“พวกเราที่เป็นคนรุ่นใหม่ต้องช่วยหมู่บ้านของเรา เราอธิบายว่าตอนนี้หมู่บ้านกะเบอะดินกำลังเจอปัญหาอะไรอยู่ ถ้าเหมืองมามันจะเกิดอะไรขึ้น เราจะมาช่วยกันปกป้องหมู่บ้านด้วยกันไหมในฐานะที่เป็นเยาวชนที่สามารถช่วยหมู่บ้านได้

พรชิตา ฟ้าประทานไพร หรือ ดวง เยาวชนในหมู่บ้านกะเหรี่ยงโปว์ที่ชื่อว่า ‘กะเบอะดิน’ ดูเผิน ๆ เธอและเพื่อน ๆ อาจเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่พึ่งพิงการเกษตรกรรมแห่งนี้ แต่เมื่อไม่นานมานี้กลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้รับรู้ถึง ‘โครงการเหมืองถ่านหิน’ ที่อาจนำมาสู่การทำลายทรัพยากร ต้นน้ำ ของชาวบ้านในหมู่บ้านและผู้ที่ต้องใช้น้ำจากลำห้วย เพราะที่หมู่บ้านกะเบอะดินแห่งนี้มี “ถ่านหิน” อยู่ใต้ดินและปรากฏให้เห็นเด่นชัดที่บริเวณห้วยผาขาวลำห้วยใหญ่สายสำคัญที่มีจุดเริ่มต้นจากผาขาวไหลผ่านหลายหมู่บ้าน 

พรชิตา ฟ้าประทานไพร หรือดวง หนึ่งในเยาวชนจากหมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

ดวงเล่าว่า หมู่บ้านที่นี่ยึดอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ที่ผ่านมาตัวเองก็ช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำสวน เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนในหมู่บ้านที่นี่เลยก็ว่าได้ ทั้งมะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำ พริก หรือแม้กระทั่งข้าว ล้วนแล้วแต่ใช้น้ำเป็นปัจจัยหลักในการทำอาชีพ ครอบครัวของดวงปลูกมะเขือเทศเป็นหลัก โดยการปลูกแต่ละครั้งครอบครัวของเธอจะได้รายได้มาไม่น้อยเลย

แรกเริ่มรู้จักเหมืองถ่านหิน

เยาวชนเรารู้ว่าจะมีโครงการเหมืองเข้ามาในหมู่บ้านเมื่อปี2562 ซึ่งจะอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านเราเลย (การเดินทางจากตัวชุมชนไปบริเวณที่จะมีโครงการเหมืองมีระยะทางประมาณ 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น) ตอนนั้นคนในหมู่บ้านรวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านและข้อเรียกร้องให้ยุติโครงการเหมืองถ่านหินถึงนายอำเภออมก๋อย เพราะชุมชนห่วงกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อวิถีชุมชนและหมู่บ้าน 

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

ในส่วนของรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่เคยมีการลงชื่อของชาวบ้านเมื่อช่วงปี 2542 รายชื่อที่ลงไว้ตอนนั้นมีข้อห่วงกังวลหลายข้อ เช่น มีชื่อของชาวบ้านคนนี้อยู่ใน EIA ที่ระบุว่าเขียนหนังสือไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วเขาอ่านออกเขียนได้ ลายมือการเขียนใน EIA ไม่ตรงกับลายมือจริง หรือมีรายชื่อซ้ำ มีรายชื่อของบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นต้น ซึ่งเวลานั้นนั้นชาวบ้านยังไม่มีความรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคตหรือบางคนก็ไม่รู้ว่าให้เขาลงลายมือชื่อเพราะอะไร พูดง่าย ๆ ก็คือตอนนั้นชาวบ้านไม่รู้ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรเลย 

ชาวบ้านบ้านกะเบอะดินและหมู่บ้านต่างๆกว่า 500 คน ได้มารวมตัวกันในพิธีบวชป่าจิตวิญญาณของหมู่บ้านกะเบอะดินที่อยู่ในเขตของรัศมีการขอทำเหมืองแร่ถ่านหิน เพื่อปกป้องผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ของพวกเขาไว้และประกาศถึงเจตนารมณ์ที่ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน

พอเราเห็นว่ามันมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น พวกเรากลุ่มเยาวชนก็รวมตัวกันติดตามข่าวเพื่อเฝ้าระวังในพื้นที่ก่อน พวกเราได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากเครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อยว่าโครงการเหมืองถ่านหินนี้อาจส่งผลกระทบต่อเราอย่างไรบ้าง หลัก ๆ เลยคือเหมืองอาจส่งผลกระทบต่อลำห้วยผาขาวซึ่งเป็นน้ำสายหลักในการทำเกษตรและการใช้ชีวิตของหมู่บ้าน นอกจากนี้พื้นที่เหมืองจะยังทับซ้อนกับพื้นที่ปลูกข้าวของชาวบ้านในชุมชนอีกด้วย

เราหาข้อมูลมาได้ว่า จะมีบริษัทเข้ามาทำโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน เราจึงหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตไปเรื่อย ๆ ว่าเหมืองถ่านหินที่ว่าคืออะไร เรารวบรวมข้อมูลตรงนั้นมาแชร์กับเพื่อน ๆ ในกลุ่มเพื่อจะได้ช่วยกันคิดว่าเราจะทำยังไงต่อ

น้ำสำคัญต่อบ้านเราแค่ไหน?

เกษตรกรในกะเบอะดินใช้น้ำจากห้วยผาขาวเพื่อใช้ในไร่มะเขือเทศ

หลายหมู่บ้านใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่ออุปโภคบริโภค ที่นี่มีต้นน้ำหลายสาย อย่างบ้านเราใช้น้ำจากต้นน้ำดอยพุยโดยทำเป็นระบบประปาหมู่บ้าน เราใช้ดื่ม ใช้ซักผ้าอาบน้ำ ส่วนแหล่งน้ำจากห้วยผาขาว (ซึ่งเป็นบริเวณที่โครงการเหมืองถ่านหินจะเกิดขึ้น) นั้น ชาวบ้านจะใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรมเป็นหลัก สำหรับที่นี่แหล่งน้ำแต่ละแหล่งมีความสำคัญกับเรามาก ๆ ถ้าหากว่ามีเหมืองเกิดขึ้นก็จะมีการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ และเราไม่อาจทราบได้เลยว่าจะมีสารอะไรตกค้างในน้ำหรือไม่ ด้วยความเสี่ยงแบบนี้เราเลยตัดสินใจคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง

พื้นที่เหมืองที่อาจทับซ้อนกับอัตลักษณ์ทางความเชื่อ ‘ป่าจิตวิญญาณ’

บริเวณป่าจิตวิญญาณเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่อาจถูกแทนที่ด้วยเหมืองถ่านหิน สำหรับคนที่อาศัยอยู่กับป่ากับดอย เราจะมีพิธีกรรมต่าง ๆ และป่าจิตวิญญาณนี้ก็เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน เป็นบริเวณที่ชาวบ้านจะต้องดูแลรักษาอยู่ตลอด ผู้เฒ่าผู้แก่จะเข้าไปดูแลป่าให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอตามความเชื่อที่ว่าหากดูแลพื้นที่ตรงนี้ดี เกษตรกรรมที่พวกเราทำก็จะให้ผลผลิตดีไปด้วย เหมือนเป็นพื้นที่ทำพิธีกรรมขอพรให้หมู่บ้านของเราอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นป่าจิตวิญญาณสำคัญกับหมู่บ้านมากตรงที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของเรา ถ้าถามว่าป่าจิตวิญญาณสำตัญกับเราขนาดไหนเปรียบเทียบง่าย ๆ คืออย่างคนที่อาศัยอยู่ในเมือง หากป่วยก็จะไปหาหมอ สำหรับคนที่นี่หากเราป่วย เรามีความเชื่อว่าถ้าทำพิธีกรรมเราอาจจะหาย ไม่ต้องไปหาหมอ

ในอีกแง่หนึ่งพื้นที่ป่าจิตวิญญาณถือเป็นการอนุรักษ์ป่า แม้ว่าตอนนี้เกษตรกรมองหาพื้นที่เพื่อทำการเกษตรมากขึ้น แต่เราก็ต้องอนุรักษ์ป่าไว้ เราอนุรักษ์ป่าจิตวิญญาณเองไว้รวมทั้งพื้นที่ป่าอื่น ๆ ที่ต้องตกลงกันไม่ให้เข้าไปรุกล้ำเพิ่มแต่จะเก็บอนุรักษ์ไว้ให้ป่าเติบโตต่อไปเพื่อซึมซับน้ำ ยังไงพวกเราต้องพึ่งพาอาศัยป่าอยู่ไม่ว่าจะเป็นการหาของป่า หานกป่าหรืออาหารที่อยู่ในลำห้วย การใช้น้ำจากลำห้วย หากไม่มีป่าเราก็ไม่มีอาหาร

เกษตรกรเก็บมะเขือเทศจากไร่เพื่อส่งขายต่อไปยังตลาดพื้นราบ

การรวมตัวของกลุ่มเยาวชนเพื่อสื่อสารการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหิน

สำหรับตัวเราเอง เราเศร้านะถ้าโครงการเหมืองเกิดขึ้น แล้วเราจะทำมาหากินยังไง ชาวบ้านจะอาศัยอยู่ที่ไหนเพราะอาจได้รับผลกระทบในด้านสุขภาพเพราะฝุ่นละอองที่จะเกิดจากการขุดเหมือง ในเมื่อเรามีกำลังพอที่จะช่วยได้ ทำไมเราไม่ช่วยกันส่งเสียงออกไปล่ะ เราต้องลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องพื้นที่ตรงนี้ ชุมชนของเราอาศัยอยู่ที่นี่มานานจากรุ่นสู่รุ่น ในฐานะที่เราเกิดที่นี่ เราก็อยากจะให้หมู่บ้านเรายังคงอยู่ตรงนี้เหมือนเดิม ไม่ให้มีอะไรมาทำให้ชุมชนต้องทุกข์ใจหรือต้องเจอปัญหาหลาย ๆ อย่าง เราเห็นตัวอย่างจากหลายหมู่บ้านที่เขาต่อสู้เรื่องโครงการเหมือง อย่างเช่นการทำเหมืองตะกั่วในห้วยคลิตี้ บ้างก็ไม่สบายเพราะสารต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย พืชผลปนเปื้อนจนไม่สามารถขายได้ ในเมื่อโครงการเหมืองที่หมู่บ้านเรายังไม่เกิด เรามีสิทธิ์ในการคัดค้านไม่ให้เขาเข้ามาได้ ทำไมเราไม่ทำก่อนที่จะมีการขุดจริง ๆ แล้วถึงเวลานั้นก็จะแก้ไขอะไรยากด้วย

หมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยหากโครงการเหมืองเข้ามาแล้วเราต้องย้ายออกเราก็ต้องย้ายออกไปเลย หรือหากไม่ย้าย หมู่บ้านก็จะอยู่ในเส้นทางขนส่งถ่านหินและเราอาจต้องทนอยู่กับทั้งมลพิษทางเสียง ฝุ่นละอองและปัญหาการใช้เส้นทางเข้าออกหมู่บ้าน วิถีชีวิตของเราจะต้องเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเราเลือกที่จะลุกขึ้นมาคัดค้านดีกว่า

กลุ่มเยาวชนบ้านกะเบอะดิน พูดถึงแผนที่การใช้น้ำของชุมชน ด้วยการรวบรวมข้อมูลจากคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน

เรารวมกลุ่มมาคัดค้านตามสิทธิ์ที่เรามี แล้วครอบครัวคิดอย่างไร?

จริง ๆ ที่บ้านเราไม่ได้ว่าอะไรนะ เบื้องต้นทุกคนเข้าใจว่าการต่อสู้แบบนี้มันเกิดขึ้นทุกที่และเรามีสิทธิ์ในการแสดงความเห็นหรือคัดค้าน แต่บางทีเขาก็เป็นห่วงเพราะว่าประเด็นที่พวกเราออกมาคัดค้านมันก็ใหญ่พอสมควร เขากลัวเราจะมีอันตรายอะไรแบบนี้ ซึ่งเราก็ต้องดูแลตัวเองและคนอื่นด้วย เวลาเราจะไปไหนมาไหนต้องบอกให้คนรอบตัวทราบ 

เชื่อในพลังของโซเชียลมีเดีย

เพจเฟสบุ๊ค กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์ ทำขึ้นโดยกลุ่มเยาวชน จริง ๆ แล้วเริ่มต้นมาจากกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้าน พวกเราสนิทกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ถ้าไม่ได้ออกไปทำงานในไร่กับครอบครัวพวกเราจะรวมตัวทำกิจกรรมด้วยกันหรือไปทานข้าวที่บ้านเพื่อนบ้างสลับกันไป พอพวกเรารู้ว่าจะมีโครงการเหมืองขึ้นที่หมู่บ้าน ก็เลยคุยกันว่าพวกเราที่เป็นคนรุ่นใหม่ต้องช่วยหมู่บ้านของเรา เราอธิบายว่าตอนนี้หมู่บ้านกะเบอะดินกำลังเจอปัญหาอะไรอยู่ ถ้าเหมืองมามันจะเกิดอะไรขึ้น เราจะมาช่วยกันปกป้องหมู่บ้านด้วยกันไหมในฐานะที่เป็นเยาวชนที่สามารถช่วยหมู่บ้านได้ ต่อให้เราจะแพ้หรือคัดค้านสำเร็จเราก็จะไม่เสียใจเพราะเราได้ออกมาช่วยกันปกป้องหมู่บ้านแล้ว

ที่เราเลือกใช้โซเชียลมีเดียเพราะเราคิดว่า หมู่บ้านเรามีของดีเยอะนะ เรามีวิถีชีวิตมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่หลายคนยังไม่รู้จักหมู่บ้านกะเบอะดินที่กำลังจะเผชิญกับโครงการเหมืองถ่านหิน เราอยากสื่อสารให้คนภายนอกรู้ว่าหมู่บ้านนี้ทำอะไร ชาวบ้านมีอาชีพอะไร มีพืชผลการเกษตรอะไรบ้าง และที่สำคัญคือหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์นี้กำลังเจอปัญหาอะไร 

หลังจากนี้เราวางแผนว่าเราอยากระดมทุนด้วยการขายสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกะเบอะดินอย่างเช่นผ้าทอมือ เสื้อ ย่าม รายได้ที่เราได้นั้นเราตั้งใจจะใช้ในการต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองถ่านหิน ซึ่งเราจะระดมทุนผ่านเพจเฟสบุ๊คนี่แหละ เป็นการระดมทุนเพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้ของหมู่บ้านกับโครงการเหมือง

เยาวชนบางส่วนที่รวมตัวกันเพื่อทำข้อมูลของดีในหมู่บ้านกะเบอะดิน

ไม่ใช่แค่กลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินเท่านั้น แต่หมู่บ้านกะเบอะดินทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมาช่วยสนับสนุนในการทำกิจกรรมแต่ละครั้งตลอด ยกตัวอย่างเช่นการยื่นหนังสือคัดค้านโครงการและการทำพิธีบวชป่าเพื่อแสดงเจตนารมย์ว่าชาวกะเบอะดินไม่ต้องการเหมืองถ่านหิน ก็มีชาวบ้านร่วมกันมาแสดงเจตนารมย์ หรือเวลาที่เราเตรียมงานทำกิจกรรมในหมู่บ้านกันเองก็จะมีพี่ป้าน้าอา ชาวบ้านในหมู่บ้านมาช่วยเราเสมอ 

เราอยากให้คนที่กำลังอ่านเรื่องของเราอยู่ตอนนี้ว่าหมู่บ้านของเราเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เราอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวอบอุ่น เรากำลังต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินของอุตสาหกรรมใหญ่ตามสิทธิ์ที่เรามี เป็นครั้งหนึ่งที่เราทำเพื่อหมู่บ้านของเราและเยาวชนในหมู่บ้านของเรามีความเข้มแข็งพอที่จะทำกิจกรรมเพื่อยุติโครงการเหมืองถ่านหิน 

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม