คุณรู้ไหมว่า “แมแห้แบถ่านหิน” แปลว่าอะไร หากคุณไม่เข้าใจก็ไม่แปลกอะไรเพราะนี่เป็นภาษาโพล่ง และไม่แปลกอะไรเช่นกันที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์จะไม่เข้าใจภาษากลางของไทยทั้งพูดและเขียน

แต่สิ่งที่แปลกหรืออาจจะเรียกได้ว่าไม่ยุติธรรม คือการที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเหมืองถ่านหิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย เชียงใหม่ ที่ใช้ภาษาที่ชาวกะเหรี่ยงโปว์ไม่เข้าใจเพียงเพราะพวกเขาเป็นคนชายขอบ ไม่ได้ใช้ภาษากลาง รวมถึงการจัดทำข้อมูลที่ขาดข้อเท็จจริงจากชุมชน เข้ามาตัดสินความชอบธรรมในการทำลายวิถีชีวิตของคนอมก๋อย

อ้อ คำว่า  “แมแห้แบถ่านหิน” แปลว่า ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน ชุมชนกะเหรี่ยงที่นี่ไม่เอาถ่านหินเพราะอะไรกัน

ชุมชนบ้านกะเบอะดินแห่งอมก๋อยเป็นหนึ่งในสองชุมชนที่อยู่ในรัศมีระยะ 1 กิโลเมตรห่างจากพื้นที่เป้าหมายทำเหมืองถ่านหินซับบิทูมินัส ภายใต้การสัมปทานของบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด โดยถ่านหินที่ขุดได้จะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) ที่จังหวัดลำปาง 

วาทกรรมที่กล่าวไว้ในกรอบกว้าง ๆ อย่าง “เพื่อการพัฒนาประเทศ” มักถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของพื้นที่ชนบท สำหรับพื้นที่อมก๋อยนั้นไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ชนบทนอกเมืองศูนย์กลาง แต่ยังเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงโปว์ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นคนชายขอบทั้งในเชิงกายภาพและทางสังคม ไม่ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงจากรัฐไทย ซึ่งสิทธิหนึ่งในที่เราจะกล่าวถึงนี้ก็คือสิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อการเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่ การมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบ หรือแม้แต่การรับรู้ถึงข้อมูลผลกระทบที่แท้จริงต่อบ้านและชีวิตของตน โดยมีอุปสรรคที่ทับซ้อนกันอยู่ คือ การปิดกั้นข้อมูลของกระบวนการทั้งจากรัฐและเอกชนเจ้าของโครงการ และอุปสรรคที่ใหญ่หลวงอย่างภาษา

ประชาชนราว 479 คน ในชุมชนบ้านกะเบอะดินมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถเข้าใจภาษากลาง แม้จะเข้าใจแต่การอ่านนั้นก็ไม่แตกฉาน ซึ่งการมีภาษาเป็นของตนเองนั้นไม่ใช่ความผิดพลาดของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในไทยแต่ไม่ใช่คนไทยและไม่ได้แตกฉานภาษาไทย แต่คำถามที่สำคัญคือ ยุติธรรมแล้วหรือที่โครงการขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ต่อบริษัทเพียงอย่างเดียว มุ่งตักตวงจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรของไทยและคนในพื้นที่ที่มีวิถีชีวิตอย่างพึ่งพิงกับธรรมชาติ และอาศัยจุดอ่อนเชิงอำนาจทางภาษาและการรับรู้ให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นผ่านขั้นตอนไปอย่างขอไปที 

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

ชาวกะเหรี่ยงในกะเบอะดินทำอาชีพเกษตร อมก๋อยเป็นหนึ่งในสองแหล่ง (อีกที่คืออำเภอฮอด) ที่ส่งออกมะเขือเทศมากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ และส่งไปขายยังหลายจังหวัดในประเทศไทยรวมถึงกรุงเทพฯ  มะเขือเทศลูกใหญ่ ๆ จึงเป็นพืชเศรษฐกิจสัญลักษณ์สำคัญของกะเบอะดินแทนวิถีเศรษฐกิจการพึ่งพาตัวเองของชุมชน นอกจากนี้ยังมีการปลูกฟักทอง กะหล่ำปลี มีความเป็นอยู่แบบเป็นพี่เป็นน้อง วิถีชีวิตอยู่กับป่าดอยแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกับธรรมชาติ แนวคิดการมองพื้นที่ป่าไม้และแหล่งน้ำของเขาไม่ใช่เรื่องของทรัพยากรที่สร้างเงิน แต่เป็นบ้าน เป็นแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงทั้งชีวิตและจิตวิญญาณของชุมชน เป็นชีวิตของชาวกระเหรี่ยง 

“กะเบอะดินมีสิ่งสวยงามมากกว่าที่เราเห็น เป็นชุมชนที่หลายคนอิจฉา ช่วงระยะหลังเราได้ยินถึงโครงการต่าง ๆ ที่จะเข้าไป ทั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง โครงการผันน้ำ และเหมืองแร่ถ่านหิน เรากลัวตกใจตื่นยามกลางคืนเมื่อเราคิดถึงสามสิ่งนี้ เราชาวบ้านมีการศึกษาด้อย คำพูดไม่ชัด ไม่มีใครจบปริญญาตรีเลย เราไม่มีพลังพอในการต่อสู้กับโครงการต่าง ๆ การเป็นมิตรเป็นสิ่งที่ดีในชุมชนของเรา แต่หากโครงการเหล่านี้เข้ามาวิถีชีวิตและความเป็นมิตรของเราคงจะหายไป อาชีพการงาน ความคิด การกระทำเราจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง” อรรถพล อำรุงพนม ผู้ปกครองคริสตจักรที่กะเบอะดิน

ภาษาสามารถเป็นอุปสรรคในการรับรู้ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ไม่สามารถอ่านออก ฟังรู้เรื่อง เนื่องจากข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น ความบกพร่องทางร่างกาย หรือข้อจำกัดทางสังคม เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ และความเป็นชาติพันธุ์ใช้ภาษาต่างถิ่น แต่ในทางกลับกันเมื่ออยู่ในมือของผู้มีอำนาจ ภาษาก็เป็นเครื่องมือทางอำนาจที่เกิดจากรัฐรวมศูนย์การปกครอง ถูกใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นกับการเข้ามาของโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน ที่ตามการวิเคราะห์รายงาน EIA โดยคุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผลของการประเมินระบุว่า ค่าใช้จ่ายระหว่างการขนส่งถ่านหินนำเข้า และขุดเหมืองถ่านหินและขนส่งไปยังบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จังหวัดลำปาง พบว่าเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยสามารถ “ลดค่าสิ้นเปลืองการขนส่งของบริษัท และยังเป็นการช่วยประเทศชาติลดความสิ้นเปลืองด้านพลังงานได้อีกด้วย” ซึ่งสะท้อนว่าเหมืองถ่านหินนี้เป็นการตอบสนองเฉพาะการใช้งานและผลประโยชน์ของบริษัทเท่านั้น รวมถึงสรุปย้ำอีกครั้งว่าเหมืองแร่แห่งนี้เป็น “การเพิ่มหลักประกันความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงสามารถยืดอายุแหล่งถ่านหินสำรองของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เองด้วย” 

การวิเคราะห์ของ EIA เช่นนี้ไม่ได้เพียงแค่สะท้อนถึงการทำเหมืองเพียงเพื่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจเพียงกลุ่มเดียว ลิดรอนสิทธิของประชาชนในพื้นที่ แต่ยังสะท้อนอีกว่า EIA ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการขนาดใหญ่เท่านั้น แค่นั้นจริง ๆ

กระบวนการ EIA บอกแต่ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับการสร้างเหมืองถ่านหิน 

