ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมพลาสติกใช้ประโยชน์จากความหวาดกลัวเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 เพื่อชักจูงให้ผู้คนใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมากขึ้น กรีนพีซได้ออกรายงานที่มีชื่อว่า Reusables Are Doable! (การนำกลับมาใช้ซ้ำเป็นสิ่งที่ทำได้จริง!) เพื่อนำเสนอทางออกที่มีอยู่ทั่วโลก ในการนำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการเติม (Refill) ซึ่งระบบดังกล่าวยังทำให้การนำพลาสติกมาใช้มีความปลอดภัยระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการทำระบบแบบไร้สัมผัสที่มีการดูแลรักษาความสะอาดปราศจากเชื้อโรคด้วยวิธีการเติม (Refill)

Smart Online Groceries Shopping in China. © Greenpeace / Wendi Wu
© Greenpeace / Wendi Wu

ระบบการ Reuse และ Refill กำลังกลายเป็นเทรนด์โลก

มีการนำระบบใช้ซ้ำ (Reuse) และการเติม (Refill) กลับมาใช้กันมากขึ้นในปัจจุบัน และบางส่วนก็มีการเติบโตขึ้นแม้ว่าจะอยู่ในช่วงการระบาดก็ตาม

Loop ถือได้ว่าเป็นบริษัทที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด โดยบริษัทฯ จัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้าที่บ้านในบรรจุภัณฑ์และภาชนะที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ เมื่อลูกค้าใช้สินค้าเสร็จแล้ว ก็สามารถนำมาคืน Loop จะทำความสะอาด และใช้เติมผลิตภัณฑ์ได้อีก บริษัทฯ กำลังขยายธุรกิจไปทั่วสหรัฐอเมริกาและตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก และยังร่วมมือกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ อาทิ Kroger, Walgreens, Tesco, Unilever, และ Procter & Gamble ด้วย  

Loop ปฏิบัติตามข้อกำหนดและแนวปฏิบัติขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) จึงทำให้แน่ใจได้ถึงความปลอดภัยในระบบการนำมาใช้ซ้ำของผู้ปฏิบัติงานและลูกค้า ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ให้บริการระบบใช้ซ้ำแก่ผู้ให้บริการอาหารและผู้ค้าปลีกรายอื่น ๆ 

The Wally Shop ธุรกิจที่ในตอนนี้ได้ขยายการให้บริการไปทั่วประเทศแล้ว และ Zero ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ ต่อมาได้เกิดระบบบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำสำหรับการซื้อแบบกลับบ้าน เช่น CupClub ให้ลูกค้ายืมถ้วยหรือแก้วแบบใช้ซ้ำเมื่อใช้เสร็จแล้วก็นำมาคืนที่จุดคืนเพื่อบริษัทจะนำกลับไปทำความสะอาด แล้วนำกลับมาใช้อีกครั้ง สำหรับอาหารแบบสั่งกลับบ้านก็มีโมเดลเช่นกัน  Dispatch Goods ร่วมมือกับร้านอาหารท้องถิ่นในการนำอาหารใส่บรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ซ้ำได้ซึ่งลูกค้าสามารถนำมาคืนเพื่อทำความสะอาดต่อไป​ 

นอกจากการออกแบบการใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำในสินค้าประเภทอาหารเครื่องดื่มแล้ว ด้านของใช้จำเป็นและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดก็มี Algramo บริษัทสัญชาติชิลีที่ใช้เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและบริการจัดส่งสินค้าด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งลูกค้าสามารถชำระเงินเฉพาะค่าสินค้าที่ต้องการในบรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำ ในสหรัฐอเมริกา Ecopod บริษัทให้บริการระบบเติม สินค้าประเภทของใช้ส่วนตัวและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบอัตโนมัติ

ในวิกฤตไวรัสโควิด-19 ยังมีโอกาสสำหรับระบบการนำกลับมาใช้ซ้ำ

บรรดาร้านอาหารและอุตสาหกรรมให้บริการอาหารขนาดใหญ่ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญเพื่อรับมือกับโควิด-19 ซึ่งหมายความว่าธุรกิจต่าง ๆ จำต้องเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เชื่อกันว่าปลอดภัยกว่า ซึ่งกระตุ้นให้เกิดวิกฤตมลพิษขยะพลาสติกแทนที่จะเปลี่ยนไปใช้พลาสติกแบบนำกลับมาใช้ซ้ำ 

อย่างไรก็ดี แนวคิดที่ว่าอาจไม่เป็นความจริง เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ 130 คนจาก 20 ประเทศได้ออกมาให้คำแนะนำถึงการใช้ภาชนะแบบใช้ซ้ำให้ปลอดภัย ในช่วงการระบาดของโรค ซึ่งมีการเน้นย้ำข้อเท็จจริงว่าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวไม่ได้ปลอดภัยกว่าพลาสติกแบบนำมาใช้ซ้ำ

ระบบการนำกลับมาใช้ซ้ำที่สามารถปกป้องพนักงานและลูกค้าให้มีความปลอดภัยนั้นมีอยู่ทั่วโลก เช่น กาแฟแบบไร้สัมผัสและระบบไร้สัมผัสอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับความสะอาดปลอดภัยและการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 

ในสหราชอาณาจักร องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม City to Sea ได้นำเสนอแนวปฏิบัติสำหรับธุรกิจเพื่อให้พนักงานได้เติมกาแฟลงแก้วกาแฟใช้ซ้ำของลูกค้าอย่างปลอดภัย ในประเทศออสเตรเลีย องค์กร Plastic Free Places มีแนวปฏิบัติสำหรับถุงและบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ซ้ำได้สำหรับการซื้อแบบกลับบ้าน และในประเทศนิวซีแลนด์ แคมเปญ Takeaway Throwaways นำเสนอตัวอย่างการใช้ภาชนะใช้ซ้ำและการจำหน่ายแบบไร้สัมผัส นอกจากนี้ หลังจากที่ห้ามใช้แก้วกาแฟใช้ซ้ำเมื่อเดือนมีนาคม เมื่อไม่นานมานี้ Starbucks ได้ประกาศโครงการกาแฟแบบไร้สัมผัสและการนำถ้วยกาแฟแบบนำมาใช้ซ้ำได้มาคืนที่สาขาในยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง แต่ยังไม่มีข่าวว่าจะนำมาใช้ในสหรัฐอเมริกาหรือสาขาในประเทศอื่นด้วยหรือไม่

เราจะเปลี่ยนการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการเติม (Refill) เป็นแนวปฏิบัติที่ดีและเพื่อความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ขณะที่ความหวาดกลัวอันตรายของพลาสติกยังคงมีอยู่ ผู้คนเริ่มเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยบริษัทเหล่านี้ที่มีส่วนในการทำลายสภาพภูมิอากาศกำลังขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านปิโตรเคมีภัณฑ์ออกไปอย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มผลกำไรจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และเอารัดเอาเปรียบแรงงานผู้มีรายได้น้อยและชุมชนคนผิวสี (Blank and Brown Community) ถึงเวลาแล้วที่จะหยุดปฏิบัติต่อผู้คนและโลกเหมือนเป็นสิ่งที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อดำรงไว้ซึ่งสภาพภูมิอากาศและสร้างให้เกิดชุมชนที่ดีสำหรับทุกคน เราต้องหยุดพึ่งพาพลาสติกราคาถูกที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวทิ้ง

หากนวัตกรรมในการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการเติม (Refill) ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผู้ปฏิบัติงานจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสมการนี้ ซึ่งจะนำไปสู่ระบบการนำกลับมาใช้ซ้ำที่ต้องลงทุนในเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างงานในสหภาพแรงงานในหลายภาคส่วน (เช่น การผลิต การจัดจำหน่าย การค้าปลีก บริการอาหารและการจัดส่งอาหาร) ผู้ปฏิบัติงานที่รับผิดชอบในการผลิต การจัดเตรียมและการจัดจำหน่ายอาหารและสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันสมควรได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและควรรู้สึกปลอดภัยและได้รับการคุ้มครอง

เราร่วมมือกันในการลงทุนด้านเทคโนโลยีและระบบเพื่อสร้างให้เกิดงานที่ดีในสหภาพแรงงาน ช่วยปกป้องโลกของเราและจัดหาบริการที่ลูกค้าและชุมชุมต้องการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการโอบรับความเปลี่ยนแปลง การปรับเปลี่ยนระบบที่มีอยู่ รวมทั้งเวลาและการลงทุน ในช่วงปี พ.ศ. 2563 ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าในสภาวะแห่งความท้าทายและความไม่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงยังมีความเป็นไปได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อทำให้แน่ใจว่าเราจะไม่กลับไปใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอีก บริษัทขนาดใหญ่ต้องเป็นผู้นำการลงทุนในธุรกิจที่สร้างจากระบบที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างยั่งยืน