving Breathing (ความเป็นอยู่ การเดินทาง และลมหายใจ)” เพื่อตอบกับคำถามข้างต้น

ในรายงานชิ้นนี้ได้จัดลำดับเมืองใหญ่ 13 เมืองในยุโรปในประเด็นว่าพวกเขาทำอย่างไรในการจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนไปใช้ระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ และนี่คือ 5 อันดับเมืองในยุโรปที่ตอบโจทย์กับรายงานชิ้นนี้

5. เวียนนา

คุณภาพอากาศ: อันดับ 2 (คะแนนเสมอ)
ขนส่งสาธารณะ: อันดับ 2 (คะแนนเสมอ)
ความปลอดภัยของผู้ปั่นจักรยานและคนเดินทางเท้า: อันดับ 6
© Martin Ortner / Wikimedia

เมืองหลวงของออสเตรียที่มักจะติดอันดับหนึ่งในเมืองที่มีชีวิตชีวาที่สุดในโลกและด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ราคาเป็นมิตรคือเหตุผลที่ทำให้เมืองนี้อยู่ในอันดับ 5  ตั๋วรายปีที่สามารถใช้ในการเดินทางไปที่ไหนก็ได้ภายในตัวเมืองเพิ่งลดราคาลงมาอยู่ที่ 365 ยูโร (13,810 บาท) หากคำนวนแล้วการเดินทางจะตกอยู่ที่เพียงวันละ 1 ยูโร (ประมาณ 38 บาท) เท่านั้น

4. ซูริค

คุณภาพอากาศ: อันดับ 2 (คะแนนเสมอ)
ขนส่งสาธารณะ: อันดับ 1
ความปลอดภัยของผู้ปั่นจักรยานและคนเดินทางเท้า: อันดับ 5
© Manfred Morgner / Wikipedia

เมืองที่ใหญ่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์เช่นซูริค ซึ่งกว่าร้อยละ 40 มีการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ ด้วยส่วนแบ่งที่สูงจึงสะท้อนถึงการที่เมืองได้ลงทุนในระบบของรถไฟ รถราง และรถบัส แต่อย่างไรก็ตามยังมีบางส่วนที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของผู้ปั่นจักรยานและคนเดินถนนเนื่องจากยังมีจำนวนอุบัติเหตุที่ค่อนข้างสูง

3. ออสโล

คุณภาพอากาศ: อันดับ 1
ขนส่งสาธารณะ: อันดับ 10
ความปลอดภัยของผู้ปั่นจักรยานและคนเดินทางเท้า: อันดับ 1 (คะแนนเสมอ)
© Sykkel i Oslo 

หลายปีที่ผ่านมา เมืองหลวงของนอร์เวย์เมืองนี้ได้เดินหน้าเต็มขั้นในด้านอุตสาหกรรมจักรยานหรือการเปลี่ยนแปลงถนนจากเส้นรถยนต์ให้กลายเป็นถนนสำหรับจักรยาน ออสโลยังได้เริ่มทำเขตปลอดรถยนต์และเปลี่ยนลานจอดรถยนต์ให้กลายเป็นเลนสำหรับจักรยานอีกด้วย

2. อัมสเตอร์ดัม

คุณภาพอากาศ: อันดับ 6
ขนส่งสาธารณะ: อันดับ 13
ความปลอดภัยของผู้ปั่นจักรยานและคนเดินทางเท้า: อันดับ 1 (คะแนนเสมอ)
© Getty / funky-data

เมืองที่จำนวนรถจักรยานมากกว่าคน อัมสเตอร์ดัมมักจะถูกพูดถึงว่าเป็นเมืองหลวงแห่งจักรยาน แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ก่อนปีพ.ศ. 2513 รถยนต์ยังครอบครองเมืองนี้อยู่? การประท้วงได้เกิดขึ้นเนื่องจากจำนวนตัวเลขที่สูงของอุบัติเหตุที่ร้ายแรงถึงชีวิตจากรถยนต์บนท้องถนน นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เมืองนี้ได้ถูกปรับให้เป็นเมืองสำหรับจักรยานและการเดิน ใน 4 คน จะมีเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่มีรถยนต์ แต่เมืองยังคงมีความคืบหน้าในการลดมลพิษทางอากาศบนถนนที่มีการจราจรที่หนักที่สุด มีถนนบางแห่งยังคงละเมิดข้อจำกัดของสหภาพยุโรปว่าด้วยอากาศที่เป็นมลพิษ

1. โคเปนเฮเกน

คุณภาพอากาศ: อันดับ 2  (คะแนนเสมอ)
ขนส่งสาธารณะ: อันดับ 8
ความปลอดภัยของผู้ปั่นจักรยานและคนเดินทางเท้า: อันดับ 1 (คะแนนเสมอ)
© Kevin McElvaney / Greenpeace

และอันดับหนึ่งก็คือ โคเปนเฮเกน! เมืองที่มีเลนจักรยานที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากประชาชน แม้ว่าเมืองนี้จะอยู่อันดับต้นๆในการกระตุ้นให้ประชาชนเดินทางด้วยเท้าแต่ถึงกระนั้นโคเปนเฮเกนก็ถือว่ายังไม่เพอร์เฟ็ค โคเปนเฮเกนยังอยู่ในอันดับกลางๆ เมื่อพูดถึงเรื่องขนส่งมวลชน นั่นหมายความว่าเมืองนี้ยังสามารถส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์และเปลี่ยนมาใช้รถไฟและรถบัสได้อีก

และเมืองอื่นๆในยุโรปล่ะ?

เนื้อหาข้างล่างอาจจะทำให้คุณรู้สึกแย่เมื่ออ่าน

ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละปีจึงทำให้มีหลายเมืองไม่ปลอดภัยต่อผู้คนที่ปั่นจักรยาน โคเปนเฮเกนและอัมสเตอร์ดัมเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าเงื่อนไขของการขี่จักรยานที่ปลอดภัย เป็นสัดส่วนและสะดวกสบาย จะช่วยให้จำนวนคนที่ขี่จักรยานเพิ่มมากขึ้น มีงานศึกษาหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้ที่ขับขี่รถมอเตอร์ไซต์เห็นผู้คนที่เดินบนทางเท้าและคนปั่นจักรยาน พวกเขาจะขับขี่ด้วยความระมัดระวังมากขึ้น แต่เมื่อมีคนเดินหรือปั่นน้อยลง ผู้ที่ขับขี่จะคิดเอาเองว่าถนนนั้นเป็นของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ และสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับผู้ปั่นจักรยานและผู้เดิน

แม้ว่าเมืองห้าอันดับแรกที่กล่าวข้างต้นสามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ลอนดอน ปารีส เบอร์ลิน โรม บูดาเปสต์ มาดริด และมอสโกยังคงเดินตามหลัง คุณภาพอากาศอันเลวร้ายในหลายๆ เมืองแย่จนที่ว่าสหภาพยุโรปต้องตรวจสอบมาตรการของรัฐบาลบางแห่งเนื่องจากไม่มีความกระตีอรือร้นในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ

กรณีข้างต้นชี้ให้เห็นว่ามีอีกเท่าไหร่ที่จำเป็นต้องทำมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตมลพิษทางอากาศ เราหวังว่ารายงานชิ้นนี้สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาของผู้นำหรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในแต่ละเมืองเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในอนาคต

Richard Casson ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสื่อออนไลน์ โครงการมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ สหราชอาณาจักร
บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่