เหตุเพลิงไหม้บริเวณถังเก็บผลิตภัณฑ์ (เม็ดพลาสติก) และมีควันดำพวยพุ่งออกมาจากโรงงานของบริษัท เอ็ชเอ็มซีโปลีเมอส์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา โดยมีการประกาศภาวะฉุกเฉินระดับ 1 ของโรงงาน ในเวลาต่อมา ทีมระงับเหตุฉุกเฉินได้ดำเนินการตัดแยกระบบและดำเนินการกำจัดสารไฮโดรคาร์บอนซึ่งเป็นสารต้นทางโดยส่งไปเผาที่หอเผา

แม้ว่าเบื้องต้นไม่มีการรายงานถึงผู้บาดเจ็บ การปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมและผลกระทบอื่นๆ แต่เหตุเพลิงไหม้นี้คือหนึ่งในอุบัติภัยที่ต้องจารึกลงในบัญชีรายชื่ออันยาวเหยียดของความเสี่ยงภัยทางอุตสาหกรรมในเขตอีสเทอร์นซีบอร์ด หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor) อีกครั้งหนึ่ง

ในช่วงหลายปีที่ผ่าน มีข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนให้หน่วยงานรัฐใช้ทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ(Pollutant Release and Transfer Registers หรือ   PRTR) เป็นเครื่องมือในการจัดการกับมลพิษและอุบัติภัยสารเคมี จนในที่สุด กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA) ได้มีโครงการนำร่อง PRTR ในจังหวัดระยองเป็นแห่งแรกเพื่อเผยแพร่ข้อมูลการจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ สู่สาธารณชน ลดและแก้ไขปัญหาการปลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทโรงงานอุตสาหกรรม และการติดตามตรวจสอบมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ

การดำเนินการให้มี PRTR ยังเป็นไปตามแผนการดำเนินงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการสารเคมีและมลพิษทั้งในและระหว่างประเทศ เช่น แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550-2554) แผนปฏิบัติการที่ 21 (Agenda 21) อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs) ยุทธศาสตร์การดำเนินงานระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี (Strategic Approach to International Chemicals Management : SAICM)

ขณะเดียวกัน หลักไมล์ที่สำคัญคือ การขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วยทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR)โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ.2558 แม้ว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะเห็นด้วย แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีวี่แววว่าภาครัฐจะผ่านกฏหมายนี้ออกมา

เรามาดูกันว่าทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ(PRTR) ของประเทศไทยที่เหมือนจะดูดีนั้น ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

ทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ(PRTR)

ปี 2557

เกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วเป็นกลิ่นเหม็นรุนแรงทำให้ชุมชนในเขตอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ต้องอพยพออกจากพื้นที่ (ในวันที่ 7 และ 9 มิถุนายน 2557) และเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในบริษัทผลิตปิโตรเคมี IRPC ที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลเชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง เราต้องการรู้ว่า PRTR ที่จัดทำขึ้นมาเป็นโครงการนำร่อง จะช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษจากทั้งแหล่งกำเนิดในอำเภอบ้านฉางและบริษัทผลิตปิโตรเคมี IRPC ได้หรือไม่อย่างไร

ในเวลานั้น เราคลิกไปที่ http://prtr.pcd.go.th หน้าแรกของเว็บไซต์จะประกอบด้วยเมนูต่างๆ ได้แก่ หน้าหลัก PRTR ประเทศไทย แหล่งกำเนิดมลพิษ รายงานปลดปล่อยมลพิษ แผนที่ PRTR ตลอดจนรายการสารเคมี 107 รายการ กำหนดขึ้นตามระเบียบ PRTR ให้โรงงานหรือสถานประกอบการต้องรายงานข้อมูลการปลดปล่อย ดังภาพด้านบน

เมนูที่เป็นประโยชน์ คือ แผนที่ PRTR (prtr.pcd.go.th/location.php) เมื่อคลิกเข้าไปจะแสดงหน้ารายงานการปลดปล่อยมลพิษโดยมีเมนูค้นหา 1) ปีที่เก็บข้อมูล 2) การปลดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมดิน น้ำและอากาศ 3) การเคลื่อนย้ายมลพิษในรูปของของเสีย น้ำเสีย 4) รายการสารเคมี 107 รายการ โดยเราต้องเลือกทีละรายการ และ 5) ทำเลที่ตั้ง (จังหวัดและอำเภอ) ดังภาพด้านบน

เมื่อเราคลิกปุ่มค้นหา เว็บไซต์จะแสดงผลเป็นแผนที่ซึ่งระบุขอบเขตสีแดงบ่งบอกถึงพื้นที่ที่มีการรายงานการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ เมื่อคลิกลงไปบนจุดใดจุดหนึ่งในพื้นที่สีแดง ปริมาณรวมของมลพิษที่เราต้องการค้นหาก็จะแสดงให้เห็นโดยมีหน่วยเป็นกิโลกรัม โดยเราสามารถค้นหาปริมาณของสารเคมี 107 รายการได้ในพื้นที่ดังกล่าว ดังภาพด้านบน

อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถระบุหาต้นตอของแหล่งกำเนิดสารเคมีรั่วไหลส่งกลิ่นเหม็นที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตอำเภอบ้านฉางจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ได้ และในกรณีของการระเบิดในโรงงานปิโตรเคมี IRPC ข้อมูลที่อยู่บน PRTR เป็นข้อมูลในปี 2554 ซึ่งไม่สะท้อนสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปี 2557

ปี 2563

แม้ว่าจะมีการปรับปรุงหน้าตาและเนื้อหาให้ทันสมัยขึ้น สิ่งที่ต้องมีแต่ไม่มีใน http://prtr.pcd.go.th คือ รายงานการใช้สารเคมีแต่ละชนิดและปริมาณทั้งหมดของการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง ส่วนข้อมูลเท่าที่มีอยู่นั้นเป็นรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษประจำปี 2556, 2557, 2558 ของจังหวัดระยองเท่านั้น

ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะมีข้อมูลการใช้สารเคมี การปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษจากโรงงานของบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ ซึ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณถังเก็บผลิตภัณฑ์(เม็ดพลาสติก) ที่สาธารณชนเข้าถึงหรือไม่?

การเข้าถึงข้อมูลมลพิษอุตสาหกรรม

หัวใจสำคัญของ PRTR คือสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Right to Know) แนวคิดในการจัดทำ PRTR เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ระเบิด และสารเคมีรั่วที่โรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ที่เมืองโภปาล อินเดียใน พ.ศ. 2527 และสารเคมีรั่วไหลในรัฐเวสท์เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา คนงานและชุมชนที่มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้เคียงต่างเรียกร้องให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายให้กับสาธารณชน

หลายประเทศทั่วโลกออกกฎหมายและนำเอา PRTR ไปประยุกต์ใช้ ประโยชน์ของ PRTR เป็นที่ยอมรับ ทั้งจากหน่วยงานรัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ในการเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ การติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน การใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การลดการปล่อยมลพิษจากโรงงาน ความปลอดภัยด้านสารเคมีของผู้ประกอบการและคนงาน การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษร่วมกับหน่วยงานรัฐ การเข้าถึงข้อมูลการจัดการสารเคมีเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันตนเองจากมลพิษ เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับพนักงานดับเพลิง โรงพยาบาล ตำรวจ หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี

สังคมไทยเดินทางผ่านวิกฤตการพัฒนาอุตสาหกรรมมาหลายทศวรรษแล้ว ทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษควรต้องทำให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นธรรม และการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม