เนื้อหาโดยสรุป

  • อำเภออมก๋อยเป็นบ้านของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปในประเทศไทยและเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับชาวเชียงใหม่ รวมทั้งบางพื้นที่ของไทยอีกด้วย
  • นอกจากการทำไร่หมุนเวียน มะเขือเทศและฟักทองถือเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวกะเหรี่ยงโปในหมู่บ้านกะเบอะดิน ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
  • เกษตรกรบางคนยึดถืออาชีพนี้และปลูกมะเขือเทศส่งขายมานานกว่า 20 ปี หัวใจของการปลูกพืชผักเหล่านี้ก็คือ “น้ำสะอาด” การเกษตรกรรมที่นี่จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำเพื่อปลูกพืชผลเป็นหลัก อย่างเช่นมะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี และ ข้าว เป็นต้น
  • แต่ในปี 2543 ได้มีการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เนื้อที่ประมาณ 284 ไร่ 30 ตารางวา โครงการดังกล่าวอาจทำให้ลำห้วยทั้งสองได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจทำให้ชุมชนไม่สามารถใช้ทรัพยากรแห่งนี้เพื่อปลูกพืชผลทางการเกษตรรวมถึงใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันได้อีกต่อไป
  • ในขณะที่ชาวบ้านคัดค้านไม่ต้องการให้สัมปทานเหมืองถ่านหินแห่งนี้เอาวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และทรัพยากรชุมชนของพวกเขาไป เราก็ต้องร่วมกันปกป้องแหล่งอาหารและต้นน้ำที่ช่วยให้พวกเรายังดำเนินชีวิตต่อไปเช่นกัน

นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่แล้ว อำเภออมก๋อยนั้นยังเป็นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปในประเทศไทยและเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับชาวเชียงใหม่รวมทั้งบางพื้นที่ของไทยอีกด้วย หากเราได้มีโอกาสไปซื้อวัตถุดิบในตลาดสด มะเขือเทศที่ซื้อติดมือเพื่อทำอาหารในแต่ละมื้อ หรือฟักทองสักลูกที่ได้กลับมา จริงๆแล้วอาจเดินทางมาจากอำเภออมก๋อย ในหมู่บ้านกะเบอะดินก็เป็นได้ เพราะผลิตผลทั้งสองชนิดนี้ถือเป็นรายได้หลักของชุมชนกะเหรี่ยงแห่งนี้และเป็นแหล่งปลูกมะเขือเทศและฟักทองแหล่งใหญ่อีกแห่งของเชียงใหม่เพื่อส่งออกขายไปยังหลายพื้นที่

เส้นทางของมะเขือเทศและฟักทองในหมู่บ้านกะเบอะดิน 

หากไม่นับการทำไร่หมุนเวียน มะเขือเทศและฟักทองถือเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านกะเบอะดิน ตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น เกษตรกรบางคนยึดถืออาชีพนี้และปลูกมะเขือเทศส่งขายมานานกว่า 20 ปี หัวใจของการปลูกพืชผักเหล่านี้ก็คือ “น้ำสะอาด” การเกษตรกรรมที่นี่จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำเพื่อปลูกพืชผลเป็นหลัก อย่างเช่นมะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี และ ข้าว เป็นต้น ทั้งน้ำฝนตามธรรมชาติและน้ำจากลำห้วยที่เป็นน้ำที่ใช้ในเกษตรกรรมและใช้อุปโภคบริโภคในหมู่บ้าน เมื่อมีพื้นที่ มีแหล่งน้ำ ก็สามารถลงทุนทำไร่เพื่อปลูกพืชผล มะเขือเทศและฟักทองที่ปลูกได้นั้นจะมีพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อผลิตผลเพื่อนำไปกระจายต่อยังตลาดพื้นที่ต่างๆ 

ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสพูดคุยกับเกษตรกรที่ปลูกมะเขือเทศในหมู่บ้านกะเบอะดินก็พบว่าเส้นทางของมะเขือเทศและฟักทองในหมู่บ้านนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อย มะเขือเทศเหล่านี้หากปลูกในพื้นที่ราบ (แปลงนา) จะใช้น้ำจากลำห้วยเป็นหลัก ส่วนไร่ที่ปลูกบนพื้นที่สูงที่เป็นภูเขาจะใช้น้ำฝน ในบางปีที่น้ำฝนมีไม่เพียงพอเกษตรกรจำเป็นต้องบรรทุกน้ำใส่รถกระบะ เพื่อรดน้ำมะเขือเทศ ซึ่งผลผลิตที่ได้มาจะมีพ่อค้าคนกลางเดินทางมารับซื้อเพื่อกระจายต่อตามตลาดค้าส่งต่างๆ เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดผักค้าส่งที่เรารู้จักกันดีในจังหวัดปทุมธานี ตลาดค้าส่งในอำเภอแม่สอด ไปยังตลาดเวียง และยังถูกส่งไปทำเป็นซอสมะเขือเทศสำหรับปลากระป๋องในโรงงานผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย 

สำหรับฟักทองนั้น หมู่บ้านกะเบอะดินถือว่าเป็นแหล่งปลูกฟักทองแปลงใหญ่แห่งหนึ่งในอำเภออมก๋อยโดยนิยมปลูกอยู่ 2 สายพันธุ์ด้วยกัน ได้แก่ฟักทองพันธุ์ดำและฟักทองพันธุ์ลาย เกษตรกรเจ้าของสวนฟักทองที่ปลูกฟักทองมากว่า 10 ปีบอกว่า “ฟักทองจะให้ลูกใหญ่หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณและความต่อเนื่องของน้ำที่ได้รับ” ฟักทองที่นี่ต้องพึ่งพาทั้งน้ำฝนและน้ำจากลำห้วย เมื่อต้นฟักทองติดลูกแล้วหากฝนไม่ตกก็มีโอกาสที่ลูกจะแห้ง ฝ่อ แต่ถ้าได้ฝนดีก็จะทำให้ฟักทองมีน้ำหนักเยอะ หากไม่มีน้ำฝนก็จะต้องต่อน้ำจากลำห้วยหรือประปาภูเขา

เกร็ดความรู้เล็กน้อยจากเกษตรกรชาวกะเหรี่ยงโป เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนคือ ก่อนลงมือปลูกฟักทอง ที่นี่จะต้องทำพิธี ‘มะมือก่าย’ เป็นการไหว้เจ้าที่ ใช้ไก่ เหล้า ข้าวผสมกับข้าวแป้ง โดยพิธีกรรมนี้เป็นการขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดูแลให้ได้ผลผลิตในการเพาะปลูกครั้งนั้นดี และได้ฟักทองที่มีคุณภาพ 

ฟักทองถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถเก็บไว้ได้นานหลังจากเก็บเกี่ยวเมื่อที่เทียบกับพืชเศรษฐกิจที่ปลูกในหมู่บ้านกะเบอะดินอย่าง มะเขือเทศและกะหล่ำปลี  โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายหลังจากการเพาะปลูกในระยะสั้นเพียง 2 – 3 เดือนหลังจากปลูก

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

ส่วนเส้นทางของฟักทองหลังออกจากหมู่บ้านกะเบอะดินนั้นค่อนข้างหลากหลาย ฟักทองจะถูกนำไปขายที่บ้านแม่อ่างขางเก่า ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย และบ้านกิ่วลม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนส่งต่อไปขายหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย เช่น จังหวัดอ่างทอง ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท จังหวัดปทุมธานี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น ไม่แน่ว่าฟักทองที่เราเพิ่งกินไปอาจมีที่มามาจากหมู่บ้านกะเบอะดินก็ได้

มะเขือเทศและฟักทองที่เรากินอาจได้รับผลกระทบจากสัมปทานเหมืองถ่านหินในอมก๋อย

หมู่บ้านกะเบอะดินเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้กับลำห้วยและต้นน้ำหลายสาย มีการใช้น้ำจากห้วยอ่างขางและน้ำจากห้วยผาขาวเพื่อปลูกข้าว ปลูกมะเขือเทศ ปลูกฟักทอง ปลูกกะหล่ำปลี รวมถึงเป็นน้ำดื่มและเป็นน้ำที่ใช้ในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นประปาภูเขา   

แต่ในปี 2543 ได้มีการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เนื้อที่ประมาณ 284 ไร่ 30 ตารางวา มีปริมาณถ่านหินจากการสำรวจประมาณ 720,000 ตัน ระยะเวลาในการยื่นขอทำสัมปทาน 10 ปี หากโครงการเหมืองแห่งนี้เกิดขึ้นจริง หมู่บ้านกะเบอะดินจะกลายเป็นเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างจากเหมืองในรัศมีเพียงแค่ 1 กิโลเมตรเท่านั้น และโครงการดังกล่าวอาจทำให้ลำห้วยทั้งสองได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจส่งผลให้ชุมชนไม่สามารถใช้ทรัพยากรแห่งนี้เพื่อปลูกพืชผลทางการเกษตรรวมถึงใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันได้อีกต่อไป 

นี่ไม่ใช่ปัญหาที่มีแค่ชุมชนในหมู่บ้านกะเบอะดินและหมู่บ้านใกล้เคียงจะต้องเผชิญ แต่รวมถึงพืชผลทางการเกษตรที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย ผลกระทบเหล่านี้จะมาถึงพวกเราที่อยู่ในส่วนของผู้บริโภคในห่วงโซ่ระบบการผลิตอาหาร

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ชุมชนในพื้นที่อมก๋อยรวมตัวยื่นจดหมายและข้อเรียกร้องให้ยุติโครงการเหมืองถ่านหินถึงนายอำเภออมก๋อย โดยหยิบยกผลกระทบผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศ การปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำ ตลอดจนการทำลายระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 

ในปีนี้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังออกมาย้ำให้เห็นอีกว่านอกจากระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจเสียไป ยังมีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะมีทั้งการสวมสิทธิ์เข้าชื่อหนุน และมีลายนิ้วมือหรือลายมือชื่อของชาวบ้าน ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นเป็นผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ในโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน พื้นที่หมู่บ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

การต่อสู้ของชุมชนบ้านกะเบอะดินในครั้งนี้ไม่ใช่การต่อสู้เรียกร้องในสิทธิ์การคัดค้านสัมปทานเหมืองถ่านหินเพียงลำพังเท่านั้น แต่เราที่เป็นคนอีกกลุ่มซึ่งได้รับทรัพยากรและผลผลิตจากชุมชนบ้านกะเบอะดินไม่ว่าจะด้วยอาหารที่เรากินหรือน้ำที่มาจากต้นน้ำก็ตาม เราทุกคนต่างได้ร่วมใช้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม ในขณะที่ชาวบ้านคัดค้านไม่ต้องการให้สัมปทานเหมืองถ่านหินแห่งนี้เอาวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และทรัพยากรชุมชนของพวกเขาไป เราก็ต้องร่วมกันปกป้องแหล่งอาหารและต้นน้ำที่ช่วยให้พวกเรายังดำเนินชีวิตต่อไปเช่นกัน

ติดตามข้อมูลข่าวสาร และเรื่องราวการคัดค้านของโครงการเหมืองถ่านหินในอมก๋อยของชุมชนกะเบอะดินผ่านกลุ่มเยาวชนปกาเกอะญอ ร่วมสนับสนุนน้องๆได้ในเพจเฟสบุ๊ค กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม