เหตุการณ์ปลาฉลามกัดนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศบริเวณหาดทรายน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามในสังคมไทยเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับนักล่าแห่งมหาสมุทรอย่างฉลาม รวมไปถึงแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ใช้ฉลามเป็นตัวชูโรง

จากลักษณะรอยกัดที่คล้ายกับฟันเลื่อย 2 แถว ประกอบกับภาพถ่ายฉลามที่พบเห็นค่อนข้างบ่อยบริเวณวัดถ้ำเขาเต่า หาดทรายน้อย ทำให้นักวิชาการยืนยันได้ว่าฉลามที่กัดนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์คนดังกล่าวน่าจะเป็นฉลามหัวบาตร ซึ่งโดยธรรมชาติมีพฤติกรรมค่อนข้างดุร้ายกว่าชนิดอื่นในขณะที่หิว หรือในช่วงฤดูผสมพันธุ์  อย่างไรก็ตามการจู่โจมดังกล่าวไม่น่าจะเป็นการกัดเพื่อล่าเหยื่อ แต่เป็นเพียงการงับเพื่อทดสอบว่าเป็นอาหารตามธรรมชาติหรือไม่ เมื่อพบว่าไม่ใช่จึงปล่อย

ฉลามหัวบาตร (Bull Shark: Carcharhinus leucas) เป็นฉลามที่มีรูปร่างอ้วนป้อม หัวกลมป้านมีขนาดใหญ่ ครีบหลังเป็นกระโดงรูปสามเหลี่ยมมุมป้าน เมื่อโตเต็มที่อาจมีความยาวได้ถึง 3.5 เมตร น้ำหนักหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม ฉลามหัวบาตรเป็นปลาฉลามชนิดที่พบอยู่ในทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก และสามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดได้ด้วย จึงมีรายงานการพบในแม่น้ำขนาดใหญ่เช่นแม่น้ำแม่กลอง หรือแม่น้ำบางปะกง ฉลามหัวบาตร เป็นปลานักล่าที่เก่งกาจ สามารถกินปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลากระเบน หรือแม้แต่ฉลามด้วยกันเองได้

ฉลามหัวบาตรจัดอยู่ในวงศ์ฉลามหูดำ (Carcharhinidae) ซึ่งเป็นกลุ่มปลาฉลามที่มีความหลากหลายที่สุดในประเทศไทย คือมีทั้งหมด 9 สกุลและมีจำนวนชนิดมากถึง 29 ชนิดคิดเป็นจำนวนชนิดเกือบร้อยละ 40 ของฉลาม 76 ชนิดที่พบในทะเลไทยและน่านน้ำใกล้เคียง

ปลาฉลามชนิดอื่นๆที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในวงศ์ Carcharhinidae ได้แก่ ฉลามหูดำ (Spottail Shark: C. sorrah) ซึ่งเป็นชนิดที่พบถูกจับค่อนข้างบ่อยในการประมง ฉลามครีบดำ (Blacktip Reef Shark: C. melanopterus) ซึ่งเป็นขวัญใจนักดำน้ำสามารถพบได้บ่อยในแนวปะการัง ฉลามครีบดำใหญ่หรือฉลามจ้าวมัน (Grey Reef Shark: C. amblyrhynchos) พบได้บ่อยเป็นฝูงขนาดเล็กอยู่ประจำตามแนวปะการัง และฉลามครีบขาว (Whitetip Reef Shark: Triaenodon obesus) ซึ่งเป็นฉลามอีกชนิดที่พบได้ในแนวปะการัง

สิ่งที่น่าสนใจหลังเกิดเหตุการณ์ปลาฉลามกัดนักท่องเที่ยวคือกระแสสังคมที่มีความตื่นตัวเกี่ยวกับฉลาม ซึ่งในช่วงแรกนักอนุรักษ์มีความกังวลว่าจะเกิดความหวาดกลัวและอาจเรียกร้องให้จับฉลามออกจากพื้นที่เพราะกลัวส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว แต่หลังจากที่มีการให้ข้อมูลระยะหนึ่งพบว่าเสียงส่วนใหญ่ในสังคม  รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกรมประมงต่างมีความเห็นในลักษณะเดียวกันว่า ไม่ควรจับฉลามออกมาจากทะเล เพราะฉลามเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของท้องทะเลบริเวณดังกล่าว การพบเห็นฉลามนับเป็นเรื่องที่น่าดีใจ จึงควรมีการติดป้ายประชาสัมพันธ์เตือนนักท่องเที่ยว และทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมให้มีข้อมูลเชิงลึกสำหรับการจัดการประชากรฉลามกลุ่มนี้ต่อไป

นอกจากนี้ยังมีบางส่วนเห็นว่าน่าจะใช้โอกาสดังกล่าวประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ฉลามและประชาสัมพันธ์ให้สถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งดูฉลามในธรรมชาติไปเลย

หากลองดูงานวิจัยที่เก็บข้อมูลใน 45 ประเทศทั่วโลกพบว่าในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ฉลาม สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและเพิ่มมูลค่าให้กับแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ได้อย่างมาก การสำรวจเมื่อปี 2556 ประเมินว่าการท่องเที่ยวดำน้ำดูฉลามทั่วโลกสามารถสร้างรายได้สูงถึง 314 ล้านเหรียญ หรือกกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และยังเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ภูมิภาคที่เริ่มประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ประชากรฉลาม เช่น ออสเตรเลียและคาริบเบียน มีธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เติบโตอย่างรวดเร็วตามไปด้วย นักวิจัยคาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการดูฉลามจะสูงขึ้นถึงสองเท่า หรือมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ภายใน 20 ปีข้างหน้า

Photo: Sustainable Shark Diving

 

ประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆอย่างปาเลา มีรายได้จากการท่องเที่ยวดูฉลามถึง 18 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 700 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 8% ของ GDP ของประเทศ​ ทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นปีละเกือบ 40 ล้านบาท และรัฐบาลเก็บภาษีได้ราวๆ 50 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่ามูลค่าของฉลามเป็นๆที่อยู่ในทะเลมีค่ามากกว่าการจับฉลามมาขายหรือบริโภคแบบเดิมมากมาย และเอาเข้าจริงๆ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญหลายแห่งของประเทศไทยก็สามารถพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้ หัวหิน ปราณบุรี เกาะเต่า เกาะพะงัน เกาะลันตา เกาะพีพี เกาะหลีเป๊ะ เกาะช้าง ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

หากเราสามารถพัฒนางานอนุรักษ์ทะเลให้เข้มแข็ง ฟื้นฟูประชากรปลาชนิดต่างๆ และปลาฉลามให้กลับฟื้นคืนมา แนวทางดังกล่าวย่อมจะยิ่งสร้างจุดเด่นให้กับแหล่งท่องเที่ยว พร้อมๆไปกับการฟื้นสมดุลของทะเลไทยให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง
Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม