ระยะเวลา 20 ปีถือเป็นก้าวสำคัญที่ควรค่าแก่การระลึกถึงอย่างแท้จริง และเป็นช่วงเวลาที่สมบูรณ์แบบในการกล่าวขอบคุณทุกๆ คน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ผู้สนับสนุน ผู้บริจาคและพันธมิตรที่ทุ่มเท ที่ช่วยสร้างความหลากหลายในกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทำให้เราเติบโตดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

(พ.ศ.2558) นักปั่นกว่า 150 คนจากเครือข่ายจักรยานประจวบไซคลิงค์คลับ คนในชุมชน กลุ่มชาวประมง และอาสาสมัครกรีนพีซร่วมปั่นจักรยานระยะทาง 10 กิโลเมตร ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในโครงการ I Love My Ocean โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาในมหาสมุทร และสนับสนุนให้มีการทำประมงที่เป็นธรรมและการจับอาหารทะเลอย่างยั่งยืน

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเลือดเนื้อหยาดเหงื่อและน้ำตาในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกอย่างแท้จริงทั่วทั้งภูมิภาค ขอบคุณคุณ ขอบคุณครอบครัวกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อนๆ  ในบางครั้งเรามีช่วงเวลาที่ได้บรรลุความสำเร็จในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เราได้เติบโตและพัฒนาจากพนักงานและผู้สนับสนุนกลุ่มเล็กๆ ที่ทุ่มเทให้กับองค์กรที่มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ด้วยเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และผู้สนับสนุนในพื้นที่หลายพันคน ในขณะนี้เรากำลังทำงานเพื่อหาทางออกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้ ภูมิภาคที่เป็นบ้านของเรา จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อม เช่น การปกป้องผืนป่า การปกป้องสิทธิที่จะมีอากาศสะอาดหายใจ และระบบอาหารที่ดีต่อระบบนิเวศ หรือการปกป้องมหาสมุทรของเราและชีวิตของผู้คนหลายพันคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยระบบนิเวศนั้น ๆ

สำหรับชาวกรีนพีซจำนวนมาก ช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาอาจรู้สึกได้ว่ามันเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่เต็มไปด้วยความสำเร็จและล้มเหลว และแน่นอนว่าความท้าทายมากมาย ที่กรีนพีซเผชิญตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นยังคงอยู่ในงานรณรงค์สำคัญที่เรากำลังผลักดันในวันนี้

แต่เมื่อผมมองดูสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคในวันนี้ ผมได้รับแรงบันดาลใจและความหวังอันยิ่งใหญ่จากคนรุ่นใหม่ ผู้ที่เข้าร่วมประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศ การนัดหยุดงาน และการทำกิจกรรมสาธารณะแบบใหม่ๆ พวกเขามีความกล้าเช่นเดียวกับผู้ก่อตั้งของเราที่ต้องการผลักดันให้รัฐบาลและบริษัท ต่างๆ ให้ความสำคัญกับปฏิบัติการและสิ่งที่พวกเขาทำ

เราเข้ามาครั้งแรกในปีพ.ศ. 2543 ในตอนนั้นเป็นการเริ่มต้นของสหัสวรรษใหม่ (ค.ศ.2000) ซึ่งถูกประกาศให้เป็น“ศตวรรษแห่งเอเชีย” ภูมิภาคของเราได้แสดงให้เห็นถึงคำมั่นสัญญามากมาย โดยประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่พร้อมที่จะเป็น“เสือแห่งเอเชีย” ตัวต่อไป แต่บ่อยครั้งที่แรงบันดาลใจเหล่านั้นส่งผลเสียอย่างยิ่งต่อธรรมชาติและระบบนิเวศที่มีเอกลักษณ์ของเรา

(พ.ศ.2543) การเผชิญหน้าแบบสันติวิธีของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดขึ้นครั้งแรกที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ กรีนพีซได้ส่งคืนหม้อแปลงไฟฟ้าเก่าที่กองทัพสหรัฐอเมริกาทิ้งไว้ในฐานทัพอากาศคลาร์ก เมืองปัมปังกา

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือกำเนิดขึ้นจากความกล้าและการกระทำของผู้คนที่ร่วมกันแสดงจุดยืนเพื่อเป็นเสียงเรียกร้องจากธรรมชาติและผู้คนในท้องถิ่นเหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นต่อมา ได้แก่ เราเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อยุติการทิ้งขยะพิษจากต่างประเทศไปยังประเทศต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ เราสร้างความร่วมมือกับชุมชนที่ถูกคุกคามจากถ่านหินและกลุ่มผู้สนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และสิ่งที่เราทำได้ที่สุดคือการเปิดโปงให้เห็นวิธีการทำลายล้างและการทุจริต เพื่อปกป้องผืนป่าโบราณของอินโดนีเซีย

เราให้ความสำคัญกับพลังประชาชน (People Power) มาโดยตลอด และขยายเสียงของผู้ที่กล้าลุกขึ้นมาปกป้องสิ่งแวดล้อมและต่อสู้กับความอยุติธรรม พวกเขาเคยเป็นและยังคงเป็นพันธมิตรของเราในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

 (พ.ศ.2561) นักกิจกรรมกรีนพีซ 30 คน จากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย รวมถึงสมาชิกวงดนตรีร็อคจากอินโดนีเซียชื่อ “บูมเมอแรง” เข้ายึดโรงกลั่นน้ำมันปาล์มของ Wilmar International ในสุลาเวสีเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย Wilmar International เป็นผู้ค้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้แก่สินค้าแบรนด์หลัก ๆ เช่น Colgate, Mondelez, Nestléและ Unilever โรงกลั่นนี้กลั่นน้ำมันปาล์มที่ได้วัตถุดิบมาจากผู้ผลิตรายใหญ่ที่ทำลายป่าฝนในกาลิมันตันและปาปัว ประเทศอินโดนีเซีย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกันเพื่อเปิดโปงอุตสาหกรรมระดับโลกที่มีอิทธิพลและทำลายธรรมชาติ เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำมันปาล์ม เคมีเกษตร อาหารทะเล หรือแม้แต่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ และบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกออกมามากมาย

(พ.ศ.2559) กลุ่มอาสาสมัครกรีนพีซและตัวแทนจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มในมาเลเซียยื่นคำร้องที่สำนักงานใหญ่ของผู้ค้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกชื่อ IOI ผู้โดยมีรายชื่อผู้สนับสนุนกรีนพีซจากทั่วโลก 300,000 รายชื่อ ในคำร้องขอให้ IOI หยุดการทำลายป่าเพื่อป้องกันหมอกควันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปีพ.ศ. 2560 หนึ่งปีหลังจากการยื่นคำร้อง IOI ได้ประกาศคำมั่นต่อสาธารณชนที่จะขจัดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและการแสวงหาผลประโยชน์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

การเดินทางของผมสะท้อนเรื่องราวของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งความเสียใจ ความโกรธเคือง การยืนหยัด พลังประชาชน และเหนือสิ่งอื่นใดคือความหวัง หลายปีก่อนผมเป็นผู้เจรจาด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในปีพ.ศ. 2556 ผมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ขณะที่พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน (หรือที่รู้จักกันในชื่อโยลันดา) พัดถล่มเมืองทาโคลบัน บ้านเกิดของครอบครัวผม ในการเจรจา ผมขอร้องด้วยน้ำตาเพื่อประเทศของผม ในขณะที่หวั่นวิตกถึงเพื่อนและครอบครัวโดยเฉพาะพี่ชายของผมที่อยู่ที่ทาโคลบัน โชคดีที่เขารอดชีวิตมาได้ แต่คนหลายพันคนสังเวยชีวิตในหนึ่งในพายุที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

(พ.ศ.2557) เย็บ ซาโน (แถวหน้าที่สองจากซ้าย) เป็นผู้นำในการเดินเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ  “Climate Walk: A People’s Walk for Climate Justice” ในช่วงเริ่มต้นโครงการที่จุดประวัติศาสตร์กิโลเมตรศูนย์ ในลูเนตา มะนิลา คนกลุ่มนี้เริ่มต้นการเดินทาง 40 วัน ระยะทาง 875 กิโลเมตร จากมะนิลาไปยังเมืองทาโคลบันในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 เพื่อรำลึกถึงวันครบรอบปีแรกของซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน (โยลันดา)

เป็นที่ชัดเจนสำหรับผมว่าการอยู่ในเวทีของรัฐบาลไม่เพียงพอที่จะป้องกันภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศได้ ผมจึงแสวงหาลู่ทางอื่น ต่อมาพี่ชายของผมและผม ร่วมกับอาสาสมัครกรีนพีซและผู้ห่วงใยด้านสภาพอากาศอื่น ๆ อีกหลายร้อยคนได้เดินขบวนเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร เพื่อดึงความสนใจไปสู่สภาพของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ เราเข้าร่วมการเดินขบวนเพื่อสภาพภูมิอากาศไปทั่วฟิลิปปินส์ เราเดินเพื่อสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลก การเรียกร้องที่ชัดเจนของเราคือเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศและการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

ในที่สุดผมก็ พาตัวเองเข้าสู่กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะกรรมการบริหารในปีพ.ศ. 2559 ผมรู้สึกว่าผมอาจจะทำอะไรได้มากกว่านี้กับองค์กรที่มีความหลากหลายเช่นนี้ โดยมีผู้คนที่เปิดกว้างและความร่วมมือที่ไม่หยุดนิ่งกับผู้คนและชุมชน

(พ.ศ.2563) นักกิจกรรมและผู้สนับสนุนกรีนพีซในฟิลิปปินส์เรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของนายดูเตอร์เตกำหนดให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของแผนการฟื้นฟูโควิด 19 ของประเทศ #BetterNormal 

ในปีที่ 20 ของเรา เราพบว่าเราอยู่ความท้าทายใหม่ การระบาดของโรคโควิด 19 ได้ขยายขอบเขตช่องโหว่ในระบบที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นต้นตอเดียวกับที่เราต่อสู้ในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของเรา ในช่วงการระบาดของโควิด 19 นี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เน้นย้ำงานรณรงค์เพื่อการฟื้นฟูที่เป็นมิตรและเป็นธรรมกับสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเรียกร้องให้รัฐบาลและธุรกิจต่างๆ ในภูมิภาคสร้างสิ่งที่ดีกว่าเดิม โดยจัดลำดับความสำคัญของความต้องการของประชาชนและการปกป้องสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้ภัยพิบัติในอนาคตเกิดขึ้น

(พ.ศ.2560) นักเรียนไทยเรียนรู้วิธีปลูกผักสวนครัวเชิงนิเวศในโรงเรียน กิจกรรมนี้จัดโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘We Grow’ ที่มุ่งส่งเสริมให้อาหารกลางวันโรงเรียนมาจากแหล่งอาหารที่ยั่งยืน ปลอดภัย และสนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศ

การแพร่ระบาดอาจเป็นการซ้อมใหญ่สำหรับภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่กว่าต่อมนุษยชาติ นั่นคือภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเวลายังเดินไปไม่หยุด และผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่าเรามีเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้นที่จะช่วยโลกใบนี้ และเมื่อเรามองไปข้างหน้า ในอนาคต กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการการสนับสนุนจากคุณมากกว่าที่เคยเป็นมา ในขณะที่เราเผชิญกับช่วงเวลาที่ท้าทายมากขึ้นข้างหน้า เราทุกคนต้องกลายเป็นกลุ่มคนแห่งความหวัง ตอนนี้เรามีโอกาสพิเศษที่จะกำหนดสิ่งต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ป่าไม้ และมหาสมุทรของเรา และในทางกลับกัน กับตัวเราเองด้วย

ขอบคุณในความหวัง ความเชื่อมั่น และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องที่มีให้กับกรีนพีซ เรามาร่วมกันมุ่งมั่นเพื่อภาวะปกติที่ดีกว่า #BetterNormal มีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่มากขึ้น เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนกว่าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันเถอะครับ

ขอบคุณครับ

เย็บ ซาโน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม