แม้ว่านโยบายพลังงานของไทยยังคงล้มเหลวในการพัฒนาศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม (ข้อมูลจากรายงานการประเมินภาคพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Power Sector Scorecard report)) แต่ยังคงมีภาคส่วนประชาชนที่ยังมีเป้าหมายในการผลักดันพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นทั้งในด้านการติดตั้งเองและการผลักดันให้ภาครัฐนำไปพัฒนาเพิ่มเติมเป็นนโยบายด้านพลังงานเพื่อเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด

หลังจากที่กรีนพีซและกองทุนแสงอาทิตย์ได้เริ่มระดมทุนในโครงการ ‘โรงพยาบาลแสงอาทิตย์’ เราประสบความสำเร็จในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับ 7 โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ในปี 2562 โดยติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลละ 35 กิโลวัตต์ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลแห่งละ 200,000 บาทต่อปี รวมทั้งยังลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่

Solar Rooftop at Prapokklao Hospital in Thailand. © Roengchai  Kongmuang / Greenpeace
ภาพการเปิดตัวโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 7 โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถือเป็นอีกสถานที่สำคัญที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันเพื่อการเรียนการสอนรวมทั้งการสนับสนุนด้านวิชาชีพ จึงเป็นส่วนที่น่าสนใจที่จะสนับสนุนการสร้างอาชีพจากการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะวิทยาลัยการอาชีพ กรีนพีซและกองทุนแสงอาทิตย์จึงได้เริ่มโครงการ ‘โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์  (SOLAR GENERATION)’ เพื่อสร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ และติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศ ต่อจากโครงการโรงพยาบาลแสงอาทิตย์

“โรงเรียนแสงอาทิตย์ การจ้างงานและสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม”

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ที่ผ่านมาเรามักนึกถึงการติดตั้งโซลาร์แค่บนหลังคาบ้านเรือน แต่จริง ๆ แล้วสถาบันการศึกษามองเห็นโอกาสนี้มานานแล้ว และวางเป้าหมายกันว่าจะมีการสร้างอาชีพจากการปฏิวัติบนหลังคาโรงเรียนและมหาวิทยาลัย นี่คือเหตุผลที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาจึงควรติดตั้งโซลาร์เซลล์

แผงโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงเรียนบ้านปุน ตำบลสระเยาว์ อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ
  1. ลดภาระค่าไฟฟ้าที่สถานศึกษาต้องจ่าย
  2. โรงเรียนมีเงื่อนไขหนึ่งนั่นคือการเรียนการสอนเกิดขึ้นตอนกลางวัน การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เกิดขึ้นในตอนกลางวันจึงทำให้โรงเรียนใช้งานโซลาร์เซลล์ได้คุ้มค่า
  3. แผงโซลาร์เซลล์ช่วยลดความร้อนภายในอาคาร เพราะตัวแผงเมื่อวางอยู่บนหลังคาจะสร้างเงา (shade) ทำให้หลังคาไม่ได้โดนแสงอาทิตย์โดยตรง

การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ในโรงเรียนจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ารวมปีละ 5,098 บาทต่อปี ทำให้โรงเรียนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และนำงบประมาณไปจัดสรรบริหารเพื่อคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น

ความเป็นไปได้ของอาชีพด้านพลังงานหมุนเวียนในอนาคต

อาจารย์ชาลีให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันก็มีนายช่างหรือผู้ที่สนใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ผันตัวเองเข้ามาทำธุรกิจติดตั้งโซลาร์เซลล์ทำให้เกิดความต้องการการจ้างงานมากขึ้น โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องอย่างโรงเรียนอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค หรือแม้แต่ภาควิชาวิศวกรรมศาตร์เองมีการเตรียมคนตรงนี้มีการเตรียมแผนเพื่อผลิตกำลังคนออกมารองรับอย่างไร

ในส่วนของการผลิตกำลังคนออกมาเพื่อรองรับธุรกิจของโซลาร์เซลล์นั้นไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินไปและไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะนักศึกษาจากภาควิชาเทคนิคไฟฟ้าก็สามารถทำงานด้านนี้ได้เลย แต่ส่วนที่คิดว่าสำคัญมากๆเลยก็คือ “การสร้างงานใหม่” เราสามารถดึงคนที่ไม่ได้อยู่สายอาชีพนี้โดยตรงเข้ามาเรียนรู้การทำงาน ตรงนี้ต่างหากที่จะช่วยให้ประเทศเกิดการแข่งขันและมีตลาดแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งตอบโจทย์ในช่วงที่เราพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โรคระบาด

วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี วิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งแรกของไทย

โครงการ ‘โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์  (SOLAR GENERATION)’ เปิดตัวครั้งแรกที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ระดมทุนจากจากประชาชน เพื่อสร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยได้ไม่ต่ำว่า 60,000 บาทต่อปี หรือในระยะเวลามากกว่า 25 ปี ทางวิทยาลัยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 1,500,000 บาท ตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาที่กำลังเรียนและจะจบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและใกล้เคียงมีโอกาสในการสร้างอาชีพจากการลงทุนหรือทำงานติดตั้งโซลาร์เซลล์อีกด้วย

