คลิปวิดีโอฉายภาพโคลงเคลงขี้นลงไปมา แต่ก็ชัดเจนพอที่จะเป็นประจักษ์พยานให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ณ กลางทะเลที่ห่างไกล ภาพกล่องขนาดยาวพอดีคนนอนคลุมด้วยผ้าสีส้มสด กลางดาดฟ้าเรือขนาดใหญ่ ผู้ทยอยถือธูปมาบอกลาเจ้าของร่างที่นอนสงบอยู่ด้านใน ก่อนจะถูกปล่อยให้จมหายไปในความมืดมิดของมหาสมุทร

https://www.facebook.com/9378497097/videos/1317537211970204

เจ้าของร่างไร้วิญญาณคือ อารี ลูกเรือหนุ่มวัย 24 ปี จากหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในอินโดนีเซีย เขาเสียชีวิตในช่วงเวลาใกล้เคียงกับลูกเรืออีกคนรุ่นราวคราวเดียวกันชื่อ เซปรี ณ ดินแดนห่างไกลกลางทะเล ทว่าเรื่องเศร้าไม่ได้จบแค่นั้น หลังความจริงเปิดเผยต่อมาว่า ยังมีลูกเรือเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน รวมเป็น 4 ชีวิต โดยทุกคนทำงานบนคณะเรือประมงเดียวกันของบริษัทสัญชาติจีน ชื่อ Dalian Ocean Fishing และเสียชีวิตจากสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่เลวร้ายบนเรือ จนถึงปัจจุบัน บริษัท Dalian Ocean Fishing ก็ยังไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีใดๆ ต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น

 สถานีวิทยุและโทรทัศน์ MBC (Munhwa Broadcasting Corporation) ในประเทศเกาหลีใต้ เป็นสื่อเจ้าแรกที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว หลังลูกเรือที่เหลือบนเรือประมงมาเทียบท่าที่เมืองปูซาน และแอบส่งคลิปวิดีโอการทิ้งศพลงน้ำที่แอบถ่ายไว้ให้กับเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ และช่อง MBC อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอดังกล่าวกลายเป็นไวรัลเมื่อ ยูทูปเบอร์ชาวเกาหลีใต้ ที่สามารถพูดภาษาบาฮาซาได้ โพสท์คลิปเล่าข่าวจากทีวีเกาหลีให้ชาวอินโดนีเซียฟัง คลิปนี้โด่งดังจนมียอดเข้าชมมากกว่า 8 ล้านครั้ง

คลิปวิดีโอได้สั่นสะเทือนสังคมต่อเนื่องเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ตามมาด้วยการพูดถึงชีวิตชาวอินโดนีเซียที่ใช้แรงงานบนเรือประมงต่างชาติ เพราะหลังช่อง MBC รายงานข่าวในเดือนพฤษภาคม 2563 ก็มีคลิปวิดีโอที่แสดงถึงโศกนาฏกรรมต่อลูกเรือประมงต่างชาติลักษณะเดียวกันเผยแพร่ออกมามากขึ้น เช่น ภาพลูกเรือประมงที่อ่อนแรงจนเดินไม่ได้ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ก่อนศพจะถูกทิ้งกลางทะเลใกล้ประเทศโซมาเลีย ถัดมาในเดือนกรกฎาคม มีข่าวการพบศพถูกแช่อยู่ในห้องเย็น และเมื่อไม่นานมานี้ ในเดือนสิงหาคม คลิปวิดีโอลูกเรือชาวอินโดนีเซีย 3 คน กำลังร้องขอความช่วยเหลือบนเรือประมงจีน ก็สร้างการถกเถียงในวงกว้างถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแรงงานประมงต่างชาติ ที่ทำงานอยู่บนเรือประมงทั่วโลก

อะไรนำมาสู่ปรากฏการณ์เช่นนี้?

ลูกเรือชาวอินโดนีเซียที่ทำงานบนเรือบริษัท Dalian Ocean Fishing เดินทางมาถึงสนามบิน Soekarno Hatta ในกรุงจาการ์ตา ขณะถูกส่งกลับบ้านในอินโดนีเซียเมื่อเดือนพฤษภาคม © Hasnugara / Greenpeace

เช่นเดียวกับปัญหาความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่า นี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกลางทะเลกับลูกเรือประมงต่างชาติ แต่จากปัจจัยด้านความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงช่วยให้โลกได้เห็นเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเอง จากคลิปวิดีโอจำนวนมากที่ถูกปล่อยออกมา  และจากเรื่องเล่าของผู้รอดชีวิต ทั้งนี้ คลิปวิดีโอเหล่านี้ยังใช้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ยังคงมีการทำประมงผิดกฎหมายอยู่ และการจับสัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) ต่างๆ เช่น การล่าฉลามเพื่อเอาครีบ ที่สำคัญ ก็ช่วยจุดกระแสสังคมให้หันมาทบทวนเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ การกดขี่รูปแบบต่างๆ ที่มีมายาวนานในอุตสาหกรรมประมงโลก ซึ่งกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพันธมิตรมีส่วนช่วยเปิดโปงต่อสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม น่าเศร้าที่เรื่องราวความเลวร้ายที่เกิดขึ้นแม้จะได้ความสนใจจากสื่อทั้งในและนอกประเทศ แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากรัฐบาลภายในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อปกป้องประชาชนของประเทศตน

สหภาพแรงงานประมงชาวอินโดนีเซีย (Indonesian Migrant Workers Union – SBMI)  และกรีนพีซ อินโดนีเซีย ร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หน้าทำเนียบประธานาธิบดี ในกรุงจาการ์ตา เพื่อเรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล (C188) © Adhi Wicaksono / Greenpeace

นับตั้งแต่การเสียชีวิตของลูกเรือบริษัท Dalian Ocean Fishing สิ่งที่รัฐบาลอินโดนีเซียทำคือ การรายงานไปยัง คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ถึงกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมง และเสนอให้มีการทำข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการจ้างแรงงานประมง (Moratorium) รวมถึงการเชิญเจ้าหน้าที่ทูตของประเทศจีนเข้าหารือเพื่อจัดการสืบสวนข้อเท็จจริง แต่ทั้งหมดยังเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่เพียงพอที่จะจัดการปัญหาแรงงานบังคับกลางทะเลในระยะยาว

ประชาชนชาวอินโดนีเซีย รวมถึงแรงงานประมงต่างชาติที่ทำงานอยู่บนเรือประมงที่ห่างไกล ควรจะได้รับการปกป้อง เช่นเดียวกับแรงงานในภาคส่วนอื่น ๆ อุตสาหกรรมอาหารทะเลควรมีส่วนร่วมแสดงความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเรือประมงที่กดขี่แรงงานเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไร รวมถึงบริษัทอาหารทะเลและผู้ค้าปลีก ที่เพิกเฉยต่อปัญหาแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในห่วงโซ่อุปทาน และที่สำคัญ รัฐบาลอินโดนีเซียที่ยังนิ่งเฉยในการระบุ ติดตาม และตรวจตราเรือประมงนอกน่านน้ำทั่วโลก ซึ่งพลเมืองในประเทศเดินทางไปทำงาน ทั้งนี้ แม้การค้าแรงงานทาสกลางทะเลจะเกี่ยวข้องกับตัวแปรมากมายที่กว้างใหญ่เหมือนมหาสมุทร แต่ทุกย่างก้าวเพื่อหยุดยั้งป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมที่มนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกันนั้นย่อมมีความหมาย หากทุกภาคส่วนเริ่มตัดสินใจและลงมือทำทันที โดยไม่ต้องให้ใครต้องหายไปกลางทะเลอีก

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม