กรุงเทพฯหนาว เวียดนามหิมะตก จีนหนาวสุดขั้ว สภาพภูมิอากาศเหล่านี้มิได้หมายความว่าโลกของเราหลุดพ้นจากวิกฤตโลกร้อนแล้ว แต่นี่คือหนึ่งในปรากฎการณ์สภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นผลกระทบที่เกิดการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น ทำให้อุณภูมิของน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น จนกระทั่งนำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว และกระแสลมวนที่เรียกว่า “โพลาร์ วอร์เท็กซ์” (Polar Vortex) ที่ไม่สมดุลนั้น ขณะนี้ได้พัดพาเอาอากาศที่เย็นจากน้ำแข็งที่ละลายไปยังภูมิภาคอื่นของโลก เรามาทำความรู้จักกับโพลาร์ วอร์เท็กซ์กันสักนิด ว่าปรากฎการณ์นี้บอกอะไรกับสุขภาพของโลกเราในปัจจุบัน

ในช่วงเดือนมกราคมของปีที่แล้วและสองปีที่แล้วโลกของเราก็เผชิญกับปรากฎการณ์โพลาร์ วอร์เท็กซ์เช่นกัน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงการทวีตข้อความของอดีตประธานาธบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กล่าวว่า “What the hell is going on with Global Waming? Please come back fast, we need you!” (เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 แต่ปัจจุบันนี้แอคเคานท์ได้ถูกทวิตเตอร์ระงับไปแล้ว) เขาได้ร้องถามว่าโลกร้อนไปไหน กลับมาด่วน และได้ถูกนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากโต้กลับ เพราะความหนาวเย็นที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ช่วยให้ภาวะโลกร้อนหายไป แต่การวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ได้บ่งชี้แล้วถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาร์กติกที่กำลังละลาย และอุณหภูมิหนาวเย็นที่ผิดปกติของภูมิภาคอื่นในช่วงฤดูหนาวต้นปี

แผนที่ระดับอุณหภูมิพื้นผิวโลก จาก climatereanalyzer.org เมื่อวันที่  16 มกราคม 2564 แสดงให้เห็นถึงอุณหภูมิพื้นผิวบางแห่งในแถบเอเชียกลางที่อุณหภูมิเฉลี่ยใกล้เคียงขั้วโลกเหนือ

ความสัมพันธ์สามเศร้า ของโลก อาร์กติก และวิกฤตโลกร้อน

โพลาร์ วอร์เท็กซ์ หรือลมวนขั้วโลกนั้น เป็นกระแสลมที่มีความรุนแรงหมุนทวนเข็มนาฬิกาวนรอบเหนืออาร์กติกราว 50 กิโลเมตร และมีบทบาทในการเก็บรักษาลมเย็นไว้ที่ภูมิภาคอาร์กติก และไม่ให้ความร้อนจากภายนอกเข้ามา กระแสลมนี้ไม่ใช่พายุแต่อย่างไร เป็นเสมือนอาณาเขตกั้นระหว่างอากาศเย็นเยือกแข็งของอาร์กติกและอากาศอุ่นรอบแลติจูดกลางไม่ให้เล็ดลอดไปหากัน นั่นคือสภาพปกติของโพลาร์ วอร์เท็กซ์ แต่หากมีอะไรทำให้สมดุลของระบบกระแสลมนี้เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการลดความแข็งแกร่งของกระแสลม เปลี่ยนทิศทางลม หรือทำให้กระแสลมแตกเป็นหลายสาย จะทำให้อุณหภูมิของภูมิภาคอาร์กติกสูงขึ้น ขณะที่พื้นที่อื่นของโลกได้รับอิทธิพลจากโพลาร์ วอร์เท็กซ์ที่แปรปรวน ก็คือมีอุณหภูมิต่ำลง

ภาพอธิบายหลักเกณฑ์ของโพลาร์ วอร์เท็กซ์ การทำงานของกระแสลมในภาวะสมดุล และไม่สมดุล ที่มา: NOAA หรือดูที่กราฟิกเคลื่อนไหวของ NASA นี้ จะเข้าใจง่ายขึ้น

ช่วงหลายปีมานี้ผลกระทบจากโพลาร์ วอร์เท็กซ์ที่ไม่สมดุลเกิดถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น อาจจะตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา (Pierre-Louis, New York Times, 2019) สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กระแสลมโพลาร์ วอร์เท็กซ์มีภาวะไม่สมดุล แตกเป็นหลายสาย ทำให้อุณหภูมิหนาวเย็นของอาร์กติกหลุดลอดออกมา (เช่นเดียวกับที่อากาศร้อนหลุดเข้าไปที่อาร์กติก) นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงระหว่างวิกฤตโลกร้อนกับโพลาร์ วอร์เท็กซ์ ว่าต่อจากนี้ไป อาร์กติกที่อุ่นขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงมากขึ้น เช่น ฤดูหนาวสั้นลง พายุถี่และทวีความรุนแรงขึ้น 

สิ่งที่เกิดขึ้นในอาร์กติกไม่ได้อยู่เพียงแค่ในอาร์กติก สาเหตุที่ความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นกับอาร์กติกจะกระทบถึงโลกทั้งใบได้ นั่นก็เพราะอาร์กติกทำหน้าที่เสมือนเครื่องปรับอากาศของโลก คอยรักษาความเย็นและสมดุลของสภาพภูมิอากาศของโลกทั้งใบไว้ น้ำแข็งสีขาวของอาร์กติกทำหน้าที่เป็นเสมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนแสงอาทิตย์และความร้อนกลับไปยังชั้นบรรยากาศ เมื่อสภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกและน้ำทะเลสูงขึ้น อาร์กติกที่ละลายแทนที่จะสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไป แต่ยิ่งดูดซับไว้ด้วยสีเข้มของมหาสมุทร วัฏจักรวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะยิ่งยากที่จะย้อนกลับหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ลดลง และน้ำแข็งขั้วโลกเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ 

Jennifer Francis นักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่งศูนย์ Woods Hole Research Centre ผู้ศึกษาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทางออก วิเคราะห์ในงานวิจัยว่า ทะเลน้ำแข็งของอาร์กติกที่ละลายอาจเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสมดุลของโพลาร์ วอร์เท็กซ์ และมีแนวโน้มจะเกิดบ่อยขึ้น เนื่องจากมหาสมุทรที่ไร้น้ำแข็งนั้นดูดซับความร้อน ไม่ได้สะท้อนกลับ ทำให้เกิดจุดความร้อนขึ้น และนี่คือสาเหตุที่กระแสลมโพลาร์ วอร์เท็กซ์ แยกเป็นหลายสาย (Francis, 2019)

ก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 1 องศาเซีลเซียสภายในช่วงเวลา 50 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากสำหรับประวัติศาสตร์โลก เมื่อเกิดสภาวะโลกร้อนขึ้น ไม่ใช่ทุกพื้นที่จะอุ่นขึ้นในอัตราที่เท่ากัน อาร์กติกนั้นมีอัตราอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่นสองเท่า (Serreze, 2018) และเมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลรอบอาร์กติกที่สูงขึ้นนั้นยิ่งทำให้ทะเลแข็งตัวยากขึ้น อุณหภูมิของอาร์กติกที่ขยับสูงขึ้นจนใกล้เคียงกับพื้นที่แลติจูดกลางนั้นยังเป็นการเปลี่ยนแปลงกระแสลมเจ็ทสตรีมในชั้นบรรยากาศให้อ่อนตัวลง การเปลี่ยนแปลงของกระแสลมนี้ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว ดังที่ปรากฎขึ้นแล้วที่ตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

13 มกราคม 2564: ดาวเทียม GOES West ขององค์กร NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration)  ได้บันทึกภาพไซโคลนขนาดใหญ่ที่กำลังเคลื่อนเข้าใกล้อ่าวอลาสก้า (ที่มา:www.nesdis.noaa.gov)

วิกฤตโลกร้อนไม่ใช่เรื่องหลอกลวงเพียงแค่อากาศบางแห่งเย็นขึ้น เราอาจจะต้องมาทำความเข้าใจกับ “อากาศ” และ “สภาพภูมิอากาศ” กันอีกครั้ง

การที่อุณหภูมิบางพื้นที่สูงขึ้นนั้นเป็นการเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ไม่ใช่ระยะยาว อากาศหนาวเย็นสุดขั้วที่ผิดปกตินั้นไม่ใช่สภาพภูมิอากาศ แต่คือสภาพอากาศ ขณะที่บางพื้นที่มีอากาศหนาวเย็น อย่าลืมว่าบางพื้นที่ก็เผชิญกับอากาศร้อนสุดขั้วที่ไม่ปกติเช่นกัน ดังที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว กับการที่สหรัฐอเมริกาเผชิญกับอุณหภูมิต่ำโหดร้ายในเดือนมกราคม ทางฝั่งออสเตรเลียกลับเผชิญกับอากาศที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ (สูงกว่า 46 องศาเซลเซียส) และไฟป่าที่โหมรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ (Cave, New York Times, 2020)

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้ทำลายสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในประวัติศาสตร์และปี 2563 ล่าสุดที่เพิ่งผ่านมา ข้อมูลจาก NASA (2021) ระบุว่า เป็นอีกปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ เทียบเท่ากับปี 2559 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของ NASA Gavin Schmidt ยังเสริมว่า “ปีไหนจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดอาจจะไม่ได้สำคัญนัก แต่สิ่งที่สำคัญคือแนวโน้มระยะยาว หากยังเป็นเช่นนี้ และผลกระทบจากมนุษย์ต่อสภาพภูมิอากาศยังเพิ่มสูงขึ้น เราคงได้แค่เห็นว่าสถิติอุณหภูมิปีที่ร้อนก็มีแต่จะสูงขึ้นเรือยๆ” 

สิ่งที่ Gavin Schmidt วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจคือ ในปี 2563 มีสองเหตุการณ์หลักที่ทำให้แสงอาทิตย์เข้าถึงพื้นผิวโลกได้มากขึ้น หนึ่งคือ ไฟป่าออสเตรเลียในครึ่งปีแรก ที่เผาผลาญป่าไป 46 ล้านเอเคอร์ ปล่อยควันและมลพิษอื่นขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ปิดกั้นแสงอาทิตย์ และอาจทำให้ชั้นบรรยากาศเย็นลง แต่ในทางกลับกัน การชัทดาวน์ในหลายพื้นที่ของโลกเนื่องมาจากการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 แม้จะช่วยลดมลพิษทางอากาศและคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในหลายพื้นที่ แต่ความเข้มข้นของคาร์บอนโดยรวมก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ที่น่าสังเกตุอีกประการคือ ในปี 2559 มีปรากฎการณ์ El Nino ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น แต่ในปีที่แล้วแม้จะไม่มี El Nino ประกอบกับการชัทดาวน์บางส่วนบางช่วงเวลานั้น ก็เป็นอีกหลักฐานหนึ่งว่า ก๊าซเรือนกระจกที่ยังเข้มข้นสะสมนั้นยังคงทำให้สภาพภูมิอากาศร้อนขึ้นได้ต่อเนื่อง 

สำหรับเราขั้วโลกเหนือดูจะเป็นดินแดนที่ห่างไกล และไม่เกี่ยวกับเราสักเท่าไหร่ แต่ปรากฎการณ์ที่เปลี่ยนไปของโพลาร์ วอร์เท็กซ์ก็ทำให้คนที่อยู่บนเส้นศูนย์สูตรอย่างเราสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่แปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ โลกของเรากลมและเล็กกว่าที่คิด และกิจกรรมของมนุษย์มีผลอย่างใหญ่หลวงต่อความสมดุลของโลก หรืออย่างน้อยก็ต่ออาร์กติกที่เป็นเครื่องปรับอากาศของโลกนี้ การเปลี่ยนแปลงหรือความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอาจจะไม่ได้ชัดเจนเสมอ แต่สาเหตุและผลกระทบนั้นเริ่มเด่นชัดขึ้น ต่อเนื่อง และรุนแรงขึ้น อีกสิ่งที่ยังไม่มีชัดเจนคือการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐบาลและกลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ทั่วโลกที่จะลงมือแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อนอย่างจริงจัง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Brown, Katherine. “2020 Tied for Warmest Year on Record, NASA Analysis Shows.” Earth, National Aeronautics and Space Administration (NASA), 16 Jan. 2021, www.nasa.gov/press-release/2020-tied-for-warmest-year-on-record-nasa-analysis-shows. 

Cave, Damien. “It’s Australia’s First Big Blaze of the Fire Season. How Bad Will the Summer Get?” The New York Times, The New York Times, 10 Dec. 2020, www.nytimes.com/2020/12/10/world/australia/fires-fraser-island.html. 

Climate Reanalyzer. (January 16, 2021). Today’s Weather Maps. https://climatereanalyzer.org/wx/DailySummary/#t2

Francis, Jennifer. “How Frigid Polar Vortex Blasts Are Connected to Global Warming.” The Conversation, 27 Jan. 2019, theconversation.com/how-frigid-polar-vortex-blasts-are-connected-to-global-warming-110653. 

National Oceanic and Atmospheric Administration. (January 29, 2019). The science behind the polar vortex: You might want to put on a sweater. https://www.noaa.gov/multimedia/infographic/science-behind-polar-vortex-you-might-want-to-put-on-sweater

NOAA National Environmental Satellite, Data, and Information Service (NESDIS). (January 18, 2021). Today’s Satellite Image: GOES West Spies Dynamic Cyclone in the North Pacific. https://www.nesdis.noaa.gov/

Pierre-louis, Kendra. “Brace for the Polar Vortex; It May Be Visiting More Often.” The New York Times, 28 Jan. 2019, www.nytimes.com/2019/01/18/climate/polar-vortex-2019.html. 

Serreze, Mark. “Melting Arctic Sends a Message: Climate Change Is Here in a Big Way.” The Conversation, 16 Apr. 2018, theconversation.com/melting-arctic-sends-a-message-climate-change-is-here-in-a-big-way-95573. 

Zhou, Naaman. “Adelaide Breaks Its All-Time Heat Record, Hitting 46.6C, in Extreme Australia Heatwave.” The Guardian, Guardian News and Media, 24 Jan. 2019, www.theguardian.com/australia-news/2019/jan/24/australia-heatwave-adelaide-breaks-its-all-time-heat-record-hitting-466c.