ปี 2563 เป็นปีหลากวิกฤต(crisis year) ทั้งโรคระบาด ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และผลกระทบต่อเนื่องทบทวีคูณของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ที่มาบรรจบกัน

Covid-19 เผยให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำของโลกที่เราอาศัยอยู่ ขณะที่ “แนวทางตามปกติ(business as usual)” ถูกตั้งคำถาม บทความของคณะกรรมการเฉพาะกิจระหว่างรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services หรือ IPBES) เน้นย้ำว่า “โรคระบาดครั้งล่าสุดนี้เป็นผลพวงโดยตรงจากกิจกรรมของมนุษย์ภายใต้ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยึดถือการแสวงหากำไรและผลประโยชน์เฉพาะหน้าโดยไม่แคร์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

ในบริบทของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เราได้เห็นสภาวะอุณหภูมิสุดขั้วทั้งบนแผ่นดิน ในทะเล/มหาสมุทร และโดยเฉพาะในอาร์กติก เหตุการณ์ไฟป่าล้างผลาญภูมิทัศน์ทางธรรมชาติทั้งในออสเตรเลีย ไซบีเรีย ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ ได้ส่งละอองลอย(aerosol) ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและเคลื่อนตัวไปรอบโลก พายุเฮอริเคนแห่งมหาสมุทรแอตแลนติกที่ทุบสถิติ รวมถึงพายุหมุนเขตร้อนระดับ 4 อย่างเป็นประวัติการณ์ในอเมริกากลาง อุทกภัยในบางส่วนแอฟริกา เอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำให้ผู้คนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ และบั่นทอนความมั่นคงทางอาหารของคนนับล้าน

Bobcat Fire Continues to Burn in Southern California. © David McNew / Greenpeace
ไฟป่าในแคลิฟอเนียร์ © David McNew / Greenpeace
Aftermath of the Bushfires in New South Wales, Australia. © Andrew Quilty / Greenpeace
สภาพหลังเกิดเหตุไฟป่าในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย © Andrew Quilty / Greenpeace

นอกจากปี 2563 จะมีแนวโน้มเป็นปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการบันทึกมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยังระบุว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกในปี 2563 นี้จะเพิ่มเป็น 1.2 องศาเซลเซียสเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2393-2443) และมีโอกาส 1 ใน 5 ที่จะไปถึง 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2567 หรือในอีก 3-4 ปีข้างหน้า 

ต่อไปนี้คือสรุปสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยปี 2563 ของกรีนพีซ ประเทศไทย ในฐานะองค์กรรณรงค์สิ่งแวดล้อมที่ทำงานอย่างต่อเนื่องมาร่วมสองทศวรรษในประเทศไทย เราเห็นว่าสิ่งแวดล้อมไม่อาจแยกขาดจากผู้คน และเศรษฐกิจและการเมือง และย้ำในจุดยืนที่ว่า “ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน หากไร้ซึ่งความเป็นธรรมทางสังคม

วิกฤต Covid-19 ในสังคมที่เหลื่อมล้ำ

ไทยจัดเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มคนที่รวยที่สุด 1% ควบคุมความมั่งคั่ง(ที่มาจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและขูดรีดแรงงาน)เกือบ 67% ของประเทศ การศึกษาโดย Blackbox Research ในเดือนพฤษภาคม 2563 วัดความเชื่อมั่นของประชาชนจาก 4 ดัชนีคือภาวะผู้นำทางการเมือง ภาวะผู้นำองค์กร ชุมชนและสื่อ แม้ว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากและมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง แต่คะแนนการรับรู้ของสาธารณชนว่าด้วยการรับมือกับ Covid-19 ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นต้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากเผด็จการทหารมาเป็นกึ่งประชาธิปไตยที่ “โต้แย้งและตึงเครียด” องค์กรประเมินความเสี่ยงสากล(International Crisis Group)คาดการณ์ในเดือนสิงหาคม 2563 ว่า ขั้วอำนาจการเมืองไทยจะถูกเขย่าจากวิกฤตเศรษฐกิจหลัง Covid-19 และเสนอทางออก ‘แก้ไขรัฐธรรมนูญ’ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มคนที่หลากหลายในสังคม และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ความท้าทายรอบด้าน

ทั้ง Covid-19 ที่เผยโฉมความเหลื่อมล้ำ ภัยแล้งครั้งใหญ่ในรอบ 4 ทศวรรษ เหตุการณ์ไฟป่ารุนแรง(ภูกระดึง เทือกเขาบรรทัด เขาใหญ่ ดอยสุเทพ-ปุย)ในช่วงต้นปี 2563 และมลพิษฝุ่น PM2.5 ที่แม้ว่าจะลดลงในช่วงล็อกดาวน์ก็ได้กลับมาแผลงฤทธิ์ใหม่ คือความท้าทายรอบด้านต่อยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาล จนถึงปัจจุบัน เรายังไม่เห็นการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่สร้างความแข็งแกร่งและภูมิคุ้มกันเพื่อทำให้เรามีศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เริ่มจากจังหวัดสมุทรสาคร – ศูนย์กลางอุตสาหกรรมประมง และส่งผลสะเทือนต่อยักษ์ใหญ่อาหารทะเลอย่างไทยยูเนียน และเครือซีพี คือบททดสอบสำคัญของการปฏิรูปแผนบริหารแรงงานข้ามชาติซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย ดังเช่น บทเรียนจากสิงคโปร์

ดังนั้น หัวใจสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 อยู่ที่การให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเพื่อสนับสนุนเงินทุนและทรัพยากรของระบบสาธารณสุข และสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มคนที่อยู่แนวหน้าการระบาดของโรค เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยงต่อโรคอุบัติใหม่ การตรวจตราเฝ้าระวังร่วมกับชุมชนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ นี่คือทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นไปได้สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงและถือเป็นการปกป้องสุขภาพของกลุ่มประชากรเปราะบางที่สุดในสังคม และนี่ไม่ใช่เพียงการทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างพื้น ๆ หากคือการลงทุนที่สำคัญยิ่งเพื่อป้องกันโรคระบาดครั้งใหญ่หรือผลกระทบจากหายนะทางนิเวศวิทยาในอนาคต

การเจรจาผลประโยชน์อุตสาหกรรมและการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ : สามกรณีตัวอย่าง

#NoCPTPP

แทนที่รัฐบาลทบทวนข้อตกลงทางการค้าใด ๆ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดอาหารภายนอก และอิทธิพลของบรรษัทในการครอบงำระบบอาหารและเกษตรกรรม กลับเดินหน้าเพื่อเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP

กรีนพีซทำกิจกรรมฉายข้อความตามพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านข้อตกลง CPTPP

กระแสคัดค้านของประชาชนที่ขยายวงกว้าง นำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร หลังจากใช้เวลา 4 เดือน รายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าวได้ออกเผยแพร่สู่สาธารณะ ต่อมา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 พ.ย.2563 มีมติเห็นชอบและส่งความเห็นว่า “ไทยยังไม่ควรเข้าร่วม CPTPP จนกว่าจะมีการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน” ต่อคณะรัฐมนตรี การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 มีมติรับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และมอบหมายให้นายดอน ปรมัตรวินัย รองนายกรัฐมนตรีรับข้อสังเกตไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน และส่งความเห็นกลับมาที่กระทรวงการต่างประเทศภายในวันที่ 21 ธันวาคม 2563

ในวันเดียวกัน กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีโดยย้ำเตือนว่ารัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการทำงานตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ อย่างเคร่งครัด อย่าใช้กระบวนการทางรัฐสภา เพื่อซื้อเวลา หรือเพื่อเป็นกลยุทธลดทอนกระแสคัดค้านของประชาชน

เครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทยและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ร่วมเดินรณรงค์ไปยังศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่ออ่านแถลงการณ์และทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แสดงจุดยืนคัดค้านขอให้รัฐบาลยกเลิกการพิจารณาให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

#คัดค้านนำเข้าขยะพลาสติก

สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทยเตรียมล็อบบี้รัฐบาลให้เลื่อน “การแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ใน Roadmap การจัดการพลาสติก ในขณะที่ กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขอขยายการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศเนื่องจากใบอนุญาตนำเข้าจะหมดลงในวันที่ 30 กันยายน 2563  เครือข่ายภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์ #คัดค้านนำเข้าขยะพลาสติก เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ “ยืนยันมติเดิม”ของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อปี 2561 ที่ “กำหนดให้ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะหรือเศษพลาสติกและซากอิเล็กทรอนิกส์ 100% ภายในปี 2563”

#SaveChana

การคัดค้านของชุมชนที่ดำเนินต่อเนื่องอย่างเข้มข้นในปี 2563 เพื่อยุติ เมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตที่อำเภอจะนะ สงขลา ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกตกทอดจากยุค คสช.(นอกเหนือจากโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) เพื่อเปลี่ยนแผ่นดินและทะเลให้กลายเป็นฐานเศรษฐกิจของทุนปิโตรเคมีขนาดใหญ่ 2 กลุ่ม ผ่านการใช้อำนาจของ ศอ.บต. และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ได้มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อ “สู้ในวันที่มีโอกาสสู้

ผลการเจรจาข้อเรียกร้องกับรัฐบาลโดยสรุปคือ (1) คณะรัฐมนตรีได้ลงนามข้อเสนอแต่งตั้งอนุกรรมการศึกษาโครงการ (2) ยกเลิกการประชุมการเปลี่ยนแปลงผังเมืองจะนะของกรมโยธาธิการและผังเมืองในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 และ (3)ยุติการกระบวนการและเวที EIA และ EHIA รวดเดียว 4 ฉบับในวันที่ 6 มกราคม 2564 ที่ดำเนินการโดยบริษัท TPIPP กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นแถลงการณ์ปิดท้ายว่า จะจับตารัฐบาลอย่างใกล้ชิด และหากการดำเนินการไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง  ชุมชนพร้อมที่จะออกมาเคลื่อนไหวตามแนวทางสันติวิธีอย่างเต็มกำลังเพื่อ “ยกเลิก” โครงการที่ไม่ยั่งยืนและไร้ความชอบธรรมนี้ทันที

การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมหลัง Covid-19

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดตลอดทั้งปี 2563  ชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งต่างเผชิญกับผลพวงของนโยบายที่เอื้อต่อกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อม การต่อสู้เพื่อหยุดโครงการเหมืองถ่านหินที่อมก๋อย เชียงใหม่ และแม่ทะ ลำปาง เป็นหนึ่งภาพสะท้อนที่ชัดเจน แม้ว่าบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน)จะชี้แจงเบื้องต้นต่อจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ยุติโครงการว่า “บริษัทมีนโยบายที่เข้มงวดในการไม่รับซื้อวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตจากแหล่งที่ไม่ได้ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและกฎหมาย” และ “มีเป้าหมายลดการใช้ถ่านหินให้เป็นศูนย์(zero coal)ในอนาคต”

อนาคตที่ยั่งยืนของอมก๋อย แม่ทะ และพื้นที่ที่มีโครงการสัมปทานเหมืองแร่อื่นๆ ยังคงแขวนอยู่บนเส้นด้าย ตราบเท่าที่ “นโยบายที่เข้มงวด” ยังรับใช้ “ธุรกิจที่ดำเนินไปตามปกติ (business as usual)” และสิทธิชุมชนเป็นเพียง “ข้ออ้าง” เพื่อเดินหน้าตักตวงทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

การฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเน้นสร้างแรงจูงใจต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเคารพธรรมชาติ ดังนั้น ชุดแนวทางการแก้ปัญหาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ (MRC’s Hydropower Mitigation Guidelines) ชุดข้อเสนอเชิงเทคนิคล่าสุดของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่จะเป็นเครื่องมือของผู้พัฒนาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้า บริษัทที่ปรึกษาโครงการ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันแก้ไขผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าจึงเป็นได้เพียง “การฟอกเขียว(green wash)” ให้โครงการเขื่อนแม่น้ำโขง เช่น สานะคาม ปากแบง ปากลาย หลวงพระบาง ทั้งๆ ที่โครงการเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจแม้แต่น้อย

Covid-19 และวิกฤตปี 2563 บอกเราว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมจำเป็นต้องผนวก “สุขภาพหนึ่งเดียว(One Health)” ในกระบวนการตัดสินใจในระดับประเทศ เมืองและท้องถิ่น โดยตระหนักถึงข่ายใยสัมพันธ์สลับซับซ้อนระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม

การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมเรียกร้องให้เราทุกคนออกมาท้าทายผลประโยชน์ทับซ้อนที่ขัดขวางการเปลี่ยนผ่านที่ลุ่มลึกและหนักแน่น เราจะต้องยุติ “สิ่งที่ดำเนินไปตามปกติ” เราต้องฟื้นคืนจากวิกฤตโดยเข้มแข็งขึ้นและดีขึ้นมากกว่าที่เคยเป็นมา