“เราไม่รู้หลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะ EIA ทางบริษัทได้เข้าไปที่หมู่บ้าน และบอกว่าจะเข้าไปทำถนนให้ ทำไฟฟ้าให้ หลายคนในชุมชนได้ลงชื่อไป หรือปั๊มลายมือไปโดยไม่รู้ตัว ผมเป็นห่วงพอสมควร”

คุณคัมภีร์ สมัยอาทร รองนายกตำบลอมก๋อย 

ธนากร อัฎฐ์ประดิษฐ์ นักวิชาการอิสระ ได้ตั้งคำถามกับกระบวนการ EIA เหมืองถ่านหินอมก๋อยว่า “ทำไมผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เขียนไทยไม่ได้ จึงลงชื่อใน EIA ได้ แต่คนที่เขียนได้กลับเป็นการปั๊มลายมือ” พี่น้องในกะเบอดินหลายคนเล่าว่า ในรายงาน EIA ได้รายชื่อของคนในชุมชนไปเยอะ แม้แต่บางคนอายุ 4-5 ขวบก็มีการลงชื่อในนั้นแล้ว ซึ่งเป็นผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยอายุ หรือแม้แต่กระทั่งยังตัดสินใจอะไรด้วยตนเองเรื่องโครงการระดับใหญ่ไม่ได้

“สิ่งที่ไม่ชอบธรรมที่สุดก็คือเรื่องลายมือชื่อ แม้แต่ลายนิ้วมือเล็กกว่านิ้วก้อยก็มี” คุณดวงใจ วงศธง ชาวกะเบอะดิน กล่าว และบอกให้เราฟังต่อถึงความกังวลด้านความฉ้อฉลทางภาษาว่า “ภาษาสำคัญที่สุด พี่น้องที่นั่นไม่รู้ภาษาไทยเลย เมื่อมีคนนอกเข้ามาไม่ว่าใครก็ตาม ทนาย นักวิชากร หรือองค์กร ก็ต้องมีคนคอยแปลภาษากลางเป็นกระเหรี่ยงให้ทุกครั้ง มีคนเข้าใจน้อยมาก แค่เยาวชนเด็กรุ่นหลัง ๆ” 

ที่น่าสนใจคือ คุณดวงใจเล่าว่า ชาวกะเบอะดินไม่ได้รู้เรื่องเหมืองถ่านหินด้วยตนเอง ทั้งที่มีการทำ EIA มาแล้วกว่า 10 ปี แต่เพิ่งรู้เรื่องจากโซเชียลมีเดียในปี 2562 และในเวลานั้นเหลืออีกไม่กี่วันจะหมดเขตการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ทางชุมชนจึงช่วยกันลงไปที่อำเภอเพื่อคัดค้าน

“เขาไม่ได้ให้ชาวบ้านรู้และดู EIA หรือบอกว่ามีเอกสารอะไรบ้าง บอกเพียงแค่มีหนังสือเล่มนึง (ไม่ได้บอกว่าหนังสืออะไร) อยู่ที่บ้านผู้ช่วย ใครอยากอ่านก็ไปอ่าน และเล่มหนาตั้งเท่านี้ (แสดงมือหนาประมาณคีบ) และ EIA ไม่มีการแปลภาษาให้รับรู้ ขนาดหัวข้อยังไม่บอกเราเลย ถามแค่ว่า “อยากได้ถนน กับไฟฟ้าไหม” แต่ไม่พูดถึงเหมืองเลย บอกแค่ว่าไม่มีผลกระทบ”

“เขาเข้ามาแจกเสื้อผ้า แต่ไม่ได้บอกว่ามาเรื่องเหมืองถ่านหิน” คุณจำเป็น สิงขรรำไพ ชาวกะเบอะดินกล่าว 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งทำมติประชาคมในปี 2552 เพื่อใช้ประกอบรายงาน EIA โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย แต่ไม่มีการชี้แจงถึงผลกระทบจากการทำเหมืองถ่านหินทั้งต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบ หากเป็นการประชาสัมพันธ์ว่าชาวบ้านจะมีไฟฟ้าและถนนเข้ามาในหมู่บ้าน การนำสิ่งของต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนหรือไม่บอกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหมืองถ่านหินนั้น เป็นแนวคิดอันเป็นผลมาจากการพัฒนาแบบรวมศูนย์อำนาจ ที่มองวัฒนธรรมชนบทและพื้นที่ชายขอบว่ากันดาร ล้าหลัง ขาดการพัฒนา จึงเสนอเพียงมุมหนึ่งของกรอบการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อรองรับเหมืองถ่านหิน คือ ถนนและไฟฟ้า แต่แท้ที่จริงแล้วเหตุที่กะเบอะดินไม่มีถนนที่ดี และไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง เป็นปัญหาที่โครงสร้างการพัฒนา ไม่ใช่ปัญหาของชุมชนและวิถีชีวิตของชุมชน 

ในทางกลับกันการไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใสเกี่ยวกับโครงการเหมืองถ่านหิน คือการคุกคามสิทธิพื้นฐานของประชาชน และการใช้ข้อเสียเปรียบทางภาษา คือการเอารัดเอาเปรียบและตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ระหว่างคนชายขอบกับมหาอำนาจทุนและระบบรัฐรวมศูนย์อำนาจ

สำหรับประเด็นด้านภาษา คุณสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า “เป็นการเหลื่อมล้ำเรื่องอำนาจความรู้ ที่ประโยชน์ของกลุ่มคนที่เข้าไป และกลุ่มคนในพื้นที่ไม่เท่ากัน แต่ใช้อำนาจทางความรู้เพื่อประโยชน์ของตนเอง คนในพื้นที่ไม่ถูกให้ความสำคัญ ไม่มีการประเมินวิถีชีวิตของชุมชน ไม่มีการวิเคราะห์เรื่องมูลค่าป่าไม้ มูลค่าความเสียหายในมิติของโลกร้อนจะเท่าไหร่ ทรัพยากรที่ชุมชนใช้และดูแลรักษานั้นต่างจากเหมืองแร่ที่ใช้แล้วหมดไป แต่กลับให้มูลของเหมืองมากกว่าชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนและสิ่งแวดล้อม”

การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ คุณสุภาภรณ์ เสนอว่า นอกเหนือจากปัญหาความรับผิดชอบที่ขาดหายไปของบริษัทแล้ว ควรมีการกระจายอำนาจให้การปกครองส่วนท้องถิ่นมีการร่วมตัดสินใจ “ในเมื่ออำนาจการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่พื้นที่ เราควรเปลี่ยนโครงสร้างการตัดสินใจหรือไม่ เราต้องพูดเรื่องนี้กันใหม่ เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจนี้อย่างไร ชุมชนจะร่วมขับเคลื่อนเพื่อวิถีที่ยั่งยืน และกำกับคนที่มารุกรานและใช้ประโยชน์อย่างไร เป็นการถอนรื้อเชิงอำนาจและการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง”

รายงาน EIA ฉบับนี้มีอายุกว่า 10 ปี หลังจากการทำมติประชาคมในปี 2552 อีกคำถามที่ควรถามถึงความชอบธรรมของ EIA ฉบับนี้ว่า ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ประชาชนในรุ่นหลังที่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นแล้ว และจะต้องใช้ชีวิตกับผลกระทบของเหมืองถ่านหินที่จะเกิดขึ้นต่อไป ควรมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นในรายงานนี้หรือไม่ นอกจากบริบทที่ไม่เป็นธรรมอันมาจากความเหลื่อมล้ำทางภาษาของชาติพันธุ์ ยังมีอีกหลายสิ่งในด้านพื้นที่ชีวิตที่แสนสำคัญอย่างข้อมูลของระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของอมก๋อย ซึ่งถูกบิดเบือนว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมบ้าง ไร่เลื่อนลอยบ้าง ลำน้ำแห้งชุมชนใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้วบ้าง ทั้งที่จริงแล้วที่แห่งนี้เป็นต้นน้ำแห่งหนึ่ง เป็นสายเลือดสำคัญของภูมิภาคเหนือของไทย

ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า “ในวิธีคิดของส่วนกลางไม่ใช่แค่วิธีคิดเรื่องการเมืองเศรษฐกิจ ยังมีเรื่องความมั่นคงของชาติ หนึ่งคือ คนที่อยู่ชายขอบ พูดไม่ได้ ความคิดเรื่องมองคนบนดอยเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่เจริญก้าวหน้า ทำไร่ที่พึ่งพาและสัมพันธ์กับธรรมชาติกับป่า ไม่เป็นเศรษฐกิจแบบทันสมัย ซึ่งเป็นความคิดที่ให้ความสำคัญกับความเจริญของรัฐ สองคือแนวคิดเรื่องความมั่นคงมีอคติทางชาติพันธุ์ ให้ความสำคัญกับชาตินิยม ขณะที่ชาติพันธุ์เป็นคนไทยชั้นสอง เป็นคนชายขอบ เรื่องของภาษา มีการคาดหมายว่าคนไทยต้องพูดภาษาไทย แต่ภาษาที่หลากลายไม่เป็นที่ยอมรับ หลักสูตรหรือภาษากฎหมายจึงเป็นภาษาไทย จะเห็นได้ชัดว่าคนกลุ่มชาติพันธุ์จะถูกมองว่าไม่ได้มีสิทธิเท่าเทียมกัน เป็นทัศนคติทางชาตินิยมทางชาติพันธุ์ 

ในกรณีของสิ่งแวดล้อมถ้าไม่เป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น น่าจะมีล่ามหรือคนแปลภาษาช่วย เรื่อง EIA สิ่งแวดล้อมน่าจะมีการทำความเข้าใจบริบทของสิ่งแวดล้อมกลุ่มกระเหรี่ยง เช่น ความสัมพันธ์ของคนกับป่า คนกับน้ำ ว่าเขาคิดอย่างไร คนมองว่าน้ำเป็นสินค้า แต่ชุมชนมองว่าน้ำเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต เป็นความชุ่มชื้นให้เขามีชีวิตอยู่ได้

 แนวทางการพัฒนาแบบนี้คือความไม่เป็นธรรม และความไม่ยั่งยืน”

มีคำกล่าวของผู้อาวุโสกะเหรี่ยงว่าไว้ว่า “โอ้ ที๊ง แฌ แซ ที๊ง  เจ่ ท เคแกล้ กแบแฌแซอ้ะ” ซึ่งแปลว่า ดื่มน้ำรักษาน้ำ ใช้ป่าเราต้องรักษาป่า คนเมืองแบบเราเองอาจจะฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่ตราบใดที่เรายังดื่มน้ำและยังหายใจ นั่นคือเรายังต้องพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำและป่า และคุณเองก็ไม่ได้ต่างอะไรกับชาวชาติพันธุ์

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

หากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความชอบธรรมและเห็นคุณค่าของชาติพันธุ์ จะต้องเคารพสิทธิมนุษยชนและใช้อำนาจที่มียกเลิกรายงาน EIA ที่คุกคามชาวกะเหรี่ยงฉบับนี้ และจัดทำกระบวนการขึ้นใหม่โดยที่รับฟังและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง โดยที่เคารพความแตกต่างทางด้านภาษา วิถีชีวิต และวัฒนธรรม

ข้อมูล: เสวนาวิชาการ ปลดแอก “ความรู้ ความจริง เหมืองถ่านหินกะเบอะดิน” เมื่อ 16 ธันวาคม 2563