รู้หรือไม่? ว่าไต้หวันเป็นบ้านของปะการังกว่า 1 ใน 3 จากสปีชี่ส์ปะการังทั้งหมดทั่วโลก สีสันฉูดฉาดของปะการังดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากต่างแดนพากันมาเยือนเกาะเล็ก เกาะน้อย รอบไต้หวัน แต่ทว่าปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ ได้ทำร้ายระบบนิเวศทะเลไปอย่างหนักหนาสาหัสสากรรจ์ และทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำปีแล้วปีเล่า อดีตเจ้าหน้าที่ระดมทุนของกรีนพีซ ซู เจียฉวน (Xu Jiaquan) หรือที่รู้จักกันในนาม “ชริมป์โรล” (Shrimp Roll) ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นครูสอนดำน้ำที่เกาะกรีนไอส์แลนด์ ได้มาเล่าประสบการณ์ให้พวกเราได้ฟัง ว่าเขาจะต้องเห็นปะการังเจอกับอะไรบ้างในปีที่ผ่าน ๆ มา

ถึงแม้ไต้หวันจะมีพื้นที่ขนาดย่อม แต่ก็มีระบบนิเวศของสัตว์ทะเลที่หลากหลาย และไต้หวันถึงขั้นได้รับฉายาว่าเป็น “อาณาจักรแห่งปะการัง” เมื่อนานมาแล้ว เนื่องจาก1 ใน 3 ของสายพันธุ์ปะการังทั้งหมดมีอยู่ในไต้หวัน และยังมีแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ใกล้กับเกาะเขิ่นติง เกาะกรีนไอซ์แลนด์ และเกาะกล้วยไม้ที่ไต้หวันอีกด้วย

ซู เจียฉวน หรือ “ชริมป์โรล” เป็นที่รู้จักกันในหมู่เพื่อนฝูงว่าเขารักการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ โดยก่อนหน้านี้เขาเป็นเจ้าหน้าที่ระดมทุนประจำกรีนพีซไต้หวัน และปัจจุบันเขาหันมาเป็นครูสอนดำน้ำอย่างเต็มตัว ปัจจุบันเขาสอนประจำอยู่ ณ เกาะกรีนไอส์แลนด์ เกาะเล็กๆ เขียวชอุ่มสมชื่อ

ชริมป์โรลได้มาเยือนเกาะกรีนไอส์แลนด์ครั้งแรกในปี 2543 และได้สัมผัสถึงความน่าตื่นตาตื่นใจของผืนน้ำที่มอบชีวิตให้กับระบบนิเวศทางทะเลในบริเวณนั้นตั้งแต่นั้นมา แต่เขาถึงกับต้องตกใจ เมื่อได้เห็นความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศท้องถิ่นที่ถูกทำร้ายจากอุณหภูมิโลกที่กำลังเดือด และการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างสาหัส

ภาพของแนวปะการังฟอกขาว ณ เกาะกรีนไอส์แลนด์ ในปี 2563

ชีวิตในฐานะของครูสอนดำน้ำ

“ผมชอบกิจกรรมทางน้ำมาโดยตลอดตั้งสมัยผมเล็กๆ ช่วง ม.ปลาย ผมเรียนว่ายน้ำ ต่อด้วยการเรียนโต้คลื่นอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วผมก็ได้รู้จักกับการดำน้ำ” ชริมป์โรลเล่าเรื่องย้อนวันวานของเขาให้เราฟัง

“ผมรักการท่องเที่ยว และการดำน้ำคือกิจกรรมที่ผมสามารถทำควบคู่ไปด้วยระหว่างเดินทาง ทะเลเป็นสถานที่ที่สวยงามมากๆ และมันคือความรู้สึกที่วิเศษมากๆ ที่ได้มีกิจกรรมทางท้องทะเลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผม”

