เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากให้วันหยุดมาถึงเร็ว ๆ เพื่อที่จะได้ออกไปเที่ยว และคงมีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่กำลังเก็บเงินและวันลาเพื่อให้สามารถเดินทางไปยังจุดหมายในฝัน แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการเดินทางนั้นเป็นได้มากกว่าการไปให้ถึงที่หมายเพราะมันยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับโลกของเราได้องค์การสหประชาชาติได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวและกำหนดให้ปีนี้เป็น ปีแห่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนา (2017 International Year of Sustainable Tourism for Development) นี่เป็นโอกาสดีที่คุณจะได้หันมามองการเดินในมิติใหม่และเริ่มวางแผนให้การเดินทางครั้งหน้าของคุณเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากคุณยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มอย่างไรเราขอแนะนำ 5 เคล็ดลับสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

1. ทิ้งรอยเท้า (คาร์บอน) ให้น้อยที่สุด – คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)ได้ประเมินว่าก๊าซเรือนกระจกที่มาจากภาคคมนาคมขนส่งนั้นคิดเป็น 14% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยภาคคมนาคมขนส่งได้สร้างฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX as NO2) มากถึง 13%, 3% และ 30% ตามลำดับ เพื่อให้การท่องเที่ยวของเราดีต่อใจและสิ่งแวดล้อม เราควรจะต้องทำให้การเดินทางของเราสร้างมลพิษน้อยที่สุด วิธีนี้ไม่ยากเพียงเริ่มต้นด้วยการเลือกใช้ระบบคมนาคมที่สะอาดหากเป็นไปได้ เช่น รถไฟฟ้า ใช้ระบบคมนาคมสาธารณะให้มากขึ้น แชร์ยานพาหนะร่วมกับเพื่อน หรือจะลองเดินทางด้วยจักรยานบ้างก็คงจะทำให้การท่องเที่ยวมีรสชาติและเรื่องราวมากขึ้นไม่น้อย

มลภาวะทางอากาศที่มาจากการรถยนต์

2. เก็บไว้เพียงภาพถ่าย หรือขยะเท่านั้น! – คงจะไม่เหลืออะไรหากนักท่องเที่ยวทุกคนเก็บของจากธรรมชาติมาเป็นของส่วนตัว แต่จะดีกว่านั้นมากหากทุกคนช่วยกันเก็บขยะที่พบเห็นตามข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำ ถุงพลาสติก หรือ ก้นบุหรี่

อาสาสมัครกรีนพีซกำลังช่วยกันเก็บขยะที่หาดในยาง จ.ภูเก็ต

ทิ้งไว้เพียงความทรงจำ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ชี้ว่า ปี 2558 ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟม มากถึง 2.7 ล้านตัน แบ่งเป็นขยะพลาสติกร้อยละ 80 ซึ่งคิดเป็นน้ำหนักแล้วจะมีมากถึง 5,300 ตันต่อวัน ในแต่ละปีจะขยะพลาสติกหลายล้านตันเล็ดลอดลงไปสู่ท้องทะเลทั่วโลก ซึ่งที่เราเห็นเป็นแพขยะจำนวนมหาศาลในมหาสมุทรหลายแห่งทั่วโลกนั้นถือเป็นเพียงร้อยละ 5 ของขยะในทะเล ส่วนที่เหลือนั้นจมอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร เราควรจะลดการสร้างขยะให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะขยะที่มาจากวัสดุที่ยากต่อการย่อยสลายเช่น สไตโรโฟม พลาสติก และทิชชู่เปียก หากทุกคนพกภาชนะส่วนตัว เช่น กระบอกน้ำ และกล่องอาหารให้กลายเป็นนิสัย เราก็จะสามารถลดการสร้างขยะที่ไม่จำเป็นลงไปได้มาก

นักดำน้ำกำลังสำรวจกองขยะใต้น้ำที่หาดกะรน จ.ภูเก็ต 

3. เลิกเสียทีกับการให้อาหารสัตว์ – ถ้าคุณคิดว่ากำลังทำความดีอยู่บางทีคุณอาจต้องคิดใหม่ การให้อาหารสัตว์ส่งผลกระทบหลายอย่างต่อระบบนิเวศ ประการแรกการหาอาหารแบบไม่ต้องใช้ความพยายามทำให้พฤติกรรมการหากินของสัตว์เปลี่ยนไปส่งผลต่อสัญชาติญาณในการระวังภัยตามธรรมชาติ ทำให้สัตว์เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ  ประการต่อมาอาหารจากมนุษย์อาจทำให้สัตว์ขาดสารอาหารที่จำเป็นเนื่องจากมันไม่ใช่อาหารตามธรรมชาติของสัตว์ ประการถัดไปคือผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ในกรณีของการให้อาหารปลา เมื่อนักท่องเที่ยวให้อาหารจะทำให้ปลานิสัยก้าวร้าวบางชนิด เช่น ปลาสลิดหินมาอยู่รวมเป็นฝูง ทำให้ปลาชนิดอื่นเช่นปลาผีเสื้อ และปลาสินสมุทรต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น หนำซ้ำเมื่อโยนอาหารลงในทะเล อาหารจะจับตัวกับคราบน้ำมันที่มากับเรือทำให้ปลาได้รับสารพิษ นอกจากนั้นสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากการย่อยสลายของเศษอาหารและการขับถ่ายของปลาส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของสาหร่ายบางชนิดอย่างรวดเร็วและไปปกคลุมบริเวณปะการังส่งผลให้แนวปะการังเสื่อมโทรมและตายในที่สุด (อ่านเพิ่มเติม การให้อาหารในแนวปะการังได้ อย่าคิดว่าไม่มีผลกระทบ)

ตัวอย่างที่ไม่ควรทำ : มัคคุเทศก์กำลังสาธิตการให้อาหารฉลามวาฬที่ประเทศฟิลิปปินส์

4. สนับสนุนธุรกิจในชุมชน – ลองพักแบบโฮมสเตย์ หรือ โรงแรมขนาดเล็กดูบ้าง นอกจากจะเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ที่พักแบบนี้ยังใช้ทรัพยากรน้อยกว่าไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา หรือ ไฟฟ้า อีกทั้งยังสร้างขยะน้อยกว่าอีกด้วย โฮมสเตย์จำนวนไม่น้อยเปิดโอกาสให้คุณได้รู้จักและเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายอาทิ เช่น การเกษตร การทำอาหาร และการเดินชมธรรมชาติ

ปารีส – พ่อค้ากำลังนำผลผลิตใส่ลงถุงกระดาษ

นอกจากการเลือกที่พักแล้ว การเลือกซื้อสินค้าและอาหารก็ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน การซื้อสินค้าจากร้านค้าในท้องถิ่นแทนร้านสะดวกซื้อจะช่วยลดมลพิษจากการขนส่งและขยะจากบรรจุภัณฑ์ได้อีกด้วย การกินอาหารพื้นบ้านจะช่วยให้คุณได้สัมผัสกับรสชาติที่แปลกใหม่ และทำให้คุณไม่ต้องกินอาหารขยะจานด่วนที่เต็มไปด้วยเนื้อสัตว์ที่มาจากการผลิตแบบอุตสาหกรรม ทราบหรือไม่ว่าการปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรมทั่วโลกนั้นสร้างมลพิษเทียบได้กับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 7,100 ล้านตัน หรือคิดเป็น 14.5% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการกระทำมนุษย์

Data from the Intergovernmental Panel on Climate Change and Food and Agriculture Organization of the United Nations

5. แบ่งปันเรื่องราวดี ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและค่านิยมที่สร้างสรรค์ – เบื่อหรือยังกับรูปหมู่ที่ต้องกระโดดบนหาด หรือการอวดรูปอาหารแพง ๆ ที่เต็มไปด้วยยาปฏิชีวนะและสารเคมีตกค้าง  คุณจะดูแพงขึ้นได้อีกหากสละพื้นที่บนโลกออนไลน์สักนิดเพื่ออวดภาพหรือแบ่งปันเรื่องราวว่าคุณได้ทำอะไรดี ๆ ไปบ้างเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยที่สุดคุณก็ยังสามารถแบ่งปันเรื่องราวนี้ออกไป ขอให้สนุกกับการท่องเที่ยว!

 

วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ

Comments

Leave your reply