ปี พ.ศ.2561 มีเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมมากมายเกิดขึ้นในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก และนี่คือ 3 เรื่องที่ไม่ควรพลาดในมุมมองของเรา

มลพิษพลาสติก(Plastic Pollution)

ขยะพลาสติกจำนวนมากลอยอยู่ในคลองหัวลำโพงบริเวณหลังชุมชนคลองเตย

แม้จะมีมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องการใช้พลาสติกอย่างเข้มข้น แต่วิกฤตมลพิษพลาสติกก็ไม่มีท่าทีว่าจะลดลง กลางปี พ.ศ.2561 วาฬนำร่องครีบสั้นว่ายน้ำเกยตื้น ที่ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังยื้อชีวิต 5 วันแต่ไม่สำเร็จ ผลชันสูตรพบขยะกว่า 8 กิโลกรัมในตัววาฬ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561 วาฬหัวทุย (Sperm Whale) เข้ามาเกยตื้นตายที่สุลาเวสี อินโดนีเซีย และพบทั้งแก้วพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก รองเท้าและเชือก

Stranded Sperm Whale in Wakatobi. © WWF Indonesia / Kartika Sumolang

ซากวาฬขนาด 9.5 เมตรถูกพบบริเวณทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุลาเวสี อินโดนีเซีย โดยมีขยะพลาสติกอยู่ในท้องวาฬเกือบ 6 กิโลกรัม รวมไปถึงแก้วน้ำพลาสติก 115 แก้ว

โศกนาฏกรรมของวาฬทั้งสองกรณีเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของวิกฤตมลพิษพลาสติก การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ พบว่ามีสิ่งมีชีวิตในทะเล 700 สายพันธุ์ ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกในมหาสมุทร นกทะเล 9 ใน 10 ชนิดพันธ์ุ เต่าทะเล 1 ใน 3 ชนิดพันธุ์ ครึ่งหนึ่งของชนิดพันธุ์วาฬและโลมาทั้งหมด ต่างกินพลาสติกเป็นอาหาร

นี่คือความท้าทายในยุคมนุษย์ครองโลก(Anthropocene) ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตพลาสติกยักษ์ใหญ่ ผู้ก่อมลพิษ แนวร่วมของเสียเหลือศูนย์ ห้องปฏิบัติการวิจัย เป็นต้น จะต้องขึ้นมาอยู่ในเวทีระดับเดียวกันเพื่อหาทางออกจากวิกฤต ช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีความพยายามผลักดันให้เกิด ความตกลงระหว่างประเทศ(International Agreement)แบบพหุภาคีที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดมลพิษพลาสติก

มลพิษทางอากาศ

Bangkok Choking on Toxic Smog.

ภาพมุมสูงของกรุงเทพที่กำลังเผชิญหมอกควันจากฝุ่นละออง

องค์การอนามัยโลก(WHO)จัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยมลพิษทางอากาศและสุขภาพ ครั้งแรกของโลกในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเผยแพร่แผนที่แสดงค่าเฉลี่ยต่อปีของความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) ล่าสุด และแถลงว่าประชากรทั่วโลก 9 ใน 10  คนหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนเข้าไป และแม้ว่ามีการยกระดับการจัดการคุณภาพอากาศในหลายพื้นที่ของโลก แต่มหานครหลายแห่งยังมีคุณภาพอากาศเกินเกณฑ์ที่ WHO กำหนด

ในช่วงวันที่ 1 มกราคมถึง 21 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุด ในจำนวนรวม 52 วัน บางพื้นที่มีความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 40 วัน

ด้วยแรงผลักดันของสาธารณะชน ในที่สุดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561 กรมควบคุมมลพิษประกาศ ใช้ดัชนีคุณภาพอากาศ(Air Quality Index)ใหม่ที่รวมค่า PM2.5 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการยกระดับการจัดการคุณภาพอากาศ อย่างไรก็ตาม การรายงาน ดัชนีคุณภาพอากาศโดยใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงนั้น ไม่สามารถรับมือกับวิกฤตมลพิษ ทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนได้ทันท่วงที จำเป็นต้องรายงานโดยใช้ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตขึ้น

ความปั่นป่วนของสภาพภูมิอากาศ

เวทีเศรษฐกิจโลก(World Economic Forum)นำเสนอรายงาน the Global Risk Report ก่อนหน้าการประชุมประจำปีที่มีขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 โดยสะท้อนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญและผู้กำหนดนโยบายระดับโลกในเรื่องความเสี่ยงสำคัญที่โลกเผชิญ และเหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้ว(extreme weather events)เป็นหนึ่งในความเสี่ยงระดับโลกอันดับต้น

เราสัมผัสถึงความจริงใหม่ที่กระทบกับเราโดยตรงมากขึ้น และประจักษ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นไล่เรียงกันจากความแห้งแล้งไปถึงอุทกภัยทั่วโลก รวมถึง อุณหภูมิเย็นยะเยือกต่ำสุดเท่าที่มีการบันทึกตามแนวชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอมเริกา และหิมะตกในทะเลทรายซะฮาราในเดือนมกราคม คลื่นความร้อนในสหราชอาณาจักรในเดือนมิถุนายนและกรกฏาคม คลื่นความร้อนในญี่ปุ่นที่ทุบสถิติและตามมาด้วยพายุใต้ฝุ่นในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ไฟป่าตามแนวเส้นวงรอบอาร์กติกในสวีเดนและในกรีซในเดือนกรกฏาคม อุทกภัยร้ายแรงในจีนและอินเดียช่วงเดือนสิงหาคม และการแผลงฤทธิ์ของซูปเปอร์ไต้ฝุ่นมังคุดในเดือนกันยายน

Typhoon Mangkhut impacts in Hong Kong. © Greenpeace

ความเสียหายจาก ไต้ฝุ่น มังคุด หลังพัดเข้าถล่มฮ่องกง

ปี พ.ศ.2561 ยังได้เห็นถึงการเรียกร้องให้ลงมือทำจากชุมชนวิทยาศาสตร์ โลกเรือนกระจก (Hothouse Earth) เป็นคำเตือนที่นักวิทยาศาสตร์ประกาศในเอกสารสรุปการประชุมของ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences)ที่ตีพิมพ์ในเดือนกรกฏาคม พ.ศ.2561 ว่า ทั่วโลกจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดโดยเร่งด่วน มิฉะนั้นโลกอาจเข้าสู่ Hothouse state ซึ่งเป็นสภาวะอันตรายถาวร ส่วนที่ประชุม Global Climate Action Summit ที่ซานฟรานซิสโกได้มี ข้อเสนออย่างถอนรากถอนโคน ถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2573 จากทุกภาคส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ(ภาคพลังงาน ภาคการผลิตทางอุตสาหกรรม ภาคอาคารบ้านเรือน ภาคการคมนาคมขนส่ง ภาคการบริโภคอาหาร ภาคเกษตรกรรมและป่าไม้)

รายงาน IPCC ฉบับพิเศษว่าด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก 1.5 องศาเซลเซียส (IPCC Special Report on 1.5 Degrees) ซึ่งเปิดตัวที่เกาหลีใต้ ระบุว่าเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เป็นหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั่วโลกต้องลดการใช้ถ่านหินอย่างน้อย 2 ใน 3 ของการใช้ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573 และยุติการใช้ถ่านหินภายในปี พ.ศ.2593 อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24(COP 24) ที่เมืองคาโตวีตเซ(โปแลนด์) ก็มีสหรัฐอเมริกา ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และคูเวต คัดค้านไม่ให้ที่ประชุมยอมรับรายงาน IPCC ฉบับนี้

จุดไฮท์ไลท์ของ COP24 คือสุนทรพจน์ของเกรตา ธันเบิร์ก นักกิจกรรมเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมอายุ 15 ปีชาวสวีเดนที่หยิบยกประเด็น “ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ”

 

ถึงแม้อาจกล่าวได้ว่าการประชุม COP 24 จบลงโดยบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับกฎกติกาต่างๆ ภายใต้ความตกลงปารีสปี 2015 – แต่ก็ยังไม่เข้มข้นพอที่จะทำให้โลกเข้าถึงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นครั้งแรกรอบ 4 ปี