ทั่วทั้งประเทศบราซิลต้องเผชิญกับไฟป่านั้นไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ รวมทั้งไฟป่าในปีนี้ที่หนักหนาสาหัสกว่าปีไหนๆ ที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ความบังเอิญอีก ซึ่งในปี 2563 กลายเป็นปีที่ไฟป่ารุนแรงมากที่สุดในรอบทศวรรษ

โลกเผชิญกับความน่าสะพรึงกลัวของไฟป่ายาวนานถึงสองปีซ้อน แต่ในขณะที่ไฟป่ายังคงเผาทำลายป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลประเทศบราซิลกลับสุมไฟให้แรงขึ้นแทนที่จะช่วยดับไฟ โดยสนับสนุนกลุ่มคนในธุรกิจการเกษตรที่เป็นต้นเหตุของไฟป่าที่เกิดขึ้น

ภาพถ่ายชุดล่าสุดแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของไฟป่าในเขตป่าแอมะซอน © Christian Braga / Greenpeace

ซำ้ร้าย ป่าแอมะซอนไม่ได้เป็นป่าแห่งเดียวที่ต้องเจอกับความเลวร้ายของไฟป่า เพราะยังมีการรายงานว่าพบจุดร้อน (Hotspots) กว่า 38,000 จุด ในทุ่งสะวันนาเขตร้อน ภายในปีนี้ปีเดียวเท่านั้น รวมทั้งพื้นที่ชุ่มแพนทานอล ชีวนิเวศที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เป็นบ้านของเสือจากัวร์หลายชีวิตและมีจำนวนเยอะที่สุดในโลกก็ถูกทำลายพื้นที่ไปมากถึง 23%

และในปีที่ผ่านมา มีพื้นที่ป่าแอมะซอนกว่า 10,000 ตารางเมตร ถูกเผาทำลายอย่างไม่หยุดหย่อน และจะดำเนินต่อไปหากเราไม่เข้าไปหยุดยั้งเอาไว้

ดูเหมือนว่า ประธานาธิบดีของบราซิล ฌาอีร์ โบลโซนาโร พร้อมที่จะสละระบบนิเวศสำคัญไปเพื่อแลกกับผลประโยชน์ของเขาเอง หารู้ไม่ว่าการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ไปอาจนำมาซึ่งความสูญเสียมหาศาลนับไม่ถ้วนในวันข้างหน้า นอกเหนือจากนั้นในเมื่อยิ่งมีไฟป่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรายิ่งห่างไกลจากการเอาชนะปัญหาโลกร้อน วิกฤตสุขภาพและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองไปพร้อมกับภูมิปัญญาดั้งเดิมที่คอยปกป้องดูแลป่าไป

ไฟป่าที่กำลังลุกโชนในบราซิลไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ หากแต่ถูกจุดขึ้นโดยกลุ่มคนสะเพร่าหน้าเลือด แต่พวกเขาทำเรื่องเลวร้ายเช่นนี้ไปทำไมกัน?

เบื้องหลังของเนื้อสัตว์ที่พวกเราบริโภคกันในทุกวันนี้

ฝูงปศุสัตว์ถูกพบในเขตป่าแอมะซอนที่ถูกทำลายไปในฤดูไฟป่าปีที่แล้ว © Christian Braga / Greenpeace

อุตสาหกรรมการเกษตรคือหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการทำลายป่าที่ร้ายแรงมากที่สุดอย่างหนึ่งของโลก เพราะมักมีการเตรียมรื้อหน้าดินเพื่อทำการเกษตรหรือใช้สำหรับการเลี้ยงสัตว์ ในบราซิลมักมีการลักลอบเผาที่ดินอย่างผิดกฎหมายโดยเหล่าคนเลี้ยงวัวและคนลักลอบใช้ที่ดินอยู่ เพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรและเพื่อขยายธุรกิจทำลายล้างของพวกเขา มีความเป็นไปได้มากว่าสาเหตุของป่าที่ถูกทำลายเกือบ 80% เกิดจากการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์ในเขตป่าแอมะซอนในประเทศบราซิล

พื้นที่บราซิลไม่ได้ถูกทำลายเพื่อเปิดทางให้การเพาะเลี้ยงปศุสัตว์เพียงพื้นที่เดียวเท่านั้น แต่ยังมีการใช้พื้นที่ในทุ่งสะวันนาเขตร้อนสำหรับการผลิตถั่วเหลืองอีกด้วย และแม้ว่าการทำลายป่าเพื่อการเพาะปลูกถั่วเหลืองจะถูกสั่งห้ามปฏิบัติไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองขนาดใหญ่อยู่และขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ จนเริ่มรุกล้ำเขตป่าซึ่งอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นภัยคุกคามต่อชุมชนพื้นเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นอย่างสงบสุขมายาวนาน

ผู้พิทักษ์ป่ากำลังตกอยู่ในอันตราย

ชนเผ่ามุนดูรูกูกำลังตกปลาในแม่น้ำแอมะซอน © Anderson Barbosa / Greenpeace

การทำลายผืนป่าแอมะซอน ทุ่งสะวันนาเขตร้อนและพื้นที่ชุ่มน้ำแพนทานอลไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น แม้แต่ชนพื้นเมืองเองก็กำลังต่อสู้เพื่อรักษาเขตแดนอันสงบสุขของพวกเขาเอาไว้เพื่อส่งต่อผืนป่าไปสู่ลูกหลาน ถึงอย่างนั้นก็ยังถูกรุกล้ำโดยกลุ่มคนบุกรุกที่ดิน คนตัดไม้ และคนขุดเหมือง การบุกรุกเหล่านี้คือการล่วงละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของชนเผ่าพื้นเมืองและเป็นภัยต่อชีวิตของพวกเขา อันที่จริงแล้วรัฐบาลบราซิลควรให้ความคุ้มครองต่อสิทธิของชนพื้นเมือง แต่รัฐบาลกลับเปิดทางให้กับการทำลายป่าไม้ และขัดขวางการทำงานของหน่วยงานที่มีเป้าหมายในการคุ้มครองป่าแทน

การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นอีกหนึ่งภัยอันตรายต่อชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง ชนเผ่าพื้นเมืองกำลังเผชิญกับอัตราความความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคระบาดสูงกว่าประชากรบราซิลทั้งหมดถึงสามเท่า โดยมีคนขุดเหมืองและแรงงานเป็นพาหะนำโรคระบาดไปสู่พวกเขา จนถึงวันที่ 2 ตุลาคม ชนเผ่าพื้นเมืองในบราซิลกว่า 34,000 คนถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส COVID-19 และเสียชีวิตไปมาก ถึง 837 ชีวิต หนึ่งในวิธีคุ้มครองป่าคือการมีชนพื้นเมืองคอยดูแลรักษาพื้นที่เอาไว้ แต่ในเมื่อผู้บุกรุกกำลังแย่งพื้นที่ของพวกเขาไปและนำความเสี่ยงไปให้พวกเขา โลกอาจกำลังจะต้องสูญเสียภูมิปัญญาพื้นเมืองในการดูแลป่าแอมะซอนไป

รัฐบาลจอมลวงโลก

ไฟป่าไหม้พื้นที่ไปมากถึง 23% ของชีวนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำแพนทานอล  © Leandro Cagiano / Greenpeace

ในขณะที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์อันล้ำค่าและไม่สามารถหาทดแทนได้อีกกำลังถูกแผดเผา ชนเผ่าพื้นเมืองกำลังเผชิญหน้ากับความโรคระบาดที่แพร่ไปทั่วทุกมุมของประเทศ รัฐบาลประเทศบราซิลกลับปฏิเสธการมีอยู่ของวิกฤตทั้งคู่ ความจริงแล้ว ประธานาธิบดี โบลโซนาโรกล่าวโทษและโจมตีองค์กรไม่แสวงผลกำไร ชนเผ่าพื้นเมือง และใครหน้าไหนก็ตามที่กล้าลุกขึ้นต่อกรกับเขาในเรื่องของไฟป่าทำกำลังเผาทำลายทุกอย่างด้วยซ้ำไป สิ่งที่เขาทำคือออกมาตรการที่ไม่ได้ช่วยบรรเทาไฟป่าแอมะซอนเลยแม้แต่น้อย อย่างการส่งทหารลงไปในพื้นที่ป่าและประกาศกฤษฎีกาที่จะห้ามไฟป่าไป 120 วัน

และในขณะเดียวกัน ทั้งป่าและชะตากรรมของโลกจะยังคงลุกเป็นไฟต่อไป ประเทศบราซิลในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาเองก็ได้ประสบกับไฟป่าที่ทำลายสถิติความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นี่คือผลกระทบที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรกหลังจากที่รัฐบาลชุดนี้ก้าวเข้ามาทำลายกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและเปิดทางให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและเหมืองแร่เข้ามาทำลายป่าลง

เพราะอะไรป่าแอมะซอนและระบบนิเวศทั่วโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ภาพมุมสูงเหนือป่าฝนแอมะซอน  © Rogério Assis / Greenpeace

ความเสียหายของป่าแอมะซอนไม่ได้เป็นอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพและชนเผ่าพื้นเมืองเพียงเท่านั้น เพราะป่าแอมะซอนเป็นป่าฝนที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยเพิ่มความสมดุลให้กับสภาพอากาศในทวีป ป่าแอมะซอนมีหน้าที่ในการช่วยผลิตฝนในหลายประเทศทั่วทวีปแอฟริกาใต้ ซึ่งประเทศบราซิลที่มีเมืองชื่อดังอย่าง เซาเปาโลและรีโอเดจาเนโร หากไม่มีป่าแอมะซอน ภัยแล้งอาจย่างกรายไปทั่วทวีปและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้คนในพื้นที่นั้น

ป่าแอมะซอนยังเป็นอาวุธสำคัญในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วย แต่ถ้าหากป่าถูกเผา ป่าจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ และเมื่อมีคาร์บอนไดออกไซด์มากยิ่งขึ้น อากาศจะยิ่งร้อนและแห้งมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งทำให้ไฟป่ามีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำอีก เกิดเป็นวัฏจักรของไฟป่าที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

ถ้าหากเรารู้แล้วว่าการคุกคามป่าแอมะซอนก็ไม่ต่างจากการคุกคามโลกทั้งใบของเรา แต่ทำไมพวกเรายังคงเห็นไฟป่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี? เราไม่สามารถปล่อยองค์กรระดับโลกที่มีรัฐบาลคอยหนุนหลังเอาอนาคตของพวกเราทุกคนมาเสี่ยงเช่นนี้เพียงเพื่อแลกกับเงินทองลงกระเป๋าสตางค์ของคนกลุ่มเล็กๆ แบบนี้ต่อไปได้ พวกเราทุกคนได้เห็นผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศกันไปแล้ว ตั้งแต่อุทกภัย เฮอริเคน จนไปถึงไฟป่า และพวกเราจำเป็นจะต้องร่วมมือกันปกป้องโลกของเราเอง

Diego Gonzaga Content Editor กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา

Primary Forest in Papua. © Ulet  Ifansasti / Greenpeace
ร่วมปกป้องป่าฝนเขตร้อน

ป่าฝนเขตร้อนที่เป็นบ้านของอุรังอุตังกำลังถูกทำลายจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน หากเราไม่ทำอะไรเลย ถิ่นที่อยู่อาศัยของเหล่าสัตว์ป่าจะถูกทำลาย

มีส่วนร่วม