ปีพ.ศ.2563 ทั่วโลกต้องพบกับความท้าทายการสูญเสียครั้งใหญ่จากโรคระบาด และวัคซีนถือเป็นสัญญาณของการฟื้นฟูโลกจากภาวะวิกฤตของไวรัสโควิด-19 แต่ในขณะเดียวกันภาวะฉุกเฉินของสภาพภูมิอากาศยังคงมีผลต่อเนื่องซึ่งคุกคามอนาคตของเราและในคนรุ่นต่อ ๆ ไป ตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมในจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ไปจนถึงคลื่นความร้อนที่แผ่กระจายทั่วภูมิภาคในช่วงฤดูร้อน เราจำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นและความเร่งด่วนในการต่อสู้กับต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้เหมือนกับที่เราพยายามต่อสู้กับไวรัส ณ ขณะนี้ 

ทีมวิจัยของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกได้เก็บรวบรวมเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather events)ทั่วทั้งภูมิภาคที่เกิดขึ้นในปี 2563 ดังนี้

ฤดูมรสุมที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลี

ช่วงฤดูร้อนปีพ.ศ.2563 เกาหลีใต้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ซึ่งเป็นฤดูมรสุมที่ยาวนานที่สุดที่เคยมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ฤดูมรสุมเกิดตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนจนถึงสิงหาคม ซึ่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สวนสาธารณะและท้องถนนเกิดเหตุน้ำท่วมข้าง ๆ แม่น้ำฮัน ในกรุงโซลเนื่องจากฝนตกหนักกินเวลานานกว่า 54วัน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พ.ศ.2563 © Sungwoo Lee / Greenpeace

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจีน

จีนเองก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ในเดือนกรกฎาคม ปริมาณน้ำฝนในลุ่มแม่น้ำแยงซีมีปริมาณสูงทำลายสถิติที่ 298 มิลลิเมตร (สูงกว่าค่าเฉลี่ย 64%) สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนกว่า 38ล้านคน และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเกือบ หนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สะพานหินสายรุ้งในเมืองอู่หยวน มณฑลเจียงซี ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา  © Dai Jimin / Greenpeace

พายุไต้ฝุ่นที่มีจำนวนและความรุนแรงเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่

จำนวนพายุไต้ฝุ่นที่พัดทำลายเมืองโตเกียวเพิ่มจำนวนขึ้น 50เปอร์เซ็นต์ในช่วง20ปีที่ผ่านมา พายุก็ยังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกได้รับอิทธิพลมาจากพายุไต้ฝุ่นอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่ารูปแบบของพายุเปลี่ยนแปลงไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนด้วยอุณหภูมิพื้นผิวทะเลที่สูงขึ้น ทั้งนี้ พายุไต้ฝุ่นยังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือจึงทำให้ประเทศญี่ปุ่นและจีนได้รับผลกระทบบ่อยขึ้น

ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวที่ร้ายแรงที่สุดใน22ปี

ด้วยแรงดันจากความร้อนและอุณหภูมิน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่และรุนแรงบริเวณรอบ ๆ เกาะ หน่วยงานสหรัฐอเมริกา องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติออกโรงเตือนว่า ในเดือนสิงหาคมปีนี้อาจเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวที่รุนแรงและมีแนวโน้มว่าจะทำให้อัตราการตายของปะการังเพิ่มสูง

ภาพปะการังฟอกขาวบริเวณนอกชายฝั่งเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ © Lion Yang / Greenpeace

อากาศร้อนทำลายสถิติ

ฤดูร้อนที่ผ่านมาเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ถูกบันทึกในสถิติอุณหภูมิที่สูงที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออก กรุงปักกิ่งเป็นเมืองที่มีอุณหภูมิสูงสุดก่อนที่อื่น ๆ ในขณะที่เกาหลีใต้มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 1 องศาเซลเซส ซึ่งเป็นค่าที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิที่เคยบันทึกไว้ ส่วนฮ่องกงประสบกับปัญหาอากาศร้อนมาก 43วัน ซึ่งมากกว่าจำนวนวันที่อุณหภูมิปกติเฉลี่ยรายปีถึง 32 วัน

ภาพเครื่องวัดอุณหภูมิในฮ่องกงวัดค่าได้ 25 องศาเซลเซียสในเดือนมกราคม ทั้ง ๆ ที่เป็นฤดูหนาว © Pak Chai Tse / Greenpeace

สภาพอากาศที่ผิดปกตินี้ไม่ได้ส่งผลแค่ขัดขวางความสะดวกสบายของเราแต่เป็นผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ ความล้มเหลวในการเพาะปลูก ปัญหาการอพยพและความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้บ่งบอกว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในช่วงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งทั่วโลกก็เริ่มตระหนักถึงประเด็นนี้มากขึ้น

ในปี 2563 ที่ผ่านมาเราได้รับข่าวดีเนื่องจาก3ประเทศยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียได้ให้คำมั่นสัญญาจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Nuetral) 100%  ภายในปี 2593 (สำหรับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้) และภายในปี 2603 (จีน)  นับว่าเป็นก้าวสำคัญของโลกเรา แต่ทว่าสิ่งที่เราต้องการคือทั้ง3ประเทศนี้จะต้องเป็นผู้นำที่มีความชัดเจนและมีแผนการที่ได้ผลจริงในระยะยาว แผนที่บ่งบอกว่าเราจะแก้ไขวิกฤตนี้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไรรวมถึงช่วงเวลาที่ชัดเจนสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100%

เยาวชนนักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศในฮ่องกงเข้าร่วมกับกรีนพีซเพื่อเรียกร้องการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ © Patrick Cho / Greenpeace

กรีนพีซเป็นหนึ่งในองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมสากลที่เริ่มทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยังเป็นหนึ่งในองค์กรที่ยังคงเคลื่อนไหวในปัจจุบัน ในขณะที่เรากำลังทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เราก็รู้สึกซาบซึ้งใจที่รู้ว่ายังมีผู้สนับสนุนอีกมากยังคงยืนหยัดเคียงข้างเรา สำหรับปี 2564 นี้เรามั่นใจว่าไม่เพียงแค่โลกจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิดไปได้ แต่เราจะต้องก้าวผ่านวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน

บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่

แปลโดย อลงกรณ์ ลัคนารจิต นักศึกษาฝึกงาน

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม