คณะกรรมาธิการแห่งยุโรปมีเจตนารมณ์ให้โรงงานในสหภาพยุโรปที่ผลิตและส่งออกสารเคมีร้ายแรงซึ่งถูกยกเลิกการใช้แล้วในยุโรปยุติการผลิตสารเคมี

คนงานฉีดสารกำจัดศัตรูพืชในไร่ชาในรัฐอัสสัมประเทศอินเดีย อินเดียเป็นหนึ่งในหลายสิบประเทศที่สหภาพยุโรปส่งออกสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกยกเลิกการใช้งานในประเทศของตนเองไปขาย

การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากการสอบสวนของ Unearthed และ Public Eye เปิดเผยว่าผู้ผลิตในสหภาพยุโรปส่งออกสารกำจัดศัตรูพืชต้องห้ามหลายหมื่นตัน โดยการขนส่งส่วนใหญ่มีไว้สำหรับประเทศที่ยากจนกว่า ซึ่งการใช้สารเคมีอันตรายก่อให้เกิดความเสี่ยงสูง

นโยบายด้านสารเคมีที่คณะกรรมาธิการนำมาใช้ ระบุว่า “สหภาพยุโรปจะเป็นผู้นำ โดยยึดพันธสัญญาระหว่างประเทศเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าจะไม่มีสารเคมีอันตรายที่ถูกแบนในยุโรปถูกผลิตขึ้นเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นอีก รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหากจำเป็น”

ในขณะที่ตอนนี้สหราชอาณาจักรเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของสารกำจัดศัตรูพืชต้องห้ามในยุโรป ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้จะไม่ถูกใช้กับสหราชอาณาจักร เนื่องจากนโยบายนี้มีผลบังคับใช้หลังจากเหตุการณ์ Brexit (การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร)

เจตนารมณ์นี้เป็นการตอบรับตามคำแถลงการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในช่วงฤดูร้อนนี้ ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศที่ร่ำรวยยุติการกระทำที่ “น่าตำหนิ” ในการส่งออกสารเคมีที่ต้องห้ามในประเทศของตนไปยังประเทศที่ยากจนกว่าและมีกฎหมายที่อ่อนแอกว่า

Baskut Tuncak อดีตผู้รายงานพิเศษด้านสารพิษของสหประชาชาติที่ออกแถลงการณ์ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา กล่าวว่า “นโยบายใหม่นี้ของคณะกรรมาธิการเป็น ‘การพัฒนาที่น่ายินดี’ โดยคณะกรรมาธิการแห่งยุโรป เพื่อจัดการกับปัญหาความไม่เป็นธรรมที่มีมานาน และรักษาความเป็นผู้นำในเรื่องภัยคุกคามที่เป็นพิษต่อสิทธิมนุษยชนอย่างที่เป็นมาตลอด” เขากล่าวเพิ่มอีกว่า “เป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกภายนอกสหภาพยุโรปควรทราบ”

การสอบสวนล่าสุดของ Unearthed และ Public Eye พบว่า ในปี 2018 ประเทศในสหภาพยุโรปวางแผนในการส่งออกขายสารกำจัดศัตรูพืชที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่ถูกยกเลิกการใช้งานในสหภาพยุโรปเองกว่า 81,000 ตัน

ในบรรดาสารเคมีเกษตรต้องห้ามที่ถูกส่งออกหลายตันจากท่าเรือของสหภาพยุโรป เป็นสารเคมีที่หน่วยงานของสหภาพยุโรปพบว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ทำให้ระบบสืบพันธุ์ล้มเหลว การรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ หรือมะเร็ง และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน หรือการเป็นพิษต่อปลา นก สัตว์ เลี้ยงลูกด้วยนม หรือผึ้ง

ผู้ส่งออกมากกว่า 20 ราย และ 11 ประเทศแตกต่างกัน มีส่วนร่วมในการค้านี้

การสอบสวนดังกล่าวกลายเป็นข่าวดังระดับชาติในประเทศผู้ส่งออกสารกำจัดศัตรูพืชที่ต้องห้ามรายใหญ่ของสหภาพยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยมและสเปน

การตรวจสอบร่วมกันก่อนหน้านี้โดย Unearthed และ Public Eye ซึ่งถูกเผยแพร่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่า มีรายชื่อสารเคมีที่ถูกห้ามใช้ในประเทศของตนเองเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกำไรมากที่สุดในธุรกิจเคมีเกษตรของยุโรปขนาดใหญ่

รวมถึงสารกำจัดวัชพืชที่ผลิตโดย Bayer ประเทศเยอรมนี ที่มี อะซีโตคลอร์ (acetochlor) ซึ่งถูกห้ามใช้ในสหภาพยุโรปเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนของน้ำดื่มและความเป็นพิษต่อพันธุกรรม รวมถึงพาราควอต สารกำจัดวัชพืชที่ถูกห้ามใช้มานาน ผลิตโดยซินเจนทา (บริษัทยักษ์ใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์) ที่โรงงานของพวกเขาในเมืองฮัดเดอร์สฟิลด์ ประเทศอังกฤษ

นโยบายด้านสารเคมีของคณะกรรมาธิการได้รับการอธิบายว่าเป็นส่วนสำคัญของแผนปฏิบัติการ European Green Deal โดยเอกสารนโยบายระบุไว้ว่า “ มลพิษทางเคมีได้รับการยอมรับว่าเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็ก และในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง”

แผนปฏิบัติการถูกเผยแพร่ควบคู่ไปกับนโยบายดังกล่าว กำหนดให้ปี 2566 เป็นปีที่เริ่มดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่าสารเคมีอันตรายที่ต้องห้ามในสหภาพยุโรปจะไม่ถูกผลิตเพื่อการส่งออก

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะไม่ยับยั้ง บริษัทสัญชาติยุโรป จากการขายสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกห้ามใช้ในสหภาพยุโรป หากสารกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้นถูกผลิตนอกสหภาพยุโรป