“การระดมทุนคือศิลปะการเรียนรู้ที่อ่อนโยนถึงความสุขของการให้”

คำกล่าวข้างต้นสะท้อนถึงหนึ่งในภารกิจขององค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระอย่างกรีนพีซและองค์กรไม่แสวงผลกำไรต่างๆ ที่ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์สาธารณะโดยใช้ทรัพยากรทางการเงินจากการบริจาคของประชาชน

ในโอกาสครบรอบ 20 ปี กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีโอกาสพูดคุยกับคุณเสม วรินทร ปุรณสินธ์ อดีตเจ้าหน้าที่ระดมทุนภาคสนามที่ร่วมขับเคลื่อนงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมมากับองค์กรอย่างยาวนาน ถึงการทำงานระดมทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน คุณเสมเป็นหัวหน้าสำนักงานระดมทุนส่วนภูมิภาค ดูแลการระดมทุนในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและพื้นที่เชียงใหม่ 

งานที่ทำในปัจจุบันเป็นงานแบบไหน?

ผมมีหน้าที่ดูแลทีมระดมทุนภาคสนาม เราเชื่อมั่นว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่กรีนพีซขับเคลื่อนนั้นมีความสำคัญกับทุกคน และเราเล่าเรื่องราวเหล่านี้กระจายออกไปมากขึ้นนำไปสู่การสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชน

จุดเริ่มต้นของการเป็นนักระดมทุนภาคสนาม

ผมเติบโตในสังคมเมืองที่กรุงเทพฯ เรียนด้านรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง จริงๆ แล้วไม่ได้คิดตั้งแต่แรกว่าจะพุ่งเป้ามาในงานระดมทุน ช่วงที่เรียนหนังสืออยู่ ผมยังไม่มีรายได้พอที่จะบริจาค แต่มีโอกาสได้คุยกับนักระดมทุนภาคสนามของกรีนพีซ และชักชวนมาทำงาน ผมจึงคุยกับตัวเองว่า ถ้าเรียนจบแล้วจะมาลองทำงานนี้ดู

ในช่วงนั้น กรีนพีซทำงานรณรงค์ประเด็นมะละกอจีเอ็มโอ มีปฏิบัติการตรงเข้าไปถอนต้นมะละกอจีเอ็มโอเพื่อป้องกันมลพิษทางพันธุกรรม มีกิจกรรมประท้วงที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ โดยใช้รถบรรทุกขนมะละกอไปเทหน้ากระทรวง เพื่อสื่อถึงผลกระทบของจีเอ็มโอ รวมถึงการรณรงค์เรียกร้องให้มีการติดฉลากแจ้งผู้บริโภคว่าอาหารนี้มีส่วนผสมของจีเอ็มโอ ทำให้คนเริ่มตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ออกระดมทุนครั้งแรก กลัวมั้ย?

เอาจริงๆ คนที่ไม่เคยทำงานลักษณะนี้ก็ค่อนข้างหวั่นใจนะครับ ผมโชคดีตรงที่ว่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัยได้ทำงานหลายอย่าง มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ดี แต่การทำงานระดมทุนไม่เหมือนกันเสียทีเดียวครับ ช่วงที่ผมทำงานที่ร้านอาหาร คนที่เป็นลูกค้าจะเดินเข้ามาหาเรา ส่วนการทำงานงานระดมทุน เราจะต้องไปทักคนที่ไม่รู้จัก วันแรกๆที่เริ่มทำงานผมก็ประหม่า 

สิ่งที่สำคัญคือผมถามและตอบตัวเองเสมอ ว่าเรามาทำงานที่นี่ทำไม สรุปคือ ความกลัวเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง ผมทำงานที่กรีนพีซเพราะเห็นว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญและอยากเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟังต่อ ทำให้ผมหายกลัว หลังจากนั้นก็ไม่กลัวแล้ว

นักระดมทุนกรีนพีซ ในมุมมองของคุณเสม

ผมอยากให้คนเข้าใจว่ากรีนพีซเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระ กรีนพีซไม่รับเงินจากรัฐบาล บริษัท และพรรคการเมืองต่างๆ การบริจาคมาจากบุคคลทั่วไป เป้าหมายของกรีนพีซคือปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์สาธารณะ เราอาจรู้สึกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่คนรุ่นเรา ผลกระทบเกิดในวงกว้างต่อลูกหลาน ผมคิดว่าไม่ยุติธรรมกับพวกเขา

เจ้าหน้าที่ระดมทุนภาคสนามของกรีนพีซ พูดคุยถงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมกับประชาชน

ผมได้รับประสบการณ์มากมายจากการเป็นนักระดมทุนของกรีนพีซ สิ่งที่เป็นหัวใจคือ ทุกครั้งที่ท้อก็จะย้อนถามตัวเองเสมอว่าทำไมเราอยู่ที่กรีนพีซ คำตอบคือผมต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม อยากให้คนตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว 

เป็นนักระดมทุนภาคสนาม เหนื่อยไหม?

เหนื่อยครับ อย่างที่ผมว่า ช่วงแรกๆ ผมกลัว ต้องออกไปคุยกับผู้คนที่ไม่รู้จักทุกวัน หลายคนไม่ได้รู้สึกอยากจะคุยกับคนแปลกหน้าที่เข้ามาทักเขาทุกวันหรอก ช่วงที่ผมทำงานระดมทุนภาคสนาม เราต้องทักคนแปลกหน้าเยอะมากในแต่ละวัน มีคนหยุดคุยบ้างไม่หยุดคุยบ้าง คนจะหยุดคุยจะน้อยกว่ามาก ผมต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น 

แม้จะเหนื่อย ถ้าเราทำงานอย่างมีความสุข ไม่ลืมว่าสิ่งที่เราทำคือการบอกต่อเรื่องราว เพียงเล่าเรื่องราวให้คนแค่ 1 คน ก็ถือว่าหายเหนื่อย คือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผมเดินหน้าต่อ

หัวใจของนักระดมทุน

“การออกไประดมทุนทุกครั้ง เราไม่ได้ออกไปเพียงขอรับบริจาค แต่เล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมให้คนอื่นรับรู้” 

นี่คือหัวใจที่ถูกส่งทอดต่อไปยังนักระดมทุนภาคสนามของกรีนพีซ แม้การทำงานของเรามุ่งมั่นให้คนมาบริจาคให้กรีนพีซเพิ่มมากขึ้น  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือหัวใจของเราว่าเราทำไปเพื่ออะไรและเพื่อใคร ถ้าเราต้องการการบริจาคมากๆ อย่างเดียว แต่เราไม่รู้ว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร แสดงว่า เราไม่เข้าถึงหัวใจของการระดมทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม นี่แหละที่จะทำให้เราแตกต่าง

การเป็นองค์กรอิสระของกรีนพีซ พิเศษอย่างไร?

ความเป็นอิสระทางการเงินของกรีนพีซทำให้เราทำงานอย่างเป็นอิสระ หากรัฐบาลใด หรือบริษัทไหนทำลายสิ่งแวดล้อม เราก็พูดได้ วิพากษ์วิจารณ์ ท้วงติงหรือประท้วงได้โดยไม่ต้องเกรงใจ ในฐานะเจ้าหน้าที่ระดมทุนคนหนึ่ง ผมมองว่า เราพูดได้ว่า กรีนพีซสนับสนุนโดยประชาชน การทำงานรณรงค์ของเราขับเคลื่อนด้วยภาคประชาชน ผู้ที่บริจาคให้กรีนพีซ สามารถเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่ไม่ได้เพื่อกลุ่มใดเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง การบริจาคเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม สุดท้ายก็ย้อนกลับไปตอบแทนเราทุกคน

กรีนพีซไปเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุการณ์ทำลายสิ่งแวดล้อม เปิดโปงอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนลงมือทำเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิในการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัย สิทธิการเข้าถึงน้ำสะอาด หรือแม้กระทั่งสิทธิในการสูดอากาศบริสุทธิ์

ASEAN: No Space For Waste Activity in Bangkok. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
ตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกับนักกิจกรรม อาสาสมัครจากมูลนิธิบูรณะนิเวศและกรีนพีซรวมตัวกันพร้อมป้ายข้อความ “อาเซียนไม่ใช่ถังขยะโลก” เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐบาลไทยในฐานะประธานอาเซียนเพื่อเรียกร้องให้บรรดาผู้นำประเทศในอาเซียน10 ประเทศ ประกาศยุติการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ © Wason Wanichakorn / Greenpeace

ชั่วโมงประทับใจ

ช่วงที่ทำงานระดมทุนในจังหวัดบุรีรัมย์ มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งหยุดคุยกับพวกเรา เขารู้สึกอินกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและบริจาคให้เรา เหตุผลที่เขาบริจาคไม่มีอะไรซับซ้อน ในเมื่อมีองค์กรอิสระมาระดมทุน ก็คือการนำเงินบริจาคไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้ว่าตัวเขาเองจะป่วยอยู่ต้องใช้เงินในการรักษาตัว แต่ก็อยากจะช่วยคนอื่น และเชื่อว่าเงินที่ให้ไปจะช่วยไปถึงคนรุ่นหลังจากนี้ เขาเองมีลูกเล็กๆอยู่ที่บ้านไม่อยากให้ลูกต้องมาเจอสิ่งแวดล้อมแย่ๆเหมือนกับที่เขาเจอทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่เราประทับใจ 

ผมคิดว่า งานระดมทุนของกรีนพีซไม่ได้บอกว่าเงินสำคัญแค่ไหน แต่ทัศนคติของการลงมือทำ(ในที่นี้คือการบริจาค)เพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ การได้พบปะผู้คนทำให้เราไม่เคยเหนื่อย ถ้าเหนื่อย เราจะรำลึกถึงความประทับใจนี้ ความประทับใจที่ทำให้เรารู้ว่า คุณค่าของการทำงานระดมทุนของเรามีค่ามากกว่าเงินบริจาค คือการที่ได้ปลูกเมล็ดพันธุ์ของการลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไว้ในใจของผู้คน

ความพิเศษของนักระดมทุนภาคสนามของกรีนพีซ

สำหรับนักระดมทุนภาคสนามกรีนพีซ เราเปิดหัวใจออก งานของนักระดมทุนไม่ได้คุกคามหรือหยุดให้คนมาร่วมบริจาคให้เป็นไปตามเป้าหมาย เราต้องการเห็นผู้คนบริจาคเงินด้วยหัวใจ และทำให้เห็นว่าการบริจาคเงินนั้นเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

ไม่อยากให้ทุกคนกลัวเจ้าหน้าที่ระดมทุน พวกเราเข้าหาคนทุกคนอย่างอ่อนน้อม ยิ้มแย้ม มีสัมมาคารวะ นี่เป็นหลักการพื้นฐานในการทำงานของเรา

แล้วในฐานะของพลเมือง เรามีมุมมองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ในฐานะพลเมือง เรามองว่าทุกคนก็ต้องการได้รับสวัสดิการที่ดีจากภาครัฐ แค่สิทธิขั้นพื้นฐานแม้กระทั่งการสูดอากาศบริสุทธิ์เพื่อหายใจ การเข้าถึงน้ำสะอาด เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พลเมืองควรจะได้รับและภาครัฐจำเป็นต้องดูแล มีหน่วยงานของรัฐมากมายที่มีหน้าที่ดูแลหรือแม้กระทั่งมีกฎหมายเพื่อควบคุมดูแลไม่ให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่คำถามก็คือหน่วยงานเหล่านี้ได้ทำหน้าที่คอยดูแลกำกับอย่างดีหรือเปล่า 

กรีนพีซ ประเทศไทยทำงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมมา 20 ปีแล้ว ถ้าให้เลือกความสำเร็จของกรีนพีซสักเรื่อง อยากเล่าเรื่องอะไร?

เรื่องราวของการปกป้องกระบี่ #ProtectKrabi ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ทำให้เราเห็นว่าคนจำนวนมากให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นในกระบี่ พื้นที่ชุ่มน้ำ ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ความหลากหลายของพืชและสัตว์ หรือแม้กระทั่งพะยูนจะหายไป

Local Fishermen Calls for Protection of Krabi in Thailand. © Greenpeace
Hundreds of fishermen on boats gather at Krabi river to unfurl a giant banner with the message “Protect Krabi” in the mangroves area of Krabi’s river estuary. The local fishermen are taking action against a coal-fired power plant project. © Greenpeace

สำหรับกรีนพีซ เจ้าหน้าที่ระดมทุนภาคสนามคือกลุ่มคนที่นำเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมไปเป็นบทสนทนากับผู้คนบนท้องถนน และเป็นทีมหลักในการระดมทรัพยากรทางการเงินจากผู้คนอย่างกว้างขวางและหลากหลายเพื่อขับเคลื่อนงานรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อม 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานระดมทุนของกรีนพีซ

ร่วมบริจาคให้กรีนพีซผ่านช่องทางดังนี้

1.ผ่านเจ้าหน้าที่ระดมทุนที่บูทรับบริจาคของกรีนพีซ สามารถดูสถานที่รับบริจาคได้ที่นี่ https://www.greenpeace.org/thailand/fundraising/ddc/

2.บริจาคผ่านช่องทางออนไลน์

หากต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่อีเมล [email protected] เบอร์โทรศัพท์ 02 357 1921 ต่อ 120 และ 140 หรือ 061 401 6711 ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-17.30 น. (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม