“วันนี้กินอะไรดี? คิดไม่ออกแฮะ งั้นก็ข้าวกล่องสำเร็จรูปละกัน”

ปัญหาพื้นฐานที่หลายคนพบเจอในชีวิตประจำวัน ช่วงเวลาเร่งรีบในตอนเช้าหรือมื้อเย็นที่คิดไม่ตกว่าทานอะไรดี ข้าวกล่องสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตนับเป็นทางเลือกหนึ่งในใจของใครหลายคนที่จะทำให้ปัญหานี้หมดไป แต่รู้หรือไม่ อาหารพร้อมทานที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือ อาหาร ready to eat สร้างขยะไว้มากมายขนาดไหน ไต้หวันมีซูเปอร์มาร์เก็ตเยอะเป็นอันดับสองของโลก จุดเด่นของซูเปอร์มาเก็ตไต้หวันคือ ข้าวกล่องหรืออาหารเรียงรายหลากหลายอยู่ในตู้แช่พร้อมทานที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น มีรายงานว่าในแต่ละปีซูเปอร์มาร์เก็ตและตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติในไต้หวันมีขยะแบบใช้แล้วทิ้งถึง 1.5 พันล้านชิ้น  

พอเห็นจำนวนขยะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้เราเพียงไม่กี่นาทีมากขนาดนี้ คุณคิดว่าการลดขยะพลาสติกในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นเป็นไปได้หรือไม่? ความสะดวกสบายและการรักษาสิ่งแวดล้อมสามารถทำไปพร้อม ๆ กันได้จริงหรือ? 

ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในไต้หวันเริ่มมีนโนยายการลดพลาสติกและขยะให้เป็นศูนย์ เพื่อตอบสนองปัญหานี้ ร้านสะดวกซื้อได้ทดลองเปิดตัวบริการเช่าแก้วสำหรับเครื่องดื่มอย่างชาหรือกาแฟ ในมณฑลเมืองและย่านธุรกิจต่าง ๆ ทั่วไต้หวันเช่น “เจิ้งซิ่งเป่ย(正興杯杯)” ในเขตการค้าเจิ้งซิงของไถหนาน “เป่ยเท่อเป่ย(杯特杯)” ในย่านการค้าท้องถิ่นของมณฑลซินจู๋และในมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ให้ผู้บริโภคสามารถเช่าแก้วเครื่องดื่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งยังเป็นการช่วยลดขยะไปในตัว 

โดยวิธีการเช่าหรือยืมแก้วนั้นทำได้ง่ายมากเพียงแค่สแกน QR Code จากเครื่องยืมแก้ว และเลือกฟังก์ชันยืมแก้ว กรอกหมายเลขของแก้วที่เราต้องการยืม บริการยืมแก้วนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้น พนักงานก็จะเตรียมเครื่องดื่มให้ลูกค้าพร้อมกับส่วนลดสำหรับการลดใช้แก้วพลาสติก หลังจากที่ลูกค้าใช้แก้วเสร็จแล้ว ให้นำแก้วไปคืนที่เครื่องคืนแก้วหรือจุดคืนแก้วที่กำหนด แล้วร้านจะนำไปทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง

เช่นเดียวกับการรับประทานอาหาร ที่ถึงแม้ว่า การยืมภาชนะอาจจะดูเป็นไปได้ยากสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ร้านสะดวกซื้ออย่าง Family Mart ในอาคารไทเป 101 ได้เปิดตัวเบนโตะสดที่ขายในภาชนะที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล หลังจากลูกค้ารับประทานอาหารเสร็จแล้วเรียบร้อย ทางร้านจะรวบรวมและส่งคืนไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อทำความสะอาด และนำมาใส่อาหารเพื่อวางขายอีกครั้ง โดยทาง Family Mart พยายามเชิญชวนให้ผู้บริโภคตระหนักและเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการใช้ซ้ำ และนอกจากนี้ บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่อย่าง foodpanda ในไถหนานยังร่วมมือกับร้านค้าต่าง ๆ หันมาใช้กล่องบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เพื่อส่งเสริมแนวคิดการกลับมาใช้ซ้ำ

ถึงแม้จะดูเป็นเรื่องยากในการพยายามลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ทางผู้ประกอบการบนเกาะไต้หวันยังคงให้ความสนใจและเข้าร่วมแนวคิดนี้มากขึ้น จะเห็นได้จากการเพิ่มจุดบริการให้ยืมแก้ว รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการลดขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้

การใช้ซ้ำเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าธุรกิจค้าปลีกมีบทบาทสำคัญในการลดปริมาณพลาสติกตราบใดที่อุตสาหกรรมค้าปลีกเล็งเห็นถึงปัญหาและพยายามจะแก้ไขปัญหาก็จะสามารถเปลี่ยนจากผู้ก่อมลพิษมาเป็นผู้ที่ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น กรีนพีซจะยังคงผลักดันในประเด็นมลพิษพลาสติกและส่งเสริมการใช้ซ้ำให้มากขึ้นเพื่อลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และทำให้โลกของเราก้าวสู่สังคมปลอดพลาสติกในอนาคต

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 มีผู้เข้าร่วมลงชื่อมากกว่า 25,000 คนเรียกร้องให้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีกหลายแห่งในไต้หวันลดปริมาณพลาสติกลงโดยคาดว่าในปี ​​2564 นี้จะประกาศเป้าหมายเรื่องแผนการลดจำนวนขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กรีนพีซ ยังจัดเวทีเสวนาเรื่องแนวทางการลดพลาสติกเพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ เข้าใจว่ารูปแบบการนำกลับมาใช้ซ้ำนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้จริง ทั้งในแง่ของความสะดวกสบายในการใช้งานและความปลอดภัยต่อสุขภาพเมื่อนำภาชนะกลับมาใช้ซ้ำซึ่งเป็น 2 ปัจจัยหลักที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมค้าปลีก รวมถึงยังพูดถึงเรื่องการส่งเสริมการขาย การบรรจุหีบห่อและยังได้เชิญเจ้าของแบรนด์และผู้ประกอบการหลายรายร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการทำธุรกิจที่มุ่งสู่การปลอดพลาสติกในอนาคต

เราเริ่มเห็นซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยบางแห่งเพิ่มพื้นที่ให้แก่ระบบรีฟิล ที่ผู้บริโภคสามารถนำภาชนะใช้ซ้ำมาซื้อผลิตภัณฑ์ในร้านได้ โดยผู้บริโภคไม่ต้องสร้างบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง นับเป็นจุดเริ่มต้นและสัญญาณที่ดีที่ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่พยายามสร้างทางเลือกลดพลาสติกให้แก่ผู้บริโภค เราหวังว่ากระแสตื่นตัวนี้จะเป็นที่นิยม และเป็นต้นแบบให้กับซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีกต่าง ร้านสะดวกซื้อ ต่าง ๆ นำไปใช้ในพื้นที่ขายของตนเอง ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมปลอดพลาสติกได้ในอนาคต

แปลและเรียบเรียงจากบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กรีนพีซ เอเชียตะวันออก สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่