เราจะช่วยกันลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้อย่างไร ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับไวรัสโควิดระบาด 

เราเริ่มต้นปี 2564 ด้วยการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ ทำให้ร้านอาหารและเครื่องดื่มหลาย ๆ แห่งเริ่มกลับมา “งดรับ” ภาชนะส่วนตัว และยืนยันจะให้บริการเฉพาะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งของทางร้านเท่านั้น

ทั้งที่ข้อมูลจาก นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและบรรจุภัณฑ์อาหารทั่วโลก ให้ความเห็นว่าสารฆ่าเชื้อในครัวเรือนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าการฆ่าเชื้อบนพื้นผิวที่แข็งนั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอ เท่ากับว่าการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำนั้นสามารถใช้ได้และปลอดภัย และพลาสติกใช้แล้วทิ้งไม่ได้ปลอดภัยไปกว่าภาชนะและบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ แต่อาจเพราะความไม่มั่นใจของทุกคน ทั้งผู้ให้บริการร้านอาหารและเครื่องดื่มและอาจจะลูกค้าเอง ทำให้การใช้แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งตามร้านกาแฟต่าง ๆ กลับมาอีกครั้ง

แล้วเราจะช่วยกันลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้อย่างไรในช่วงเวลาอันแสนตึงเครียดและระวังตัวเองเช่นนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทั้งผู้ประกอบการและผู้ซื้ออย่างเรา 

สิ่งแรกที่เรามองว่าสร้างขยะเยอะที่สุด คือ บริการฟู้ดดิลิเวอรี่ เราอาจต้องตัดใจจากความสะดวกสบาย แล้วหยุดสั่งอาหารจากบริการส่งสินค้าออนไลน์ แล้วหันมาทำอาหารกินเองที่บ้าน ปลุกความเป็นพ่อบ้านแม่บ้านก้นครัวในตัวทุกคนออกมา 

ความกังวลถัดไปคือ ไปซื้อวัตถุดิบที่ตลาดจะปลอดภัยหรือเปล่า คำตอบคือ ความปลอดภัยในการรักษาเนื้อรักษาตัวในช่วงโควิด คือ เราต้องทำตามคำแนะนำตามหลักสากลของแพทย์ทั่วโลก อาทิ รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ สามหน้ากากอนามัย ไม่สัมผัสหู ตา จมูก และปาก เป็นต้น ดังนั้น หากต้องออกไปที่มีคนเยอะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาด ซูเปอร์มาเก็ต หน้าปากซอย เราควรทำตามคำแนะนำเหล่านี้อย่างเคร่งครัด เมื่อจำเป็นต้องออกไปซื้อวัตถุดิบมาทำอาหาร เราจึงต้องจดสิ่งที่ต้องการซื้อ เพื่อเราจะได้เดินไปซื้อของที่ต้องการทันที ไม่ใช้เวลาในพื้นที่นานจนเกินไป กับวัตถุดิบไหนที่ห่อด้วยพลาสติกและไม่จำเป็นมากนัก เราจะได้ตัดออก และที่สำคัญ อย่าลืมเตรียมถุงผ้า กล่องใช้ซ้ำหลากหลายขนาด ออกไปด้วย และงดกินอาหารดิบ กินเฉพาะอาหารปรุงสุกเท่านั้น

โซนแนะนำ คือ โซนผักและผลไม้แบบไม่ห่อพลาสติก หรืออาจจะมีทั้งข้าวสาร ไข่ไก่ ขนมหวาน ที่พ่อค้าแม่ค้านำมาตักขายที่ตลาด เราเพียงนำกล่องไปใส่ ก็จะช่วยลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งได้เยอะมาก 

Smart Online Groceries Shopping in China. © Greenpeace / Wendi Wu
© Greenpeace / Wendi Wu

โซนซอสปรุงรสแบบขวดแก้ว ซอสปรุงรสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล น้ำปลา ซอสมะเขือเทศ น้ำผึ้ง ฯลฯ จะถูกบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์พลาสติกกับขวดแก้ว เราก็เลือกแบบบรรจุลงในขวดแก้วแทน

คำแนะนำถัดไป คือ ของที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหลายคนอาจเริ่มคุ้นเคยกันแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น ผ้าอนามัยแบบผ้าที่ใช้ซ้ำได้ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มใช้ ลองซื้อลายน่ารัก ๆ จะช่วยให้เราอยากหยิบมาใช้มากขึ้น ถ้วยอนามัย (Mentrual cup) ถ้วยรองรับประจำเดือน ซึ่งทำจากซิลิโคนทางการแพทย์ 

MAKE SMTHNG Week Event in Bangkok. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
© Wason Wanichakorn / Greenpeace

แชมพูก้อน & สบู่ก้อน ขวดยาสระผมและขวดสบู่เหลว ประกอบด้วยขวดที่ทำจากพลาสติก ฉลากพลาสติก และฝาขวด ดังนั้น เราแนะนำให้ลองหาสบู่และแชมพูก้อนมาใช้ดู ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีแชมพูและสบู่หลายยี่ห้อที่ใช้กระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์ สำหรับคนที่ต้องการยกระดับการลดใช้พลาสติกของตนเอง อาจลองใช้เบกกิ้งโซดา (Baking Soda) ผสมกับน้ำสะอาดใช้แทนแชมพู ก็ทำให้ผมนุ่มขึ้นได้อย่างน่าประทับใจ

แปรงสีฟันและยาสีฟัน ลองเปลี่ยนมาใช้แปรงสีฟันด้ามไม้ไผ่ ส่วนยาสีฟัน เลือกใช้ยาสีฟันแบบผงที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรไทยและบรรจุในขวดแก้ว เมื่อเราใช้หมด เราก็สามารถนำไปเติมที่ร้านที่มีบริการเติม (Refill Shop) หรือจะใช้ยาสีฟันแบบเม็ดก็ได้

คำแนะนำสุดท้าย มาส์กพอกหน้าและสครับใช้เอง ไหน ๆ ก็ต้องอยู่บ้านเป็นหลักแล้ว ให้ลองมองหาวัตถุดิบที่มีในครัว เช่น มะขามเปียก ขมิ้น ฯลฯ นำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ขัดผิวและบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้นได้ เพราะมาส์กหรือสครับทั่วไปมักมาพร้อมบรรจุภัณฑ์พลาสติกประมาณ 3 ชิ้น คือ ซอง ฉลาก แผ่นมาส์กหน้า หรือบางยี่ห้อก็มีฝาปิดด้วย เท่ากับว่าเราผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งประมาณ 3 ชิ้นต่อการมาส์กหน้า 1 ครั้ง

สุดท้าย เราจะเห็นว่า การที่เราในฐานะผู้บริโภคหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเดียวมันไม่พอ เพราะสินค้าบางอย่าง เราถูกบังคับให้ใช้พลาสติกโดยที่เราไม่ได้ร้องขอ และมันกลายเป็นขยะทันทีที่เราฉีกซอง เช่น บรรจุภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ พลาสติกห่อของ ฯลฯ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของภาคผู้ผลิตสินค้าและบริการ ในการคิดหาวิธีลดใช้พลาสติกในการดำเนินธุรกิจของตนเองด้วย ตามหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ EPR (Extended Producer Responsibility) และภาคผู้ผลิตไม่ควรใช้สถานการณ์โรคระบาดที่มาพร้อมความหวาดระแวงของผู้คน มาเป็นโอกาสสร้างอำนาจต่อรองในการผลิตพลาสติกออกมาในปริมาณเท่าเดิมหรืออาจเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจของตนเองไม่ต้องคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาและยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ 

เรายังคงเป็นคนที่มองว่า “พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นผู้ร้าย” โดยเฉพาะในเวลาที่เราไม่มีความจำเป็นต้องใช้ แต่ใช้เพื่อตอบสนองความสะดวกสบาย และใช้งานในระยะเวลาสั้น พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งนี้ เมื่อกลายเป็นขยะแล้ว จะทิ้งมลพิษต่าง ๆ มากมายไว้ให้ธรรมชาติและโลกใบนี้ ถึงแม้ว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตไวรัสโควิดระบาดก็ตาม ทุกภาคส่วนในสังคมยังต้องช่วยกันลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพราะเมื่อวันหนึ่งที่โรคระบาดหมดไป เราจะได้ไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตมลพิษพลาสติกที่รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน