ก่อนที่จะอ่านบทสัมภาษณ์นี้ เราอยากให้คุณลองถามตัวเองเล่นๆ ว่า สำหรับคุณ ‘สันติวิธี’ คืออะไร? ไม่ต้องบอกให้เรารู้หรอก แค่เก็บคำตอบที่คุณมีไว้ในใจก็พอ 

สันติวิธี โดยส่วนมากเรามักจะได้ยินการอธิบายคำๆ นี้ว่า คือการต่อสู้กับอำนาจโดยปราศจากความรุนแรง และแม้ว่าความหมายของคำๆ นี้จะดูชัดเจน แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นต่อข้อถกเถียงที่จะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น นิยามของความรุนแรงคืออะไร ขอบข่ายของสันติวิธีอยู่ตรงไหน รวมไปถึงว่า ความหมายของสันติวิธีที่สังคมไทยเข้าใจ จริงๆ แล้วอาจผิดแผกแตกต่างไปจากความหมายในบริบทของสังคมอื่นๆ 

บทสัมภาษณ์ที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ คือมุมมอง ทัศนคติ และประสบการณ์ของธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย และผู้คลุกคลีอยู่กับการทำงานรณรงค์และประยุกต์ใช้ปฏิบัติการตรง(direct action)เป็นแนวทางการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยมากว่ายี่สิบปี ว่าด้วยสันติวิธีในความหมายที่เขารับรู้ และเข้าใจ

สอดคล้องไปกับประเด็นนี้ คือเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ ประเทศไทย ที่ปะทะอยู่กับอำนาจรัฐ และขับเคี่ยวอยู่ในปริมณฑลทางการเมืองอยู่เสมอ

สันติวิธีคืออะไร? นี่คือคำตอบของธารา 

Q : โดยพื้นฐานแล้วสันติวิธีคืออะไร 

A : สันติวิธี มาจากคำว่า ‘nonviolent’ โดยใช้เป็นคำกริยาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น nonviolent resistance, nonviolent movement, nonviolent revolution, nonviolent activism หรือที่กรีนพีซใช้คำว่า nonviolent direct action (ปฏิบัติการตรงโดยไร้ความรุนแรง) การที่ nonviolent แปลเป็นคำที่คุ้นหูเราว่า ‘สันติวิธี’ จึงมักถูกตีความในลักษณะของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่มีความขัดแย้ง ซึ่งผมคิดว่ามันไม่มีพลังเพียงพอในการอธิบายโลกปัจจุบันและอนาคตที่ซับซ้อนผันผวนไม่แน่นอน โลกซึ่งความรุนแรงแสดงออกผ่านกลไกอำนาจรัฐ(state violence) และความรุนแรงเชิงโครงสร้าง(Structural Violence)ที่มักไม่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแต่ซ่อนเร้นในระบบคุณค่า เช่น การเหยียดผิว เหยียดเพศ เป็นต้น 

องค์ความรู้ที่เป็นระบบในเรื่องนี้ต้องยกให้ยีน ชาร์ป(Gene Sharp) นักวิชาการผู้ศึกษาและเผยแพร่แนวทางยุทธศาสตร์ต่อต้านเผด็จการแบบสันติวิธี และสร้างแรงบันดาลใจให้กับการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงหลายที่ในโลกช่วงหลายทศววรษที่ผ่านมา แกเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว(พ.ศ.2561) คนที่เขียนคำไว้อาลัยยกให้ยีน ชาร์ปเป็น “เจ้าพ่อแห่งการปฏิวัติโดยไร้ความรุนแรง(Godfather of nonviolent revolution)” มีหนังสือเล่มหนึ่งของแกที่ผมอ่านตั้งแต่สมัยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยคือ “อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง” ที่ให้ความหมายและอธิบายถึงกระบวนการทำงานของ “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” รวมถึงการเสริมอำนาจประชาชน เป็นหนังสือที่นักสันติวิธีต้องอ่าน ต้องเข้าใจเรื่องของอำนาจ ดังคำกล่าวที่ว่า ความจริง(Truth) จะไม่ต่อสู้ด้วยตัวของมันเองเพราะผู้มีอำนาจต้องการให้มิจฉาทิฐิเป็นใหญ่

สันติวิธียังเป็นหลักการสำคัญของขบวนการนิเวศวิทยาการเมืองทั่วโลกโดยหลอมรวมแนวคิดสันติภาพ-สันติวิธีเข้ากับสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยระดับรากฐาน ความเป็นธรรมทางสังคม สตรีนิยมและนิเวศนิยมอีกด้วย

Q : ในแง่นี้ เทคนิค วิธีการและกลยุทธ์ต่างๆ ที่ nonviolent movement จะใช้ต่อสู้กับอำนาจมีอะไรบ้าง

A : วิธีการของปฏิบัติการไร้ความรุนแรงมีเยอะมากครับ ยีน ชาร์ปรวบรวมไว้ได้ 198 วิธี ตั้งแต่การยื่นจดหมาย การแถลงการณ์ล่ารายชื่อ การสื่อสารเพื่อขยายฐานผู้ฟังออกไป การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ละคร แฟลชม็อบ การเดินขบวน การชุมนุมในที่สาธารณะ การนัดหยุดเรียน การไม่จ่ายภาษี การบุกรุกยึดกุมพื้นที่โดยไม่ใช้ความรุนแรง ไปจนถึงอารยะขัดขืน(civil disobedience) ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งของในจักรวาลกว้างใหญ่ของ nonviolent movement

กลุ่มนักกิจกรรมยุคใหม่เองก็ได้มีการรวบรวมและอัพเดทกลยุทธ์ หลักการ ทฤษฎีและกรณีศึกษาว่าด้วย nonviolent activism เป็นคู่มือ(toolbox) เลยครับ อย่างเช่น #BeautifulTrouble 

หัวใจสำคัญของ nonviolent movement ทั่วโลกมีอยู่สองข้อคือ (1) การพูดความจริงไม่ว่าผู้มีอำนาจต้องการจะได้ยินหรือไม่ และ (2) ปฏิบัติการในสิ่งที่คุณเชื่อมั่น แม้ว่าจะต้องเสียสละ เช่น อิสรภาพของตัวเอง เป็นต้น และสร้างความปั่นป่วนในระบบซึ่งผู้มีอำนาจต้องการรักษาไว้ จะเห็นได้ว่า ผู้คนที่ลงมือปฏิบัติการแบบไร้ความรุนแรงจะได้รับการข่มขู่ คุกคาม ปองร้าย หรือถูกจับกุมและลงโทษทางกฏหมาย เพราะการพูดความจริงต่ออำนาจมันได้ท้าทายระบบที่ไม่เป็นธรรม

สิ่งที่ Greta Thunberg เริ่มต้นเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว สะท้อนถึงหัวใจสำคัญ 2 ประการนี้ จากการนั่งประท้วงคนเดียวหน้ารัฐสภาสวีเดน จนกระทั่งเบ่งบานและขยายตัวขึ้นเป็นการเคลื่อนไหวเรื่องความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ(climate justice)ของเยาวชนหลายล้านคนทั่วโลก การที่ Greta ออกมาพูดความจริง(ต่ออำนาจ) โดยที่ตัวเธอเองถูกเพิกเฉย สบประมาท ล้อเลียน ด่าทอและวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่ Greta ก็ไม่แคร์ ความมุ่งมั่นของเธอชัดเจนมาก เป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ และสร้างขบวนการเคลื่อนไหวขึ้นมาได้

"Fridays for Future" Climate Demonstration in Stockholm. © Jana Eriksson / Greenpeace
การประท้วงเงียบ ๆ คนเดียวของ Greta ถือเป็นหนึ่งในการประท้วงเชิงสันติวิธี © Jana Eriksson / Greenpeace

ในขณะเดียวกัน การที่ความจริงมีชัยชนะเหนืออำนาจนิยมในที่ใดที่หนึ่งบนโลก ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นชัยชนะในทุกๆ ที่ ในสหรัฐอเมริกา ในยุโรป เรายังเห็นประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศ การเหยียดผิวยังคงอยู่และมากขึ้นด้วย พื้นที่ทางประชาธิปไตย(democratic space)ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกหดตัวลงจากระบอบอำนาจนิยม คือเราต้องไม่ทึกทักว่า หากมีคนมากมายเชื่อในทฤษฏีและยุทธวิธีไร้ความรุนแรงแล้วกำแพงจะทะลายออก ผมไม่เชื่อว่า nonviolent tactics จะต้องสมบูรณ์แบบและไร้ที่ติ หากเป็นกระบวนการเรียนรู้และความเข้าใจที่หยั่งลึกเพื่อนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมนั้นๆ หากเราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและยั่งยืน

Q : เทียบกันแล้วระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ข้อถกเถียงเรื่องสันติวิธีในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

A : สันติวิธีในประเทศไทยมีเป็นสำนักเลยนะ และต้องถามว่าเป็นสันติวิธีของกลุ่มไหนด้วย(หัวเราะ) กลุ่มหนึ่งบอกว่า สันติวิธีมีกฏเกณฑ์ กรอบกติกา เทคนิคและขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจน ในขณะที่อีกกลุ่มมองว่า สันติวิธีไม่ใช่แค่การนั่งอยู่เฉยๆ ร้องขออย่างเดียวแล้วจะบรรลุเป้าหมาย มันต้องเสียงตะโกนโหวกเหวก มีอารมณ์ขันหรืออาจจะเป็น meme เพื่อสื่อสารให้ทะลุทะลวง ยั่วเย้าและท้าทาย

สมัยคานธีที่ปลดแอกอินเดียจากจักรวรรดิอังกฤษ หรือ มาร์ติน ลูเธอร์คิงกับขบวนการสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกา หรือเพตรา เคลลี แกนนำสตรีคนสำคัญของพรรคกรีนเยอรมนี สันติวิธีมักจะขึ้นอยู่กับผู้นำที่มีบารมี(charismatic) แต่ในยุคถัดมาจนถึงปัจจุบัน สันติวิธี/ยุทธวิธีไร้ความรุนแรงอาจจะมีลักษณะกระจายศูนย์ หลากหลายและไม่ขึ้นต่อกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบทบาทของโซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีดิจิตอล

ครั้งที่กรีนพีซทำงานร่วมกับชุมชนที่ประจวบคีรีขันธ์ที่บ่อนอก ทับสะแก และบ้านกรูดซึ่งจะเป็นพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในยุทธศาสตร์การต่อสู้ชุมชนใช้สโลแกนว่า “มึงสร้างกูเผา-If you build, we burn” เรามองว่าสโลแกนนี้แรงดีมาก ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าพวกเขาจะสู้ไม่ถอย แต่เพื่อนในกรีนพีซที่อื่นตั้งคำถามว่านี่มันผิดหลักการ nonviolent direct action หรือไม่ เราต้องอธิบายว่า นี่คือการดื้อแพ่งและสถาปนาอำนาจของชุมชนต่อนโยบายรัฐที่ไร้ความชอบธรรม ชุมชนรู้ว่าการแข็งขืนอย่างถึงที่สุดของตนต้องเผชิญการโต้กลับอย่างรุนแรงจากกลไกอำนาจรัฐและทุน

นอกจาก meme ที่ร้อนแรงนี้ การเคลื่อนไหวยุติถ่านหินสกปรกที่ประจวบคีรีขันธ์ได้ประยุกต์ยุทธวิธีและวิธีการ nonviolent resistance จำนวนมากอย่างลุ่มลึกและสอดคล้องกับตน ไม่ว่าจะเป็น การซื้อหุ้นบริษัทและเข้าประชุมผู้ถือหุ้น การยึดกุมพื้นที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน การปิดทางหลวงสายใต้เพื่อเจรจากดดัน การโยนซากวาฬที่เสียชีวิตเข้าไปในงานเลี้ยงโต๊ะจีนที่ผู้ผลักดันโครงการจัดขึ้น การติดตั้งป้ายนับถอยหลังไปสู่วันที่รัฐบาลจะอนุมัติโครงการพร้อมๆ กับการบริจาคเลือดของคนในชุมชนในกรณีที่รัฐใช้ความรุนแรงจัดการปัญหา เป็นต้น ท้ายที่สุดจนถึงปัจจุบัน ไม่มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น แต่เราต้องสูญเสียผู้นำชุมชนคือเจริญ วัดอักษร ขณะที่ผู้นำสตรี พี่จินตนา แก้วขาวต้องรับโทษจำคุกจากปฏิบัติการโยนซากวาฬ

ผมคิดว่า เราจำเป็นต้องเรียนรู้การต่อสู้ของชุมชนท้องถิ่นให้มากกว่าที่เป็นอยู่ หัวใจของยุทธวิธีไร้ความรุนแรงและจุดพลิกผันของการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่นั่น

Q : แล้วกรีนพีซประเทศไทยล่ะ ที่ผ่านมามีปฏิบัติการ nonviolent อย่างไรบ้าง

A : ก่อนจุดกำเนิดของกรีนพีซ มีการเคลื่อนไหวทางสังคมอยู่ก่อนแล้วทั้งเรื่องสันติภาพ สิทธิพลเมือง นิเวศนิยม สตรีนิยม เป็นต้น ปฏิบัติการตรงโดยไร้ความรุนแรง(nonviolent direct action) เป็นหนึ่งในคุณค่าหลักของกรีนพีซ มีคำว่า “direct” คือการเป็นประจักษ์ในที่เกิดเหตุ ในหลายๆ สถานการณ์ กรีนพีซเข้าขัดขวางการทำลายสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่มีคนรู้จักกันมากจะเป็นปฏิบัติการในทะเล เช่น ปฏิบัติการขัดขวางการล่าวาฬ กรีนพีซใช้เรือยางขวางเครื่องยิงฉมวกบนเรือประมงกับตัววาฬ หรือปฏิบัติการโดยใช้เรือยางขัดขวางการทิ้งกากของเสียลงทะเล

Greenpeace Action against Japanese Whaling in Southern Ocean. © Greenpeace / John Cunningham
ปฏิบัติการขัดขวางการล่าวาฬในญี่ปุ่น © Greenpeace / John Cunningham

สิบกว่าปีที่แล้ว นักกิจกรรมของกรีนพีซปฏิบัติการถอนต้นมะละกอจีเอ็มโอ(GMOs) ที่สถานีวิจัยพืช ขอนแก่น มีข้อถกเถียงในสังคมว่า วิธีการเช่นนี้เป็นสันติวิธีตรงไหน แต่กรีนพีซเชื่อมั่นว่านี่คือการปกป้องระบบอาหารจากการปนเปื้อนมลพิษทางพันธุกรรม และประเทศไทยห้ามปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา ขณะที่มีการจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ามะละกอที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอให้กับประชาชนทั่วไปกว่า 2,000 รายใน 37 จังหวัดทั่วประเทศ กรมวิชาการเกษตรฟ้องกรีนพีซในคดีอาญาฐานบุกรุกและสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน เราต่อสู้กันในชั้นศาล ท้ายที่สุดศาลอุทธรณ์ที่ขอนแก่นพิพากษาให้ยกฟ้องโดยระบุว่าเป็นสิทธิของประชาชนในการแสดงออกเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

GE Papayas Action in Bangkog. © Greenpeace / Vinai Dithajohn
อาสาสมัครกรีนพีซเทมะละกอบริเวณหน้าประตูทางเข้าออกของกระทรวงเกษตรฯ © Greenpeace / Vinai Dithajohn

ผมแนะนำให้ดูสารคดี “How To Change the World: The Revolution Will Not Be Organized” และเรื่องราวของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เล่าเรื่องของกรีนพีซและปฏิบัติการตรงโดยไร้ความรุนแรง(nonviolent direct action) ผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบันด้วยครับ

Q : การถกเถียงเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะบางคนอาจมองไม่เห็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างด้วยหรือเปล่า

A : ครับ เพราะว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้าง(Structural Violence) มันซ่อนเร้นในระบบคุณค่าและสถาบันทางสังคมที่อยุติธรรมนานาชนิด ความรุนแรงยังมีที่มาจากการปราศจากประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือรวมศูนย์อำนาจผูกขาดไว้ที่บุคคลหรือสถาบันใดๆ หรืออีกนัยหนึ่ง เราไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงโดยแยกจากวิกฤตทางนิเวศวิทยา ความเป็นธรรมทางสังคมและประชาธิปไตยขั้นรากฐาน 

Q : พูดได้ไหมว่า โจทย์หนึ่งของ nonviolent movement คือการสื่อสารให้เห็นระดับของความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ในสังคม 

A : จริงๆ แล้วยุทธวิธีไร้ความรุนแรงถ้าออกแบบสร้างสรรค์ให้ดีก็คือการสื่อสารสาธารณะที่ทรงพลังโดยตัวของมันเอง นำไปสู่การแพร่กระจายทางความคิด(mind bomb) การประท้วงของนักศึกษา เยาวชนและนักเรียนเมื่อเร็วๆ นี้ สะท้อนหัวใจหลัก 2 ประการของปฏิบัติการไร้ความรุนแรง พวกเขากล้าหาญพูดความจริงไม่ว่าผู้มีอำนาจต้องการจะได้ยินหรือไม่ และท้าทายกับระบบที่ไม่เป็นธรรมรวมถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

Q : โดยส่วนตัวคุณเอง คุณเชื่อใน nonviolent movement ไหม

A : ผมเห็นว่าสังคมไทยก็ไม่ได้แตกต่างไปจากหลายสังคมในโลกในแง่ที่ว่า ข้อขัดแย้งบางอย่างไม่อาจประนีประนอมได้ ต้องอาศัยการต่อสู้ เพราะกลไกทางสังคมหรือสถาบันที่เรามีอยู่ไม่เอื้ออำนวยและวิธีการก็ไม่เพียงพอ เมื่อเราเผชิญกับความขัดแย้งประเภทนี้ ทางเลือกก็คือยอมแพ้ หรือไม่ก็จบด้วยความรุนแรง ซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้น 

การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมและการปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นสถานการณ์ที่ขัดแย้งแหลมคม ในฐานะประชาชน ผมเชื่อว่า “ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง” เป็นทางเลือกแทน “ความรุนแรง” ในสังคมโดยที่ยังรักษาอิสรภาพ ความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไว้ได้

ในฐานะนักกิจกรรมของกรีนพีซ ปฏิบัติการตรงโดยไร้ความรุนแรง(nonviolent direct action) ทำให้ผมมองโลกในแง่ดี มีความหวังสำหรับปัจจุบันและอนาคตครับ


ปีนี้เป็นปีที่ 20 ของกรีนพีซ เรากำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซยังคงเน้นย้ำงานรณรงค์เพื่อการฟื้นฟูที่เป็นมิตรและเป็นธรรมกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขัน เราเรียกร้องให้รัฐบาลและธุรกิจต่างๆ แสดงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมต่อทุกๆกิจกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กรีนพีซมุ่งเน้นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในเชิงนโยบาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนเพื่อระบบนิเวศที่ปลอดภัยและน่าอยู่ เพื่อป้องกันหายนะทางนิเวศวิทยาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม