จากการอยากสืบสานต่อเจตนารมย์ของคุณพ่อที่รักในการปลูกผักไร้สารเคมี  คุณสาว – ดวงเด่น เตียวิเศษ ได้เปลี่ยนพื้นที่รกร้างที่เป็นสมบัติของคุณแม่ให้กลายมาเป็นไร่เกษตรอินทรีย์ขนาด 3 ไร่ ที่มีพืชผักและผลไม้นานาชนิด รวมถึงยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการทำผลิตภัณฑ์อินทรีย์ส่งไปทั่วเกาะพะงัน เราขอชวนคุณร่วมเดินลัดเลาะไร่เตียวิเศษพร้อมกับฟังเรื่องราวของไร่อินทรีย์ไปพร้อมกับเรา 

คุณสาว – ดวงเด่น เตียวิเศษ และคุณหนุ่ม – สุรินทร์ จันทร์สนิิท เจ้าของไร่

ปลูกผักเยอะเกินไปจนต้องเอาไปขาย

ที่ตรงนี้ก่อนหน้านี้เป็นที่รกร้าง เมื่อปี 2553 ตอนนั้นเราแต่งงาน แม่ก็เลยให้ที่จำนวน 3 ไร่นี้กับเรามาปลูกเป็นเรือนหอ เนื่องจากที่ตรงนี้มันเป็นที่รับน้ำ ทุกปี ๆ น้ำจะลงมาจากบนเขาแทนที่เราจะสร้างกั้นน้ำ เราก็อยู่ร่วมกับน้ำด้วยการทำพื้นดินให้เป็นร่องน้ำเพื่อเราจะใช้น้ำมารดผักที่ปลูก ตอนแรกเราไม่มีไอเดียเรื่องไร่ผักอะไรอย่างนี้อยู่ในหัวเลย เราอยากปลูกผักที่ไร้สารเคมีไว้กินเองเพื่อลดรายจ่าย ให้ลูกน้องของแฟนเราได้กิน พืชที่ปลูกตอนนั้นก็ปลูกจำพวกผักสวนครัว ข่า ตะไคร้ มะเขือ กะเพรา อะไรที่ปลูกเพื่อนำมาประกอบอาหารได้เราก็ปลูกไป มีอยู่วันหนึ่งลูกน้องที่อยู่ด้วยบอกกับเราว่า เมื่อวานกินแกงเขียวหวานมะเขือ วันนี้ก็แกงมะเขืออีกแล้ว นี่เป็นจุดที่เราเห็นว่า เออ เราปลูกเยอะไปแล้วจริง ๆ (หัวเราะ)

พอหลังจากได้ยินลูกน้องบ่นวันนั้น เราก็เลยเริ่มจะเอาผักที่เราปลูกออกไปขาย แรก ๆ เราให้ลูกน้องไปขายก่อนเพราะตอนนั้นเราก็ยังไม่ค่อยรู้จักคนมาก มีวันหนึ่งที่ลูกน้องไม่ว่าง เราเลยได้ลองมาเริ่มขายเอง พอขาย ๆ ไปก็พบว่ามันสนุกดึ พอสนุกเราก็ปลูกเพิ่ม เราขายไปเรื่อย ๆ ทั่วเกาะพะงันออกจากบ้านตั้งแต่ 4 โมงเย็นกลับมาถึงบ้าน 1 ทุ่ม

ไร่อินทรีย์ขนาด 3 ไร่ที่อุดมไปด้วยพืชผักละผลไม้
บ่อปลาประจำไร่ที่คุณสาวเลี้ยงปลาไว้หลายสายพันธุ์

เริ่มเข้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์ 

ช่วงที่เราขายผักเรามีโอกาสได้ไปเจอกับเจ้าของโรงแรมที่กำลังหาคนทำไร่เกษตรอินทรีย์เข้ามาร่วมอบรมเพื่อทำเป็นโครงการทำสินค้าอินทรีย์โดยทำร่วมกับกระทรวงพาณิชย์  เราได้เข้าไปอบรมกับอาจารย์วิฑูรย์ ปัญญากุล การทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) เราได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะจากตรงนี้ หลังจากอบรมเสร็จเขาก็มีการตั้งกลุ่มอินทรีย์บนเกาะพะงันขึ้นมา เราได้รับหน้าที่เป็นเลขาของกลุ่ม แต่ด้วยความที่ว่าเราไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับระบบราชการ ระบบการเงิน เราอยากทำของเราแบบสบาย ๆ เราเลยบอกว่าเราขอแค่ส่งสินค้าของเรามาขายก็พอ  ในช่วงที่ส่งของให้กับกลุ่มอินทรีย์เราเห็นโอกาสที่จะเอาพืชผลในไร่รวมถึงของสมาชิกมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ๆ โดยเริ่มจากน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า แชมพู สบู่ ฯลฯ และตรงนี้เรายังได้รับการสนับสนุนจากสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ จากไร่เตียวิเศษ

พอช่วงปี พ.ศ. 2559 กลุ่มที่ก่อตั้งมาเริ่ม ๆ แตกตัวพร้อมกับทางกลุ่มจ่ายเงินให้กับสินค้าเราไม่เป็นเวลา เราเลยตัดสินใจออกมาทำของตัวเอง นี่คือจุดเริ่มต้นของไร่เตียวิเศษ และตอนนี้เรายังได้เป็นประธานของกลุ่มเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมของเกาะพะงัน  

ซุ้่มเล็ก ๆ ที่คุณสาวจะนำผลิตภัณฑ์อินทรีย์จากไร่ของสมาชิกมาวางขาย

ไร่อินทรีย์ดีต่อใจ ร่างกาย และสิ่งแวดล้อม 

ไร่ของเราไม่ได้แค่ตอบโจทย์เรื่องการกินพืชผักไร้สารเคมีเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก อย่างแรกเลยไร่ของเราทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลายอย่างไว้รวมกันให้พืชช่วยรักษาและเกื้อกูลกันเอง เช่นเราจะปลูกตะไคร้หอมใกล้ ๆ กับพวกผลไม้เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช แม้ว่ามันจะช่วยไล่ไม่ได้เต็มร้อย แต่อย่างน้อยเราได้สร้างความสมดุลแบบธรรชาติและลดการระบาดของแมลงศัตรูพืช อย่างที่สองคือเมื่อเราไม่ได้ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง นั่นหมายถึงดินที่ไร่เราจะมีความอุดมสมบูรณ์มีแมลงช่วยพรวนดินสร้างออกซิเจนให้กับดิน นอกจากนี้จะไม่มีการรั่วไหลของสารเคมีลงสู่ทะเล 

นาข้าวไรซ์เบอร์รี่

และสุดท้ายเราพูดได้เต็มปากเลยว่าทุกอย่างในไร่ของเรานำมาหมุนเวียนใช้หมด ทุกอย่างไม่ทิ้ง ไม่ก่อให้เกิดขยะ (zero waste) ยกตัวอย่างเช่นมะพร้าวที่เรานำมาทำน้ำมัน เศษกะลาที่เหลือเราเอาไปเผาถ่านเพื่อทำน้ำส้มควันไม้ ส่วนเปลือกมะพร้าวเราก็รวบรวมกับใบไม้ผลไม้ที่หล่นที่ไร่เอาไปใส่ในเล้าไก่เพื่อทำปุ๋ยหมัก บางทีเราก็ขอเศษอาหารจากลูกค้านำมาหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ในไร่ของเรา 

ส่วนลูกค้าของเราก็ช่วยเราลดขยะได้เยอะ อย่างเช่นแผงไข่ไก่ที่ลูกค้าใช้วนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมันจะใช้ไม่ได้ หรือบางคนก็เอาภาชนะของตัวเองมาใส่เวลามาซื้อผักที่ไร่

ไข่ไก่ สินค้ายอดฮิตของไร่

ก่อนหน้านี้เราเคยเลี้ยงเป็ดเพราะเราได้เข้าร่วมโครงการของรัฐบาลที่อยากให้เกษตรกรมีรายได้ เราก็เสนอโครงการไปว่าอยากทำอะไร เราเลยเลือกเป็นโครงการเลี้ยงเป็ดไข่และผักสลัด ตอนเลี้ยงเป็ดมันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะว่าเป็ดมันร้องดัง กินจุ เราเลี้ยงมา 2 ปี เราก็เลิก และหันมาเลี้ยงไก่แทน เพราะไก่กินได้ทุกอย่าง ทั้งวัชพืช ผัก ผลไม้  และอีกอย่างเขาช่วยเราทำปุ๋ยหมักได้ อะไรที่เป็ดไม่กิน ไก่กินหมดทุกอย่าง เราเอาผักตบชวาไปให้ไก่กิน ลูกค้าก็แปลกใจว่าทำไมไก่เรากินผักตบชวา แต่รู้ไหมว่าผักตบชวาไฟเบอร์เยอะ พอไข่ออกมาแล้วไข่แดงจะเป็นสีส้ม เราเลี้ยงไก่นี่ก็เหมือนกับมีแรงงานช่วยทำปุ๋ย ช่วยลดขยะจากผักผลไม้ที่เสียหรือเน่า

ไข่ไก่อินทรีย์ที่คนต้องรอคิวจับจอง ดูได้จากรายชื่อบนกระดาน

ไก่ของเราไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ เลี้ยงแบบธรรมชาติ ให้กินหยวกกล้วยผสมน้ำหมัก และน้ำผสมน้ำส้มควันไม้ให้กิน ช่วยให้ท้องไม่เสีย ขี้ไม่เหม็น ฟาร์มไก่ของเราจะไม่มีกลิ่นเลย รวมถึงไข่ไก่ของเราจะไม่มีกลิ่นคาว ไข่แดงลูกค้ากินดิบได้ สินค้านี้ต้องจองนะเพราะขายดีมาก เป็นสินค้ายอดฮิต ลูกค้าบอกว่าพอกินไข่ที่ฟาร์มเราแล้วเขากินไข่ที่อื่นไม่ได้เลย 

คุณสาวพร้อมผู้ช่วยสร้างปุ๋ยและสร้างรายได้

สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความรู้

ตอนช่วงที่สถานการณ์โควิดรุนแรง มีชาวต่างชาติที่อาศัยหรือติดค้างอยู่บนเกาะหลายคนไม่มีกิจกรรมทำ ทางกรมพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เกาะพะงันเห็นว่าไร่ของเรามีโอกาสที่จะเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ เขาเลยมาติดต่อว่าช่วยสอนชาวต่างชาติหน่อยได้ไหม ตอนนั้นเราก็คิดว่าไม่เสียหายลองดูก็แล้วกัน เราเลยสอนทุกอย่าง สอนปลูกผัก สอนทำผลิตภัณฑ์ที่เราทำขาย ตอนนั้นเราสอนฟรี แถมมีขนมให้กินอีกต่างหาก (หัวเราะ) พอหลังจากการสอนจบมีผู้หญิงชาวต่างชาติมาบอกกับเราว่า คุณน่าจะทำจริง ๆ จัง ๆ ไปเลย ถ้าคุณทำฉันหาลูกค้าให้คุณได้ เราเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะกระจายความรู้เรื่องอินทรีย์เราก็เลยตอบตกลงพร้อมชวนเขามาอยู่ที่บ้านเพื่อช่วยวางแผนเรื่องกิจกรรมเวิร์กช็อป ผลตอบรับถือว่าดีมาก ๆ มีผลิตภัณฑ์หลายตัวที่เราได้พัฒนาในช่วงที่ทำเวิร์กช็อป 

ความมั่นคงทางอาหารสร้างได้ 

เราคิดว่าการปลูกพืชผักไว้กินเอง ลองคิดดูว่าหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาเรามีคลังอาหารของเราไว้กินเอง อย่างเช่นตอนนี้เลยช่วงโควิด เราไม่จำเป็นต้องไปซื้อพืชผักที่ห้าง ต้องไปอยู่ในที่ ๆ คนเยอะ ๆ และที่สำคัญพืชผักในห้างเราไม่รู้เลยว่ากว่าจะมาเป็นผักที่วางขายบนชั้นมันต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง เราไม่รู้เลยว่าเขาปลูกด้วยวิธีไหน ถึงแม้ว่าจะมีตรารับรองบนผลิตภัณฑ์ ถามหน่อยว่าเราเชื่อได้ไหม ปลูกพืชกินเองดีสุดแล้วเชื่อพี่ ที่ไร่เรานี่ก่อนลูกค้าจะซื้อเขาต้องขอดูเลยนะว่าเราเลี้ยงอย่างไร ปลูกอย่างไร เราก็ตัดสด ๆ ขายให้เขาไปเลย นี่แหละมั่นใจได้ 

ผักสลัดสด ๆ ที่ตัดออกจากกระถางมั่นใจได้ว่าไร้สารเคมีแน่นอน

คุณสาวทิ้งท้ายไว้กับเราก่อนจบบทสนทนาว่า “พี่อยากเห็นคนบนเกาะพะงันและทุกคนปลูกผักแบบไม่มีสารเคมี แม้ว่าอาจจะใช้เวลานานกว่าพืชผลจะออก แต่ท้ายที่สุดแล้วมันคุ้มมาก ๆ ลองเริ่มปลูกจากแปลงเล็ก ๆ ที่บ้านก่อนก็ได้”

ใครที่สนใจทำความรู้จักกับไร่เตียวิเศษเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่เพจ Raitiaviset Organic farm and Organic product