หากสุภาษิตโบราณที่กล่าวไว้ว่า “You are what you eat” หรือ กินอย่างไรก็ได้อย่างนั้น เป็นความจริง เช่นนั้นแล้วหมายความว่าคนบนโลกส่วนใหญ่กำลังกินอาหารจากมือของอุตสาหกรรม แต่จากการตัดสินล่าสุดของ “ศาลประชาชน” การจำลองการไต่สวนมอนซานโต้ เป็นสิ่งที่สร้างความหวังให้กับเราว่า เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ขณะที่คุณกำลังสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตที่เต็มไปด้วยตัวเลือกหลากหลาย หรือกำลังคิดถึงรายการซื้อของรายสัปดาห์ของคุณ สิ่งที่อาจจะแว่บขึ้นมาในใจเป็นสิ่งสุดท้ายคือ อาหารที่เราซื้อนั้นมาจากไหน แม้ว่าคำตอบที่ง่ายที่สุดคือ มาจากฟาร์ม หรือโรงงาน แต่เพียงแค่คิดก็น่าตกใจแล้วว่าในโลกของเรา มีบริษัท 10 แห่ง ที่กำลังควบคุมระบบอาหารของโลก (6 อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ทางการเกษตร และ 4 บริษัทระดับโลก) ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าพ่อทางการเกษตรอย่างบริษัทเบเยอร์ และ มอนซานโต้ นั้นกำลังรวมกิจการกันเพื่อแผ่ขยายอำนาจควบคุมระบบอาหารของเราออกไปอีก

*ในอนาคตบริษัทเบเยอร์ – มอนซาโต้, DuPont/Dow และ ChemChina/Syngenta จะควบคุมเมล็ดพันธุ์และยาฆ่าแมลงถึงสองในสามของตลาดโลก

เบื้องหลังข้อตกลงอันแสนหอมหวานของบริษัทด้านเกษตรนี้ คือ ดินอันอุดมสมบูรณ์ที่ถูกทำลายสิ้นไร้ธาตุอาหาร การปล่อยสารพิษสู่แหล่งน้ำ และเกษตรกรรมอันไม่ยั่งยืน ซึ่งทุกอย่างนั้นล้วนกำลังเข้าสู่ร่างกายของเรา โดยในปี 2559 กรีนพีซประเทศญี่ปุ่นได้ทำการทดลองปรับเปลี่ยนอาหารการกินของครอบครัวหนึ่ง จากการรับประทานอาหารแบบทั่วไปเกือบทั้งหมด เปลี่ยนไปรับประทานอาหารอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 10 วัน ซึ่งผลลัพธ์นั้นคือ ปริมาณสารเคมีตกค้างจากยาฆ่าแมลงในปัสสาวะลดลงอย่างชัดเจน

นี่เองคือสาเหตุที่เกษตรกร นักวิทยาศาสตร์ และนักกิจกรรมจากทั่วโลก มารวมตัวกันที่การจำลองการไต่สวนมอนซานโต้ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อให้การต่อคณะผู้พิพากษา โดยประชาชนรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อต่อกรกับการทำลายล้างของหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้สนับสนุนการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม

การจำลองการไต่สวนมอนซานโต ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา

ในเดือน ตุลาคม 2559 ชุมชนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทมอนซานโต้ ได้หันมาเรียกร้องให้มอนซานโต้ บริษัทเคมีเกษตรขนาดยักษ์ รับผิดชอบต่อการกระทำของตนที่โหดร้ายต่อมนุษย์ชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการยื่นคำถาม 6 ข้อต่อการไต่สวน ซึ่งยึดตามหลักดังนี้ สิทธิในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ สิทธิในการเข้าถึงอาหาร สิทธิด้านสุขภาพ เสรีในการทำศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม

ในเดือนเมษายนนี้ ชุมชนต่าง ๆ ได้มารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อรับฟังคำวินิจฉัย  ซึ่งเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่สำคัญต่อการกอบกู้อธิปไตยทางอาหารและการเกษตรคืนจากอำนาจการควบคุมของอุตสาหกรรม

ผู้พิพากษา 5 คนได้แสดงความเห็นทางกฎหมายต่อบริษัทเคมีเกษตร มีเนื้อหาว่า “ผลกระทบจากการปฎิบัติของมอนซานโต้ในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลในด้านลบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมือง และชุมชนท้องถิ่น ผลกระทบเหล่านี้จะทำให้หายนะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเนื่องจากการพึ่งพาสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิดของชนพื้นเมืองและชุมชน การขาดข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดจากสารเคมีกำจัดวัชพืช และพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs)  และการขาดมาตรการบรรเทาผลกระทบ การขาดการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าเชื่อถือ และการขาดที่ปรึกษาที่จำเป็น ซึ่งทั้งหมดนี้คือการเน้นย้ำว่า  มอนซานโต้กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน”

“รูปแบบการทำเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมในทุกวันนี้นั้นกำลังเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ใช่เพียงเพราะการพึ่งพาการใช้สารเคมีอันตรายเท่านั้น แต่ยังการทำเกษตรที่สร้างผลกระทบที่รุนแรงอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำลายความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และการล้มเหลวที่จะสร้างอธิปไตยทางอาหาร”

อาหารของเรา อนาคตของเรา ประชาชนกำลังทวงคืนอธิปไตยทางอาหารจากอุตสาหกรรม

แม้ว่าการจำลองการไต่สวนนี้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่คำวินิจฉัยนั้นเป็นความคิดเห็นจริงจากผู้พิพากษาที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรใดๆ ทั่วโลกก็ตามก็สามารถนำคำวินิจฉัยนี้มาใช้ในการต่อสู้เพื่อระบบอาหารที่ดีขึ้น การขับเคลื่อนของพลังประชาชนนั้นกำลังเติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อปกป้องเราทุกคนและสิ่งแวดล้อมจากยาฆ่าแมลงอันตราย

ที่ยุโรป ประชาชนกว่า 600,000 ได้ออกมาเรียกร้องให้กระบวนการตัดสินใจของกลุ่มประเทศยุโรป (European Citizens’ Initiative – ECI) ประกาศยกเลิกการใช้ไกลโฟเสต หรือสารกำจัดวัชพืชหญ้าที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้าของมอนซานโต้ ที่มีชื่อทางการค้าว่า ราวด์อั้พ (Roundup) โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จำแนกยาฆ่าหญ้าชนิดนี้ไว้ว่ามีแนวโน้มที่จะก่อมะเร็ง (potentially carcinogenic)
ในประเทศไทย องค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลให้แบนการนำเข้าสารเคมีอันตรายสองชนิดเป็นผลสำเร็จแล้ว ได้แก่ พาราคว็อท  และโคโรไฟริฟอส ซึ่งเป็นสารจำกัดวัชพืชและแมลงตามลำดับ

ในประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มอาหารและการเกษตรกว่า 300 กลุ่ม ได้ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิด เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมไม่อนุมัติการรวมตัวกันของอุตสาหกรรมใหญ่ด้านการเกษตร เช่นเดียวกันกับที่ยุโรป กว่า 200 องค์กรได้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ยื่นให้กับคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ในประเด็นเรื่องการรวมตัวของธุรกิจใหญ่ด้านการเกษตร

ในขณะที่กระแสความต้องการอาหารท้องถิ่น อาหาร “สโลว์ฟู้ด” หรืออาหารอินทรีย์กำลังขยายตัวมากขึ้นทั่วโลก สิ่งนี้ได้กลายเป็นแรงผลักดันอย่างต่อเนื่องไปยังรัฐบาล ยิ่งผู้คนทั่วโลกได้รับข้อมูลข่าวสารมากเท่าไร พลังประชาชนก็ยิ่งทรงพลัง และเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนไปสู่ระบบอาหารที่เราต้องการ อีกทั้งยังนำไปสู่การเปิดโปงช่องโหว่และความล้มเหลวของระบบในการบังคับให้ภาคธุรกิจแสดงความรับผิดชอบ

ท้ายที่สุดแล้ว เกษตรกรรมเพื่ออุตสาหกรรมนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่เกษตรกรเท่านั้น แต่ส่งผลถึงพวกเราทุกคน เพราะอาหารของเราก็คืออนาคตของเรา

วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เองเจลิกา ปาโก  ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของสำนักข่าว Eco-Business สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่

Comments

Leave your reply