โซลาร์รูฟท็อปกำลังผลิต 10 กิโลวัตต์ บนหลังคาของวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี

ดร.ณัฐวุฒิ ไถ้เงิน ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี ได้ขอขอบคุณการบริจาคของประชาชนที่ทำให้วิทยาลัยสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งจะลดภาระค่าไฟฟ้าของทางวิทยาลัยและสามารถนำเงินส่วนดังกล่าวมาพัฒนาระบบการเรียนการสอนในวิทยาลัยได้ การเริ่มต้นติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปในครั้งนี้ เป็นการติดตั้งที่สถาบันการศึกษาแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งสามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาที่กำลังเรียนและจะจบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและใกล้เคียงมีโอกาสในการสร้างอาชีพจากการลงทุนหรือทำงานติดตั้งโซลาร์เซลล์อีกด้วย

ดร.ณัฐวุฒิ ไถ้เงิน ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี

SOLAR GENERATION อาสาสมัครเพื่อแสงอาทิตย์

ในปีนี้ (พ.ศ.2563) กรีนพีซได้เปิดรับอาสาสมัครที่สนใจในประเด็นพลังงานหมุนเวียนเข้าร่วม Workshop กับผู้เชี่ยวชาญด้านโซลาร์เซลล์และรวมตัวเป็นทีม Solar Generation เพื่อสนับสนุนกิจกรรม โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์ คุณกนกวรรณ มาร์แชล หรือคุณกวาง หนึ่งในอาสาสมัครของกรีนพีซ ที่สนใจในประเด็นพลังงานหมุนเวียนและสมัครเข้าร่วกิจกรรมกับกรีนพีซให้ความเห็นว่า 

“หลังจากที่ได้มาร่วมลงพื้นที่จริงใน โครงการ ‘โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์  (SOLAR GENERATION)’ ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ด้วยความที่เชื่อว่ากลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวันเยอะที่สุดคือคนทำงาน และ นักเรียนที่มาเรียนหนังสือ ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่น่าจะใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากและคุ้มค่าที่สุด รู้สึกดีใจและตื่นเต้นกับโครงการที่เกิดขึ้นมาก เราเองคิดว่าโรงเรียนในไทยควรมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นะ แล้วมันจะช่วยให้ประเทศของเราลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปได้อีก รวมทั้งลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ได้อีกด้วย”

นักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี ร่วมกิจกรรมทายแผ่นป้ายสัญลักษณ์ในแอพลิเคชั่นคุณภาพอากาศ

“เรายังมองอีกว่าพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพได้แน่นอน ตอนนี้เทรนด์ของรถไฟฟ้าที่ชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์กำลังมา ซึ่งการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยแนะนำดูเพราะฉะนั้น โครงการ ‘โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์  (SOLAR GENERATION)’ นี้ที่เน้นติดตั้งในวิทยาลัยอาชีวศึกษาก็เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาตระหนักถึงพลังงานแสงอาทิตย์และสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ ทำให้เห็นว่ายังมีช่องทางอาชีพอยู่ในภาคส่วนของพลังงานหมุนเวียนด้วย” 

“เราคิดว่าพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์เป็นนวัตกรรมที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ในประเทศไทยนี้ถือว่าเรากำลังเริ่มต้น ตลาดงานยังไม่อิ่มตัวเลยซึ่งเรามองว่าน้องๆนักศึกษาสามารถหางานในสายงานนี้ หรือทำบริษัทติดตั้งเองก็ยังได้เลยและเราเชื่อว่าโครงการโซลาร์เจเนอเรชั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะกระตุ้นให้โรงเรียนมีหลักสูตรในการติดตั้งและดูแลรักษาโซลาร์เซลล์”

คุณกนกวรรณ มาร์แชล อาสาสมัครกรีนพีซ ร่วมกิจกรรมการเปิดตัวโครงการ ‘โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์  (SOLAR GENERATION)’

นอกจากการขับเคลื่อนในฝั่งภาคประชาชน การผลักดันเชิงนโยบายให้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานหลักในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน โดยกรีนพีซมีข้อเสนอเกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนสถานศึกษา นั่นคือ “การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา 30,000 โรงเรียน” โดยเสนอแนวทางการดำเนินงานติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงเรียน ด้วยงบประมาณ 7,600 ล้านบาทต่อปี (3 ปี)

กรีนพีซรณรงค์ร่วมผลักดันรัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) และผลักดันมาตรการ Net Metering สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และยั่งยืน

ติดตามการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพที่เหลืออีก 6 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศเพื่อการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนและเป็นธรรมของทุกคนได้ในช่องทางของกรีนพีซและกองทุนแสงอาทิตย์

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม