“เราอยากให้แนวคิดเรื่องการรีฟิลโด่งดังเหมือนฟูลมูนปาร์ตี้” คุณแฟร์ – เหมือนฝัน อินทร์ทอง เจ้าของร้าน Refilling ร้านรีฟิลเล็ก ๆ บนเกาะพะงันบอกกับผู้เขียนด้วยสายตาที่เป็นประกาย เธอเชื่อว่าการนำภาชนะของตนเองไปซื้อของแทนที่จะซื้อใหม่หรือเรียกง่าย ๆ ว่า รีฟิล (refill) จะช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้ โดยเฉพาะขยะจากสินค้าอุปโภค-บริโภค เราขอชวนคุณไปทำความรู้จักกับเธอพร้อมแนวคิดนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

จุดประกายของการเปิดร้านรีฟิล

แฟร์: ตอนนั้นช่วงตอนที่เราเรียน เราก็เล่นอินเทอร์เน็ตปกติแล้วบังเอิญไปเจอรูปร้านรีฟิลของต่างประเทศ รูปที่เห็นเป็นถังขนาดใหญ่ที่มีวัตถุดิบต่าง ๆ ใส่อยู่เต็ม แล้วมีคนเอาภาชนะของตนเองมาเติม เราก็สงสัยว่าเขาขายกันแบบนี้ได้ด้วยหรอ ขายแบบไม่มีขยะเลย หลังจากดูจบก็ไม่ได้คิดอะไรแต่เราก็ยังมีความชอบไอเดียร้านแบบนี้ หลังจากเรียนจบเราก็ได้ไปทำงานที่โรงแรม มันมีความรู้สึกกดดันมาก ทั้งลูกค้า ทั้งตัวงาน เราเลยตัดสินใจออกมาจากงาน และอีกอย่างเราอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง พอถึงเวลาที่เราต้องหางานและเงินแบบจริงจัง ความคิดตอนที่เราเห็นร้านรีฟิลได้ย้อนกลับมา เราก็เลยเอาไอเดียของร้านรีฟิลที่เราชอบมาทำให้เป็นจริง ก่อนที่จะเปิดร้านก็มีความสับสนเล็ก ๆ เหมือนกันว่าเราจะเปิดขายเป็นร้านสินค้าอินทรีย์หรือรีฟิลดี เพราะว่าคนบนเกาะก็สนใจเรื่องสินค้าอินทรีย์ แต่พอคิดดูดี ๆ เราเปิดรีฟิลดีกว่าเพราะชอบไอเดียเรื่องการลดขยะแบบนี้ ส่วนสินค้าอินทรีย์เราก็สามารถเอามาขายทีหลังก็ได้ 

ส่วนชื่อร้านทำไมชื่อร้านรีฟิลลิ่ง (Refilling)  ก่อนอื่นบอกเลยว่าเราเป็นคนไม่ค่อยเก่งภาษาอังกฤษ ตอนนั้นคิดได้แค่ว่าเราเปิดร้านรีฟิล (refill) แล้วถ้าคนกำลังเติมของก็ทำให้มันเป็นรีฟิลลิ่ง (refill+ing) ซะเลย เหมือนเป็นอีกนัยหนึ่งว่าให้ทุกคนลดการใช้พลาสติกด้วยการรีฟิลต่อไปเรื่อย ๆ 

เพราะชอบแยกขยะอีกหนึ่งเหตุผลที่มาเปิดร้าน

แฟร์: เราเพิ่งมารู้ว่าการแยกขยะคือการช่วยลดขยะเมื่อตอนเรียนนี่เอง  อาจจะเป็นเพราะว่าเราโตมากับการเห็นแม่เราแยกขยะที่บ้านอยู่แล้ว เราจึงไม่รู้สึกว่ามันแปลก มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ ที่บ้านของเรา แม่จะแยกเลยว่า กองนี้ต้องเป็นขวดแก้วอย่างเดียว กองนี้เป็นขยะพลาสติก ส่วนขยะเศษอาหารที่บ้านก็มีขุดหลุมไว้ เทไปได้เลยให้มันย่อยไปตามธรรมชาติ พอมีคนที่ผ่านไปมาหรือเพื่อนบ้านเอาขยะมาทิ้งแถวบ้านเราก็พยายามบอกว่าอย่าเอาเศษอาหารมาใส่ เราสงสารคนเก็บขยะ ไหนจะต้องเหนื่อยกับการเก็บขยะแล้วยังจะต้องมาทนดมกลิ่นเหม็นอีก จะพูดก็ได้ว่าด้วยเพราะการปลูกฝังจากที่บ้านและความชอบส่วนตัวเลยทำให้มาเปิดร้านนี้

หลังจากเปิดร้านเรามีมุมมองต่อขยะเปลี่ยนไป เรามองว่าขยะของคนอื่นยังเป็นของที่ยังใช้งานได้ เราก็เก็บมา ล้าง ทำความสะอาด และนำมาใช้ต่อที่ร้านสำหรับคนที่ลืมเอาภาชนะของตัวเองมาซื้อของที่ร้าน

การจัดการขยะบนเกาะพะงัน

แฟร์: เราเคยได้ยินข่าวว่าเกาะพะงันถูกยกเป็นให้เป็นเกาะต้นแบบของการจัดการขยะ แต่เราก็ยังไม่ค่อยได้ไปศึกษาเพิ่มเติมหลังจากที่เราได้ยินมา แต่เราคิดว่าก็อาจจะจริงเพราะคนที่นี่มีความรู้เรื่องการแยกขยะพอสมควร เนื่องจากหลายพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจโรงแรม บังกะโล ร้านอาหาร แน่นอนว่าขยะต้องเยอะ  หลายที่ที่เราเห็น เขาก็จะเอามาขยะมากอง ๆ แล้วแยกเป็นประเภท บางครั้งเรายังได้ยินชาวบ้านบ่นกันเลยว่า “มีคนไม่แยกขยะอีกแล้ว ทำไมไม่แยกเนี่ย” (หัวเราะ) เราได้ยินแล้วรู้สึกดีนะที่หลายคนบนเกาะสนใจเรื่องการแยกขยะ มันช่วยลดขยะที่จะไปที่หลุมฝังกลบได้เยอะเลย 

สิ่งที่เราอยากเห็นตอนนี้แบบด่วน ๆ เลยคือการลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจากผู้ประกอบการร้านค้าบนเกาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกขวดพลาสติกและหลอดพลาสติก เพราะว่าที่นี่คนชอบซื้อน้ำใส่ขวดพลาสติกกัน หรือชอบกินน้ำผลไม้ปั่น ตามข้างทางเราจะเห็นขยะที่เป็นขวดพลาสติกบ่อย ๆ หรือที่ดัง ๆ เลยก็ฟูลมูนปาร์ตี้ที่พอจบงานขยะจะเกลื่อนชายหาดและไหลลงไปสู่ทะเลได้  เราก็พยายามบอกพ่อค้าแม่ค้าที่นี่นะตอนไปกินข้าวหรือซื้อน้ำผลไม้ว่าลองใช้หลอดกระดาษสิ หรือลองให้ลูกค้าเอาขวดมาเติมน้ำเองสิ อะไรแบบนี้ 

ไม่ใช่แค่ลดขยะแต่ยังสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย

แฟร์: ตอนช่วงเปิดร้านแรก ๆ เรายังจับจุดไม่ถูกว่าจะขายอะไรดี พอดีที่บ้านแม่ปลูกขมิ้น เราก็เลยเอาขมิ้นมาเริ่มขายก่อน หลังจากนั้นก็มีถั่วต่าง ๆ  ผงสมุนไพร พอลูกค้ามาถามเรื่องผงสมุนไพรต่าง ๆ เราก็เริ่มหาข้อมูลเรื่องสรรพคุณของสมุนไพรไทย เช่น สมุนไพรใบบัวบก ขมิ้น ถ้าเอาผงมันมาป้ายก็ช่วยฆ่าเชื้อได้ ทำให้แผลให้แห้งเร็ว เราก็เริ่มสนุกกับมัน บางครั้งลูกค้าท้องอืด ท้องเฟ้อ ก็มาซื้อผงขมิ้นไปทาน สำหรับคนที่ไม่เคยทานก็ซื้อได้ในปริมาณน้อย ๆ ดีกว่าไปซื้อมาจากร้านขายยาเยอะถ้ากินไม่ได้ก็ทิ้งเป็นขยะอีก เรามีน้ำผึ้งเดือนห้าจากสวนของพ่อที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนเรียกผึ้ง พ่อแค่เอากล่องไปตั้งเอาไว้ถ้ามีผึ้งมาสร้างรัง พ่อก็จะเอาน้ำผึ้งมาให้เราขาย  พวกน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน เราก็ซื้อมาจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ของเกาะพะงัน แล้วก็มีแบรนด์ไทยต่าง ๆ ที่ไม่ได้อินทรีย์จ๋า แต่อย่างน้อยก็เป็นของที่มาจากธรรมชาติ โกโก้ที่ร้านเราก็ไปรับจากฟาร์มที่นครศรีธรรมราชที่เป็นธุรกิจของครอบครัวทำมาจะ 30 ปีแล้ว  เราพยายามสนับสนุนของท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด เราลดมลพิษจากการขนส่งและขยะที่เกิดจากการขนส่งได้

ความมั่นใจของลูกค้าต่อกระแสของไวรัสโควิด 

แฟร์: ในช่วงที่สถานการณ์โควิดแบบหนัก ๆ เราไม่เห็นความกังวลของลูกค้าว่าจะมีเชื้อโรคติดอยู่ที่บรรจุภัณฑ์นะ เพราะว่าส่วนหนึ่งบรรจุภัณฑ์ที่ลูกค้าเอามาส่วนใหญ่จะเป็นของลูกค้าเอง เราเชื่อว่าลูกค้าต้องล้างทุกซอกทุกมุมอยู่แล้วแหละ ส่วนร้านเราก็มีมาตรการไม่ว่าจะเป็นเช็ดทุกอย่างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ หรือให้ลูกค้ายืนรอข้างนอกร้านแล้วเราจะเป็นคนตักของให้ เราเป็นคนเดียวที่ได้จับสินค้า จากวันนั้นมาจนถึงวันที่โควิดกลับมาระบาดอีกรอบ เรายังไม่เห็นลูกค้าขอใส่ถุงพลาสติกเลย 

ขายไปพร้อมเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมไป

แฟร์: เรามองว่าลูกค้าหลายคนมีความรู้เรื่องการลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่บ้างแล้ว แต่เรื่องรีฟิลนี่ยังใหม่สำหรับเขา เราเลยได้โอกาสให้ความรู้กับเขาเรื่องนี้ด้วย แรก ๆ คนก็ยังงง ๆ นะว่าขายอะไร ขายอย่างไร เราก็บอกไปว่าเราขายของรีฟิล เธอจะซื้อเท่าไหร่ก็ได้ เธอจะซื้ออัลมอนด์ 1 เม็ด 2 เม็ด ฉันก็ขายให้ได้ หรือว่าถ้าเธอมีบรรจุภัณฑ์มาเองก็เอามาใส่เพราะจะได้ลดขยะพลาสติก พอเขารู้แบบนี้ 1 คน เรื่องก็สามารถกระจายไปได้แบบปากต่อปาก สิ่งที่เราเห็นได้เลยก็คือคนใกล้ตัวของเรา ญาติของเราที่ตอนเราเปิดร้านในช่วงแรก ๆ เขาไม่เข้าใจเลยนะว่าเราทำอะไร แต่ตอนนี้ก็เห็นว่าเขาเริ่มเอากล่องไปซื้ออาหารบ้างแล้ว 

เหล่าซัพพลายเออร์ของเราที่ให้เขาช่วยทำสบู่มาขายที่ร้าน เขาก็ได้เรียนรู้เรื่องการลดขยะไปด้วย เพราะเราบอกเขาว่าสบู่ที่ทำเสร็จแล้วไม่ต้องตัดไม่ต้องห่อถุงมานะ ส่งมาแบบนั้นเลยทั้งก้อน นอกจากนี้ยังมีซัพพลายเออร์อีกหลายร้าน ที่เราได้เรียนรู้และตกลงเรื่องการลดบรรจุภัณฑ์

กระแสตอบรับ

แฟร์: ถือว่าโอเคเลยค่ะ ช่วงแรก ๆ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ช่วงหลัง ๆ มาเราเริ่มเห็นคนพื้นที่เองมาซื้อของร้านเรา หรือว่าบางทีก็เป็นนักท่องเที่ยวที่เห็นเราจากทางโซเชียลมีเดีย หรือได้ยินคนพูด และมาดูว่าขายอะไร ขายอย่างไร และเขาก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไปเอง อย่างหนึ่งเลยที่เราจะพูดกับลูกค้าเราจะไม่ใช้คำว่า “ต้อง” แต่เราจะบอกว่า “ทำแบบนี้ก็ได้นะ” เพราะเราเชื่อว่าการเปลี่ยนความคิดคนมันต้องใช้เวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพราะว่าเราเคยชินกับความสบายมานาน ลูกค้าช่วยกันล้างขวด ล้างโหลเหลือใช้เอามาให้ที่ร้านเรา ให้ลูกค้าคนอื่นใช้ต่อ หรือบางคนเอาขยะมาให้ที่ร้านเรา เราเลยชวนเขาแยกกันที่หน้าร้านกันเลยว่าอะไรใช้ได้ใช้ไม่ได้บ้าง 

กระแสรีฟิลมันสามารถบูมได้มากกว่านี้

แฟร์: ถ้าเทียบกับตอนเปิดร้านแรก ๆ ตอนนี้เราว่ากระแสรีฟิลเริ่มเข้าถึงคนบนเกาะแล้วค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ ๆ แต่เราคิดว่ามันสามารถไปได้ไกลกว่านี้ เราอยากให้ร้านรีฟิลมีเยอะมากขึ้น ตอนแรกที่เราเปิด เราก็แอบกังวลว่าจะมีลูกค้าไหม แต่พอเราลงมือทำไปแล้ว เราต้องยึดมั่นในสิ่งที่เราทำ แม้ว่าแรก ๆ จะไม่ค่อยมั่นใจแต่พอเราทำไปเรื่อย ๆ เราก็ค่อย ๆ เห็นความเปลี่ยนแปลง ตอนนี้เราทำในส่วนของเราไปก่อน แล้วพอเราเข้มแข็งขึ้น คนตัวใหญ่ ๆ อาจจะเห็นสิ่งที่พวกเราทำ แล้วผู้ผลิตเองก็เช่นเดียวกัน ตอนนี้เราเห็นผู้ผลิตบางคนหันมาใช้สิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราก็ว่า เออ!ถ้าจะทำก็ทำได้นะ หรือมาทำรีฟิลแบบเราได้ก็ยิ่งดีขึ้นไปใหญ่เลย 

ใครที่สนใจอยากไปเยี่ยมเยียนคุณแฟร์พร้อมซื้อของที่ร้านรีฟิลลิ่งสามารถดูแผนที่ร้านได้ที่นี่หรือติดตามเพจเฟสบุ๊กของร้าน Refilling ได้ที่นี่

ร่วมแชร์ไอเดียลดขยะ การใช้ซ้ำ และการชุบชีวิตให้สิ่งของที่เรามีนำกลับมาใช้ใหม่ได้ที่ สถานี DIY – MAKE SMTHNG Buy Nothing