ชริมป์โรลรักการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ และทำงานเป็นครูสอนดำน้ำ ณ เกาะกรีนไอส์แลนด์ ซึ่งทำให้เขาได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของปะการังในปีที่ผ่านๆ มา

ไม่นานต่อมา ชริมป์โรลก็ตัดสินใจย้ายจากเมืองหลวง ไปสู่เกาะกรีนไอส์แลนด์ “ หลายคนในเมืองหลวงทำงานหนักมากๆ อาทิตย์หนึ่งได้พักเพียงแค่วัน สองวัน ต่ออาทิตย์เท่านั้น พวกเขาจึงเลือกใช้เวลาว่างที่มีนอนพักอยู่ที่บ้าน”

ปลาการ์ตูนกำลังนอนพักท่ามกลางปะการัง

จนเขาได้มาลองดำน้ำที่ต่างประเทศในปี 2559 เขาก็ได้พบความจริงว่าสภาพแวดล้อมทางทะเลของไต้หวันนั้นโดดเด่นขนาดไหน

“ผมไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าไต้หวันสวยมากขนาดนี้ แต่พอได้ลองไปเที่ยวที่ประเทศอื่นๆ ผมก็ตระหนักได้ว่าไต้หวันมีสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงามมาก พื้นที่ของไต้หวันมีสัตว์ในธรรมชาติมากมายหลายชีวิตมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว”

โลกใต้ท้องทะเลกำลังตกอยู่ใต้ภัยอันตราย

ชริมป์โรลได้พบว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นิเวศวิทยาของท้องทะเลได้เปลี่ยนไปแล้ว

“ตอนที่ผมเริ่มดำน้ำแรกๆ อุณหภูมิของน้ำทะเลในช่วงหน้าหนาวจะอยู่ราวๆ 19 ถึง 20 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิน้ำกลับสูงขึ้น ตอนนี้ค่าอุณหภูมิน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 23 ถึง 24 องศาแล้ว”

อุณหภูมิน้ำทะเลช่วงฤดูร้อนก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่ไต้หวัน หลังจากการเกิดปะการังฟอกขาวในปี 2557 ก็ยังมีการฟอกขาวครั้งรุนแรงตามมาอีกสามระลอกในปี 2559, 2560 และ 2562 และในเดือนกรกฎาคมปีนี้ก็เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งร้ายแรงจนคุณอาจถึงขึ้นตั้งคำถามว่า “ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขนาดนี้มันเกิดขึ้นได้จริงๆ หรือนี่? ”

ชริมป์โรลบอกว่าเขาไม่เคยเจอกับเหตุการณ์ร้ายแรงขนาดนี้ด้วยตัวเองมาก่อน ก่อนหน้านี้เขาก็ได้เห็นภาพและข่าวต่างๆ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้นที่ไต้หวัน และไม่ได้คิดเลยว่าจะร้ายแรงได้มากขนาดนี้

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2563 เป็นต้นมา น่านน้ำทางใต้ของไต้หวันก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นต่อมาเรื่อยๆ ภาพถ่ายโดยกรีนพีซแสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นถึงพื้นที่ดำน้ำสามแห่ง ซึ่งลึกลงไปถึง 5 ถึง 10 เมตร ในพื้นที่เกาะเขิ่นติงตั้งแต่สิงหาคมปี 2563 ลึกลงไปอีก 18 เมตรใต้น้ำ อุณหภูมิสูงมากกว่า 28 องศา และอาจสูงมากที่สุดถึง 31 องศา

แต่การที่ปะการังฟอกขาวนั้น ไม่ได้ความว่าปะการังจะตายเสมอไป ความจริงแล้ว การที่อุณหภูมิสูงขึ้น ค่าความด่างของน้ำเปลี่ยน และความขุ่นของน้ำทำให้สาหร่ายทางชีวภาพย้ายที่อยู่ออกไปจากปะการัง พร้อมนำสีสันสวยงามของปะการังไปกับพวกมันด้วย เหลือเพียงไว้แค่ปะการังสีขาวโพลนโล่งโจ้ง ไร้ซึ่งสีสันจากที่เคยมี

“ความตายของเหล่าปะการังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างปุบปับ แต่มันมีช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอยู่ แต่เมื่อเห็นว่าการฟอกสีของปะการังค่อยๆ เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะช่วยปะการังได้ ณ ตอนนั้นเลย

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเห็นสุนัขจรจัดนอนเจ็บอยู่ข้างทาง คุณก็อาจจะเรียกหน่วยงานมาช่วยรักษาสุนัขตัวนั้นได้ และสุนัขก็อาจจะมีชีวิตรอดต่อไป แต่ในท้องทะเลมันต่างกัน การเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวมันเกิดจากหลายปัจจัยมาก และผมเองก็เสียใจมากๆ ที่จะต้องทนเห็นปะการังค่อยๆ ฟอกขาวไปโดยที่ผมทำได้แค่เฝ้ามอง พวกเขาจะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำทะเล”

ถึงแม้ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว จะไม่จบชีวิตปะการังโดยฉับพลัน แต่ก็ยังคงส่งผลร้ายแรงต่อระบบนิเวศและเป็นสัญญาณเตือนว่าปะการังกำลังตกอยู่ในภัยอันตราย ภาพถ่ายโดยกรีนพีซรูปนี้แสดงให้เห็นถึงปะการังในบริเวณเกาะเขิ่นติงกำลังฟอกขาว

อุณหภูมิน้ำที่เปลี่ยนแปลงส่งผลอย่างไรกับระบบนิเวศ?

ชริมป์โรลใช้การเปรียบเปรยเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น “สำหรับมนุษย์ทั่วๆ ไป อุณหภูมิภายนอกที่สูงขึ้นมาสองสามองศาก็ไม่ได้ทำให้รู้ร้อนรู้หนาวมากนัก แต่ถ้าหากอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นเพียงแค่สองสามองศาเท่านั้น คุณก็อาจจะล้มป่วยไปเลยก็ได้ แล้วคุณก็ต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น มันก็อาจจะเป็นภัยกับคุณได้ ปะการังก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน”

การจุดประกายความหวังที่จะปกป้องทะเลในหมู่นักเรียน

จุดประสงค์ที่ชริมป์โรลเข้าร่วมกรีนพีซแต่แรก เพราะเขาได้ทราบมาว่าสภาพแวดล้อมทะเลกำลังเปลี่ยนไป และเขาจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดยั้งมันให้ได้ ตอนนี้เขาก็เป็นครูสอนดำน้ำเต็มเวลา และยังคงมุ่งมั่นแบ่งปันความรู้ที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมต่อไป

ชริมป์โรลบอกว่านักเรียนหลายคนของเขาต่างชื่นชมความสวยงามของปะการัง และเขาก็อดไม่ได้ที่จะตอบนักเรียนของเขากลับไปว่า “มันเคยสวยกว่านี้มาก”

ชริมป์โรล(ด้านขวาสุดของภาพ) นำกลุ่มนักเรียนดำน้ำ และทำให้พวกเขาได้รู้จักกับความงดงามของใต้ท้องทะเลไต้หวัน พร้อมแบ่งปันความรู้เพื่อช่วยรักษามันเอาไว้

ชริมป์โรลยังได้กล่าวเอาไว้ด้วยว่า หลายคนไม่เคยได้เห็นถึงความสวยงามแท้จริงของปะการัง และไม่ได้นึกว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิกับปะการังฟอกขาวมีความเชื่อมโยงกัน แต่เขาก็จะไม่หยุดอธิบายเรื่องนี้ให้ผู้คนได้ฟัง

“ถ้าหากไม่ได้มีการตระหนักถึงธรรมชาติมากนัก เราก็ขยับต่อไปข้างหน้าไม่ได้ เราต้องเริ่มพูดถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมให้ไวที่สุด จะเริ่มจากเรื่องของขยะที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ก่อนเลยก็ได้

เกาะกรีนไอส์แลนด์จัดการกับปริมาณขยะมากขนาดนี้ได้ไม่ไหวหรอกครับ สุดท้ายขยะจากกรีนไอส์แลนด์ก็จะลอยกลับไปที่ผืนดินไต้หวัน รอการจัดการ แต่ขยะพื้นที่ก็จะได้รับการดูแลจัดการก่อนเสมอ แล้วสุดท้ายขยะที่มาจากเกาะเล็กๆ ต่างๆ ก็ถูกปล่อยทิ้งเอาในทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

และนี่เป็นสาเหตุว่าทำไมชริมป์โรลถึงแนะนำให้นักดำน้ำทุกคนลดปริมาณขยะลงมากเท่าที่จะทำได้ ยกตัวอย่างเช่นเวลาซื้อเคร่ืองดื่มหรือขนมจากร้านเล็กๆ ให้นำถ้วยหรือชามใส่มาให้ร้านใส่อาหารเครื่องดื่มให้แทน

ชริมป์โรล(คนกลาง) แนะนำให้นักดำน้ำลดปริมาณขยะที่หลีกเลี่ยงได้ลง เพื่อช่วยลดการก่อมลพิษให้กับทะเลและการเพื่อเป็นการปกป้องเกาะกรีนไอส์แลนด์

ปกป้องทะเลด้วยการเริ่มลงมือทำด้วยตัวเอง

ชริมป์โรลได้กล่าวเอาไว้ว่า เหตุผลต่างๆ นานา เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงของท้องทะเลนั้นซับซ้อนมากๆ และแก้ด้วยน้ำมือของคนไม่กี่คนลงมือทำแบบตัวใครตัวมันหรือใช้ทางแก้ปัญหาหนึ่งเดียวไม่ได้อยู่แล้ว แต่เราทุกคนสามารถร่วมชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและร่วมปกป้องท้องทะเลได้

ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการเลิกใช้พลังงานถ่านหินซึ่งผลิตคาร์บอนมหาศาล การร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การผลักดันให้รัฐบาลเริ่มใช้นโยบายการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแบ่งปันความรู้ให้เครือญาติหรือเพื่อนฝูง หรือการสนับสนุนโปรเจ็คด้านการจัดการภาวะโลกร้อนและพลังงานของกรีนพีซ ไม่ว่าจะการกระทำไหนที่คุณเลือก ล้วนช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้

ชริมป์โรลได้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมกำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป จึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสิ่งแวดล้อม เขาจึงเป็นเจ้าหน้าที่ระดมทุนและผู้ให้ความรู้ออกบูธประจำกรีนพีซ และบอกเล่าเรื่องราวปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นให้ผู้คนได้รับฟัง

ชริมป์โรลทิ้งท้ายเอาไว้ว่า 

“สิ่งแวดล้อมที่คุณได้เห็นตอนนี้สวยงามมากๆ และถ้าหากเรายังอยากเห็นภาพสวยงามแบบนี้ต่อไปในอนาคต ได้สัมผัสมันต่อไปเรื่อยๆ เราต้องคำนึงว่าเราจะทำอย่างไรให้เรารักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้ให้ได้ พฤติกรรมของพวกเราอาจใช้ทรัพยากรไปมากกว่าที่เราคิด และมันมีราคาที่จะต้องจ่ายสำหรับสิ่งที่เราทำไป ในช่วงชีวิตของเรา เราควรคิดคำนึงว่าเราสามารถร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง แทนการพร่ำบ่นว่าสิ่งแวดล้อมนั้นเปลี่ยนไป”

เราหวังว่าวันหนึ่ง ด้วยความช่วยเหลือจากทุกน้ำแรง ปะการังจะกลับมางดงามตระการตาอย่างที่เคยเป็น และท้องทะเลจะสวยงามด้วยหลากชีวิตใต้น้ำอีกครั้ง

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม