การร่างกฏหมายโลกร้อนที่กำลังเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจนถึงต้นเดือนตุลาคม 2563 นี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดไว้ว่าภายในปี 2563 ประเทศไทยจะต้องมีร่างแรกของพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (ซึ่งในที่นี้จะเรียกสั้นๆ ว่า กฏหมายโลกร้อน) รวมถึงการมีอนุบัญญัติต่างๆ แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดเนื้อหาและความเข้มข้นของการบังคับใช้นั้นจะเพียงพอที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้หรือไม่ หรือยังสงวนท่าทีที่เกรงใจต่อภาคอุตสาหกรรมนั้นยังเป็นคำถามใหญ่

การพูดถึงเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศในสังคมไทยมักมุ่งตรงไปที่การสร้างจิตสำนึกและบทบาทของผู้บริโภคหรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของปัจเจกชน และละเลยภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุดนั้นคือภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต ของเสีย คมนาคม และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยข้อมูลจาก Carbon Majors ระบุไว้ว่า ร้อยละ 71 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั่วโลกนั้นมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่เพียง 100 บริษัท ตามกรอบที่ระบุไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) หัวใจสำคัญของการต่อกรกับวิกฤตโลกร้อนคือเราจำเป็นผลักดันให้ Carbon Majors เหล่านั้นมีภาระรับผิด(accountablity)

อาสาสมัครกรีนพีซในฟิลิปปินส์แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณหน้าโรงกลั่นน้ำมันของเชลล์เพื่อเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบต่อการเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

แม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ แต่ทุกประเทศที่ลงนามในความตกลงปารีสเมื่อปี 2015 (2558) ต่างต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่สูงไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียสนับแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความตกลงปารีสให้ได้ 11-20% ในภาคพลังงานและขนส่ง และจะขยับขึ้นเป็น 20% ทุกภาคส่วนในปี 2573 ซึ่งสามารถผลักดันให้ได้ถึง 25% หากมีการสนับสนุนทางเทคโนโลยี 

5 ปีให้หลังจากความตกลงปารีสเราได้เห็นร่างกฏหมายโลกร้อน (พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น โดยความท้าทายในกรณีของประเทศไทยคือยังขาดข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน เป้าหมายของร่างกฏหมายนี้คือเพื่อจัดทำฐานก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่มาจากภาคส่วนต่าง ๆ ใจความสำคัญของร่างกฏหมายจึงมุ่งหวังให้มีกลไกการตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในเวทีแสดงความคิดเห็นได้เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมายังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลจากเอกชน ใช้วิธีส่งจดหมายขอความอนุเคราะห์ และอุปสรรคคือ อุตสาหกรรมไม่มีการจัดเก็บการปล่อยก๊าซเป็นสัดส่วน และห่วงเรื่องความลับของข้อมูล และเป็นผลเสียต่อการค้า จึงจำเป็นต้องร่างพรบ.ฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถใช้อำนาจในการเก็บข้อมูล”

ระบบการเรียกเก็บข้อมูลตามร่างกฏหมายมีดังนี้ 

  • ประเภทข้อมูลที่เรียกเก็บ : ข้อมูลกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจก
  • กระทรวงที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ส่งข้อมูลรายสาขาให้แก่ สผ. (ร่างมาตรา 26)  ในกรณีที่ข้อมูลที่รัฐมีไม่เพียงพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอำนาจเรียกเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกชน แต่จะต้องออกกฎกระทรวงกำหนดบุคคลและรายการข้อมูลก่อน (ร่างมาตรา 27)  
  • สผ. มีหน้าที่ประมวลผลข้อมูลกิจกรรมให้เป็นข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อเผยแพร่ในฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก (ร่างมาตรา 25)
  • การเปิดเผยข้อมูลของภาคเอกชน:

ข้อมูลกิจกรรมการปล่อย: การกักเก็บและการลดก๊าซเรือนกระจก

มาตรา 29 ข้อมูลกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจกของบุคคลที่สำนักงานหรือหน่วยงานของรัฐได้มาหรือครอบครองอยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลของแต่ละบุคคลหรือเป็นความลับทางการค้าตามกฎหมายว่าด้วยความลับทางการค้า ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยมิได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้น หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอข้อมูลดังกล่าวมิได้

ข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจก  

มาตรา 30 ในกรณีที่ข้อมูลกิจกรรมหรือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก หรือปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกในส่วนใด หากเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว จะเกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นการเฉพาะ บุคคลนั้นสามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอมิให้เปิดเผยข้อมูลนั้นได้ และให้คณะกรรมการพิจารณามีคำสั่งให้แล้วเสร็จภายใน XX วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง การยื่นคำร้องและการพิจารณาคำร้องตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ผู้ประสานงาน และทนายความของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้ข้อสังเกตว่า “ตามมาตรา 29 และ 30 นี้ เท่ากับจะไม่อาจเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะได้เลย

ประเด็นที่น่าสนใจและอยากชวนให้จับตามองคือ ข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูลนั้น มีการกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อสาธารณะ แต่เป็นเพียงข้อมูลรวมของปริมาณก๊าซเรือนกระจก (ที่อาจจะหักลบกิจกรรม CSR แล้ว) แต่ไม่จำเป็นจะต้องแจ้งรายละเอียดของกิจกรรมที่ปล่อยโดยที่มีข้อยกเว้นทั้งสองกรณีคือ หากการเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดเป็นการเฉพาะ บุคคลนั้นอาจร้องขอต่อเลขาธิการ สผ. ไม่ให้เปิดเผยได้ นั่นหมายความว่าภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรมสามารถใช้ข้อยกเว้นนี้เลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลก็ย่อมได้ใช่หรือไม่ ..? และทางสผ.ชี้แจงเหตุผลว่า “กฎหมายบอกว่าไม่ต้องการเพิ่มภาระให้กับบริษัทและหน่วยงานเกินความจำเป็น แล้วแต่ดุลพินิจของหน่วยงานรับผิดชอบ” 

ตัวอย่างที่อาจเป็นผลเสียให้กับประชาชนหากไม่ได้รับทราบข้อมูลการก่อก๊าซเรือนกระจกเป็นรายกิจกรรมอย่างโปร่งใส อาทิเช่น อุตสาหกรรมพลังงาน (ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมระดับโลกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดของโลก) หากเลือกที่จะเปิดเผยข้อมูลเฉพาะปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยรวม และหักลบจากกิจกรรมอื่นเช่น ปลูกป่า เก็บขยะ ทำฝายแล้ว เราอาจไม่มีวันทราบเลยว่า ที่มาของการปล่อยหรือศักยภาพที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากห่วงโซ่อุปทานต่าง ๆ ตั้งแต่การขุดเจาะ ทำเหมือง กลั่นน้ำมัน เผาถ่านหิน ไปจนถึงขนส่งนั้นสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากน้อยแค่ไหน และตัวเลขที่แท้จริงในการต้องปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมายตามความตกลงปารีสนั้นยังห่างไกลแค่ไหน 

แม้กฏหมายโลกร้อนให้อำนาจในการเรียกเก็บข้อมูลจากบริษัท แต่ยังคงเกรงใจผลประโยชน์ทางการค้าของบริษัทมากกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อวิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนอันเป็นผลจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่

นอกจากนี้สิ่งที่ยังขาดหายไปจากร่างกฎหมายโลกร้อนฉบับนี้ คือยังไม่รวมภาคส่วนของอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ แม้ว่าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์อันมาจากการส่งเสริมของนโยบายรัฐนั้นมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและผืนป่า(Landuse and landuse change-LULUCF) และการเผาในที่โล่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อก๊าซเรือนกระจกและทำลายป่าที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และภาคส่วนที่ควรรับผิดชอบและมีการเปิดเผยข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานนี้คือบริษัทอุตสาหกรรม ไม่ใช่เกษตรกร

ภูเขาหัวโล้นในจังหวัดน่านที่เกิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเช่น ข้าวโพด เพื่อมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์

ร่างกฎหมายโลกร้อนของประเทศไทยจะกลายเป็นหนึ่งในกฎหมายโลกร้อนได้มีการดำเนินการบังคับใช้แล้วในราว 164 ประเทศ (ข้อมูลปี 2560) ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคพลังงาน เรายังคงต้องจับตามองต่อไปว่าพรบ.ฉบับนี้จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนในการกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ร่างกฎหมายโลกร้อนกำลังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น เพื่อเตรียมใช้งานในอีกสองปีหลังจากนี้ สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ได้ที่นี่ โดยเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งต่อไปจะจัดขึ้นตามรายละเอียดดังนี้

  • นครศรีธรรมราช 30 กันยายน 2563 เวลา 8.30 – 15.30 โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน 
  • ชลบุรี 2 ตุลาคม 2563 เวลา 8.30 – 15.30 โรงแรมเคปราชา ศรีราชา
  • ขอนแก่น 9 ตุลาคม 2563 เวลา 8.30 – 15.30 โรงแรมอวานี ขอนแก่น

รายละเอียดข้อมูล: ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม